เมื่อสำนักข่าว SBS รู้สึกไม่ปลอดภัยที่ผู้หญิงจะเก่งกล้า จนต้องตัดคำว่า ‘ผู้หญิง’ ออกจากสปีช OSCARS ของมิเชล โหย่ว
“เราลบคำว่าผู้หญิงออก เพราะคิดว่าประโยคนี้ไม่จำเป็นต้องสื่อสารแค่กับผู้หญิงเท่านั้น”
นี่คือส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์แรกของสถานีโทรทัศน์โซล (SBS) ที่ตอบโต้หลังถูกตั้งคำถามกรณีตัดคำว่า ‘and ladies’ ออกจากสปีชรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมของมิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) ก่อนจะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการฉบับล่าสุดออกมาอีกครั้ง ที่ระบุว่า ‘ไม่มีความตั้งใจที่จะบิดเบือนสาร’
มิเชล โหย่ว ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once เธอเป็นผู้หญิงเอเชียวัยกลางคน และเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมจาก OSCARS 2023 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มี.ค. 2566) โดยสปีชรับรางวัลฉบับเต็มของมิเชลโหย่วมีเนื้อหาว่า “And ladies, don’t let anyone tell you that your prime is past. Never give up.” ซึ่งเธอตั้งใจจะสื่อสารข้อความนี้ถึงผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะผู้หญิงมักจะเป็นเพศที่ถูกบอกว่า ‘เวลาทอง’ ได้ผ่านไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการเผยแพร่ข่าวช่วงเวลา 8 โมงเช้า สถานีโทรทัศน์โซลได้ตัดคำว่า ‘And Ladies’ ออกจากทั้งในวิดีโอและซับไตเติล ต่อมาสถานีโทรทัศน์โซลได้ลบวิดีโอนี้ออกจาก Youtube และช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และออกแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนาว่า ‘ต้องการให้ข้อความนี้สื่อสารถึงทุกคน’ และ ‘ไม่ได้มีเจตนาจะบิดเบือนสาร’
แต่อะไรทำให้ความตั้งใจจะสื่อสารถึงผู้หญิงของมิเชล โหย่ว ไม่สำคัญจนสามารถตัดออกได้ สถานีโทรทัศน์โซลใช้วิจารณญาณอะไรในการบอกว่าสปีชของมิเชล โหย่วจะไม่สื่อสารไปถึงทุกคนหากมีคำว่า ‘and ladies’ และสถานีโทรทัศน์โซลมีความไม่สบายใจอะไรที่จะสื่อสารว่าผู้หญิงวัยกลางคนสามารถประสบความสำเร็จได้ และส่งต่อพลังเพื่อผลักดันผู้หญิงคนอื่น ๆ ได้ด้วย
ประโยคของมิเชล โหย่วจากความสำเร็จที่ก้าวข้าวอคติทางเพศ อายุ เชื้อชาติของเธอควรจะได้รับการเฉลิมฉลองและโอบกอดในฐานะผู้ชนะ เรื่องของเธอควรจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทุกเพศทุกวัยที่ถูกทอดทิ้งจากอคติของสังคม แต่ทำไมแค่ 2 วินาทีของคำว่า ‘And Ladies’ ทำไมมิติเรื่องเพศที่มิเชลตั้งใจจะสื่อสารถึงถูกลบเลือน ทั้งที่ทุกคนโอบกอดอายุและเชื้อชาติของเธอ และแชร์ความสำเร็จของมันด้วยซ้ำในฐานะคนเอเชีย
ความสำคัญของการพูดออกมาว่า ‘ผู้หญิงทุกคน’ คือมิเชล โหย่ว ทราบดีว่าอคติต่อผู้หญิงนั้นส่งผลอย่างไรต่อเธอ ต่อผู้หญิงเอเชียทั่วโลก และน้อยครั้งมากที่ผู้หญิงจะได้ยืนบนจุดสูงสุดของอาชีพ และได้ส่งต่อความสำเร็จนั้นเพื่อลบเลือนอคติต่อผู้หญิงให้น้อยลงก็ยังดี แต่สิ่งที่สถานีโทรทัศน์โซลทำคือขโมยสปีชของเธอที่ตั้งใจส่งให้ผู้หญิงโดยเฉพาะ ตัดทอนมัน และทำให้มันเป็นสปีชทั่ว ๆ ไปสำหรับทุก ๆ คน ทั้งที่สปีชเพื่อทุก ๆ คน เกิดขึ้นทุกวัน ตลอดเวลา และสปีชพวกนั้นก็ไม่ได้พูดถึงอคติทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญเหมือนสปีชนี้
ความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งที่ได้ฟังสปีชที่พูดถึงผู้หญิง กำลังฟ้องปัญหาการครอบงำอุตสาหกรรมสื่อโดยผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีพื้นที่พูดถึงปัญหาจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเพียงเพราะผู้ชายไม่เคยเผชิญปัญหาแบบนี้และมองว่ามันไม่สำคัญ และถ้าผู้หญิงสามารถหาพื้นที่บนเวทีระดับโลกมาพูดได้ในที่สุด มันก็ทิ่มแทงหัวใจอย่างแรงจนต้องตัดมันออกเพื่อรักษาความเป็นชายที่เปราะบางจนต้องถูกยกไว้ให้สำคัญสิ่งเดียวอยู่เสมอ – อย่าพูดถึงใครแบบเฉพาะเจาะจงได้มั้ย ทำไมไม่พูดหรือทำอย่างเป็นกลางล่ะ
คำถามก็คือ สปีชที่พูดถึงทุก ๆ คน หรือการกระทำอย่างเป็นกลางที่ผ่านมา ได้นับรวมผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปด้วยจริงหรือ? ที่ผ่านมาปัญหาของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการจดจำอย่างเพียงพอแล้วจริงหรือ? – คำตอบคือไม่จริง
เรากำลังพูดถึง ‘Toxic Masculinity’ ที่ทำให้ผู้ชาย หรืออย่างน้อยก็ผู้สื่อข่าว SBS ที่ตัดสินใจ ‘ตัด’ เนื้อหาของมิเชล โหย่ว ไม่รู้สึกยินดีกับความสำเร็จของเธออย่างเต็มหัวใจ เพราะแรงบันดาลใจที่มิเชล โหย่วส่งต่อให้ผู้หญิงทุกคนกำลังรบกวนอีโก้อันเปราะบางของพวกเขาอย่างหนัก สิ่งนี้อาจนำไปสู่การเสียความเป็นชายครอบงำไปในที่สุด แม้เส้นทางจะยาวไกลมาก และปัญหานี้เองที่เป็นความเลวร้ายต่อความเสมอภาคทางเพศของเกาหลีใต้ในช่วงปีที่ผ่านมา ขบวนการต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ, Anti-Feminist และขบวนการต่อต้าน Queer เติบโตเคียงคู่กับมูฟเมนต์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ หลายสำนักข่าวเห็นตรงกันว่า ความรู้สึกกังวลต่อความเท่าเทียมทางเพศในหมู่วัยรุ่นชายเกาหลีใต้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยุนซอกยอลชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ด้วยนโยบายสำคัญคือ ‘ยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ’
แม้จะมีขบวนการเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความเป็นชายในเกาหลีใต้ยังครองอำนาจนำในสถาบันหลักของสังคมอยู่จนถึงปัจจุบัน ก่อนกรณีตัดสปีชของมิเชลโหย่ว สถานีโทรทัศน์โซล (SBS) ถูกจับตามองการนำเสนอที่มีอคติทางเพศจากสาธารณชนจากการใช้เนื้อหารูปภาพจากเว็บบอร์ด ILBE (ไอแอลบีอี) เช่น ภาพตัดต่อหน้าปกไทม์แม็กกาซีนที่เปลี่ยนคำว่า Hello เป็น Go to hell โดย ILBE เป็นที่รู้จักในเกาหลีใต้ในฐานะเว็บบอร์ดสาธารณะที่บ่มเพาะส่งต่อความคิดเห็นแบบขวาจัด (far right), ต่อต้านเฟมินิสต์, ต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ และต่อต้านผู้อพยพ ความคิดเห็นต่อสาธารณชนจากการตัดสปีชของมิเชล โหย่ว จึงปักใจเชื่อว่าเกิดจากทัศนคติของสำนักข่าว ไม่ใช่ความผิดพลาด
หรือหากกรณีนี้ SBS ไม่มีเจตนาใดแอบแฝงจริง การปล่อยให้ความอ่อนไหวต่อประเด็นทางเพศหายไปจากสื่อหลักก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อยู่ดี ในสังคมที่ความเป็นชายยังครอบงำอยู่ทุกสถาบันหลักของสังคม
#SBS #ToxicMasculinity #MaleDominate #OSCARS2023
FYI: เว็บบอร์ด ILBE ในเกาหลีใต้ถูกขนานนามว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้มีอุดมการณ์ขวาจัดจะขำกับมุกตลกที่อาฆาตมาดร้ายต่อฝ่ายซ้าย มีการตัดต่อรูปภาพของคนดัง มีพื้นที่สำหรับส่งต่อคอนเทนต์อนาจาร (NSFW) และคอนเทนต์ที่ถูกนิยามว่าไม่ถูกต้องทางการเมือง (Political Incorrect) โดยผู้ใช้งาน 35% ของ ILBE เป็นเพศกำหนดชายอายุระหว่าง 21-25 ปี คอมมูนิตี้ ILBE จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เห็นแนวโน้มอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ชายอายุน้อยของเกาหลีด้วย ซึ่งสอดคล้องกับมูฟเมนต์ต่อต้านเฟมินิสต์ในเกาหลีที่มักจะเป็นผู้ชายอายุน้อย และมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวาจัด
อ้างอิง
Yonhap News: http://bit.ly/40az2sa
Koreaboo: http://bit.ly/3yK039O, http://bit.ly/3Jidl2q, http://bit.ly/3JHd4HE
The Qoo: http://bit.ly/3JHMj67