ก่อนหน้านี้เรารู้จักวิภาพรรณ วงษ์สว่างในฐานะ ‘นานา Thaiconsent’ ผู้อยู่เบื้องหลังเพจที่สื่อสารเรื่องเพศอย่างมีสีสัน เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่แสดงความเห็นทางการเมืองและมิติเรื่องเพศในสังคมได้อย่างชัดเจนมาตลอดในฐานะนักกิจกรรมผู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ วันนี้เราคุยกับเธอในฐานะผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขต พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3 พื้นที่สันกำแพง แม่ออนดอยสะเก็ด
ประสบการณ์การทำงานเรื่องคนชายขอบและการใช้เลนส์เพศเป็นกรอบในการมองปัญหาสังคมทำให้วิภาพรรณมองเห็นมิติทางเพศในทุกปัญหาที่เจอในพื้นที่ และตั้งใจนำกรอบคิดนี้ไปเป็นแนวทางในการปรับใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงกับการทำงานในวงการที่ปิตาธิปไตยเข้มข้นอย่างการเมืองไทย เธอยืนยันชัดเจนว่านักการเมืองจะต้องมองให้เห็นประเด็นความละเอียดอ่อนทางเพศเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Spectrum ชวน ‘นานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง’ คุยเรื่องปัญหาของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายมาอย่างยาวนาน และความคาดหวังที่ผู้หญิงหลายคนต้องเจอในการเข้าสู่วงการนี้
วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เป็นใคร
นานา วิภาพรรณ วงษ์สว่างนะคะ เป็นผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขต พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3 พื้นที่สันกำแพง แม่ออนดอยสะเก็ด แต่ว่าก่อนหน้านี้คนจะรู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง Thai consent ค่ะ
Thaiconsent เป็นหนึ่งในเพจแรก ๆ ในไทยที่สื่อสารเรื่องเพศ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเพจมีที่มาอย่างไร และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรบ้าง
A: เริ่มทำมาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 จริง ๆ เราเริ่มจากการเป็นบล็อกในการอธิบายเป็นภาษาไทย ให้คนเข้าใจว่าการข่มขืนคนเมาถึงเป็นเรื่องที่ผิด ซี่งแม้มันฟังดูไม่น่าเชื่อว่าทำไมต้องมานั่งอธิบายเรื่องนี้ แต่ลองนึกภาพ 7-8 ปีก่อน ก่อนที่จะมีกระแส #MeToo คนยังโทษผู้หญิงอยู่เลยว่าทำไมไปกินเหล้าหรือทำไมปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะเกิดกับตัวเรา เรายังเห็นรูปแบบหรือแพทเทิร์นที่มันเกิดกับคนอื่น อย่างเช่น เพื่อน ๆ ผู้หญิในมหาวิทยาลัยที่เรารู้จักประมาณ 7 คน และยิ่งเราออกมาเปิดตัวว่าพูด ยิ่งขุดพบมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่างั้นไม่ใช่ความซวยแล้ว มันต้องมีเบื้องลึกเบื้องหลังว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้มันถึงเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยเปลี่ยนคนทำ เปลี่ยนเหยื่อ เปลี่ยนสถานการณ์ โดยแล้วเราก็เคาะเจอว่ามันเหมือนคนไม่เคยรู้ว่าทำไม่ได้ เพราะสังคมที่ผ่านมาเขาจะคิดเองเออเองไปเยอะว่าผู้หญิงที่ออกไปดื่มคือการพร้อมจะเจอเหตุการณ์ทุกรูปแบบ
ตอนนั้นเราก็พยายามทำเรื่องเฟมินิสต์แบบที่เป็นกันเองที่สุด โดยไม่ใช่วิชาการแต่ใช้วิธีการรวมประสบการณ์มาเล่าแล้วนำเสนอในรูปแบบของเรื่องทางบ้าน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เอาจริงๆ ก็ไม่รู้จริงหรือแต่งแต่เขาส่งมาอย่างนี้ แล้วให้คนอ่านก็คิดเอาเองว่าเรื่องที่ไม่รู้จะจริงหรือแต่งนี้สะท้อนประสบการณ์ของเขาไหม ซึ่ง ถ้ามันมีความรู้สึกร่วม เสียงสะท้อนในโลกออนไลน์มันก็จะมาเองโดยไม่ต้องมานั่งเปิดหน้าพิสูจน์สอบสวน ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แบบที่เวลาเป็นข่าวเขาทำกัน ประกอบกับ ตอนนั้นยังไม่มีเพจที่พูดเรื่องเซ็กซ์แบบไลฟ์สไตล์ ซึ่งจินตนาการถึงเรื่องเซ็กส์ในยุคนั้น มันจะเป็นปรึกษาคุณหมอ สุขภาพ หรือเป็นเรื่องเสียวไปเลย ซึ่งมันไม่มีใครนำเสนอรูปภาพของเรือนร่างหรือกิจกรรมทางเพศที่มันเป็น “ปกติ” ได้ ซึ่งพอเราให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับว่าทำไมเราถึงได้เล่าเรื่องนี้แบบนุ่มๆ น่ารักๆ นักข่าวหรือทีมตากล้องก็ดูตื่นเต้นมากว่า ‘เฮ้ย เราพูดเรื่องเพศแบบนี้ก็ได้เหรอ’ ซึ่งมันก็เล่าให้ปกติได้จริงๆ
นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งเพจถึงวันนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 8 ปีแล้ว และมีเพจที่ช่วยกันสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและความเท่าเทียมเกิดขึ้นเยอะ คิดว่าสถานการณ์ความเข้าใจ Consent ในประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ตอนนี้คนช่วยพูดเรื่องนี้เยอะขึ้นนะ แต่ว่าพอเราทำงานนอกอินเตอร์เน็ตด้วย เราก็จะเห็นว่ามันไม่ได้พูดเรื่องนี้กันทั้งประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่อัลกอริทึมแบ่งขั้วชัดเจนมาก มันเหมือนกับว่าคนที่เข้าใจ สนใจ ก็จะสนใจไปเลยและถูกพาไปเจอแต่คนที่คิดเหมือนๆ กัน ส่วนคนที่ไม่สนใจหรือมียังไม่แน่ใจว่าความเข้าใจเดิมมีปัญหาอย่างไร เขาก็จะไปรวมกับคนที่คล้ายๆ เข้า
ดังนั้น พอพูดเรื่องเฟมินิสต์ Consent ความเท่าเทียมทางเพศมันก็มีคนเข้าใจเยอะขึ้นแต่โอกาสในการแลกเปลี่ยนมันน้อยลงเพราะอัลกอริทึมพาคนสองขั้วนี้มาเจอกันเฉพาะตอนมีดราม่า หรือตอนที่คนไม่พร้อมจะเรียนรู้
แต่ในภาพรวม เราว่าพอมันไม่ใช่เรื่องแนวคิด แต่เป็นเรื่องข่าวหรือสถานการณ์จริง มันดีขึ้น เดี๋ยวนี้เราจะสังเกตได้ว่าเวลาสื่อพูดเรื่องความรุนแรงทางเพศอย่างมอมเหล้ามอมยาหรือกรณีที่เกิดกับคนทำงานกลางคืน เสียงทางบ้านจะก็ไม่ได้โทษเหยื่อเท่าเมื่อก่อนและมีผู้หญิงที่เป็นคนทั่วไปมาช่วยกันคอมเมนท์ในสื่อเยอะขึ้นว่ามันไม่ใช่ความผิดของผู้หญิงเลยที่จะถูกฉวยโอกาสจากคนที่เห็นแก่ตัว
วิภาพรรณ วงษ์สว่างเป็นนักกิจกรรม เคยทำงานรณรงค์ เคยลงพื้นที่ รวมทั้งเคยวิพากษ์การเมืองแบบระบบไว้มีช่องโหว่ที่ทำให้ประชนไม่ได้รับการช่วยเหลือ แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจลงสนามการเมืองในระบบ
เคยมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าเรียกร้องแล้วถูกเพิกเฉยไหม นั่นเหละ มันก็เกิดคำถามว่าการเรียกร้องมันจะประสบความสำเร็จอย่างไรถ้าหากข้อเรียกร้องมันไม่สอดคล้องกับกลไกใด ๆ เลย หรือไม่สามารถเชื่อมโยงเอาทรัพยากรที่มีอยู่เยอะในระบบออกมาใช้ได้เลย เรามองว่าอย่างไรก็ต้องไปเชื่อมกับกลไกทางการเมืองให้ได้ ซึ่งการอยู่กับพรรคการเมืองเนี่ยก็คือการเชื่อมทรัพยากรเข้าด้วยกันเหมือนต่อจิ๊กซอว์ หรือไปมีส่วนในการไขก๊อก หรือชี้เป้า ว่าถ้าเรามีน้ำแต่น้ำมันไหลไปไม่ถึงบ้านบางหลัง เราจะต้องทำยังไงให้ท่อมันต่อไปถึงบ้านหลังนั้น
จากนักกิจกรรมที่สื่อสารเรื่องเพศมาสู่บทบาทของนักการเมือง วิภาพรรณ วงษ์สว่างคิดว่าการขยายบทบาทจากผู้สื่อสารที่มีประสบการณ์ทำงานเรื่องความเท่าเทียมมาก่อนมีความสำคัญอย่างไรต่อการทำงานด้านการเมือง
ตอนนี้เราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส. เป็นการการขยายบทบาทจากนักกิจกรรมมาเป็นผู้สมัครรับเลือกแบบแบ่งเขต เราต้องเลือกว่าจะเอาประสบการณ์อะไรในอดีตของเราที่เป็นประโยชน์มาใช้ แต่ไม่ใช่ว่าเอาทั้งหมดของการเป็นนักกิจกรรมมาทำการเมือง เพราะการเมืองแบบเขตมันไม่ได้มีแค่ประเด็นเพศประเด็นเดียว แต่เราเอาความสามารถในการมองเห็นทางเพศมามองปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น เราเห็นได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างไรในรายละเอียด ในตอนเศรษฐกิจไม่ดี คือเราคิดว่าพอพูดเรื่องเพศ กับปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ อำนาจเราต้องการให้คนในตำแหน่งต่างๆ มีเลนส์ที่จะมองเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นบนฐานเพศกับทุกเรื่อง “เพศกับทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าเพศคืออวัยวะเพศหรือมิติชีววิทยาอย่างเดียว เอาง่ายๆ พูดเรื่องเศรษฐกิจ ลูกผู้หญิงรากหญ้ามีโอกาสออมเงินให้ตัวเองน้อยมาก เพราะสังคมวัฒนธรรมกดดันให้เราช่วยเหลือคนอื่นในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายจะถูกตั้งความหวังในฐานะลูกน้อยกว่า อะไรแบบนั้น เลนส์เพศมันเป็นเลนส์ที่ติดตัวเราในฐานะนักกิจกรรม พอใช้เลนส์นี้ส่องเห็นปัญหาครั้งหนึ่งก็เลิกเห็นไม่ได้แล้ว ซึ่งเราไม่ได้ทำแค่เรื่องเพศไง มันเห็น เรื่องของคนกลุ่มอื่นๆ ที่เผชิญกับข้อจำกัดทางอัตลักษณ์ ทั้งอายุ สถานะสิทธิ ชนเผ่าพื้นเมือง คนพิการ ฯลฯ ที่เชื่อมกันไปหมด
ป้ายหาเสียงของ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เป็นรูปผู้หญิงผมสีทอง เจาะจมูก ซึ่งดูเหมือนไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ให้เป็น ‘นักการเมืองหญิง’ ในภาพจำเลยแม้แต่น้อย ในฐานะผู้สมัครนักการเมืองหน้าใหม่ในพื้นที่ที่ประชากรส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ มีความกังวลใจอะไรไหม แล้วผลตอบรับจากการเข้าไปในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง
เราไม่เครียดเพราะถ้าหากพรรคเห็นว่าเราทำผมทอง เจาะจมูก ไปถ่ายรูปขึ้นโปสเตอร์ได้ก็ไม่ควรต้องเปลี่ยนแล้วเพราะว่าพรรคก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แล้วพอเราไปสัมผัสกับคนในพื้นที่เขาเจอตัวจริงเขาก็แฮปปี้ และถ้าต้องเอาออกเพื่อให้การคุยมันราบรื่นในเวลาอันสั้นเราก็เอาออกได้คือเราไม่ได้ยึดติดว่าต้องเหมือนคนอื่นหรือต้องแตกต่าง เอาที่เวิร์คเป็นหลัก แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่าสักหรือเจาะ คือมีคนทักเยอะมากว่า ‘โหตัวจริงสวยกว่าในรูปนะ ในรูปอ้วนกว่าเยอะ’ อะไรอย่างนี้ บางทีเราคิดนะว่ามันคือคำชมใช่ปะว่าสวยผอม ตัวจริงตัวเล็ก ผอมจังสวยนะสวยกว่าในรูป แต่ถ้าตัวจริงเราดันเหมือนในรูปละ มันจะเป็นอุปสรรคป่าวนะ แล้วคำว่าไม่อ้วนของคนเฒ่าคนแก่เนี่ยมันคือต้องผอมขนาดไหน ก็เป็นคำถามในหัวเราเหมือนกัน
ตอนแรกที่ขึ้นป้ายก็มีครูติงมาประมาณว่าเห็นป้ายไปตั้งแถวโรงเรียน ทำไมพรรคให้เอารูปเจาะจมูกมาลง จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก ๆ หรือเปล่า แต่ผู้ใหญ่ในพรรคช่วย พูดให้ว่าลองต้องลองเจอตัวจริงก่อนนะ ควรดูที่ความคิดอะไรแบบนี้
เป็นเรื่องน่ายินดีที่และภาพลักษณ์ที่ไม่ตรงตามขนบไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับประชาชน แล้วเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมืองบ้างไหม จากประสบการณ์ของวิภาพรรณ วงษ์สว่างแวดวงนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอยู่หรือเปล่า
อันนี้พูดภาพรวมนะไม่ใช่แค่ในพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่วงการนักสิทธิ นักเคลื่อนไหว วงการที่ต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจที่ไม่เป็นทางการเนี่ย ความเชื่อใจมันเกิดขึ้นด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศเยอะมาก เช่น เราเองไม่ค่อยโดนเลือกปฏิบัติในโลกของผู้ชายแต่จะมีเยอะที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกแบบ ‘พูดดีไหม’ ด้วยความที่เราไปอยู่ในพื้นที่นั้นได้ เรามีบุคลิกที่ไม่ได้เรียบร้อย ปากจัด จนมีคนบอกว่าเราเหมือนผู้ชายคนหนึ่งอะไรแบบนี้ แต่การอยู่ตรงนั้นก็จะได้ฟังมุกเหยียดเพศ มุกทะลึ่งที่เล่นใส่คนอื่น ซึ่งก็ต้องคิดตลอดว่าจะพูดยังไงดี แล้วถ้าสมมุติเราไม่ปรับตัวเข้าไปในธรรมเนียมนั้น เป็นผู้หญิงเก่งที่เรียบร้อย หรือเป็น LGBTQIAN+ ก็อาจจะได้รับการปฏิบัติที่สุภาพ แต่จะก็จะไม่ถูกชวนเข้าวงบางวงเลย อะไรแบบนั้น ดังนั้นแล้วเราคิดว่ามันยังมีความแบ่งแยกมุมใครมุมมันอยู่
ซึ่งฟังดูเหมือนวลีที่มักจะพูดกันติดปากว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย’ แบบนี้จะส่งผลต่อการทำงานของคนทำงานด้านเมืองที่เป็นผู้หญิงและคนเพศหลากหลายอย่างไรบ้าง
ก็ส่งผลต่อการเข้าถึงส่งข่าวสารและความไว้เนื้อเชื่อใจของ bro culture bro culture ซึ่งการเป็นผู้หญิงหรือ LGBTQIAN+ หรือแม้กระทั่งผู้ชายที่มีความซอฟต์ จะต้องพยายามมากเป็นพิเศษในการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจน่ะ
เราพูดได้ไหมว่านี่อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนนักการเมืองผู้หญิงที่ยังมีน้อย แม้จะมีเพิ่มขึ้นจากสมัยก่อนแต่ยังไม่ถือว่าเป็นจำนวนที่นำเสนอประชากรในสังคมจริง ๆ แล้วมีอุปสรรคอะไรอีกบ้างที่ผู้หญิงต้องฝ่าฟันในการเข้าสู่สนามการเมือง
สมัยนี้ก็ถือว่ายังไม่ได้มีเยอะที่จะมาเข้าสู่การเมืองในระดับชาติ แต่เริ่มมีเยอะขึ้นในระดับท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอาจจะไม่ได้เยอะพอๆ กับผู้ชายแต่ถือว่าเปิดกว้างกว่าสมัยเราเด็กๆ มาก ซึ่ง เราว่า gender representative (ภาพสะท้อนอัตราส่วนทางเพศ) มันเป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ ว่าการเข้าสู่อำนาจมันปลอดภัยไหมและให้อำนาจกับปัจเจกบุคคลแค่ไหนด้วย ในหลายๆ พื้นที่ การที่ผู้หญิงจะเข้ามาทำอะไรสักอย่างเนี่ย ผู้หญิงจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุญาตของครอบครัวก่อน เช่น ก่อนได้เล่นการเมือง เราจะมีกระบวนการทางสังคมที่เช็คเยอะว่าในฐานะ ลูกสาว แม่ หรือเมีย ทุกคนที่เกี่ยวข้องในวงศาคณาญาติจะเป็นคนช่วยคุณตัดสินใจ ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ใช่แค่การจะเป็นนักการเมืองหรอก เอาแค่ไปทำงานต่างจังหวัด หรือทำงานที่ตำแหน่งยุ่งมากๆ ถ้าถึงเวลาที่ครอบครัวเรียกร้องให้คุณหยุดความก้าวหน้าและกลับมาอยู่บ้าน ผู้หญิงจะถูกกดดันให้ตามคำขอแบบนั้นค่อนข้างเยอะ
อีกส่วนคือตลอดหนทางในการโตเป็นคือผู้หญิงขึ้นมา เราค่อนข้างถูกหล่อหลอมให้ออกห่างจากความเสี่ยงทุกรูปแบบ ซึ่งการเมืองมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว และความก้าวหน้าอื่นๆ ในชีวิตมันก็มีความเสี่ยงทั้งหมดถึงจะมีโอกาสตามมาด้วยคือเราคิดว่าผู้หญิงไม่ได้มีทรัพยากรในการลองถูกลองผิดเท่าไร คือผู้หญิงโตมาแบบที่ต้องถูกหมด ต้องผิดน้อยที่สุด ไม่ค่อยมีคนยอมให้เราได้ลองผิดลองถูก ไม่ได้ถูกอนุญาตให้ทำอะไรเองคนเดียว แล้วถ้าพลาดก็คือทุกคนพร้อมจะซ้ำเติมเพราะเราไม่เชื่อฟังเอง อะไรแบบนี้
นั่นหมายความว่า วิภาพรรณ วงษ์สว่างมองว่าหากต้องการให้มีผู้หญิงทำงานการเมืองในระบบมากขึ้นก็ต้องมีการสนับสนุนทรัพยากร
ใช่ เราหมายถึงทรัพยากรในแง่โครงสร้างของอะไรบางอย่างที่มันจะปลดแอกผู้หญิงจากบทบาทและความคาดหวังว่าจะต้องถูกและเป็นแม่เมียลูกที่เพียบพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการทำงาน โครงสร้างทางสังคม โครงสร้างงบประมาณ หรือต้องใช้การสะสมทรัพยากรทางสังคม ความคิด ความเชื่อ เศรษฐกิจ ในการที่จะทำให้ผู้หญิงได้เป็นตัวเอง เพราะตลอดชีวิตเราถูกคาดหวังให้เป็น ลูก เมีย แม่ ของใครสักคนมาตลอด
เอาง่าย ๆ วงการการเมืองคาดหวังให้ผู้หญิงที่มาทำการเมืองต้องเป็นเพอร์เฟคโมเดล ถูกต้องตามครรลอง แล้วเรื่องเสียหายด้วยเหตุแห่งเพศแทบไม่เคยขัดขวางผู้ชายให้ออกจากการเมืองได้เลย แต่หากเกิดเหตุแบบเดียวกันกับผู้หญิงปั๊บ มันหยุดผู้หญิงจากงานการเมืองได้แทบจะทันที
นั่นคือการใช้เลนส์เรื่องเพศ (Gender Lens) ในการมองสถานการณ์ในแวดวงการทำงานการเมือง แล้วหากเป็นการเอาเลนส์ส่องไปด้านนโยบายบ้าง วิภาพรรณ วงษ์สว่างใช้กรอบนี้ในการมองนโยบายอย่างไร
เราอยากหยอดเรื่องเจนเดอร์เลนส์ให้กับคนที่ทำนโยบายทุกเรื่อง ไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องมาสนใจเจนเดอร์อย่างเดียว แต่มันคือหยอดว่าเรื่องเศรษฐกิจไปโยงกับเรื่องเพศได้ยังไง
เพื่อให้เห็นภาพ เราจะลองตอบคำถามของ Spectrum ด้วยการไม่พูดถึงเรื่องนโยบายความเท่าเทียมทางเพศเลยเพราะอันนั้นเข้าไปหาได้จากเว็บพรรคไทยสร้างไทย แต่อยากจะอธิบายว่านโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือนมันมันเกี่ยวกับความเท่าเทียมและคนรุ่นใหม่ยังไง คือชอบมีคนถามว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ไปทำพรรคที่ขายนโยบายบำนาญ 3,000 บาท หรือคาดหวังว่า วิภาพรรณ ต้องทำประเด็นเจนเดอร์เน้นๆ แต่เราไม่มองเรื่องที่โคตรจะใกล้ตัวอย่างข้อเท็จจริงที่ว่าผู้หญิงกี่คนที่ทำงานได้เงินมาแล้วถูกขอให้ส่งกลับที่บ้านบ้าง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิงอายุน้อยโดยตรง อิงจากประสบการณ์คือ หลายคนรวมถึงเราต้องแบ่งรายได้เกือบ 30% ส่งให้ที่บ้านตลอด ไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมีรายได้มากผู้หญิงจะต้องต่อสู้กับความสับสนภายใน หรือต้องสร้างความ “แข็งแกร่ง” ที่จะปฏิเสธ และเผชิญกับความรู้สึกผิดนานานัปการ แต่ความรู้สึกนี้ญาติผู้ชายเขาแทบไม่เจอเลย
แล้วเอาจริงๆ บางทีความคาดหวังต่อลูกเพศต่างๆ มันคาดหวังไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด คือบางคนถูกกดดันมากสุดก็คือไม่ติดยา ไม่เล่นพนัน ไม่ติดคุก อีกอย่างสองอย่างนี้เอง ถ้าผู้ชายเก่ง คนยิ่งสนับสนุนให้เขาเก่งยิ่งขึ้น ให้เขาไปได้ไกล แต่ผู้หญิงยิ่งเก่งเท่าไหร่แม่งยิ่งถูกขอให้ช่วยคนอื่นและยิ่งมีภาระ เราเลยคิดว่าบำนาญ 3,000 มันก็เลยตอบได้โดยใช้เจนเดอร์เลนส์ว่าใครจะได้ประโยชน์ หรืออย่างพอสวัสดิการผู้สูงอายุเราไม่มี เราจะเห็นบ่อยมากว่าในครอบครัวที่มีลูกหลายคนหลายเพศ พอพ่อแม่แก่ตัว ติดเตียง คนที่ถูกคาดหวังให้เลิกทำงานทุกอย่างแล้วอยู่ดูแลพ่อแม่ คือลูกที่เป็นผู้หญิง
ทั้งนี้คือเราไม่ได้มองเรื่องเจนเดอร์เพื่อที่จะแข่งว่าใครลำบากกว่าใคร แต่มันคือการมองให้เห็นชัดๆ ว่าแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศเจอกับอุปสรรคในรูปแบบไหน ซึ่งถ้าเรามีอัตลักษณ์เป็น ทอม ผู้ชาย นอนไบเนรี เลสเบี้ยน ทรานส์แมน ทรานส์วูแมน กะเทย ไบเซ็กชวล แต่ละคนจะเจอรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งอันนี้เราเองก็จะมองได้ชัดที่สุดในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้หญิงตรงเพศ และในขณะเดียวกันเราก็ช่วยสนับสนุนประเด็นที่อัตลักษณ์อื่นเจอได้ด้วย
นั่นหมายถึงวิภาพรรณ วงษ์สว่างมองว่า ‘นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ’ ไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายแยก แต่ควรเป็นการใช้เลนส์เพศในการออกแบบทุก ๆ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
มันก็ควรแยกออกมาเพื่อตะโกนว่า “สำคัญ ตั้งใจฟัง เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนฟัง” และในเวลาเดียวกันมันก็ต้องเอาไว้วิเคราะห์ว่าอัตลักษณ์ต่างๆ ได้รับผลกระทบอะไรจากการลงมือทำอะไรสักอย่างของรัฐ เช่น ผังโรงเรียนที่ออกแบบด้วยหลักคิดแบบทหารก็จะเป็นโรงเรียนที่มีสถานที่สวนสนามไว้ตรงกลาง เด็กมาเตะบอลตรงกลาง แล้วคนไม่เตะบอลก็ต้องไปหามุมแคบๆ ทำกิจกรรม คือมันมีหลักคิดในการออกแบบ สถานที่ราชการที่ออกแบบมาข่มผู้รับบริการ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนความคิดว่าเราคิดถึงคนอื่นมากแค่ไหน
ตัวอย่างของการคิดไม่ครบถ้วน คือ เราเห็นข้อเสนอเรื่องฝุ่นให้ work from home หรือเคอร์ฟิว ไม่ให้เด็กไปโรงเรียน แต่เราก็มีคำถามว่าแล้วแต่ละบ้านมีเครื่องฟอกอากาศทุกคนไหม เป็นต้น
พอใช้เลนส์เพศในการมองสภาพสังคมก็ทำให้มองไปทางไหนก็เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียม แล้ววิภาพรรณ วงษ์สว่างในฐานะคนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดมองว่าถ้าได้เป็นนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชนชนเราอยากเป็นนักการเมืองแบบไหน
A: เราอยากเป็นนักการเมืองที่ทำอะไรแล้วมันเวิร์คสำหรับประชาชน ให้ความต้องการของประชาชนถูกตอบสนอง แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อยากเป็นคนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยคิดละเอียดรอบด้าน รับฟังคนอื่นที่สุด ก็อยากเป็นคนที่แก้ปัญหาให้คนอื่นได้นั่นแหละ