ถ้าพบ 2,002 ซากตัวอ่อนวัดไผ่เงินฯ ในปี 2003 เราจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร? ชวนอ่านเหตุการณ์วัดไผ่เงินฯ ใหม่ในวันที่ไทยทำแท้งถูกกฎหมาย

- Advertisement -

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงประเด็นการทำแท้งในไทยไปตลอดกาล

- Advertisement -

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากสุนัขจรตัวหนึ่งที่คาบถุงมายังตลาด ดึงดูดความสนใจของชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อพบว่าในถุงที่สุนัขคาบมาคือซากตัวอ่อน ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้เข้าสืบสาวจนพบว่ามีการนำซากตัวอ่อนมาเก็บไว้ในตู้เก็บศพจำนวน 3 ตู้ รวมทั้งสิ้น 2,002 ซาก และผู้ที่นำมาเก็บไว้คือสัปเหร่อของวัดไผ่ล้อมที่รับงานมาจากคลินิกในพื้นที่วัดไผ่ล้อมและในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล รวม 4 คลินิกเพื่อรอเผา แต่เกิดเหตุขัดข้องจากเตาหลอมชำรุด จึงนำไปเก็บรวบรวมไว้และมีสุนัขเข้าไปพบเข้า

การพบตัวอ่อนรวม 2,002 ซาก บริเวณโกดังเก็บศพวัดไผ่เงินโชตนาราม ย่านบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร นำไปสู่การจับกุมสัปเหร่อ และอดีตผู้ช่วยหมอเจ้าของคลินิคทำแท้ง เหตุการณ์นี้นับเป็นการเปิดฉากปราบปรามสถานทำแท้งอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กินเวลายาวนานหลายเดือนและกลายเป็นประเด็นในสื่อแทบทุกแขนง หนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ พจน์ อานนท์ นำเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปสร้างเป็นหนังสยองขวัญ ‘The Unborn Child ศพเด็ก 2002’ คนในละแวกวัดไผ่ล้อมบอกว่าได้ยินเสียงเด็กร้องไห้โหยหวนหลังมีการพบซาก ความคิดเห็นของสังคมต่อประเด็นนี้เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้นและสะเทือนใจ  เรื่องบาปบุญคุณโทษดังกลบความจริงที่ว่า ไม่เคยมีเสียงของผู้ทำแท้งคนไหนได้รับความสำคัญในสื่อ แม้เรื่องนี้จะเกี่ยวกับพวกเขาโดยตรง คนเหล่านี้ตกเป็นประเด็นโจมตีของสังคม จากสื่อมวลชนที่ใช้คำตำหนิชัดบนพาดหัวข่าว นักกฎหมายที่สาธยายความผิด ชาวบ้านที่ก่นด่า ดาราสาวที่ได้รับผลกระทบจากข่าวจนต้องออกมาบอกว่าป้องกันตัวเอง และตัวแทนศาสนาที่พร่ำสอนตอกย้ำความเชื่อเรื่องบาปของการทำแท้ง

13ปีของเหตุการณ์สะเทือนใจ แล้วสถานการณ์ทำแท้งในไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ปัจจุบันการทำแท้งในประเทศไทยถูกกฎหมายในทุกช่วงอายุครรภ์ โดยมีข้อกำหนดที่ต่างกันไปแต่ละอายุครรภ์ 

ผู้มีความประสงค์สามารถเข้ารับบริการอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสถานบริการของรัฐและเอกชน และเป็นบริการทางการแพทย์ที่มีเปอร์เซ็นความปลอดภัยสูงเมื่อให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก เป็นสิทธิตามกฎหมาย และตามสิทธิมนุษยชนในฐานะเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย

บทสนทนาเรื่องการทำแท้งถูกสำรวจรอบด้านมากขึ้น การพูดถึงสิทธิและทางเลือกของผู้ตั้งครรภ์เริ่มมีพื้นที่ในการสนทนา อย่างไรก็ตาม มายาคติต่อการทำแท้งและวาทกรรมที่ผลิตซ้ำอคติทางเพศก็ยังพบได้ในสื่อ และหากเราลองเปิดบทสนทนาเรื่องนี้กับคนใกล้ตัว เรายังอาจพบว่าอคติต่อบริการทางการแพทย์นี้ยังแฝงฝังอยู่ในสังคมลึกจนการยกเลิกกฏหมายเอาผิดต่อการทำแท้งอาจยังไม่เพียงพอ เราต้องการการสื่อสารเชิงบวกในประเด็นนี้เพิ่มขึ้น

แล้วถ้า 2,002 ซากถูกพบในปี 2023 เราควรจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร ?

วันที่ 16 พฤศจิกายน ขณะที่ทุกคนกำลังง่วนอยู่กับการจับจ่ายซื้อของในตลาด สุนัขจรตัวหนึ่งคาบถุงขยะเข้ามาในพื้นที่ ดึงความสนใจจากชาวบ้านและพ่อค้าแม่ขายละแวกนั้นจนเกิดการเข้ามาแย่งถุงไปและเปิดดู ภายในถุงพบซากตัวอ่อนอายุครรภ์ไม่เกิน 5 สัปดาห์ จึงเกิดการสืบสวนค้นหาต้นตอที่มา การค้นหาพาตำรวจและชาวบ้านไปพบกับโกดังเก็บศพของวัดไผ่เงินโชตนาราม ที่ซึ่งพบถุงพลาสติกมัดปิดแน่นหนาจำนวนรวม 2,002 ถุง ด้านในคือซากตัวอ่อนจากการทำแท้ง การสอบสวนนำไปสู่ข้อเท็จจริงจากสัปเหร่อที่ยอมรับว่ารับจ้างทำหน้าที่ในการกำจัดซากตัวอ่อนจากสถานทำแท้งแห่งหนึ่ง โดยปกติจะทำการฌาปนกิจด้วยเตาเผาของทางวัดแต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเมรุชำรุดและอยู่ระหว่างการซ่อม จึงเกิดจัดการที่ไม่เหมาะสมและมีสุนัขมาพบเข้า ต่อมาตำรวจและรัฐได้ขยายการสอบสวนต่อไปถึงสถานทำแท้งที่ผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชายแต่เป็นอดีตลูกมือที่ศึกษาวิธีการทำแท้งและเปิดคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เธอกล่าวว่าผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ท้องไม่พึงประสงค์ ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น 

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงสถานบริการที่ปลอดภัยของรัฐ และตอกย้ำข้อเท็จจริงว่ามีผู้ต้องการทำแท้งจำนวนมากที่มองหาบริการซึ่งมีอยู่อย่างไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ไม่มีสถานบริการโดยรัฐเลยแม้เพียงแห่งเดียว การทำแท้งในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องทำในสถานบริการเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่มีข้อมูลประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าสามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้แล้วอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังสะท้อนอีกปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังในสังคมไทยว่า ‘เราไม่พูดถึงการทำแท้ง’ เรายังไม่พูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา เรายังไม่พูดถึงชีวิตของคนมากมายที่ตกอยู่ในอันตรายจากการเข้ารับบริการที่ไม่ถูกกฎหมายและให้บริการโดยบุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ เราไม่พูดกันมากพอว่าตัวอ่อนจำนวน 2,002 ถุงนี้หมายถึงมีผู้เคยตั้งครรภ์อย่างน้อยสองพันรายที่อาจได้รับอันตรายหรือผลกระทบทางสุขภาพจากการตัดสินใจทำแท้งโดยอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน อาจไม่ได้รับแรงสนับสนุนให้กำลังใจจากคนรอบข้าง และอาจเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล จากความรู้สึกผิดที่สังคมมอบให้แก่ผู้ผ่านประสบการณ์ทำแท้ง

การทำแท้งคือบริการทางการแพทย์

เรื่องราว ‘สะเทือนขวัญ’ เมื่อปี พ.ศ. 2553 ควรถูกเล่าอย่างยุติธรรม และเข้าใจปัญหาที่ประชาชนไทยกำลังต้องเผชิญจากการละเลยของภาครัฐที่ไม่พยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง และต้องเล่าโดยคำนึงถึงผู้ทำแท้งอย่างน้อย 2,002 คน ที่ถูกทิ้งให้เผชิญการตัดสินใจนั้นโดยอาจไร้ซึ่งระบบให้ความช่วยเหลือ เหตุการณ์นั้นควรสะเทือนขวัญทุกคนที่เห็นความอยุติธรรม ว่าคนกลุ่มหนึ่งต้องถูกลงโทษจาก ‘ค่านิยม’ ของสังคมที่เต็มไปด้วยอคติทางเพศและการตัดสินตีตรา

13 ปีผ่านไป แม้การทำแท้งจะถูกกฏหมายทุกอายุครรภ์ แต่การสื่อสารเรื่องการทำแท้งในฐานะบริการทางการแพทย์ยังถูกพูดถึงไม่เพียงพอ การสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องของ ‘สิทธิ’ และ ‘ทางเลือก’ ของผู้ตั้งครรภ์หรือเจ้าของร่างกายคือเรื่องสำคัญ การสื่อสารประเด็นสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ต้องให้ความสำคัญกับภาพและภาษา ซึ่งมักจะมีการสอดแทรกหรือแฝงแนวคิดและทัศนคติผ่านถ้อยคำและการร้อยเรียง โดยเฉพาะในสังคมที่มีการตัดสินตีตราจากผู้คนรอบข้างหรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ควรจะให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและให้เกียรติผู้ประสงค์ยุติการตั้งครรภ์ในฐานะ ‘เจ้าของเนื้อตัวร่างกาย’ ไม่ใช่ผู้ปกป้องศีลธรรม

หากต้องการปรึกษาเรื่องการทำแท้ง สามารถติดต่อหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาได้ที่ กลุ่มทำทาง และ 1663  สามารถหาข้อมูลสถานบริการได้ด้วยตนเองที่ https://rsathai.org/healthservice/

อ่านบทความ ‘กลุ่มทำทาง เพื่อร่วมทางของคนทำแท้ง’ องค์กรที่ก่อตั้งหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ที่ https://bit.ly/40Whamt

อ่านบทความ ‘พูดถึงทำแท้งอย่างไร ไม่ส่งต่ออคติ Ver. ใช้คำผิด (หลาย) ชีวิตเปลี่ยน’ ได้ที่ https://bit.ly/49Hauwb  และ ‘Ver. เลือกรูปพลาด = ขาดความเห็นใจ’ ที่ https://bit.ly/3G21CDT

#วัดไผ่เงิน #ทำแท้ง #ยุติการตั้งครรภ์ #กฎหมายทำแท้ง

Content by Ms. Chapman and Ms. Satisfaction

Graphic by Ms. Satisfaction

อ้างอิง

Thairath: https://bit.ly/47C1MNU, https://bit.ly/47iOuX8

คมชัดลึก: https://bit.ly/3QHR2Xz

#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์  ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”

- Advertisement -
Ms.Chapman
Ms.Chapman
a senior baby girl