ถอดรหัสอัตลักษณ์เพศของ LYDIA TÁR อัครวาทยกรชื่อก้อง

- Advertisement -

Story by ‘kalapapruek’

- Advertisement -

ในฤดูกาลประกวดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ประจำปี ค.ศ. 2023 มีหนังเรื่องหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ถึง 6 สาขา รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่แม้จะวางตัวเป็นเพียงเรื่องราวสมมติ แต่กลับส่องสะท้อนโลกความจริงร่วมสมัย โดยเฉพาะความหลากหลายและเลื่อนไหลในเชิงอัตลักษณ์เพศได้อย่างสมจริง ผสมผสานกับเรื่องราว ‘วงใน’ ของอุตสาหกรรม ‘ดนตรีคลาสสิก’ ที่ตีแผ่ความโสมมออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อสายตา ด้วยฉากหน้าที่แลดูเป็นกิจกรรมแสนจะอารยะ แต่เบื้องหลังคือแข่งขันกันจะเป็นจะตาย หากไร้ซึ่งความโหดเหี้ยมอำมหิตในใจก็อย่าพึงหวังว่าจะมีที่ยืนบนเวทีได้ หนังเรื่องนั้นก็คือ Tár ผลงานการกำกับหนังขนาดยาวเพียงลำดับที่สามในระยะเวลา 21 ปี ของ Todd Field

Tár เล่าเรื่องราวความสำเร็จและความล้มเหลวของ Lydia Tár วาทยกรหญิงชื่อก้องในโลกสมมติซึ่งรับบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยมโดย Cate Blanchett โดยผู้กำกับ Todd Field ตั้งใจเล่าเรื่องนี้ เพื่อตีแสกหน้าวงการดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย เพราะในขณะที่ศิลปะแขนงอื่น ๆ ศิลปินหญิงจะสามารถลุกขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินชาย สร้างน้ำเสียงตัวตนผ่านผลงานศิลปะจนเกิดเป็นความหลากหลาย วงการดนตรีคลาสสิกเองโดยเฉพาะในตำแหน่งหน้าที่สำคัญอย่างการอำนวยดนตรีของ ‘วาทยกร’ กลับไม่มีสตรีรายใดประสบความสำเร็จอย่างจริง ๆ จัง ๆ จนสามารถลุกขึ้นมานั่งแถวหน้า สามารถออกแผ่นออก album ดนตรีคลาสสิกชุดสำคัญ ๆ เหมือนวาทยกรชายที่ปกครองวงการนี้มาอย่างยาวนานนับเป็นร้อย ๆ ปี! ตัวละครสมมติอย่าง Lydia Tár จึงถือว่าเป็น ‘วาทยกรหญิง’ ชื่อดังรายแรกที่โลกรู้จัก ผู้ประสบความสำเร็จจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้อำนวยดนตรีบทประพันธ์ symphony ทั้ง 10 บทของคีตกวียุคโรแมนติกรายสำคัญ Gustav Mahler โดยมี Symphony no.5 เป็น symphony บทสุดท้ายที่เธอจะได้อัดแผ่นกับวงดนตรี Berlin Philharmonic Orchestra ในการนำมารวมแผ่นขายเป็นชุด

ตัวละคร Lydia Tár ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีตัวตนจริง จึงนับเป็นตัวละครที่น่าสนใจอย่างมากมาย ชวนให้อยากรู้ว่าเธอฝ่าฟันการแข่งขันดันตัวเองมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร และวิธีการทำงานของเธอแตกต่างกันหรือไม่กับวาทยกรชายรายอื่น ๆ เชื่อมโยงไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศของเธอว่า เธอมีชีวิตคู่กับใครอย่างไร โดยไม่สามารถแยก ‘โลกส่วนตัว’ ออกจาก ‘โลกการทำงาน’ ได้ เมื่อในหนังเรื่องนี้ กำหนดให้ Lydia Tár เป็นเลสเบี้ยน อาศัยอยู่กินกับ Sharon คู่รักหญิงมีอาชีพเป็นนักไวโอลิน แถมทั้งคู่ยังมีบุตรสาวบุญธรรมวัยหกขวบเป็นพันธะสัญญาใจ สร้างครอบครัวสมัยใหม่ที่ฝ่าย Lydia Tár ดูจะยืดอกและภูมิอกภูมิใจไม่แพ้การสร้างผลงาน

นัยยะด้านอัตลักษณ์เพศของตัวละคร Lydia Tár จึงนับเป็นเจตนาที่น่าวิเคราะห์ กระเทาะให้เห็นถึงทุกเหตุผลว่าทำไมทั้ง Todd Field ผู้กำกับและเขียนบท รวมถึง Cate Blanchett นักแสดงนำ จึงได้เลือกนำเสนอตัวละครออกมาในลีลาอย่างที่เราเห็น

วาทยกร อาชีพสำหรับ ‘ผู้ชาย’?

ด้วยขนบจารีตเก่าเดิมของสังคมสมัยโบราณที่กำหนดให้ ‘ผู้ชาย’ เป็นฝ่ายออกไปทำงาน แล้วให้ ‘ผู้หญิง’ เป็นฝ่ายดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตร ทำให้หน้าที่การงานหลาย ๆ อาชีพมักได้รับการผูกขาดโดยฝ่ายผู้ชายมาโดยตลอด รวมถึงงานการอำนวยดนตรีกับวงดนตรีอย่างการเป็น ‘วาทยกร’ ซึ่งตามคำศัพท์ก็ยังใช้คำปัจจัยว่า –กร ที่สื่อนัยลึก ๆ ถึงความเป็นเพศชาย ไม่มีการบัญญัติคำสำหรับใช้กับเพศหญิงอย่าง ‘วาทยกริณี’ ใด ๆ มาก่อน แม้อาจจะตั้งข้อถกเถียงได้ว่า จำเป็นหรือไม่?  เหตุผลหนึ่งคืออาชีพ ‘วาทยกร’ เป็นงานที่นอกจากจะต้องใช้ทั้งทักษะความรู้ความสามารถและรสนิยมทางคีตศิลป์ในระดับสูงมากแล้ว ยังต้องมีความเป็น ‘ผู้นำ’ ในระดับ ‘เยี่ยมยอด’ เพราะต้องควบคุมการบรรเลงของนักดนตรีทั้งหญิงและชายบางครั้งก็เกือบ ๆ ร้อยราย ทุกสรรพเสียงจำต้องอยู่ใต้อาณัติ ซึ่งตัวละครอย่าง Lydia Tár ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่างานการเป็น ‘วาทยกร’ จะหินถึงขนาดไหน ผู้หญิงอย่างเธอก็สามารถเอาชนะจนมายืนอยู่ ณ ตำแหน่งแถวหน้าได้ และหากวงการเปิดโอกาสให้สตรีมีที่ยืนบนโพเดียมในการทำงานนี้จริง ๆ เชื่อว่าเราจะมี ‘วาทยกริณี’ ที่มีชื่อเสียงก้องโลกอีกมากมายหลายท่านเลยทีเดียว

ดนตรีมีเพศ?

น่าสนใจที่เมื่อ Lydia Tár ตัดสินใจหันมาเอาชนะทุกอุปสรรค เพื่อจะได้ครองตำแหน่งวาทยกริณีเอกของโลก เธอกลับทำทุกสิ่งอย่างตามรอยเท้าของวาทยกรเพศชาย ไม่ได้พยายามสำแดงความเป็นเพศหญิงของเธอออกมาให้เห็นมากนัก แม้ว่าในระหว่างการสัมภาษณ์ Lydia Tár จะเอ่ยถึง Nadia Boulanger วาทยกริณีชื่อดังในชีวิตจริงชาวฝรั่งเศส แต่ก็เป็นเพียงการยกตัวอย่างถึงแต่เพียงห้วน ๆ สั้น ๆ ในขณะที่วาทยกรรุ่นเก่าที่ Lydia Tár ชื่นชมผลงานจนปวรณาตัวเป็นศิษย์ กลับกลายเป็นวาทยกรชาย Leonard Bernstein ที่ดูเหมือนว่าเธอจะสืบทอดรสนิยมการเลือกบทประพันธ์ที่จะนำมาบรรเลงซึ่งมักจะเน้นไปที่งานสำหรับวงดุริยางค์ซิมโฟนีขนาดใหญ่ในยุคโรแมนติกถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่อหังการในแบบผู้ชาย ในขณะที่ผลงานการประพันธ์ของคีตกวีหญิงที่พอจะมีอยู่ใน repertoire บ้าง เช่นบทประพันธ์ของ Hildegard von Bingen, Fanny Mendelssohn หรือ Clara Schumann กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจาก Lydia Tár เลย  ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็เป็นสิ่งที่จะไปว่าอะไรเธอไม่ได้ เพราะ Lydia Tár ก็เลือกแล้วว่าตัวตนและความชอบพอของเธอมันเป็นแบบนี้ต่อให้มันดูเหมือนเป็นการสืบทอดวิถีแบบบุรุษเพศมากกว่าจะรักษาความเป็นสตรี  ชวนให้ต้องตั้งคำถามต่อว่า สรุปแล้ว ‘เสียงดนตรี’ มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดแทรกอยู่ในบทประพันธ์ด้วยจริงหรือไม่? และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหากไม่รู้มาก่อนว่าบทประพันธ์ชิ้นนั้น ๆ เป็นผลงานของใคร เราจะเอาอะไรมาตัดสินแยกแยะว่านี่น่าจะเป็นเพลงที่แต่งโดยผู้หญิงหรือผู้ชาย!

อาภรณ์สะท้อนตัวตน

สิ่งที่จะใช้ตอกย้ำถึงพฤติกรรม ‘ทำทุกอย่างเหมือนเป็นวาทยกรชาย’ ของ Lydia Tár จะปรากฏชัดในชุดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของเธอ ที่แม้จะมีรายละเอียดการตัดเย็บในแบบผู้หญิง แต่แนวคิดหลักก็มักเป็นการอ้างอิงมาจากชุดสูทของผู้ชาย โดยเฉพาะ ‘เครื่องแบบ’ ของวาทยกรด้วยเสื้อเชิร์ตสีขาวกระจ่างตัดกับเม็ดกระดุมสีดำ และเสื้อนอกรัดรูปสีดำแบบมีหาง ที่ Lydia Tár แสดงความภูมิอกภูมิใจเป็นอย่างมากในอภิสิทธิ์ของการสวมเครื่องแบบนี้ ถึงกับมีฉากที่เธอเดินทางไปวัดตัวตัดสูท ‘วาทยกร’ ใหม่กับช่างที่ร้านหรูดูมีคลาสกันเลยทีเดียว  ในขณะที่นักดนตรีสตรีรายอื่น ๆ ส่วนใหญ่ เมื่อได้ออกแสดงในฐานะดาวเด่นก็มักจะนิยมสวมชุดกระโปรงราตรีมีการตัดเย็บที่ประณีตอ่อนช้อย ลอยเด่นออกมาฉากภาพพื้นหลังของสูทดำของเหล่านักดนตรี ส่วนการแต่งกายชุดอื่น ๆ ของ Lydia Tár ก็มักจะมาในชุดเสื้อเชิร์ตและกางเกงโทนสีมืด ๆ ทึม ๆ แลดูเคร่งขรึม แต่ผู้กำกับก็ยังไม่ลืมย้อนเตือนทั้งคนดูและตัว Lydia Tár เองว่าสุดท้ายแล้ว เธอก็ยังมีสรีระร่างกายและสัญชาตญาณในความเป็นผู้หญิง ทั้งจากฉากที่ Lydia Tár สวมชุดวิ่งออกกำลังกายในป่าแล้วได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้หญิงที่กำลังถูกทำร้าย ทำให้เธอแสดงอาการตระหนกตกใจในแบบของผู้หญิงออกมาทันที หรือในฉากที่เราได้เห็นร่างเปลือยแสดงความอ่อนแอของเพื่อนบ้านหญิงวัยชราที่ป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากได้กลายมาเป็น “คนชั้นเดียว” กับ Lydia Tár เราก็จะได้เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของเธอเช่นกันในฉากต่อมา ซึ่งนับเป็นฉากที่แสดงภาพความเป็น ‘ผู้หญิง’ ของตัวละครรายนี้ได้ชัดเจนที่สุด ยามปราศจากเสื้อผ้าอาภรณ์!

ครอบครัวคู่ชีวิต

เมื่อผู้กำกับได้วางบทบาทและบุคลิกของ Lydia Tár ออกมาได้ ‘แมน’ ถึงขนาดนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจอีกต่อไปที่ในด้านชีวิตส่วนตัว Lydia Tár จะมีรสนิยมทางเพศเป็น ‘เลสเบี้ยน’ อาศัยอยู่กินกับ Sharon นักไวโอลินหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง Berlin Philharmonic Orchestra ที่ Lydia Tár เป็นคนควบคุมอำนวยการแสดง โดยทั้งคู่มีบุตรบุญธรรมเป็นเด็กหญิงวัยหกขวบนาม Petra อาศัยอยู่ด้วยกันในอพาร์ทเมนต์หรูกลางกรุงเบอร์ลิน ด้วยความสำเร็จด้านหน้าที่การงานและปัจจัยรายได้ที่มั่นคง ทำให้ Lydia Tár สามารถยกระดับฐานะทางครอบครัวของเธอเองให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีศรีภรรยาที่ทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกัน ทั้งยังเป็นกองหลังให้การสนับสนุนดั่งตัวละครลับรายสำคัญที่ Lydia Tár ไม่สามารถจะขาดไปได้ เราจึงไม่สามารถแยกเรื่องราวชีวิตการทำงานของ Lydia Tár ออกจากชีวิตส่วนตัวของเธอได้ โดยมี Sharon ภรรยาของเธอเป็นตัวเชื่อมสำคัญ แต่จากพฤติกรรมของ Lydia Tár ที่นอกเหนือจากจะถือไม้บาตองครอบครองอำนาจบงการนักดนตรีทุกรายในวงดนตรีดุริยางค์ซิมโฟนีแล้ว นอกเวที Lydia Tár ยังชี้ไม้บาตองปกครองทุก ๆ คนที่อยู่รายล้อมเธอโดยไม่ยอมให้มีใครมากล้าหือ บทบาทในครอบครัวของ Lydia Tár จึงมีความเป็น ‘ช้างเท้าหน้า’ ไม่ต่างจากคีตกวีชายในสมัยเก่าโบราณที่เธอให้ความเคารพ จนกลายเป็นความย้อนแย้งสำคัญที่แม้ Lydia Tár จะใช้ชีวิตในแบบคู่รักเพศเดียวกันอันแสนร่วมสมัย แต่เธอก็ยังมีพฤติกรรมเยี่ยงชายหัวโบราณผู้วางตัวเป็นใหญ่โดยไม่ยอมฟังใคร ๆ เพราะเธอนี่แหละที่ได้ชื่อว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ เกินหน้าใครไหน ๆ และการที่เธอต้องฝ่าฟันทุกอุปสรรคเพื่อให้มายืน ณ จุดตรงนี้ได้ เธอก็ควรได้อำนาจกำนัลเป็นสิ่งตอบแทนความเหนื่อยยากเหล่านั้นอย่างสมน้ำสมเนื้อ!

เพราะฉันคือตัว ‘พ่อ’

เหตุผลสำคัญที่ผู้กำกับ/เขียนบท Todd Field กำหนดให้ Lydia Tár เป็นวาทกรเลสเบี้ยนผู้ใช้อำนาจชี้นำทุก ๆ ชะตากรรมของคนในครอบครัวแบบผู้ชาย ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความต้องการให้ภาพของ Lydia Tár ปลอดจากบทบาทของการเป็นแม่ เพราะถ้าหาก Lydia Tár ยังเป็นหญิงรักต่างเพศทั่วไป และแต่งงานอยู่กินกับนักดนตรีหรือวาทยกรชาย เธอก็จะต้องเป็นฝ่ายตั้งครรภ์และอุ้มท้องซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาพที่ Todd Field ต้องการให้คนดูเห็นเลย  ดังนั้นในฉากสำคัญที่ Lydia Tár ไปส่ง Petra บุตรสาวที่โรงเรียนและต้องจัดการกำราบเพื่อนนักเรียนหญิงจอมซ่าที่อาจหาญมาข่มขู่รังแก Petra ฝ่าย Lydia Tár จึงแนะนำตัวเองอย่างเสียงดังฟังชัดเลยว่า เธอคือ ‘พ่อ’ ของ Petra (จากนั้นคำบรรยายภาษาไทยจึงใช้คำว่า ‘พ่อ’ แทนสรรพนาม ‘I’ และ ‘you’ ที่ Tár และ Petra เรียกขานกันโดยตลอด) ด้วยน้ำเสียง ใบหน้า และแววตาอันเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิ ตำแหน่งของการเป็น ‘พ่อ’ จึงเหมาะกับผู้หญิงอย่าง Lydia Tár มากกว่าการเป็น ‘แม่’ หรือยกย่องให้เป็น ‘ตัวแม่’ เป็นไหน ๆ เรียกได้ว่าในหนังเรื่องนี้ Lydia Tár กระชับทุก ๆ พื้นที่ทุก ๆ บทบาทหน้าที่แห่งการเป็นผู้ชาย ชวนให้ต้องมาพินิจกันต่อว่าผู้กำกับ Todd Field กำลังตั้งใจบริภาษสิ่งใดหรือพฤติกรรมใด ผ่านพฤติกรรมที่ยังคงเห็นเค้าเงาของการสนับสนุนให้ฝ่าย ‘ชาย’ ฝ่าย ‘พ่อ’ หรือฝ่าย ‘สามี’ เป็นใหญ่ ไม่ว่าเพศสรีระของเธอจะเป็นเช่นใดก็ตาม

เท่าเทียมในความน่ารังเกียจ

ไม่ว่าตัวละคร Lydia Tár จะมีฝีมือเป็นที่ประจักษ์จนสามารถปักใจไร้ข้อกังขาในความสำเร็จจากความสามารถของเธอได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าคนดูจะรู้สึกหลังดูหนังจบก็คือ Lydia Tár เป็นวาทยกริณีที่มีความเห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจอย่างร้ายอาจ ทุก ๆ ความคิดและการตัดสินใจล้วนดำเนินไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเธอเอง และเมื่อในช่วงหนึ่งของหนัง ตัวละคร Olga นักเชลโลสาวคนใหม่ประจำวงได้เข้ามาแสดง audition จนทำให้ Lydia Tár รู้สึกถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น และยอมทำตัวเป็น ‘ไก่แจ้’ เข้าหาเทคแคร์ ‘เด็กใหม่’ โดยไม่เกรงใจสายตาของ Sharon ที่นั่งถือไวโอลินอยู่ข้าง ๆ เลย! จุดนี้เองที่ผู้กำกับ Todd Field สร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับตัวละครของเขาแบบเท่ากันจริง ๆ ด้วยการประกาศชัดว่า แม้ Lydia Tár จะอาศัยอยู่กินกับภรรยาในฐานะของกลุ่มคน ‘เพศทางเลือก’ ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะมีชีวิตที่ดีงามน่ายกย่องไปกว่าคู่รักกลุ่มอื่น ๆ แต่อย่างใด เลสเบี้ยนอย่าง Lydia Tár จึงสามารถแสดงความเจ้าชู้ชีกอก้อร่อก้อติกกับหวานใจคนใหม่ ไม่ต่างจากพฤติกรรมของของคีตกวีชาย Johann Sebastian Bach ผู้มีภรรยาสอง ลูกอีกยี่สิบ ที่เธอแสดงความนับถือ แถมยังเคยปรามาสลูกศิษย์ pangender ที่ ‘เหยียด’ ผลงานของ Bach เพียงเพราะเขาเป็นชายหลายใจในการทำ masterclass  ประกาศชัดว่าถึงจะเป็นเลสเบี้ยน เธอก็สามารถจะเป็นได้ทั้งคนดีและคนร้ายไม่ต่างจากคนทั่วไป โดยแน่นอนยังมีตัวละครเลสเบี้ยนแม่พระอย่าง Sharon ภรรยาของ Lydia Tár มาเป็นอีกขาของตาชั่งสร้างความสมดุลให้กับตัวละครในกลุ่มนี้

จากที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ จึงน่าจะเห็นได้ชัดแล้วว่าตัวละครสมมติแสนร่วมสมัยอย่าง Lydia Tár ในภาพยนตร์เรื่อง Tár มีแง่มุมที่สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้คนในโลกความเป็นจริงยุคปัจจุบันได้อย่างกระจ่างชัดราวมิใช่เรื่องแต่ง ในห้วงเวลาที่อุดมไปด้วยทางเลือกในการดำรงชีวิตแบบใหม่ ๆ แต่เค้าเงาความเป็นไปในโลกอดีตที่สืบสานต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนานยังคงทอดตัวแผ่ซ่านพลานุภาพ ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีเพศกำเนิดเป็นอย่างไร หรือมีรสนิยมทางเพศแบบใด ทุกคนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกวิถีปฏิบัติในการดำรงชีวิตแบบเพศใด ๆ ก็ได้ หากพร้อมจะรับผิดชอบในผลลัพธ์ไม่ว่าจะด้านดีด้านร้ายที่กำลังก้าวตามมา!

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน