Yellow Fever – ความหลงใหลในหญิงเอเชียของชายตะวันตก

- Advertisement -

ว่ากันว่าผู้หญิงเอเชียเป็นคน อ่อนหวาน ทำงานบ้านเป็น แถมยังเย้ายวนสุดเอ็กโซติก?
 
ในสายตาของชายตะวันตกส่วนหนึ่ง ผู้หญิงเอเชียมักถูกมองด้วยคำคุณศัพท์ที่ยกมาด้านบน ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินดูเหมือนจะเป็นข้อดีทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วมันดีหรือเปล่า ผู้หญิงเอเชียทุกคนเป็นแบบนั้นจริงหรือ?
 
ภาพจำเหล่านี้อาจไม่ได้นำไปสู่ประเด็นอะไรมาก แต่ถ้าเรามองไปถึงเหตุการณ์อย่างช่วงเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ที่มีการกราดยิงในสปาของหญิงเอเชียด้วยมุมมอง ในรัฐแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา หรือจากกระแสการต่อต้านคนเอเชียรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขัดแย้งกับรสนิยมการเสพสื่อผู้ใหญ่ในเว็บไซต์ดัง จากสถิติคำค้นหายอดนิยมในเว็บ Pornhub ปี 2021 ในอเมริกา ที่คำว่า Hentai(การ์ตูนญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง) ขึ้นอยู่เป็นอันดับหนึ่ง แถมคำว่า Asian ยังติด 1 ใน 5 อันดับแรก ๆ อีกด้วย ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าจากความชอบแบบนี้มันมีที่มาที่ไป และกลายเป็นต้นตอความรุนแรงไปได้ยังอย่างไรกัน?
 
SPECTROSCOPE: Yellow Fever – ความหลงไหลในหญิงเอเชียของชายตะวันตก
 
#Yellow Fever (ที่ไม่ใช่ไข้เหลืองจากยุง) คือการที่คนตะวันตกโดยเฉพาะผู้ชาย มีความปรารถนาในความเป็นเอเชียอย่างรุนแรง ในกรณีนี้หมายถึงผู้หญิงเอเชียเป็นหลัก ด้วยมีภาพจำว่าพวกเธอ จะเป็นคนงาม มีหน้าตาเยาว์วัย หมดจด ผิวพรรณนุ่มนวล มีทรวดทรงอรชร พูดจาไพเราะ มีความเป็นกุลสตรี เป็นภรรยาที่ดีต่อสามี มีความ ‘แปลก’ ที่ผู้หญิงตะวันตกไม่มี บ้างก็เรียกความชอบลักษณะนี้ว่า Asian Fetish ซึ่งหากเมื่อเอ่ยถึง Fetish ก็มักจะมีความหลงไหลและความปรารถนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศหรือกามารมณ์เข้ามาด้วย
 
รสนิยมในการชื่นชอบของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอยู่แล้ว หากแต่การชื่นชอบคนหนึ่งเพราะมีภาพจำว่าคนกลุ่มนั้นจะต้องมีลักษณะจำเพาะ เช่น เอ็กโซติก รวย รักเดียวใจเดียว โรแมนติก เป็นร่างสูง ร่างบางหรืออื่นๆ สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นว่าเราอาจไม่ได้ชอบที่ตัวบุคคลจริงๆ เพียงแต่ได้รับอิทธิพลการชอบจากสิ่งที่ภาพจำนำเสนอไว้
 
ปัจจัยสำคัญที่เป็นเชื้อเพลิงให้ภาพจำของผู้หญิงเอเชียดังกล่าวคงอยู่มานับศตวรรษ มีส่วนมาจากแนวคิด แบบ orientalism ที่แฝงความเชื่อที่ว่าคนตะวันตกในอดีตเชื่อว่าตัวเองมีอารยะกว่าชาติอื่น จนสร้างมุมมองหรือกำหนดภาพจำเกี่ยวกับตะวันออก ทั้งวัฒนธรรม การแต่งกาย ผู้คน หรือวัตถุต่าง ๆ ตามแบบฉบับของชาวตะวันตก ซึ่งอาจเป็นทั้งเรื่องถูกต้องและบิดเบือน เรื่องดีและไม่ดีปนกัน และสื่อก็นำภาพจำเหล่านั้นไปผลิตซ้ำเรื่อย ๆ จนเป็นความเชื่อของสังคมหนึ่งไป โดยผู้หญิงเอเชีย (โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้) มักจะได้รับ 2 บทบาทหลัก ๆ ได้แก่
 
#Lotus Blossom ในอดีตสื่อตะวันตกมักวางบทบาท Lotus Blossom ให้กับผู้หญิงเอเชีย โดยทำนองที่ว่า ให้เป็นคนหัวอ่อน ไร้เดียงสาน่าเอ็นดู เป็นเด็ก ชอบเอาอกเอาใจ มีความน่าพิศมัยราวกับเป็นตุ๊กตาจากเมืองจีน หรือเป็นสาวเกอิชา จนทำให้ชายตะวันตกหลายคนอยากลิ้มลอง บทบาทลักษณะนี้ถูกถ่ายทอดในสื่อ เช่น เรื่อง Madame Butterfly (1904) จนถึง Miss Saigon (1989) ที่เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของหญิงเอเชียกับชายตะวันตก โดยเน้นสร้างและถ่ายทอดภาพจำให้ผู้หญิงเอเชียตะวันออก มีนิสัยเอาอกเอาใจ เป็นฝ่ายด้อยกว่าผู้ชายตะวันตก ใช้ชีวิตอย่างพึ่งพาชายตะวันตก และมักจะลงเอยด้วยการเป็นวัตถุทางเพศให้กับผู้ชายเหล่านั้น
 
#Dragon Lady นอกจากนี้ผู้หญิงเอเชียยังได้รับบทบาทให้เป็น Dragon Lady ซึ่งต่างจาก Lotus Blossom พวกเธอจะเป็นสาวที่มีลักษณะลึกลับ มีความน่าค้นหา ความน่ากลัว มีความสามารถในการต่อสู้แอ็กชั่น และมักถูกนำเสนอให้เป็นผู้หญิงอันตราย ที่ใช้ร่างกายและมารยาเข้าแลกเพื่อพิชิตเป้าหมายต่าง ๆ ตลอดจนบทที่ดูเป็นตัวร้ายที่ขัดกับความจริงเกินไป บทบาทเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาตั้งแต่สมัย Anna May Wong เช่น ในหนังเรื่อง The Thief of Baghdad (1924) ที่เธอรับบทเป็นทาสชาวมองโกเลียตัวร้ายที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองตลอดเวลาจนดูแตกต่างชัดเจน
 
การสร้างภาพจำหรือมีอคติต่างๆ ต่อกลุ่มคนหนึ่งมักมีสาเหตุมาจากความกลัว จนต้องลดทอนบทบาทของคนเหล่านั้นให้ดูด้อยกว่าตนเอง เช่น การสร้างภาพจำให้หญิงเอเชียเป็น สาวหวาน Lotus Blossom หรือสาวสวยอันตราย Dragon Lady นี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ภัยเหลือง” (Yellow Peril) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
 
ที่มีชาวจีนและคนเอเชียอพยพไปขายแรงงานในอเมริกาจำนวนมาก จนทำให้คนอเมริกันหวาดกลัวว่าจะโดนแย่งงาน เป็นภัยความมั่นคง จนเกิดกระแสต่อต้านคนเอเชียขึ้นอยู่ช่วงหนึ่ง และผลจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผู้หญิงเอเชียมีภาพจำไว้สองแบบคือ หากเธอไม่ใช่สาวอ่อนหวานตรงตามความต้องการของชายผิวขาว เธอก็ต้องถูกมองว่าเป็นผู้หญิงอันตรายที่น่ากลัว
 
แต่ในปัจจุบัน เรามักเห็นสื่อให้บทบาทผู้หญิงเชื้อสายเอเชียที่หลากหลายมากขึ้น ตัวละครมีมิติและมีความซับซ้อน และดูมีความเป็นมนุษย์จริงๆ มากขึ้น เช่นตัวละคร Rachel Chu จาก Crazy Rich Asian (2018) ที่ต่างจากภาพจำด้านบน นอกจากนี้สื่อยังให้นักแสดงหญิงเชื้อสายเอเชียรับบทที่ต่างจากภาพจำมากกว่าเดิม เช่น Michelle Yeoh จากเรื่อง Everything Everywhere All at Once (2022) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เธอได้ได้แสดงความสามารถด้านการแสดง มากกว่าขายความเป็นหญิงเอเชียที่เน้นแต่เรื่องเพศสภาพ
 
#ผู้หญิงไทยในสายตาชายตะวันตกเป็นอย่างไร? เคยมีงานวิจัยหนึ่งที่สำรวจเหตุผลว่าทำไมคนฝรั่งเศสถึงมาแต่งงานกับหญิงไทย (2017) ปรากฏผลลัพธ์ส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาพจำที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อมาตลอดๆ เช่น มองว่าหญิงไทยและหญิงเอเชียโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นั้นมีความเป็นผู้หญิง หัวอ่อน มีความเอ็กโซติกด้วย ผมสีดำ ผิวสีเหลือง ดูแลสามีและครอบครัว
 
ซึ่งนี่แตกต่างจากผู้หญิงชาวตะวันตกที่ถูกมองว่ามีลักษณะนิสัยเหมือนผู้ชายขึ้นทุกวัน มุ่งที่จะมีอิสระ อยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงหญิงยุโรปบางคนก็มีหน้าที่การงานที่ดีกว่าฝ่ายชาย ทำให้บางครั้งผู้ชายอาจรู้สึกด้อยกว่า และยากที่จะสร้างครอบครัวด้วย เหตุผลบางส่วนที่ยกมานี้อาจไม่ได้แสดงให้เห็นภาพจำทั้งหมดของชายตะวันตกมีต่อหญิงเอเชียเสียทีเดียว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าภาพจำว่าผู้หญิงเอเชียเป็น Lotus Blossom นั้นยังคงมีให้เห็นอยู่จริง
 
ภาพจำที่มองว่าผู้หญิงเอเชียเป็นวัตถุทางเพศ นั้นยังคงมีอยู่ให้เห็นกันในปัจจุบัน อย่างครอบครัวของ Jamie Chau คนดังจากสิงคโปร์ก็ยังเคยสัมผัสประสบการณ์นี้ เมื่อตอนที่เธอและลูกสาวของเธอ Calista Cuaca มาเที่ยวเมืองไทย มีชายตะวันตกท่านหนึ่งมาทึกทักหยอกล้อกับลูกสาวของเธอด้วยมุกที่สะท้อนภาพจำแปลกๆ ว่า “เธอมาจากสิงคโปร์แล้วเธอเป็น SPG (Sarong Party Girl) หรือเปล่า?” ทำเอา Jamie Chua ไม่พอใจอยู่ไม่น้อย
 
คำว่า SPG นี้เป็นมรดกตั้งแต่ยุคสงครามโลก ที่ใช้อธิบายหญิงสาวบางกลุ่มในแถบคาบสมุทรมลายู ที่ใช้ลักษณะของสาวเอเชียเป็นจุดขายและมุ่งคบค้าสมาคมกับชายตะวันตกผู้มีความชื่อชอบในตัวสาวเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะตนเอง จนทำให้ชายตะวันตกบางคนอาจมีภาพจำต่อผู้หญิงในแถบสิงคโปร์ มาเลเซีย ว่าเป็น SPG กันทุกคนไปแล้ว
 
#PRYA เองก็เคยออกเพลง Yellow Fever ที่สะท้อนให้เห็นภาพจำที่ฝังลึกต่อผู้หญิงไทยและเอเชียจากสายตาคนตะวันตกผ่าน MV มุมภาพในเพลงที่เน้นมุมประชิด จนทำให้รู้สึกอึดอัดตัวราวกับถูกจับจ้องด้วยภาพจำอยู่ตลอดและเนื้อเพลงของเธอ ซึ่งยังถ่ายทอดภาพจำของชายตะวันตกบางกลุ่ม เช่น ความเชื่อว่าผู้หญิงไทยเป็นคนข้ามเพศ และเอามาเล่นมุกขบขันกัน หรือการดูถูกภาพจำของธุรกิจกา(ม)ท่องเที่ยวของไทย และอีกมากมาย
 
#YellowFeverและAsianHates ในปัจจุบัน ในช่วงปีที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าว การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการทำลายชีวิตคนเอเชียอย่ารุนแรง เช่น เหตุการณ์ผลักผู้หญิงเอเชียตกรางรถไฟในนิวยอร์ก หรือเหตุการณ์ผลักผู้สูงอายุชาวไทยจนล้มเสียชีวิต ไม่ได้มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ตัวเลขทางสถิติในปี 2020 ก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงเอเชียตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการหยียดเชื้อชาติ มากถึง 68% ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 29 %
 
ผู้ก่อเหตุบางรายอาจอาศัยการมีภาพจำต่อผู้หญิงเอเชียมาเป็นแรงจูงใจ เช่นเหตุการณ์ยิงสปาในแอตแลนตาเมื่อปีที่แล้ว จากคำสารภาพของฆาตกร และมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีมูลเหตุมาจากการไม่ชอบคนเอเชียอยู่แล้ว หรือการต้องการทำให้รู้สึกว่าคนเอเชียด้อยกว่า ไม่ว่าจะอะไรก็ตามการทำร้ายร่างกายไม่ควรเกิดขึ้นกับทุกคนบนโลกนี้
 
คนเราอาจไม่สามารถห้ามไม่ให้มีภาพจำหรืออคติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เพราะด้วยปัจจัยและประสบการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่ส่งเสริมแนวคิดซึ่งบางครั้งอาจส่งเสริมแนวคิดไปในทางที่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อเรารู้ตัวว่าเรามีอคติหรือภาพจำที่ผิด เราควรมานั่งพิจารณาและทำความเข้าใจว่าทุกคนล้วนย่อมแตกต่าง ไม่มีใครจะเป็นเหมือนภาพจำแบบนั้นไปซะทุกอย่าง ตัวตนของแต่ละคนนั้นล้วนมีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร
 
การจะมีคนมารักใคร่ชอบพอใครนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะดีหากการชื่นชอบนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพราะภาพจำที่คาดหวังว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เป็นการชอบในตัวตนจริง ๆ ของแต่ละคนมากกว่า และทุกคนไม่ควรถูกปฏิบัติราวกับเป็นของแปลกจากแดนไกลเหมือนที่ผู้หญิงเอเชียหลาย ๆ คนเคยประสบมา
 
 
Content by: Thanathorn Noisong
Graphic by: Chutimol khuntong
 
อ้างอิง
Intertrend: ​​https://bit.ly/3PTGe7B
Bottero, M. (2017). Le fantasme de la femme thaïlandaise et la crise occidentale de la masculinité. Moussons. Recherche en sciences humaines sur l’Asie du Sud-Est, (29), 187-208.
 
- Advertisement -

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน