สอนผู้ปกครองอย่างไร ไม่ให้เหยียดเพศลูก

- Advertisement -

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ได้มีกระแส ‘แพทย์หญิงลลิตา ธีระสิ’ ที่ได้ออกมาเตือนสติคนรุ่นใหม่ ในเชิงต้องการให้พวกเขาไปรับปริญญา เนื่องจากทางบริษัทที่ไปสมัครงานอาจขอดูหลักฐานการรับปริญญาได้ ทำให้เธอได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนมีคนไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและได้ทราบว่าย้อนกลับไปในอดีต แพทย์คนนี้ก็เคยเขียนหนังสือชื่อว่า “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเกย์” ตีพิมพ์ขึ้นมาในปี 2530

ที่น่าตกใจก็คือ หนังสือเล่มนี้ได้ปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของห้องสมุดกรมสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุข หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าในสมัยนั้นความเข้าใจเรื่องเพศอาจจะไม่ได้แพร่หลายนัก แต่หนังสือเล่มนี้ก็สร้างภาพจำที่ว่า การเป็นเกย์นั้นคือโรค ที่สามารถ “ป้องกัน” ได้ สำหรับยุคสมัยนี้ที่ความรู้เรื่องเพศถูกมองเห็นมากขึ้น เด็ก ๆ จะโอบรับความหลากหลายได้อย่างไร ถ้าผู้ปกครองนั้นมีแนวคิดเหยียดเพศเสียเอง วันนี้เราจะมาชวนเหล่าผู้ปกครอง มาลองทบทวนดู ว่าควรทำอย่างไร ไม่ให้เผลอเหยียดเพศ

SPECTROSCOPE: สอนผู้ปกครองอย่างไร ไม่ให้เหยียดเพศลูก


■ อย่าคิดว่าตัวเองถูกเสมอไป – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความในรู้เรื่องเพศหลากหลายสมัยก่อน ไม่ได้ถูกทำความเข้าใจเป็นวงกว้างเท่าในปัจจุบัน ยังมีผู้ปกครองหลาย ๆ คนเข้าใจอยู่ว่าโลกนี้มีเพียงชายและหญิงเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเพศนั้นมีความหลากหลายกว่านั้นมาก ซึ่งความคิดนี้ก็สามารถส่งต่อมายังคนรุ่นหลังได้ผ่านการเลี้ยงดูสั่งสอน ดังนั้นหลาย ๆ ความคิดที่ ‘เหมือนว่า’ จะถูกต้องในโลกยุคเก่า จึงอาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป

■ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ถูกสอน – โดยทั่วไปแล้วสังคมมักจะมองว่าเด็กควรที่จะสงบปากสงบคำ ไม่ควรออกความเห็นหรือ “เถียง” โดยผู้ปกครองนั้นจะต้องเป็นฝ่ายสั่งสอนอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องเพศ เรื่องความหลากหลาย (หรือเรื่องอื่น ๆ) เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เพียงเปิดใจรับฟัง ลบล้างความคิดเรื่องระบบสองเพศแบบเดิม ๆ ทิ้งไปแล้วโอบรับความหลากหลาย โดยการสร้างบรรยากาศการสนทนาที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสให้เด็กได้เสนอแนวความคิดของพวกเขา

■ สร้างโอกาสให้เด็กได้เลือกชีวิตของตัวเอง – อ้างอิงตาม สิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) นอกจากสิทธิของเด็กที่สามารถมีชีวิต ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมด้านการพัฒนาการแล้ว เด็กยังมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นหรือตัดสินใจกระทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งคือหนึ่งในพื้นฐานสำคัญในการสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนในครอบครัว เพื่อให้ได้รับรู้แนวคิดเรื่องเพศของลูก สร้างความเข้าใจให้กับตัวเอง

■ อย่าบีบให้ลูกอยู่ในกรอบชายหญิง – นอกจากนี้ สิทธิในร่างกายและเพศก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรตระหนัก หรือในกรณีที่เด็กเกิดมาพร้อมอวัยวะเพศชาย หญิง หรือมีภาวะเพศกำกวม (Intersex) ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสำนึกทางเพศของพวกเขาจะเป็นไปตามอวัยวะเพศเท่านั้น การคาดเดาเพศไปก่อนก็ถือเป็นการตอกย้ำความ ‘Cisheteropatriarchy’ ที่สังคมคิดไปเองว่าเพศมีแค่ชายหญิงที่มีรสนิยมทางเพศแบบชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น

อย่างเช่นว่า การที่เด็กเกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศชาย เขาก็อาจจะมีสำนึกทางเพศเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือนอนไบนารีก็ได้ การมีอวัยวะเพศชายไม่ได้หมายความว่าจะต้องชอบสีฟ้า หุ่นยนต์ การ์ตูนต่อสู้เสมอไป บางทีพวกเขาอาจจะสนใจในสีชมพู การใส่กระโปรง หรือดูการ์ตูนเจ้าหญิงก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือการสังเกตและการช่วยลูกให้ได้สำรวจอัตลักษณ์ของตัวพวกเขาเอง โดยไม่กดดันลูกจากสิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้

■ สังเกตและไม่กดดัน – ในกรณีที่สำนึกทางเพศของเด็ก ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตนของเหล่าคนข้ามเพศ ก็อาจทำให้พวกเขาเกิดปัญหาความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) ตามมาได้ อ้างอิงจากผลสำรวจของ ‘Cedars-Sinai’ เกี่ยวกับการผ่าตัดยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ ได้ค้นพบว่ามีคนข้ามเพศถึง 78% เคยเผชิญความทุกข์ใจนี้เมื่ออายุเฉลี่ย 7 ขวบ ดังนั้นผู้ปกครองสามารถสังเกตลูก สร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้พวกเขาได้พูดคุยถึงปัญหาที่เขาเผชิญ พร้อม ๆ กับทำความเข้าใจไปด้วยกัน

ในยุคหลัง ๆ มานี้ หลายครอบครัวในต่างประเทศเริ่มสนใจในการเลี้ยงดูลูกแบบเป็นกลางทางเพศให้กับเด็ก หรือเรียกว่า “Gender-Neutral Parenting” ที่เป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่เจาะจงในสิ่งที่ยึดติดกับเพศหญิงชาย อย่างเช่นการเลือก ของเล่นที่เล่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ หรือกิจกรรมที่ทำ ทำให้เด็กเติบโตมาอย่างมีความมั่นใจว่าเขาสบายใจจะเป็นเพศชาย หญิง หรือนอนไบนารี และไม่ถูกกดทับด้วยบรรทัดฐานของระบบทวิลักษณ์ (Binary)

“สังคมของเราที่มีการแบ่งแยกเพศนั้น ไม่ได้ทำให้บุตรหลานของเราประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง การเลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศนั้นได้เสริมสร้างทักษะ หรือคุณลักษณะที่ดีให้มนุษย์ทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน […] ดังนั้นเด็ก ๆ เหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าสังคมจะบอกพวกเขาว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร”

นี่คือเสียงของ ‘Christia Spears Brown’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ ‘Parenting Beyond Pink and Blue’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูแบบเป็นกลางทางเพศ ที่เธอเองก็ใช้กับครอบครัวของตัวเองด้วย ที่เชื่อว่าจะทำให้ลูก ๆ ของเธอนั้นเข้าใจในความหลากหลาย ความเป็นปัจเจก และสามารถวิพากย์สังคมสมัยใหม่นี้ได้

มนุษย์ทุกคนนั้นมีอิสระมากกว่าจะถูกกรอบเรื่องเพศของสังคมมาจำกัด ซึ่งก็ต้องย้ำกันอีกทีว่าถ้าจะสอนให้เด็กเข้าใจในเพศหลากหลาย ความเข้าใจเหล่านั้นต้องเริ่มต้นมาจากตัวผู้ปกครอง รวมถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ที่เป็นอีกหนึ่งแรงในการเสริมสร้างพื้นฐานของเด็ก และเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจยาก หากพวกเราเปิดใจที่จะเรียนรู้มัน

#Parenting #HowTo
#GenderNeutralParenting

Content by Alexis to Your Mimi
Graphic by Napaschon Boontham
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp

อ้างอิง
Khaosod: https://bit.ly/3GQuTAj
Springnews: https://bit.ly/3FNksMu
Yorku: https://bit.ly/3KHcQir
Cedars-sinai: https://ceda.rs/3fHhv5u
Polaristeen: https://bit.ly/3rBu9Zo
Parents: https://bit.ly/3rXrM12https://bit.ly/2OtTHIp
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
นักหาทำอันดับหนึ่งที่คิดว่าจะยังคงหาทำต่อไปและตามหาตัวเองไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย(วะวะว๊าว) เวลาว่างชอบทำตัวให้ไม่ว่าง(แฮ่)
นภัสชล บุญธรรม
นภัสชล บุญธรรม
Illustrator & Graphic Designer