คำเตือน: การกล่าวโทษเหยื่อ
“ปากแซ่บเว่อร์ ดูไม่สลดเลย”
“เค้ารู้ ๆ กันว่าชีก็ร้ายไม่เบา”
“สมควรอยู่นะ ก็นางมีชู้”
หลายครั้งที่เกิดกรณีความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว บุคคลที่ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ‘ผู้ถูกกระทำ’ หรือในบางครั้งก็เป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ มักต้องเผชิญกับสายตาของสังคมที่จับจ้องพฤติกรรมในความสัมพันธ์และชีวิตที่ผ่านมาว่าเป็นคนแบบไหน เคยทำอะไรมาบ้าง แล้วหลังเหตุการณ์ที่อ้างว่าเกิดขึ้นเจ้าตัวมีพฤติกรรมอย่างไร สลดเพียงพอไหม ดูเศร้าใจหรือเปล่า ฯลฯ แม้สายตาเหล่านั้นจะไร้ซึ่งสิทธิใดในการตัดสิน แต่ส่วนใหญ่ก็มักเข้าร่วมวงสืบสวนเองอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมข้ออ้างว่าต้องการนำข้อมูลจากเรื่องราวกอสซิบปากต่อปากและหลักฐานการโพสผ่านโซเซียลมีเดียมาประกอบการตัดสินใจว่าเหยื่อเหล่านั้น ‘บริสุทธิ์’ พอจะน่าเชื่อถือหรือไม่
และบ่อยครั้ง สังคมที่คลั่งคำสั่งศาลก็เป็นศาลเสียเองด้วยการตัดสินว่า… เธอไม่ใช่เหยื่อ
#SPECTROSCOPE: สาธารณชนขอตัดสินว่า “เธอเป็นเหยื่อไม่พอ” ผู้ผ่านความรุนแรงต้องต่อสู้กับอะไร เมื่อสังคมไหนก็คาดหวังให้เป็น Perfect Victim
ภาพของผู้ถูกกระทำที่แสดงความทุกข์ใจ ร้องไห้ หดหู่ และสงบปากสงบคำ คือลักษณะที่สังคมคาดหวังจากผู้ถูกกระทำทางเพศให้เป็น ‘เหยื่อในอุดมคติ’ หรือ Perfect Victim แต่ในโลกแห่งความจริง ไม่มีใครเป็นเหยื่อได้สมบูรณ์แบบ เพราะในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เป็นไปได้ว่าผู้ถูกกระทำอาจไม่ใช่คนแสดงความเศร้าด้วยการร้องไห้ หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่สังคมมองว่า ‘ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยง’ ทั้งที่เราล้วนเคยเดินที่เปลี่ยวในบางครั้ง อาจเคยเมาในปาร์ตี้ เคยมีปากเสียงกับคนรัก และพฤติกรรมเหล่านี้มันก็เป็นการกระทำปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะมาทำอะไรกับพวกเขาก็ได้
หลายครั้งสังคมตระหนักถึงความจริงข้อนี้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดความรุนแรงทางเพศขึ้น คำกล่าวโทษผู้ถูกกระทำก็ยังเป็นเสียงที่ดังที่สุดแทบทุกครั้งอยู่ดี กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นคดีระดับโลกอย่างแอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) และจอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) เมื่อเฮิร์ดเผยแพร่บทความผ่าน The Washington Post ในปี ค.ศ. 2018 โดยมีข้อความในตอนหนึ่งระบุว่า “เมื่อ 2 ปีที่แล้วฉันกลายเป็นบุคคลสาธารณะที่เป็นตัวแทนของความรุนแรงในครอบครัว” แม้จะไม่ได้ระบุชื่อของเดปป์ในบทความ แต่เขาก็ฟ้องเธอโดยให้เหตุผลว่า ข่าวนี้ให้ทำเสื่อมเสียชื่อเสียงและกระทบหน้าที่การงาน ต่อมาเฮิร์ดจึงฟ้องกลับ จนเกิดเป็นนิติสงครามที่มีคนจับตามองมากที่สุดกรณีหนึ่ง มีการถ่ายทอดสดการพิจารณคดีให้รับชมออนไลน์เป็นเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ และสิ่งที่เฮิร์ดต้องเผชิญระหว่างการพิจารณาคดีคือปรากฎการณ์ตรวจสอบละเอียดยิบจาก ‘ผู้ชม’ ว่าท่าทีและเรื่องราวของเธอ ‘น่าเชื่อถือ’ เพียงพอจะใช้คำว่าเหยื่อได้หรือไม่ ความน่าสลดใจคือเธอไม่ใช่คนแรก และจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่จำต้องรับคำพิพากษานอกศาล
เหตุการณ์คล้าย ๆ กันและที่เศร้ายิ่งกว่าคือปรากฏการณ์ระดับโลกนั้น ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็มีกรณีคล้าย Depp VS. Heard อยู่มากกว่าหนึ่งเคส และผู้ถูกกระทำต้องเผชิญความรุนแรงซ้ำในรูปแบบใกล้เคียงกัน
#แพทริคอนันดา #Patrickananda
แฮชแท็กนี้เริ่มเป็นประเด็นเมื่อมีแฟนเก่าของแพทริค อนันดา โพสผ่านอินสตาแกรมว่าถูกนักร้องหนุ่มรายนี้ทำร้ายร่างกาย แพทริคได้แถลงยอมรับว่าเคยเป็นแฟนกันจริงแต่ปฏิเสธประเด็นทำร้ายร่างกาย ความคิดเห็นที่มีต่อกรณีนี้จำนวนมากเน้นไปที่การ ‘ไม่ฟังความข้างเดียว’ รวมไปถึงมีคอมเมนต์ที่กล่าวหาว่าแฟนเก่าตั้งใจสะกัดดาวรุ่งอีกด้วย ต่อมาแพทริคตกเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อคริสติน กุลสตรี แฟนเก่าอีกรายออกมาเปิดเผยว่าเขานอกใจเธอหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่คบกัน และยังเป็นต้นเหตุการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเธออย่างร้ายแรง กระแสตอบรับจำนวนมากเป็นความคิดเห็นที่แฝงไปด้วย Slut-Shaming หรือการเหยียดหยาม ดูถูกบุคคลจากพฤติกรรมทางเพศที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมตามขนบเพศแบบเดิม เช่น ‘ทำไมกล้าเอาเรื่องบนเตียงออกมาพูด’ ‘ทำไมถึงยอมให้ผู้ชายไม่ใส่ถุงยาง’ เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาคริสตินได้แชร์ผ่าน X ว่าเธอกำลังถูกแจ้งความคดีหมิ่นประมาท แม้ไม่ได้ระบุว่าคู่กรณีเป็นใครแต่ผู้ติดตามก็คาดว่าเป็นแพทริค
#บิวทําร้ายร่างกายผู้หญิง
แฮชแท็กที่เป็นไวรัลอย่างยาวนานนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ปอย พรรธน์ชญมน ธีวสุเจริญ นักเขียนบทซีรีส์เผยหลักฐานเป็นบทสนทนา Line ว่าบิว จักรพันธ์ พุทธา อดีตแฟนของเธอซึ่งเป็นนักแสดงซีรีส์วายจากคินน์พอร์ช สตอรี่: รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก ทำร้ายร่างกายเธอและรุนแรงไปจนถึงการขู่เอาชีวิต ช่วงแรกของการเปิดเผยเรื่องราวนี้ทำให้ปอยได้รับกระแสโจมตีถึงพฤติกรรมของเธอว่าเป็นฝ่ายตามจีบบิวเองเนื่องจากปอยซื้อของขวัญต่าง ๆ ให้บิว รวมไปถึงรถยนต์ด้วย นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าปอยเองก็ไม่ได้เป็นเหยื่อเสียทีเดียวเพราะ ‘เธอสู้กลับ’ ‘ทำไมถึงไม่เลิกคบบิวไปเสีย’ รวมไปถึงมีการโจมตีพฤติกรรมการตอบคอมเมนต์ของเธอว่า ‘ดูไม่เหมือนเหยื่อ’ เนื่องจากเธอตอบกลับด้วยความเผ็ดร้อนแบบไม่ยอมแพ้ฝ่ายที่วิจารณ์พฤติกรรมของเธอ
ล่าสุดปอยได้ออกมาโพสข้อความขอโทษที่กล่าวพาดพิงถึงบิว หลังฝ่ายชายยื่นฟ้องศาลเหตุทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
#สสก้าวไกลทำร้ายผู้หญิง
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแฟนสาวของนายสิริน สงวนสิน ส.ส.พรรคก้าวไกล เขตตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้เข้าแจ้งความหลังโดนนายสิรินทำร้ายร่างกายขณะมีปากเสียงกัน พร้อมโพสภาพที่แสดงร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งต่อมานายสิรินได้ยอมรับว่ามีปากเสียงกันจริง แต่ไม่มีการทำร้ายร่างกาย และหลังจากนั้นไม่นานฝ่ายหญิงได้ออกมาโพสเพิ่มเติมว่ารู้สึกไม่สบายใจกับกระแสที่เกิดขึ้นเนื่องจากทำให้นายสิรินถูกสังคมตัดสินผิดไป พร้อมระบุว่าตนและนายสิรินได้พูดคุยกันแล้วว่าเป็นอุบัติเหตุและได้ตัดสินใจไม่เอาความ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียที่เป็นไปในแนวทางว่า ‘ไม่น่าหลงเชื่อ’ หรือแม้กระทั่งกล่าวว่าคนที่เชื่อเธอกลายเป็น ‘หมา’ เมื่อเขากลับไปดีกัน ความเห็นเหล่านี้ล้วนส่อไปในทางเห็นดีเห็นงามกับการตั้งคำถามต่อผู้ถูกกระทำ และการตามหา Perfect Victim
นิลส์ คริสตี้ (Nils Christie ) นักสังคมวิทยาและนักอาชญาวิทยาให้คำนิยาม Perfect Victim เอาไว้ว่าหมายถึงบุคคลที่เมื่อถูกกระทำแล้วสังคมจะยอมรับและเชื่อคำพูดทันทีเนื่องจากมีลักษณะที่ ‘น่าเชื่อถือ’ ว่าเป็นเหยื่อของอาญชากรรมที่เจ้าตัวพูดถึง โดยเขาได้บรรยายลักษณะของเหยื่อในอุดมคติไว้ 5 ข้อ ดังนี้
1.“ผู้ถูกกระทำต้องมีลักษณะเป็นไปตามที่สังคมมองว่าอ่อนแอ เช่น ผู้หญิง หรือผู้สูงอายุ”
ลักษณะที่สังคมมองว่าอ่อนแอถูกตีความหมายรวมถึงการสงบเสงี่ยม ไม่สู้คน หากจะมีอารมณ์ก็ต้องเป็นอารมณ์เศร้าเสียใจ ไม่ใช่ความเกรี้ยดกราด โดยรวมแล้วต้องอยู่ในภาพที่สังคมมองว่า ‘น่าสงสาร’ ต่างจากลักษณะและพฤติกรรมโต้ตอบของผู้ถูกกระทำในกรณีที่ยกตัวอย่างคือ เฮิร์ด ปอย และคริสติน
คริสตินเปิดหน้าต่อสู้และพูดเรื่องพฤติกรรมทางเพศของตนอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายและเธอไม่ใช่ฝ่ายผิด นอกจากนี้เธอยังใช้พื้นที่ของตัวเองในการรณรงค์ประเด็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สังคมไทยมองว่าผู้หญิงไม่ควรพูด เธอถูกมองว่า ‘แรง’ ที่กล้าพูดเรื่องบนเตียงออกสื่อเนื่องจากสังคมยังมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียหายในความสัมพันธ์ทางเพศ
เฮิร์ดมีภาพลักษณ์ (ตามที่ปรากฎในสื่อ) ห่างไกลจากความน่าสงสาร เธอมีข่าวนอกใจ สีหน้าท่าทางของเธอระหว่างการพิจารณาคดีเต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย บางครั้งเธอยิ้ม และบางครั้งเธอทำหน้าตาที่ถูกมองว่ากวนประสาท มีการเปิดหลักฐานวิดีโอและคลิปเสียงแสดงให้เห็นว่าทั้งเดปป์และเฮิร์ดด่าทอกัน (เธอไม่ได้นั่งฟังเฉย ๆ) นอกจากนี้เฮิร์ดถูกมองว่าไม่โปร่งใสจากการไม่บริจาคเงินทันทีตามที่ได้สัญญาไว้ว่าจะแบ่งให้แก่ American Civil Liberties Union และโรงพยาบาลเด็กประจำลอสแอนเจลิส หลังได้รับเงินจากการฟ้องหย่าเดปป์จำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อเท็จจริง: เธอไม่ได้บริจาคก้อนเดียวแต่ทำสัญญาแบ่งการบริจาคต่อเนื่อง)
ส่วนปอย เธอตอบกลับหลายคอมเมนต์ที่เข้ามาว่าร้ายและตั้งข้อสงสัยต่อเหตุการณ์ที่เธอเล่า ด้วยถ้อยคำที่แสดงให้เห็นอารมณ์ที่หลากหลาย เธอเกรี้ยวกราด ขบขัน และชัดเจน แล้วยังมีบทสนทนาในแชทแสดงให้เห็นว่าเธอและบิวต่างพูดจากันด้วยความรุนแรง และทั้งคู่กล่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่นไปในทางเสียหายด้วย
เมื่อทั้งสามรายไม่ได้มีพฤติกรรมเข้าตำราคนที่สังคมน่าจะสงสาร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการพิจารณาความน่าเชื่อถือของเรื่องราวความรุนแรงที่พวกเธอเล่าว่าเกิดขึ้น ปอยและคริสตินถูกตั้งคำถามว่าพวกเธอเป็น ‘เหยื่อ’ จริงหรือ ในเมื่อพวกเธอดูมีทรัพยากรและ ‘เข้มแข็ง’ พอที่จะสู้กลับและเดินออกจากความสัมพันธ์ได้หากคู่กรณีทำร้ายร่างกายและจิตใจของพวกเธอจริง กรณีของแอมเบอร์ เฮิร์ด กริยาท่าทางและการแสดงสีหน้าของเธอในศาลถูกนำมาทำวีดีโอวิเคราะห์ เสียงของเธอที่เล่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่ต้องเผชิญถูกนำไปสร้างเป็นแผ่นเสียง Tiktok มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มจำนวนมากใช้แผ่นเสียงนี้แล้วแสดงท่าทางล้อเลียน ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ ที่เธอบรรยายอย่างละเอียดถึงตอนถูกทำร้าย เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายทำร้ายเดปป์เสียเอง และพยายามอัดวีดีโอใส่ร้ายเขา
2. “ผู้ถูกกระทำต้องมีหน้าที่การงานที่ได้รับการยอมรับในสังคม”
หากผู้ถูกกระทำประกอบอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับ หรืออาชีพที่สังคมมองว่าเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ทำร้ายร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น อาชีพ Sex Worker ความน่าเชื่อถือที่สังคมมองเหยื่ออาจลดลง ในขณะที่การกล่าวโทษเหยื่อมีแนวโน้มสูงขึ้น ในกรณีของเฮิร์ด ปอย และคริสติน ล้วนมีอาชีพและหน้าที่การงานที่ได้รับความยอมรับจากสังคมเพียงพอจะถูกจัดอยู่ในลักษณะของ Perfect Victim แต่เนื่องจากทั้ง 4 รายมีคู่กรณีเป็นชายที่มีชื่อเสียงในแวดวงเดียวกันจึงทำให้พวกเธอถูกวิจารณ์ว่าใช้ชื่อเสียงของเขาในการไต่เต้าทางอาชีพหรือไม่ คริสตินและปอยต้องพบกับคอมเมนต์ที่กล่าวหาว่าใช้ชื่อเสียงของฝ่ายชายที่เป็นนักร้องและนักแสดงในการสร้างชื่อให้ตนในวงการ ทั้งที่คริสตินเองก็เป็นนักแสดงดาวรุ่ง และปอยเองเป็นนักเขียนบทซีรีส์ที่มีผลงานในวงการบันเทิงอยู่ก่อนแล้ว คล้ายกับกรณีของเฮิร์ดที่แฟนคลับของฝ่ายชายอ้างว่าเธอเกาะจอห์นนี เดปป์ดัง และหากเขาไม่ฝากฝังงานในฮอลลีวูดให้เธอคงไม่มีงานแสดงในวงการแน่ แม้อาชีพของแฟนสาวนายสิรินไม่ได้รับการเปิดเผยแต่เธอยังคงต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ว่าตั้งใจทำลายอาชีพของฝ่ายชายเนื่องจากเขากำลังไปได้ดีในฐานะส.ส.หน้าใหม่
3. “ผู้ถูกกระทำจะต้องไม่อยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยง”
หากเหตุร้ายเกิดขึ้นในสถานที่เปลี่ยว หรือสถานที่ซึ่งยอมรับร่วมกันในระดับสังคมว่าอาจเกิดเรื่องร้ายขึ้นได้ เช่น สถานที่บันเทิง หรือการอยู่ในที่ลับตาสองต่อสอง จะส่งผลต่อความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ในสถานะผู้ถูกกระทำ เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุเป็นปัจจัยที่มักถูกนำมาเป็นประเด็นในการกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ว่านำพาตนเองไปสู่ความล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดหรือทำร้าย แฟนเก่าของแพริกถูกคอมเมนต์วิจารณ์ในกรณีนี้เช่นกันเนื่องจากตามแถลงการณ์ของฝ่ายชายระบุว่าเธอเป็นฝ่ายไปหาเขาที่คอนโด และเหตุการณ์ที่ฝ่ายหญิงแจ้งว่าทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเพียงการแย่งกุญแจ “เพราะร่างกายเขาอยู่ในสภาพไม่พร้อมขับรถ”
4. “ผู้กระทำต้องเป็นคนไม่ดีและมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำชัดเจน เช่น ตัวใหญ่กว่า มีประวัติทำผิด”
ในสังคมที่ปิตาธิปไตยเป็นใหญ่เช่นนี้ ภาพลักษณ์ของผู้กระทำ (หรือผู้ถูกกล่าวหา) ส่งผลอย่างยิ่งต่อความน่าเชื่อถือของเหยื่อ โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายผู้กระทำเป็นชายมีชื่อเสียง มีผู้ติดตาม และ/หรือ ได้รับการเคารพยกย่องในแวดวงสังคม เมื่อคนมีชื่อเสียงตกเป็นผู้ต้องหาในการกระทำความรุนแรง ความคิดเห็นที่มักพบตามสื่อคือ ‘แต่เขาดูเป็นคนดี’ ‘แต่เขาเป็นคนเก่ง’ ‘เขาดูไม่ใช่คนแบบนั้น’ ยิ่งภาพลักษณ์ของผู้กระทำดูแสนดีและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ ความน่าเชื่อถือของเหยื่อก็จะลดลงไปเท่านั้น จอห์นนี เดปป์ เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน เขามีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยุค 90s และเป็นคนดังที่มีภาพลักษณ์แบบหนุ่มในฝัน แม้ช่วงเริ่มมีข่าวความรุนแรงในครอบครัวเดปป์จะถูกถอดออกจากงานหลายชิ้นแต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีแฟนคลับและผู้ติดตามจำนวนมากที่คอยเคียงข้าง คอยเผยแพร่ภาพและวีดีโอขณะเขากำลังทำความดี หรือทำตัวน่ารัก เช่น การไปเยี่ยมโรงพยาบาลเด็ก การใช้เวลาพูดคุยทักทายแฟน ๆ มาใช้เป็น ‘หลักฐาน’ ที่แสดงให้เห็นคุณงามความดีว่าคนแบบนี้ไม่น่าเป็นคนทำร้ายร่างกายใครได้ ภาพการเป็นคนดีของเดปป์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เขาไปโรงพยาบาลเด็ก เขาได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นพ่อที่ดี-แฟนที่ดี แต่เหล่านั้นไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหาเรื่องความรุนแรงที่เฮิร์ดกล่าวถึงได้ อย่างไรก็ตาม ‘หลักฐาน’ พวกนั้นก็เพียงพอจะให้สังคมบางส่วนตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เฮิร์ดพูดและพร้อมเชื่อว่าเดปป์ไม่ใช่คนใช้ความรุนแรง แม้จะมีการเผยแพร่ข้อความที่เขาส่งหาเพื่อนนักแสดงอย่างพอล เบ็ตตานีย์ (Paul Bettany) ว่า
“จับเธอกดน้ำก่อนแล้วค่อยเผาเธอ!!! แล้วฉันจะเอาศพไหม้ ๆ ของเธอต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าเธอตายแล้ว”
(“Let’s drown her before we burn her!!! I will fuck her burnt corpse afterwards to make sure she’s dead.”)
5. “ผู้กระทำต้องและผู้ถูกกระทำต้องไม่รู้จักกันหรือมีความสัมพันธ์ในทางใด”
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกระทำและผู้กระทำที่เป็นคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวเดียวกันมักไม่ได้รับการตระหนักว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง บ่อยครั้งความรุนแรงประเภทนี้ถูกลดความสำคัญให้เป็นแค่ ‘เรื่องผัวเมีย’ ‘ปัญหาลิ้นกับฟัน’ ดังนั้นหากจะเข้าตำรา Perfect Victim ที่เมื่อถูกกระทำแล้วสังคมจะยอมรับและเชื่อคำพูดทันที เหยื่อจะต้องไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดเลยกับผู้กระทำ กรณีของทั้งเฮิร์ด ปอย คริสติน แฟนเก่าอีกรายของแพทริค และแฟนสาวของนายสิริน เป็นเคสที่พูดถึงความรุนแรงระหว่างคู่รัก ดังนั้นสังคมจึงมีกำแพงที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้ถูกกระทำ และส่งผลต่อปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อผู้ถูกกระทำที่จะนำไปสู่ความยากในการเข้าถึงความยุติธรรมด้วย เพราะเมื่อสังคมไม่ตระหนักร่วมกันว่าสิ่งที่เหยื่อเจอคือความรุนแรงเหยื่อจะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้ความเข้าใจ หลายรายจึงเลือกจะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
การที่สังคมทำให้เห็นว่าไม่พร้อมจะรับฟังเรื่องราวของผู้ตกเป็นเหยื่อเพียงเพราะพวกเขาไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ เป็นการส่งสารไปถึงผู้ถูกกระทำรายอื่น ๆ ว่าเรื่องราวของพวกเขาอาจไม่ได้รับความสนใจและพวกเขาอาจไม่ได้รับความยุติธรรม ทุกพาดหัวข่าวที่ตั้งแง่ต่อเหยื่อ ทุกคอมเมนต์ที่โจมตีพฤติกรรมของผู้ถูกกระทำ ทุกวีดีโอล้อเลียนความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมกันเป็นปรากฏการณ์รุมทึ้งที่ไม่มีใครควรต้องเผชิญ และเป็นเหมือนการสร้างรั้วหนามที่เหยื่อจำต้องข้ามให้ได้หากต้องการเปิดเผยเรื่องราวความรุนแรงและต้องการเข้าถึงความยุติธรรม จนอาจนำไปสู่การตัดสินใจปิดปากเงียบและเผชิญความโหดร้ายต่อไปเพียงลำพัง
#แพทริคอนันดา #Patrickananda #บิวทําร้ายร่างกายผู้หญิง #สสก้าวไกลทำร้ายผู้หญิง #DeppVsHeard #PerfectVictim #VictimBlaming
Content by: Ms.Chapman
Graphic: 7pxxch
อ้างอิง
MGR Online: https://bit.ly/3MdXZym
NPR: https://bit.ly/49jMC1N, https://bit.ly/3QrUvL0
Shero Thailand: https://bit.ly/46FkX9F
Thairath: https://bit.ly/3MdphEY
The Guardian: https://bit.ly/493dItN, https://bit.ly/493VaJP
Variety: https://bit.ly/3Qus6Uy
X: https://bit.ly/3Qtd80X, https://bit.ly/46IFOZB