‘Social Justice Warrior’ – ข้ออ้างจากกลุ่มต่อต้าน Feminism

- Advertisement -

‘SJW’ (Social Justice Warrior) เป็นคำที่ไม่พ้นจะต้องโผล่มาในคอมเมนต์ของโพสต์ใด ๆ ก็ตามที่พูดเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ หรือการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ ที่ถูกเรียกกันว่า ‘เฟมทวิต’ ซึ่ง SJW เป็นคำที่ส่วนใหญ่แล้วจะถูกใช้ไปในทางวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงว่าไม่เห็นด้วยกับคนที่ออกมาพยายามสร้างความตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เราจึงอยากชวนมารู้จักคำนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคำ สิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาเกี่ยวกับกลุ่มคนที่จ้องจะใช้คำนี้กับคนที่มีจุดยืนไม่ตรงกัน ตลอดจนชวนตั้งคำถามว่าการโจมตีในรูปแบบนี้อาจส่งผลอะไรบ้าง ในสังคมที่อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางชุดความคิดเช่นนี้

SPECTROSCOPE: ‘Social Justice Warrior’ – ข้ออ้างจากกลุ่มต่อต้าน Feminism


เมื่อ SJW เปลี่ยนไปจาก ‘คำชม’ เป็น ‘คำด่า’ – คำว่า Social Justice Warrior หรือที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘นักสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม’ ซึ่งแต่เดิมก็มีความหมายในด้านดี ตามคำแปลที่ตรงตัวของคำ เพราะประมาณช่วงปี 1990s เป็นต้นมาก็มีประวัติของการใช้คำนี้เพื่อยกย่องบุคคลสำคัญ อย่างแอกติวิสต์เพื่อสังคมนิยม บาทหลวง หรือนักกฎหมายชื่อดังให้ได้เห็นกันอยู่ อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนของคำนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคของ ‘Gamergate’ หรือประเด็นถกเถียงในอเมริกาเมื่อปี 2014 เกี่ยวกับการเหยียดเพศและการคุกคามทางเพศในวงการเกม โดยคำนี้ก็ถูกนำมาเรียกตีตรากลุ่มคนที่จัดแคมเปญเรียกร้องความเป็นธรรมและสร้างความหลากหลายในพื้นที่นี้ ซึ่งคนที่ใช้คำนี้ก็คือเกมเมอร์อีกกลุ่มที่ไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงวงการเกมไปในทางที่ครอบคลุมขึ้น นัยยะของคำว่า ‘นักสู้’ (Warrior) ในบริบทนี้จึงคือการบอกว่าเฟมินิสต์กำลังบุกรุกทำลายพื้นที่ของพวกเขาอยู่

ความหมายของ SJW ในปัจจุบันกับการถูกช่วงชิงโดยฝ่ายขวา – หลังจากยุคของการขัดแย้งแบ่งฝ่ายในวงการเกม คำว่า Social Justice Warrior ที่มีความหมายแฝงในทางเสียดสีก็แพร่หลายไปในวงกว้าง โดยถ้าอ้างอิงจาก ‘Urban Dictionary’ ความหมายของคำนี้ที่เข้าใจตรงกันก็คือ เป็นคนในโลกออนไลน์ที่ถกเถียงแบบ “ตื้นเขินและไม่ได้ผ่านการไตร่ตรอง” ทำเพื่อ “ชื่อเสียง” ไม่ใช่เพราะเชื่อในอุดมการณ์ที่กำลังเรียกร้องจริง ๆ นอกจากนี้ ป้ายนี้ยังถูกมอบให้กับคนที่ถูกมองว่า ‘เซนซิทีฟเกินไป’ ‘พูดจารุนแรง’ ‘ชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล’ รวมถึงยังถูกนับว่าเป็นคนละกลุ่มกับนักเคลื่อนไหวใน ‘โลกแห่งความจริง’ อย่างสิ้นเชิง

เมื่อคนเข้าใจคำนี้ไปในแง่ลบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอเมริกาจึงมักเอาคำนี้ไปโจมตีและล้อเลียนฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดแบบหัวก้าวหน้า (Progressive) ที่ออกมาพูดเรื่องการกดขี่ทางเพศ สีผิว และชนชั้น ด้วยจุดประสงค์เพื่อลดทอนสารของอีกฝ่าย ทำให้ความคิดเห็นเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปใส่ใจ จากนั้นคำนี้ก็ถูกยกมาพร้อมความหมายนี้ไปในทางที่กว้างขวางขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทยเอง – คำนี้ก็ถูกใช้ไปในทางที่คล้ายคลึงกัน คือกับกลุ่มที่ต่อต้านปิตาธิปไตยและการกดขี่ในรูปแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างไป ก็คือหลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เอา SJW บอกว่าอยากได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทย แต่กลับละเลยความเหลื่อมล้ำในมิติทางเพศ ซึ่งน่าสังเกตว่าลักษณะที่ถูกผูกไว้กับความเป็น Social Justice Warrior โดยฝ่ายขวาของอเมริกานั้นตรงกับลักษณะของ “เฟมทวิต” ตามความเข้าใจของกลุ่มแอนตี้เฟมินิสต์หรือกลุ่มเบียวในไทย เนื่องจากกลุ่มนี้มองว่า เฟมทวิต ‘เกรี้ยวกราด’ ‘เอาแต่อ้วก’ ‘อยากได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ชาย’ และ ‘ไม่ใช่เฟมินิสต์จริง’ เพราะฉะนั้น หากใครออกมารณรงค์เรื่องเดียวกับคนที่เคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ หรือแสดงจุดยืนไปในทางเดียวกัน เช่นในเรื่องของ ‘Political Correctness’ (PC) หรือคำพูดที่ลดทอนความเป็นหญิงหรือความพิการ ก็มักจะโดนแปะป้ายความเป็นนักรบนี้ รวมถึงทำให้เป็นเรื่องขำขันไปด้วย

ป้าย SJW สะท้อน ‘คนแปะป้าย’ มากกว่า ‘คนถูกแปะ’ – ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือในโลก จะเห็นได้ว่าคำว่า SJW ก็จะถูกหยิบมาตีตราฝ่ายที่เรียกร้องให้สังคมเป็นไปในทางซึ่ง ‘สั่นคลอน’ ค่านิยมของตัวเองและกระบวนการคิดเดิม ๆ นี่ก็อาจทำให้เห็นถึง ‘อีโก้’ ของฝ่ายขวาจัดและกลุ่มแอนตี้เฟมฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ในสังคม อย่างคนขาว คนชนชั้นบน และผู้ชายสเตรทตรงเพศ ด้วยความที่มีอภิสิทธิ์นี่เองก็ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะทะนงตนในอุดมการณ์และหวงแหนสถานะทางสังคมของตัวเองในระดับหนึ่ง

ซึ่งในบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่อง Social Justice Warrior ที่เขียนโดย ‘Adrienne L Massanari’ และ ‘Shira Chess’ ได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่า แท้จริงแล้วการใช้คำนี้มีนัยยะเพื่อป่าวประกาศว่าตัวเอง ‘เหนือกว่าทางสติปัญญาและกระบวนการคิด’ ผ่านการแสดงตนว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายซ้ายที่ “เรียกร้องมากไป” และ “ไร้เหตุผล” และสร้างกลุ่มก้อนกับคนที่ต่อต้านเหมือน ๆ กัน

SJW ในฐานะเกราะกำบังจากการเปลี่ยนแปลง – การใช้คำว่า Social Justice Warrior แบบเหมารวมและล้อเลียนชวนให้ตั้งคำถามว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ชอบใช้คำนี้นั้นคิดว่าคำพูดจากฝ่ายหัวก้าวหน้าไม่มีค่า ไม่มีน้ำหนักจริง ๆ หรืออ้างกลวิธีนี้เพียงในการลดค่าแนวคิดอีกฝั่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดใจเรียนรู้รับฟังกันแน่? เพราะเมื่อความเห็นของฝ่ายซ้ายถูกปัดตกให้ไปอยู่ในกลุ่มเรื่อง “ไร้แก่นสาร” คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่จำเป็นต้องสำรวจสิ่งที่ตัวเองยึดถือ และก็ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้ที่ว่าอุดมการณ์ของตัวเอง อาจกำลังกดทับเบียดเบียนคนอื่นอยู่จริง

แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องเกิดการช่วงชิงความหมายโดยฝ่ายที่โดนตีตรา แต่ก็ยังไม่เป็นที่สำเร็จผลเท่าไหร่นัก เพราะคำว่า Social Justice Warrior ก็ยังถูกโยงกับภาพลบอยู่ และปัจจุบัน คนที่เอาคำนี้ไปแปะป้ายคนอื่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคนเหล่านี้ที่ปฏิเสธจะตั้งคำถามกับความเชื่อตัวเอง รวมไปถึงจ้องจะชะลอไม่ให้สังคมขับเคลื่อนไปในทางที่พวกตัวเองจะต้องเสียประโยชน์ นี่อาจจะหมายความว่าต้องเห็นคนที่ทนอยู่ภายใต้การกดขี่เชิงโครงสร้างต่อไป และสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมก็อาจจะมาถึงได้ยากขึ้น

#SocialJusticeWarrior #ProgressiveValues
#IntellectualSuperiority #AntiFeminists

Content by Preeyanun Thamrongthanakij
Graphic by Napaschon Boontham
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
สนทนาเรื่องเพศได้ที่กลุ่ม ‘เพศ’: https://bit.ly/2LKTzTg

อ้างอิง
Washington Post: http://wapo.st/39Akla1
Foundation for Economic Education: http://bit.ly/3pEInX5
Impact Relations: http://bit.ly/3cspbIj
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
ปรียนันท์ ธำรงค์ธนกิจ
ปรียนันท์ ธำรงค์ธนกิจ
นักเขียนและนักอ่านที่จบเอกอังกฤษ โทปรัชญา จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากทุกอย่างที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ สนใจในประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกาเป็นพิเศษ เวลาว่างชอบถ่ายรูปกล้องฟิล์มและหากาแฟแปลก ๆ มาลองดริป (queer, she/her)
นภัสชล บุญธรรม
นภัสชล บุญธรรม
Illustrator & Graphic Designer
ปณิตา ศิริวงศ์วานงาม
ปณิตา ศิริวงศ์วานงาม
Visual Designer, Content Creator & Occult lover https://ppapuru.com/