เมื่อพรรคการเมืองไม่พูดเอง ภาคีสุขภาพเพศเลยต้องทวงถาม!

- Advertisement -

เปิดแถลงการณ์ภาคีเครือข่าย จากเวทีสุขภาพเพศ สิทธิพลเมือง เคลื่อนด้วยการเมือง: เรื่องเพศพรรคต้องพูด เรียกร้องรัฐปรับปรุงกฏหมาย ส่งเสริมสุขภาพ และจัดสรรงบ

- Advertisement -

ภาคีเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิ และสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ ภาคีองค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ด้านการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิทธิมนุษยชน แถลงการณ์เรียกร้องต่อพรรคการเมืองให้นำข้อเสนอของภาคประชาสังคมไปกำหนดเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน 

เวทีสุขภาพเพศ สิทธิพลเมือง เคลื่อนด้วยการเมือง : “เรื่องเพศพรรคต้องพูด” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ช่างเชื่อม ไลฟ์ ฮอลล์ @ ช่างชุ่ย โดยมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสมอภาค พรรคเสรีรวมไทย และพรรคสามัญชน เข้าร่วม และตอบคำถามจากตัวแทนเครือข่ายต่อประเด็นปัญหา 5 ด้าน ได้แก่สิทธิพนักงานบริการทางเพศ, สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของกลุ่ม LGBTIQN+, ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ,  เพศภาวะและเอชไอวี และสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ แสดงข้อเรียกร้อง ดังนี้

ประเด็นสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ

1. แก้ไข หรือ ยกเลิกกฎหมาย พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539  เพื่อให้พนักงานบริการทางเพศได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ถูกบันทึกชื่ออยู่ในประวัติอาชญากรรมซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อการถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพในอนาคต และเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และเข้าถึงสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น

2. ดำเนินการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้รวมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสุขภาพของหน่วยงานอื่น ๆ เป็นมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของพนักงานบริการทางเพศ

3. ผลักดันให้มีการดำเนินการปรับปรุงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ให้ละเอียดอ่อนต่อผู้รับบริการที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ โดยคำนึงถึงช่วงเวลาการให้บริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และอาชีพของพนักงานบริการทางเพศ และจัดให้มีการให้ข้อมูล รวมถึงการจัดบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในรูปแบบที่หลากหลายให้พนักงานบริการสามารถเลือกรับบริการที่เหมาะสมกับเพศภาวะ เพศวิถี ตลอดจนวิถีชีวิต การทำงานของแต่ละคนได้ ยกเลิกมาตรการบังคับพนักงานบริการให้ตรวจหาเอชไอวีโดยไม่เต็มใจ และรักษาความลับของผู้ที่สมัครใจตรวจหาเอชไอวีอย่างเคร่งครัด

4. ผลักดันให้มีการจัดทำหลักสูตรสุขศึกษา เพศวิถีศึกษา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันเอชไอวี และสิทธิมนุษยชนสำหรับพนักงานบริการทางเพศ และ LGBTIQN+ ที่เป็นคนพิการ  โดยจัดทำสื่อที่ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเข้าถึง

ประเด็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของกลุ่มLGBTIQN+

1. ปรับปรุงระบบบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของประเทศ ให้มีการจัดบริการสุขภาพอนามัย           เจริญพันธุ์ โดยคำนึงถึงเพศวิถีที่หลากหลาย และความต้องการของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น  การจัดทำข้อมูล การให้ข้อมูล และการให้การปรึกษาในเรื่องวิธีการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด การป้องกันเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

2. ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้มีความละเอียดอ่อนต่ออัตลักษณ์ทางเพศภาวะ และเพศวิถี เพื่อปรับปรุงการให้บริการบนฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อบุคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยอคติส่วนตัว

ประเด็นเพศภาวะและเอชไอวี

กำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณ และผลักดันให้มีการทำงานเรื่องการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มเยาวชนหญิง และผู้หญิง และปรับปรุงการให้บริการด้านเอชไอวีให้มีการคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ  ความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อให้เกิดการบริการที่เป็นมิตร และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

ประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

1. แก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้เป็นไปตามหลักสากลด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

2. ประกาศให้การขจัดปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับประเทศ และจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ ให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้จริง

3. พัฒนาให้เกิดระบบปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ แบบ “สหวิชาชีพ” ซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้รับการเสริมศักยภาพ และมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานดังกล่าว

4. มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงฯ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา

ประเด็นสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

1. บังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนงบประมาณครั้งละ 3,000 บาทอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง

2. บังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องปฏิบัติตาม ในกรณีที่ไม่ให้บริการ จะต้องส่งต่อผู้รับไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของรัฐที่รับงบประมาณค่าบริการยุติการตั้งครรภ์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเร็วที่สุด ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการให้การปรึกษาทางเลือกที่จะต้องไม่โน้มน้าวให้ท้องต่อ และไม่ตีตราผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์

3. สนับสนุน และส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวชกรรม เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือคลินิกซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ

4. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ยังคงมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ เพราะสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน และบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่ทุกรัฐจะต้องจัดให้มีบริการ

ในงานมีบูธจากภาคีเครือข่ายสุขภาพเพศ เช่น กลุ่มทำทาง, พรรคสามัญชน, The Pillow Talk, SWING รวมทั้งมีพื้นที่จัดนิทรรศการขนาดย่อมที่แสดงข้อเรียกร้องของภาคประชาชน โดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล ภาคีเครือข่ายร่วมจัดงานและผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า ข้อเสนอและคำถามจากภาคประชาชนในครั้งนี้ คือประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักในเวทีดีเบตและงานปราศรัยอื่น ๆ ภาคประชาสังคมจึงต้องรวมตัวกันจัดงานนี้ขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากการไม่มีนโยบาย หรือไม่กล้าพูดกันแน่ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงถาม-ตอบกับตัวแทนจากพรรคการเมือง และสำหรับคำตอบของภาคการเมืองต่อประเด็นคำถามจากภาคประชาชน จะมีสรุปรายงานในเร็ว ๆ นี้

#เรื่องเพศพรรคต้องพูด  #เลือกตั้ง66 #SexWorkIsWork #TransgenderHealthcare #StopGenderBasedViolence #StopHIVDiscrimination #SafeAbortion

#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์  ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me