“เราไม่ได้เอาความบอบช้ำตัวเองมาแก้ปัญหาให้คนอื่น” บทบาทของภาคประชาชน กับความรุนแรงที่รัฐสนใจ… แต่ไม่มากพอ คุยกับต้นอ้อ ชลิดา พะละมาตย์

- Advertisement -

Trigger Warning: Domestic Violence, Physical Abuse, Emotional Abuse, Child Abuse, Sexual Abuse, Pedophilia,

- Advertisement -

หนูก็มี มีลูกเหมือนกัน หนูเป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่ไม่เคยทำร้ายลูก

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ผู้ชมโทรทัศน์ทั่วไทยได้เห็นคลิปวิดีโอของ ‘ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง’ ในเสื้อแจ็กเก็ตองค์กรสีน้ำเงินเข้ม เธอตัวไม่ใหญ่นัก แต่อกผายไหล่ผึ่งอยู่ท่ามกลางนายตำรวจและข้าราชการที่ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีพ่อทำร้ายร่างกายเด็ก ที่จังหวัดอุดรธานี หลายคนอาจจะคุ้นหน้าเธอมาก่อนหน้านี้แล้วจากเคสแอม ไซยาไนด์ และอาชญากรรมอีกมากมายบนหน้าจอทีวี อาจกล่าวได้ว่าการได้เห็นใบหน้าและน้ำเสียงแข็งกร้าวนี้คือเรื่องดีในกรณีเลวร้าย ว่าผู้พิทักษ์ความยุติธรรมของชาวบ้านตาดำ ๆ อยู่เคียงข้างเขาแล้ว ไม่กลัวใคร

ในคลิปวิดีโอที่ ‘ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง’ ประนามการกระทำของพ่อผู้ใช้ความรุนแรง ในจังหวะที่พ่อของเด็กสวนกลับเธอว่าเป็น ‘ข้าราชการ’ ดูเหมือนความเป็น ‘ประชาชน’ จะเป็นแต้มต่อของการมีปากเสียงในครั้งนี้ และเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่าทำไมต้องมี ‘กลุ่มเป็นหนึ่ง’ ยืนอยู่ตรงนั้น คงมีหลายครั้งที่โทรทัศน์เชิญ ‘บุคคลที่สาม’ ในกรณีความรุนแรงไปเป็นผู้ให้ความคิดเห็น โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาหรือเธอคนนั้นเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่อะไรในการเรียกร้องความยุติธรรมกันแน่ ในเมื่อไม่ใช่คนจากรัฐ ไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่ใช่คนในครอบครัวผู้เสียหาย แต่ทำไม ‘ประชาชน’ คนนี้ถึงอินนักกับความบอบช้ำของ ‘ประชาชน’ ด้วยกัน

“พี่เคยถูกสามีทำร้ายร่างกาย เตะเข้าที่หลัง เตะเข้าที่ชายโครง ปอดฉีก ปัสสาวะเป็นเลือด ตอนนั้นเดินไม่ได้เลย สาหัสมาก พี่ไม่ได้เลิกเลยทันที เพราะเรามีลูกด้วยกัน ฉันไม่อยากให้ลูกฉันกำพร้าพ่อ ฉันไม่อยากให้ลูกฉันไม่มีพ่อ ฉันรักเขา ฉันต้องทน ฉันต้องเปลี่ยนเขาได้ฉันมั่นใจว่าฉันมีดี ฉันต้องเปลี่ยนเขาได้สุดท้ายมันก็ไม่ได้ เขาขอโทษ แต่มันไม่ได้หาย แผลในใจเรายังมีอยู่ ถึงเวลาทะเลาะกันเราก็มีแต่กลัว กลัวว่าเขาจะทำร้ายเรา พอเขาง้าง เราก็เอาสิ มึงเอาสิ ก็ได้แค่ด่า แต่สุดท้ายแล้วก็ตบเราอยู่ดี”

“เราไม่ได้เอาความบอบช้ำตัวเองมาแก้ปัญหาให้คนอื่นนะ แต่การใช้ความรุนแรงไม่ทำให้อะไรดีขึ้น การเลี้ยงดูลูกด้วยความรุนแรงก็ไม่ได้ทำให้ลูกเป็นคนดี”

ดูเหมือนว่าความเป็นประชาชนธรรมดา ๆ จะทำให้เธอเข้าใจหัวอกความจนข้นแค้น และความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เธอก็เคยผ่านความรุนแรงมาก่อน ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลต่อเธอหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ ‘ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง’ ในฐานะ Case Manager เห็นใจเพื่อนมนุษย์มากพอที่จะเป็นประชาชนคนนั้นที่ลุกมาเรียกร้องความยุติธรรมด้วยการยืนเคียงข้างผู้เสียหาย โดยมีแบ็คอัพเป็นเงินบริจาคของเอฟซี

และนอกจากบทบาทของประชาชน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ของชีวิต ‘ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง’ ที่เคยทำงานเข้มข้นในบทบาทนักข่าวการเมือง และเปิดเพจการเมืองที่ชื่อว่า ‘อีอ้อปากจัด’ ก็ได้เขยิบเข้าสู่พื้นที่การเมืองด้วยตัวเองบ้าง เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566 ชื่อของ ‘ชลิดา พะละมาตย์’ อยู่ในลิสต์ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 86 พรรคก้าวไกล นอกจากนั้นเธอยังเคยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต พื้นที่จังหวัดสกลนคร เขต 2 พรรคพลังปวงชนไทย เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2562 และเคยสังกัดพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลาหนึ่ง

“พี่เคยเล่นการเมืองเพราะว่าเราชอบทำงานช่วยประชาชน เราคิดว่ามันมีช่องทางเดียวที่จะเข้ามาได้รวดเร็วคือเป็นนักการเมือง แต่พอเราเข้ามาจริงๆ แล้วมันต้องผ่านขั้นตอน ฉันต้องไปคัด ฉันต้องไปสมัคร กว่าจะได้ช่วยคนทำไมมันยากจังวะ กลายเป็นว่าการเมืองมันเป็นอุปสรรคกับทุก ๆ เรื่องที่เราทำ เมื่อก่อนเราทำจิตอาสา เราจะมีเอฟซีเราที่เฉพาะเป็นสีของเรา ที่จะเชียร์เรา เราลงไปช่วยคน แต่ถ้าเป็นเอฟซีอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่ชอบเรา ไม่ต้องการให้เราช่วยนะ ต่อให้เค้าลำบากแค่ไหน ทั้งที่เราอยากช่วยเขามาก มันกลับกลายเป็นว่าเป็นการเลือกฝั่งเลือกข้าง เวลาเราไปติดต่อหน่วยงานราชการที่จะให้ช่วย คุณอยู่สีอะไรล่ะ ฉันไม่ชอบ ฉันไม่อยากอำนวยความสะดวก ฉันไม่โอเค”

“ทุกคนมีพรรคที่ชอบ มีนักการเมืองที่ชอบ พี่อ้อแค่รู้สึกว่ามันแยกจากกัน ต่อให้เราชอบพรรคนี้ แต่การทำงานเราไม่เกี่ยวนะ ช่วงหนึ่งที่เป็นประเด็นโจมตีเราเกี่ยวกับเคสทำร้ายร่างกายผู้หญิง เขาก็มองว่าอ้อรับเงินจากพรรคนี้หรือเปล่า มาเล่นงานพรรคนี้หรือเปล่า เรามองว่าไร้สาระ มันไม่ใช่ ถ้าคุณมองแบบเป็นกลาง คุณจะไม่มองแล้วไม่ใส่ร้ายเราแบบนั้น เราอยากให้โฟกัสไปที่เหยื่อที่ถูกกระทำ ไม่ใช่มองว่า ‘เฮ้ย คนทำร้ายเป็นสีนี้ คุณได้รับเงินมาจากโจมตีสีนี้หรือเปล่า’ อันนี้ไม่แฟร์สำหรับเหยื่อเลย”

และในระหว่างที่ทำงานการเมืองบ้าง ระหว่างขับเคลื่อนบนท้องถนนจนโดยหมายเรียก ‘ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง’ เป็นหนึ่งก็เคยขับเคลื่อนความตั้งใจเป็นจิตอาสากับกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมมาก่อน แต่เมื่อวันหนึ่งจุดยืนในการทำงานไม่ตรงกัน ต้นอ้อก็เป็นฝ่ายเลือกจากมา จากประสบการณ์จริงในฐานะผู้ผ่านความรุนแรง ประสบการณ์การทำงานขับเคลื่อนประเด็นด้วยการลงมือไปกับมัน ประสบการณ์การเมืองที่ค้นพบว่ามันมีแต่ขั้นตอนและความล่าช้า ทั้งหมดรวมกันเป็น ‘เป็นหนึ่ง’ องค์กรที่ประกอบด้วยผู้หญิงหนึ่งคนและครอบครัวที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมด้วยการลงไปอยู่กับเรื่องราวและป่าวร้องเพื่อเป็นปากเสียงของชาวบ้าน ๆ ในพื้นที่ที่ความรู้ความเข้าใจในหลักวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพอาจจะไม่สำคัญเท่าความจริงใจ

และต่อจากนี้ คือมุมมองตรงไปตรงมาจากผู้ทำงานเรื่องความรุนแรงกับความจริงตรงหน้า ‘ต้นอ้อ – ชลิดา พะละมาตย์’

เมื่อไรที่ผู้ผ่านความรุนแรงจะเดินเข้ามาหาเป็นหนึ่ง

“ส่วนมากเพื่อนบ้านจะมาแจ้งเรา เพราะตัวผู้หญิงเองก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร บางครั้งตัวเธอย้ายมาจากต่างจังหวัดอยู่กับครอบครัว สามี ไปไหนไม่ได้ สามีก็ไม่เข้าข้างเธอ แม่สามีไม่เข้าข้างเธอ เมื่อเจอความรุนแรง ผู้หญิงที่อยู่ในวงจรแบบนี้เขาก็ออกจากความรุนแรงยาก แต่พอมีคนยื่นมือเข้าไปช่วยเขาเมื่อไร เขาก็จะหลุดพ้นจากตรงนั้น”

“พอเวลาเกิดความรุนแรง คนไม่รู้รู้ว่าจะต้องโทรหาใคร ในที่สุดก็เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ ทั้งที่จริง พม. มีอำนาจหน้าที่ใช้กฎหมาย แต่คนก็ไม่ค่อยรู้ การประชาสัมพันธ์ก็น้อย รัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะให้ประชาชนรับรู้ถึงช่องทางการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เพศหลากหลาย เด็ก การคุกคามทางเพศ การประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยมันน้อยมาก”

“ที่น่าตกใจคือหลายคนเขาก็ไปแต่ละที่มาแล้ว แต่ก็อย่างว่า บางที่เขาก็มีเคสเยอะ บางที่ก็ไม่ได้เข้าถึงง่าย เคสเหล่านี้ก็อาจจะมาหาเรา แล้วก็ส่วนมากก็จะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนของเขา ญาติของเขาที่เห็นเราจากโซเชียลมีเดียเห็นจากการทำงานของตัวพี่อ้อเอง แล้วก็ทีมงานที่เรารับเรื่องมาปุ๊บ เราตรวจสอบเสร็จเราไปเลย เราลงพื้นที่ทันที”

คำว่า ทันทีเป็นคำสำคัญแค่ไหนต่อกรณีความรุนแรงในครอบครัว

“สำคัญมาก ยิ่งไปถึงเร็ว ก็ช่วยเขาได้เร็ว คนไทยชอบปล่อยให้เรื่องยืดยาวแล้วก็ลืม พอลืมปุ๊บแล้วคนที่บอบช้ำก็คือเหยื่อ สุดท้ายแล้วเหยื่อก็พึ่งใครไม่ได้ เขาก็ต้องจมอยู่กับความเจ็บปวดนั้นอีกยาวนาน พวกเราถึงต้องทำงานไว อย่างน้อยเองเขาได้หลุดพ้นจากตรงนั้น ถึงจะไม่ 100% แต่ฉันก็ดีขึ้น 50%”

“ก่อนหน้านี้มีเคสเด็กที่ถูกปล่อยคลิป เราไม่รู้ว่าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ตอนนี้เขายังเป็นเยาวชน และอนาคตถ้าเขามีครอบครัวแล้วลูกเขาไปเจอ จะรู้สึกยังไง หลาย ๆ เคสเรารู้ปุ๊บ เราคุยกันเสร็จเราปรึกษาทีมงานเสร็จเราไปเลย คนถึงเข้าหาเราไว เพราะเราทำงานไว”

ในขณะที่รัฐอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องความรุนแรงทางเพศมากพอแบบทุกวันนี้ มันยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ตลอด 

“ทุกวัน ทุกวัน มันอยู่ที่ว่าวันนั้นผู้หญิงจะหมดความอดทนเมื่อไรแล้วเขามาร้องเรา”

“ตอนนี้ปัญหาในสังคมไทยเกิดขึ้นเยอะมาก ตำรวจเขาก็ทำหน้าที่ในมุมของเขา แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงกฎหมาย เข้าไม่ถึงหน่วยงานภาครัฐ เข้าไม่ถึงความยุติธรรม ฉะนั้นมันถึงต้องมีคนอย่างพวกเรา และอื่นๆ อีกเยอะนะคะ ตอนนี้มีหลายๆ เพจหลายๆ กลุ่มหลายๆ มูลนิธิที่ตั้งมาช่วยเหลือคนจริงๆ เพราะว่าประชาชนเดือดร้อนกันเยอะ ตำรวจอาจจะทำงานแหละ แต่ว่าก็แค่มันอาจจะยังไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่ถูกกระทำมากขึ้นในสังคมไทยแค่นั้นเอง”

เรามีตำรวจที่ควรจะเป็นหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่พอเป็นเรื่องเพศทีไร เหมือนจะต้องเป็น NGO ทุกที

“พี่มองว่ายิ่งมีกลุ่มเยอะตำรวจยิ่งทำงานน้อย ผู้คนก็จะเข้าหาอย่างพวกเรา เขารู้สึกว่าไปหาตำรวจแล้วเขาเหมือนตัวอะไรก็ไม่รู้ เราเองเคยเป็นหนึ่งคนที่ถูกกระทำแบบนั้น พอมันมีคนอย่างเรา อย่างพี่กัน จอมพลัง อย่างท่านปวีณา ตำรวจทำงานสบาย เดี๋ยวรอเขาส่งเรื่องมาแล้วกัน ไม่ต้องไปสอบอะไรแล้ว ง่าย ไม่ต้องอะไรเยอะ เพราะมีคนมาส่งเคสให้คุณ แต่บางเคสมันไม่คืบหน้า ถ้าเจ้าใหญ่นายโตไม่เร่งก็คือจบ บางเคสเขาร้องทุกข์มานาน แต่พอเป็นข่าวเท่านั้นแหละถึงจะรวดเร็ว”

“คนไทยมักมองว่าเรื่องผัวเมีย ไปช่วยทำไมเดี๋ยวก็กินอาหารหมาหรอก ก็เพราะว่าคนมองแบบนี้มันก็เลยเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ผู้ชายก็จะมองว่ามึงอย่ายุ่งผัวเมียทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกัน แต่ผู้หญิงเขาไม่ไหวแล้ว ใครก็ได้ยื่นมือช่วยฉันที บางคนเขาพูดไม่ได้ เพราะถ้าช่วยไม่ได้ตอนนั้นนะ กลับบ้านไปก็โดนอีก มันมีเยอะมาก หลาย ๆ เคสที่ไม่กล้า เพราะว่าผู้ชายเขาใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง ข่มขืน ไปถึงครอบครัวตัวผู้หญิงเอง”

ในมุมมองของภาคประชาสังคมที่เข้าช่วยเหลือกรณีความรุนแรง อยากเห็นอะไรจากรัฐเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน

“ถ้าเป็นมูลนิธิ รัฐจะซัพพอร์ต ตอนนี้พวกเรากำลังยื่นจดทะเบียนเหมือนกัน ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงินนะคะ เราลงพื้นที่เราใช้เงิน เรากินข้าวเราก็ใช้เงิน ทุกวันนี้เด็กไม่มีเงินเดือน พี่อ้อได้เงินมาแบ่งให้เด็กเอาไปใช้นะ อย่าลืมว่าทำงานด้านนี้เราแทบจะทำงานอื่นไม่ได้เลย เพราะแต่ละวันที่เข้ามาคือลงพื้นที่ทุกวัน แต่เราคิดว่าเราทำตรงนี้เดี๋ยวสักวันหนึ่งก็ต้อต้องมีคนเห็นในสิ่งที่เราทำ”

“ไม่รู้สิ พี่ว่ามันควรมีศูนย์ที่รับร้องเรียนเรื่องความรุนแรง รับคนจิตอาสาอย่างเราเข้าไปทำก็ได้ จะได้ช่วยตำรวจ จะได้มีเครือข่ายภาคประชาชน อย่างน้อยประชาชนเขาเข้าไม่ถึงก็จะได้มาหาตรงนี้ เป็นวอร์รูม เราพร้อมนะ เราพร้อมที่จะไปซัพพอร์ตตรงนั้น”

“มันควรจะต้องมีเงินสนับสนุนในการทำงานการลงพื้นที่ สำคัญมาก แต่เราก็เราเลิกทำไม่ได้ ช่วงที่พี่อ้อออกจากมูลนิธิเก่า เราก็ตั้งหลักได้สักพักหนึ่ง โอเคแหละ ตอนแรกก็มีคนว่าจะช่วยเรานะ เราก็ดีใจที่มีคนจะมาซัพพอร์ต แต่ถึงเวลานั้นเราไม่รู้ว่าเพราะอะไรเขาถึงหายไป ช่วงนั้นเราก็ท้อนะ จะไหวไหมวะ เราจะแบกรับคนทั้งองค์กรได้ไหม พอคิดจะหยุดมันก็ไม่ได้ มีคนทักมา พอเราช่วยเขาสำเร็จ เขาทักมาขอบคุณ ทุกวันนี้แม่ที่ลูกเขาเสียชีวิตเคสกาญจนบุรี เขายังทักมาขอบคุณทุกวัน ทุกเช้า อวยพรเรา เราก็เลยบอกว่าหนูไม่มีแม่แล้ว แม่ทักมาอวยพรหนูทุกเช้าได้ไหม เขาก็ทักเราทุกเช้า เดี๋ยวถ้าวันไหนเรามีเคสเราก็จะไปหาเขา เพราะเขามีลูกชายคนเดียว แล้วลูกชายเขาเสียชีวิต แจ้งตำรวจก็ไม่มีความคืบหน้า จนเจอศพน้อง จนทุกอย่างกระจ่าง เราก็เหมือนเป็นลูกเขาคนหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราได้ตอบแทนคือคำขอบคุณ 

การต้องทำงานกับความรุนแรงในสังคมแบบนี้ทุกวัน ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนทำงาน

“พี่สะดุ้งตื่นกลางดึกตลอดเวลา มีเคสหนึ่งที่นักข่าวส่งเรื่องมาให้เรา ตอนประมาณตีสอง พอเห็นแล้วนอนไม่ได้เลย พอเราลงไปพื้นที่เอง ไปสัมผัสบ้านที่น้องอยู่ จุดที่น้องถูกทำร้าย จุดที่น้องนอน น้องกินยังไง พนักงานเซเว่นมาเล่าให้เราฟังว่าน้องออกไปตีสองตีสามไปซื้อมาม่ากิน ร่างกายมีแต่รอยเขียวช้ำ วันนั้นเราไปช่วยจนฌาปนกิจศพ เสร็จจากวันนั้นตำรวจก็ยังส่งคลิปมาให้เราดู เราต้องบอกว่าไม่ต้องส่งได้ไหม เราไม่โอเคแล้ว ดูเท่าไรก็ร้องไห้ ทุกวันนี้พูดถึงก็ยังอยากร้องไห้ ดิ่งจริง”

“ตอนทำเคสแอม ไซยาไนต์ พี่นอนโรงพยาบาลเลย เราเครียดจนเป็นโรคเครียดจากการหาข้อมูลคนเสียชีวิต เราต้องหาให้เจอว่าญาติของคนนี้คือใคร คนที่เสียชีวิตในวงแชร์คือใคร เรานอนไม่ได้ กินไม่ได้ น้ำหนักลงไป 5 กิโลฯ พอเข้าโรงพยาบาล ได้นอนไปเลยเต็มที่สองวันก็กลับมาทำงานเหมือนเดิมอีก”

“ทุกวันนี้ก็ไม่มีเงินนะ แต่โผล่ไปทุกที่ สุรินทร์ก็ไป สกลนครก็ไป ชลบุรีก็ไป นี่มีทางใต้อีกแล้วที่ใต้ แล้วใต้เราจะไปยังไง เราคิดว่าวันนี้ไม่มีว่ะ แต่พอเคสเข้ามาถึง มันก็มีคนให้เราเอง เรายังเชื่อเรื่องบาปบุญอยู่นะ เราทำดี สุดท้ายแล้วมันก็มีคนมองเห็น ถึงมันจะไม่มากมายแต่มันก็มันก็ยังเป็นสะพานไปช่วยต่อได้อีก”

“เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่นในการขอความช่วยเหลือ แต่บางคนเขาไม่มีโอกาส เราคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขาหลุดพ้นจากตรงนั้น เราทำงานกันแบบไม่ได้มีนายทุน เอฟซีบริจาค ช่วยค่าน้ำมัน ไปดึก ค่ำไหนก็นอนนั่น ไม่ได้กินหรูอยู่แพง เวลาที่ดิ่ง ๆ ก็เยียวยาด้วยหมูกระทะกัน คนละ 160 บาท แค่นั้นสบายแล้ว กลับมาก็หลับ ตื่นมาก็ทำงานต่อแค่นั้น”

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me