คำเตือน: เนื้อหามีการพูดถึงและยกตัวอย่างถ้อยคำ พฤติกรรมเหยียดเพศ การเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และการทำร้ายตัวเอง
คนข้ามเพศหลายคนเติบโตมากับการล้อเลียน ด่าทอ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย หรือการกีดกันการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะมีใครยอมรับหรือไม่ ความรุนแรงเหล่านั้นก็มีอยู่จริงและมาจากกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ในภาพจำที่สร้างโดยสื่อกระแสหลัก พฤติกรรมคุกคามเหยียดหยามเหล่านี้มาจากกลุ่มคนที่เราเรียกว่าพวกเหยียดเพศหัวโบราณ เราเชื่อว่าคนพวกนี้ไม่ใช่พวกเรา พฤติกรรมเหยียดเพศคือเรื่องของชายแท้ผิวขาวฐานะร่ำรวยที่ครองอำนาจนำต่างหาก แต่ความจริงแล้ว…
“ฟิล์มมีบ้าน ฟิล์มมีรถ ฟิล์มมีมงกุฏ ฟิล์มมีรูปร่างหน้าตาที่หลาย ๆ คนมองว่าสวย แล้วลูกกระเดือกฟิล์มไม่ได้ใหญ่เท่ากำปั้นแบบนั้น เพราะฉะนั้นนะคะ ความเป็นผู้หญิงของฟิล์มมีเยอะกว่า”
แต่ในขณะที่เราระแวดระวังภัยจากพวก Cisgender ที่ไม่ใคร่จะใส่ใจความหลากหลายทางเพศ ก็มีประโยคของ ‘ฟิล์ม ธัญญรัศม์’ Miss International Queen 2007 เป็นคอนเทนต์ที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสโซเชียล เมื่อไรที่มีสถานการณ์คลับคล้ายคลับคลาจะด้อยค่าใครก็จะถูกหยิบมาใช้ใหม่อยู่เสมอ ราวกับว่าไม่มีใครมองเห็นการเหยียดหยามกะเทยแม้มันจะออกมาจากปากกะเทยด้วยกันเอง สิ่งนี้ทำลายภาพจำของการเหยียดเพศว่ามันจะต้องมาจากพวก Cisgender หัวโบราณที่ไม่ยอมรับความหลากหลาย มองเห็นได้ง่าย ๆ และเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่ถ้ากะเทยหันมาเหยียดกันเองแบบนี้ เราจะตอบเรื่องการเหยียดเพศว่าอย่างไร ?
#SPECTROSCOPE: ดังนั้นเป็นกะเทยเหมือนกัน… ก็เหยียดได้ มรดกตกค้างจากระบบไบนารี่ ที่ทำให้แม้แต่ LGBTQ+ ก็เหยียดกันเอง
หากเราอยู่ในละครคุณธรรม โลกที่ความดีชั่ว ขาวดำ แยกกันชัดเจน ใครเกลียดใครก็แสดงออกโจ่งแจ้ง ตอนท้ายผู้ร้ายรับผลกรรม แบบนั้นก็คงง่ายต่อการเข้าใจว่าอะไรคือความเกลียดกลัวที่คนเพศหลากหลายต้องประสบ แต่ในโลกแห่งความจริง อาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) มันไม่ได้มาเพียงในรูปแบบการด่าทอ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย หยาบคายโจ่งแจ้ง หรือกลั่นแกล้งเพียงเท่านั้น แต่ยังอยู่ในระดับทัศนคติที่มองว่าคนข้ามเพศผิดปกติ ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ หรือการมีภาพจำเหมารวมว่าคนข้ามเพศต้องมีพฤติกรรมเจาะจงบางอย่าง พี่กะเทยต้องตลก ผู้หญิงข้ามเพศต้องลามก ทอมต้องขี้เก๊ก ชายข้ามเพศต้องมาดขรึม นอนไบนารีต้องมีการแสดงออกทางการแต่งกายที่ฉูดฉาดและผมสี ภาพจำเหล่านี้ทำให้คนข้ามเพศต้องเผชิญกับอคติที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และการเติบโตในสังคมที่ให้คุณค่ากับหญิงหรือชาย ผูกโยงความดีงามกับบทบาททางเพศไว้อย่างแน่นหนา ทำให้คนข้ามเพศต้องพยายามไขว่คว้า ‘คุณค่า’ ที่สังคมยอมรับ ต้องทำงานเก่ง ต้องเป็นคนดี ต้องไม่ให้เพศมามีข้อจำกัดในชีวิต การพยายามหาที่ทางให้ตัวเอง ทำให้การรังเกียจเดียดฉันท์สิ่งที่ตัวเองเป็นแทรกซึมเข้าไปในทัศนคติของคนเพศหลากหลาย สิ่งนั้นเรียกว่า ‘Internalized Transphobia’
‘Internalized Transphobia’ คือการที่คนข้ามเพศมีความรู้สึก พฤติกรรม หรือทัศนคติที่เหยียดหรือเกลียดชังคนข้ามเพศ เนื่องจากการซึบซับค่านิยมของสังคมที่ให้คนตรงเพศกำหนด (cisgender) เป็นความ ‘ปกติ’ หรือความถูกต้อง แล้วกีดกันความแตกต่างหลากหลายอื่นออกไป จึงทำให้คนจำนวนมากรวมถึงคนข้ามเพศเองมีพฤติกรรมเหยียดโดยไม่รู้ตัว งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า Internalized Transphobia หรือการเหยียดเพศจากภายในส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนข้ามเพศ เช่น ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) บางครั้งปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การทำร้ายตัวเอง
คนข้ามเพศไม่มีทางได้รักแท้
หนึ่งในความคิดความเชื่อที่ท่องจำและพูดต่อกันมาอย่างปลงใจ ยอมรับกับตัวเองว่าเราคงไม่ได้มีรักแท้แล้วหนาในชาตินี้ ทั้งที่เราต่างรู้ว่าการรักหรือไม่รักเป็นเรื่องเฉพาะคน เฉพาะเหตุการณ์ เป็นเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเหนือเหตุผลซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่เว้นกับคนข้ามเพศ แต่ความเจ็บปวดจากการเติบโตในฐานะคนข้ามเพศซึ่งถูกสังคมทำให้ตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง การด้อยค่าตัวเองอาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งยอมรับไปเสียว่า ตนอาจไม่ใช่คนที่จะได้รับรักแท้ จนเกิดเป็นตลกร้ายในชุมชนว่าหากคาดหวังความรักจากผู้ใดก็จงเร่งทำงานเก็บเงินไว้ไปสู่ขอเป็นครั้งคราว รับบทเป็นมือเปย์แลกความสัมพันธ์และเวลาเพราะเชื่อว่าเงินและผลประโยชน์เท่านั้นที่จะรั้งความสัมพันธ์เอาไว้ได้
ชายแท้ห้ามออกสาว
เมื่อความเป็นชายกระแสหลักระรานผู้ชายข้ามเพศ
ในสังคมชายเป็นใหญ่ ความเป็นชายเป็นพิษเป็นกระแสหลัก ไม่แปลกที่ผู้ชายข้ามเพศเชื่อว่าการจะเป็นชายหมายความว่าต้อง ‘แมน’ ห้ามออกสาว ต้องละทิ้งพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นหญิงอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่การห้ามออกสาวช่างกดทับความแตกต่างหลากหลายของการเป็นผู้ชาย จนแม้แต่ผู้ชายตรงเพศเองก็ต้องประสบภาวะกดดันจากการพยายามยัดตัวเองเข้าสู่กล่องความเป็นชายนี้ ผลการศึกษาของ Dozier เมื่อปี 2005 ก็บอกว่าผู้ชายข้ามเพศได้รับความเคารพและยอมรับจากคนรอบข้างในฐานะ ‘ผู้ชาย’ มากขึ้นหลังเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ และยังถูกคุกคามทางเพศน้อยลงด้วย อาจกล่าวได้ว่าความพยายามเป็นช้ายเป็นชายนี้คือการดิ้นรนจากการถูกปฏิเสธตัวตน และหนีให้พ้นการคุกคามทางเพศ
สวยแค่ไหนยังไงก็เป็นราอูล
คำนี้มีที่มาจากวิดีโอไวรัลหนึ่งที่เนื้อหาแสดงพิธีกรชายคนหนึ่งพาสาวสวยไปถามผู้ชายที่เดินผ่านไปมาว่าสนใจจูบสาวคนนี้หรือไม่ แน่นอนว่าหลายรายตอบตกลง และหลังการจูจุ๊บปากผ่านไปพิธีกรก็ปูให้หญิงคนนี้แนะนำตัวเองด้วยเสียงทุ้มใหญ่ว่าเธอชื่อ ‘ราอูล’ ปฏิกริยาหลังจากนั้นคือผู้ชายหลายคนหุบยิ้ม บางคนหัวเราะ บางคนหงุดหงิดหัวเสีย ต่อมา ‘ราอูล’ ก็กลายเป็นคำเหยียดเพศที่ใช้อย่างแพร่หลายและรับเอามาใช้โดยคนในชุมชนเอง ราอูลเป็นแบ่งชั้นหญิงข้ามเพศที่ถูกมองว่า ‘ไม่เนียนนี’ ขาดคุณสมบัติของการเป็นหญิงแท้ตามบรรทัดฐานสังคม อย่างผิวผ่อง เสียงหวาน และไร้ลูกกระเดือก ในชุมชนคนงามข้ามเพศมีการให้คะแนนกันราวกับชีวิตประจำวันคือการประกวดนางงามที่มีมาตรวัดความสวยเป็นแนวดิ่ง ไล่จากความเนียนนีสู่ภาพลักษณ์ที่ทุกคนอยากหนีอย่างราอูล
การล้อเลียนนี้สะท้อนให้เห็นบรรทัดฐานที่ยากจะไปถึงของการ ‘เนียนนี’ และความเข้มข้นของการเหยียดกันเองในหมู่ผู้หญิงข้ามเพศ ทั้งที่ความจริงไม่มีใครทั้งนั้นที่จะเข้าใจความยากเย็นของการเป็นคนเพศหลากหลายได้เท่ากับคนในกันเอง
Transgender Day of Remembrance ปีนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาระแวดระวังความเกลียดกลัวคนข้ามเพศที่แฝงฝังอยู่ภายใน และร่วมรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง ในสถานการณ์ที่สิทธิคนเพศหลากหลายยังเปราะบาง การส่องแสงมายังปัญหาสุขภาพจิตที่พี่น้องคนข้ามเพศต้องเผชิญจาก Internalized Transphobia ก็เป็นเรื่องสำคัญ และมันเริ่มได้ด้วยการตรวจสอบอคติที่อยู่ภายในใจว่าเรื่องที่เคยขำมันตลกสำหรับคนอื่นไหม แล้วการเป็นคนเพศหลากหลายมันผิดอย่างไร ถึงต้องโดนเกลียดชัง ?
#InternalizedTransphobia #GenderBinary #TransgenderDayofRemembrance #ดังนั้นจะมาเป็นกะเทยเหมือนกันไม่ได้
อ้างอิง
BeautyQueen All Pageants: https://bit.ly/47nJEI0
Medical News Today: https://bit.ly/3ulkk6S
Satisfying & Disgusting videos: https://bit.ly/3upwKuB
Springer: https://bit.ly/46v82X6
Content by Ms. Satisfaction & Ms. Chapman
Graphic by 7pxxch
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”