เรื่องอะไรเกี่ยวกับเซ็กส์ที่เด็กอยากรู้ ชวนส่อง #รู้งี้จะปี้ให้เป็น แฮชแท็กแลกเปลี่ยนเรื่องเพศในทวิตเตอร์ พื้นที่ปลอดภัยให้ Gen Z คุยเรื่องไลฟ์สไตล์ใต้สะดือ

- Advertisement -


- Advertisement -

ถ้าเราอยากรู้เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ เราจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน แล้วเรื่องการฝังยาคุมล่ะ ต้องอายุเท่าไรถึงจะฝังให้ฟรี ถ้าแตกนอกจะท้องไหม ยาต้านไวรัส HIV รับที่ไหน ราคาเท่าไร แล้วต้องกินตามเมื่อไร ยังไง ฯลฯ เหล่านี้คือคำถามสุดคลาสสิกที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของประเด็นทางเพศ เป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมพยายามสร้างการรับรู้เท่าไรก็ไม่อาจไปได้ทั่วถึง และเราต้องการเรี่ยวแรงกำลังจากภาครัฐอย่างมากในการทำให้องค์ความรู้ที่แตกกระจายอยู่ในร่างพรบ. สเตตัสเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ในประสบการณ์ของผู้คน กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย และมีประโยชน์จริง

แฮชแท็ก #รู้งี้จะปี้ให้เป็น เกิดขึ้นเมื่อขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม โดยหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการแชร์เรื่องเพศแบบสบายๆ ไร้ดราม่าจริงๆ อย่างที่ตั้งใจ บรรยากาศเฮลท์ตี้ในแฮชแท็กนี้พาบทสนทนาเรื่องเซ็กส์ไปไกลจนมีผู้เข้าร่วมใช้แฮชแท็กนี้กว่า 53,917 ทวีต (เมื่อเวลา 19.42 น.) และนี่อาจจะเป็นแฮชแท็กที่พิสูจน์ว่ายุคสมัยแห่งการปิดเรื่องเพศไว้ใต้พรมอาจหมดไปแล้ว และคนจำนวนมากก็พร้อมจะ ‘รู้’ และพร้อมจะ ‘แชร์’ ความรู้ที่มี และยังตระหนักรู้ด้วยว่าความรู้เรื่องเพศนั้นหายากกว่าที่คิด

ประเด็นที่แชร์ใน #รู้งี้จะปี้ให้เป็น หลากหลายและลึกกว่าที่จะหาได้เองทั่ว ๆ ไป แถมยังมาจากผู้มีประสบการณ์ ‘รู้อะไรไม่เท่ารู้งี้’ ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนด้วย เราพบทั้งประเด็นเรื่องทำแท้งถูกกฏหมายแล้วนะ (ถูกมานานแล้วด้วยแต่คนไม่ค่อยรู้), Consent Sex, ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์จากการใส่ถุงยางอนามัยไม่ถูกวิธี, รูปแบบการคุมกำเนิดของผู้หญิง, การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ, การทำความสะอาดอวัยวะเพศ, แอปพลิเคชันติดตามรอบเดือน, การใช้อุปกรณ์ทางเพศต่าง ๆ ไปจนถึงประเด็นเซ็กส์หมู่ที่ปลอดภัย (และอื่นๆ อีกมากมาย มากมายจริงๆ) ถ้ายึดตามวัตถุประสงค์หลักของแฮชแท็ป สิ่งที่ Gen Z (ที่มีอายุตั้งแต่ 10-21 ปี) อยากรู้และ/หรือไม่ได้รู้ มีขอบเขตกว้างขวางอย่างมาก และบางเรื่องก็ไม่น่าเชื่อว่าไม่ผ่านการเรียนการสอนมาในระดับประถมหรือมัธยมศึกษา… หรืออันที่จริง ก็อาจจะมี แต่ไม่เข้าใจ Gen Z เอาซะเลย

ผลการศึกษาจากองค์การยูนิเซฟเมื่อปี ค.ศ. 2560 ระบุว่า การสอนเรื่องเพศภาวะและอำนาจมีผลต่อชีวิตของนักเรียนมาก ร้อยละ 80 ของแผนงานที่สอนชุดความรู้เรื่องเพศภาวะและอำนาจ ช่วยลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และลดจำนวนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ในขณะที่การศึกษาวิชา ‘เพศศึกษา’ ในไทยถูกตั้งคำถามมาตลอด ในรายงานฉบับนี้เปิดเผยผลสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศของเด็กนักเรียนและอาชีวศึกษากว่า 8,837 คนและบุคลากรทางการศึกษา 692 คนทั่วประเทศไทย พบว่า การเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาในไทยแทบจะไม่พูดถึงประเด็นสิทธิทางเพศ ความรับผิดชอบในการเจริญพันธุ์ และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้จะทำให้เด็กนักเรียนไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ทราบสิทธิของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะยอมรับการล่วงละเมิดทางเพศหรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเมื่อลงรายละเอียดไปในผลสำรวจในกลุ่มนักเรียนชายอาชีวศึกษา พบว่าร้อยละ 41 เชื่อว่าสามีทุบตีภรรยาได้หากไม่ซื่อสัตย์ และมีความน่ากังวลถึงประเด็นพฤติกรรมทางเพศ ที่นักเรียนหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เลือกใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด (ซึ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด 85%) โดยนักเรียนชายจำนวนมากระบุว่า ไม่ต้องการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2562 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 63,831 ราย แบ่งเป็น หญิงช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี มากที่สุด จำนวน 61,651 ราย และผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ตั้งครรภ์จำนวน 2,180 ราย

ความเข้าใจทางเพศที่ไม่ถูกต้อง และผลกระทบจากความ(ไม่)รู้เพศศึกษาในแบบเรียน สอดคล้องกับงานศึกษาเรื่องแบบเรียนสุขศึกษาในไทยกับการตีตราความหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนคุณภาพของแบบเรียน ในงานศึกษานี้ชี้ให้เห็นความไม่ละเอียดอ่อนต่อประเด็นทางเพศของแบบเรียนสุขศึกษาในไทยที่ละเลยมิติเชิงอำนาจ และสนับสนุนระบบสองเพศ (Binary Sex Model) อย่างโจ่งแจ้ง งานศึกษานี้ให้ข้อมูลว่าเนื้อหาในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมีเนื้อหา 5 ส่วน และให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพทางเพศ 3 ส่วน ซึ่งปัญหาที่พบในแบบเรียนสุขศึกษาในไทยมากคือการใช้ระบบสองเพศเป็นกรอบคิดหลักในการนำเสนอ แถมยังให้ความสำคัญกับกายภาพอย่างมาก โดยละเลยประเด็นอัตลักษณ์และเพศวิถี ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การผลิตซ้ำมายาคติและสร้างภาพเหมารวมของเพศชายหญิง หรือแม้แต่ในส่วนของเนื้อหาวิชาสุขศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่พูดเรื่อง ‘ความเสมอภาคทางเพศ’ ก็ยังมีการเน้นย้ำถึงเรื่อง ‘การวางตัวอย่างเหมาะสมทางเพศ’- แล้วถามว่าอันนี้เกี่ยวอะไรกับความเสมอภาคก่อน กล่าวคือ นอกจากไม่พูดถึงประเด็นเรื่องเพศอย่างโอบรับ เคารพอัตลักษณ์ และให้ความรู้อย่างตรงจุดแล้ว ยังตีตรา สร้างมายาคติ และลบเลือนอัตลักษณ์ของเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบหน้าตาเฉย

อย่างไรก็ตาม แบบเรียนสุขศึกษาฉบับที่มีปัญหานี้ได้มีการปรับปรุงแล้วในปี พ.ศ. 2562 และปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยอะไรที่มาบอกว่าแบบเรียนสุขศึกษาเล่มใหม่ของไทยนั้นดีขึ้นแล้วมั้ย ครอบคลุมเพียงพอแล้วหรือยัง แต่ที่แน่แน่ แค่แบบเรียนไม่เพียงพอ การพูดเรื่องเพศจะต้องกว้างขวาง แพร่หลายกว่านี้ – องค์ความรู้เรื่องเพศนั้นเติบโตทุกวันและลื่นไหลสุด ๆ การจะหยุดปัญหาโรคติดต่อทางเพศ หรือแม้แต่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทางออกไม่ใช่ออกมาห้าม แต่จะทำยังไงให้องค์ความรู้เหล่านี้แพร่หลายไปได้มากที่สุด เป็นความรู้ที่คนที่ต้องรู้อยากจะรู้ – ลดการตีตราการพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ แล้วเปิดพื้นที่ให้แชร์กันให้มันเป็นสาธารณะ อย่างที่ความรู้ทุกชนิดบนโลกควรจะเป็น

เอาเป็นว่า หากมีอะไรเรื่องเพศที่อยากรู้และอยากแชร์ เชิญไปแลกเปลี่ยนในบรรยากาศปลอดภัย ที่ https://bit.ly/3uJKqNO มีคนอยากรู้และรอตอบแน่ๆ


FAQ

Q: ถ้าเราอยากรู้เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ เราจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน

A: https://bit.ly/3BvIYSW

Q: เรื่องการฝังยาคุมล่ะ ต้องอายุเท่าไรถึงจะฝังให้ฟรี

A: https://bit.ly/3HxglIL

Q: ถ้าแตกนอกจะท้องไหม

A: https://bit.ly/3uOKdZU

Q: ยาต้านไวรัส HIV รับที่ไหน ราคาเท่าไร แล้วต้องกินเมื่อไร

A: https://bit.ly/3Bsf1TF

.

#รู้งี้จะปี้ให้เป็น #SexEducation

.

Content by Ms. Satisfaction

อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp

อ้างอิง

BBC: https://bit.ly/3uJKA7S

Synphaet: https://bit.ly/3hmZHkx

Bangkokbiznews: https://bit.ly/3WcQSIP

นิสิตนักศึกษา: https://bit.ly/3W9OlPG

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me