เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน หรือ Berlin Film Festival น่าจะเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดฉายภาพยนตร์ Queer หรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละคร LGBTQ+ และได้เปิดโอกาสให้โปรแกรมเมอร์ที่จัดเทศกาลภาพยนตร์ LGBTQ+ จากทั่วโลกร่วมกันจัดประกวดรางวัล Teddy Award สำหรับหนัง Queer ดีเด่นในแต่ละปี โดยมีการจัดตั้งกรรมการที่เป็นอิสระจากการประกวดในสายอื่น ๆ มาลงคะแนนตัดสิน ซึ่งก็มีการมอบรางวัลกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1987
ปัจจุบันรางวัล Teddy Award มอบให้กับหนัง Queer ในกลุ่มหนังเล่าเรื่องขนาดยาว (Best Feature Film) กลุ่มหนังสารคดีหรือหนังความเรียงขนาดยาว (Best Documentary/Essay Film) และกลุ่มหนังสั้น (Best Short Film) โดยในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลินครั้งที่ 73 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ก็มีหนังสั้นยาวในสายต่าง ๆ เข้าประกวดในรางวัลนี้จำนวนสูงถึง 53 เรื่อง ซึ่งสุดท้ายคณะกรรมการก็มีมติมอบรางวัลใหญ่ให้กับหนัง Queer ที่ดีที่สุดในเทศกาลในแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้
หนังที่ได้รับรางวัล Teddy Award ในกลุ่ม Best Feature Film ประจำปี 2023 ได้แก่หนัง romantic drama จากไนจีเรียเรื่อง All the Colours of the World Are between Black and White ของผู้กำกับ Babatunde Apalowo จากสาย Panorama โดย All the Colours of the World Are between Black and White เป็นหนังที่สะท้อนภาพความจริงของสังคมไนจีเรียที่ยังไม่ยอมรับความรักที่เกิดจากคู่รักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะเพศชาย หนังเล่าเรื่องราวของ Bambino หนุ่มเดลิเวอรีจิตใจดีที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้ยืมเงินอยู่เสมอ ๆ เขาจึงเป็นที่รักในชุมชนแออัดที่เขาอยู่อาศัย จนกระทั่งเมื่อวันหนึ่งเขาได้พบกับหนุ่มศิลปินช่างภาพ Bawa ที่กำลังหาแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพเพื่อส่งประกวดชิงรางวัล Bawa ขอให้ Bambino เป็นนายแบบจำเป็นให้ แต่สายตาการจ้องมองของ Bawa ที่มีต่อ Bambino ขณะบันทึกภาพมันฟ้องชัดว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นแค่ช่างภาพและนายแบบธรรมดา ๆ และอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่ง Bambino ก็มีความรู้สึกต่อ Bawa ด้วยเช่นกัน หากความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังกลายเป็นที่จับจ้องของคนรอบข้าง สร้างความไม่พอใจต่อเหล่าอันธพาลที่ต้อง ‘จัดการ’ ไม่ให้พฤติกรรมล้ำเส้นศีลธรรมนี้มีอยู่ในสังคม! หนังแสดงภาพความสุขในการใช้เวลาอยู่ร่วมกันของชายหนุ่มผู้มีหัวใจตรงกันในช่วงครึ่งแรกอย่างแสนอบอุ่นอ่อนหวาน ราวเป็นการพบเจอกันของสองดวงวิญญาณที่เฝ้าตามหากันมานานแสนนาน ก่อนที่จะหันกลับมามองสถานการณ์ผ่านโลกความเป็นจริงในไนจีเรียที่มองความรักของมนุษย์เพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดแปลกแม้จะในเมืองใหญ่ ทำให้ความรักของทั้งคู่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ตราบใดที่พวกเขายังปรารถนาจะอยู่ร่วมในสังคมแห่งนี้! All the Colours of the World Are between Black and White จึงนำเสนอภาพความจริงที่ยังคงมีอยู่ในอีกหลาย ๆ ที่ของโลกได้อย่างน่าเศร้า ซึ่งต้องนับถือผู้กำกับ Babatunde Apalowo ที่หาญกล้าทำหนังเล่าเรื่องราว ‘ต้องห้าม’ เรื่องนี้ออกมาเพื่อแฉให้โลกรู้ว่าทัศนคติต่าง ๆ ของผู้คนบางกลุ่มในไนจีเรียยังคงล้าหลังกันเพียงใด
สำหรับหนังสารคดีหรือความเรียงที่ได้รับรางวัล Teddy Award ในสาย Best Documentary/Essay Film ไปก็เป็นหนังสารคดี-ความเรียงจากฝรั่งเศสเรื่อง Orlando, My Political Biography ของผู้กำกับ Paul B. Preciado ที่อ้างอิงถึงนวนิยายอังกฤษเรื่อง Orlando: A Biography (1928) ของ Virginia Woolf ซึ่งเล่าชีวประวัติของตัวละครสมมตินาม Orlando กวีที่เกิดและเติบโตด้วยร่างกำเนิดเป็นเพศชาย แต่เมื่ออายุได้ 36 ปี เขาก็สลับเพศมาเป็นสตรีอย่างน่าอัศจรรย์ และใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงนับจากนั้นอีก 300 ปีโดยที่ไม่แก่ชราลงเลย ซึ่งผู้กำกับ Paul B. Preciado ก็ได้เชื้อเชิญกลุ่มคน transgender หลากหลายช่วงวัยในยุคปัจจุบันมาแนะนำตัวว่าพวกเขาชื่อเสียงเรียงใด จากนั้นก็ชวนให้พวกเขาสวมใส่ collerette ruff สีขาวเป็นวงบานรอบคอพอให้ร่วมสมัยกับตัวละคร Orlando แล้วบอกกับผู้ชมว่า พวกเขาจะมารับบทบาทเป็น Orlando จากนิยายของ Virginia Woolf กันในสารคดี-ความเรียงเรื่องนี้ Orlando, My Political Biography จึงเป็นงานที่ประกาศให้โลกรู้ว่าตัวละครในจินตนาการอย่าง Orlando ที่ Virginia Woolf เคยวาดฝันเอาไว้ในช่วงเกือบศตวรรษที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาและสามารถมีชีวิตมีตัวตนได้จริง ๆ ในยุคปัจจุบันผ่านแขกรับเชิญ transgender ที่มาปรากฏตัวในเรื่องนี้ จะต่างกันก็ตรงที่เหล่า Orlando ในห้วงเวลาปัจจุบันยังต้องจับมือกันต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทางกฎหมาย อนุญาตให้พวกเขาใช้คำนำหน้าชื่อหรือใช้ชื่อตามที่ประสงค์ได้ ไม่ยัดเยียดการจัดกลุ่มเพศตามวิถีปฏิบัติที่เคยมีมาทั่วไป ในฐานะเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงมีได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ
ปิดท้ายด้วยหนังสั้นที่คว้ารางวัล Teddy Award กลุ่ม Best Short Film ก็เป็นงานความยาวเพียง 25 นาทีจากออสเตรเลียเรื่อง Dipped in Black ของสองผู้กำกับ Matthew Thorne และ Derik Lynch ซึ่งเป็นงานกึ่งสารคดีที่ถ่ายทอดภาพชีวิตจริงของ Derik Lynch เกย์หนุ่มชนเผ่าอะบอริจินผิวสีที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่อย่างแอดิเลดหากกลับไม่ฟิตอินด้วยรูปลักษณ์ความเป็นชนเผ่าของเขาจนไม่เข้ากับชนผิวขาว จนสุดท้ายก็ตัดสินใจหวนกลับมายังชุมชนอานันกู บ้านเกิดของตนเอง แล้วผสมผสานการร้องและเต้นในชุดกระโปรงแบบ Tina Turner นักร้องหญิงที่เขาหลงใหล ให้เข้ากับวัฒนธรรมการร้องระบำในแบบพื้นเมืองจนกลายเป็นความแปลกหูแปลกตา ซึ่งถึงแม้ว่าหนังจะมีเวลาเพียง 25 นาที Dipped in Black ก็สามารถตีแผ่แง่มุมชีวิตของ Derik Lynch เองออกมาในภาวะที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเป็นชายเกย์ชนเผ่าที่กลับไม่เข้ากันกับผืนแผ่นดินเกิดของตนเองด้วยแรงเสียดทานจากผู้คนแวดล้อม!