#เลือกตั้ง66 คือการลงเลือกตั้งสมัยแรกของรณกฤต หะมิชาติ หรือแซม ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จากพรรคเพื่อชาติ ก่อนหน้านี้มีสื่อหลายสำนักทำข่าวของรณกฤต หะมิชาติ เพราะเขาประกาศตัวว่าคำนำหน้าชื่อของเขาคือ ‘นางสาว’ และในประกาศเดียวกันนั้น เขาได้ลงท้ายไว้ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีคำนำหน้าชื่อว่า ‘นาย’ แทน
รณกฤตเป็นผู้สัมผัสประสบการณ์เลือกปฏิบัติทางเพศโดยตรง และการตัดสินใจลงเล่นการเมืองในครั้งนี้ก็มีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์นั้น ความเข้าใจที่ลุ่มลึกและการทำงานเกือบ 10 ปีในสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ทำให้รณกฤตสามารถพูดได้เต็มปากว่าความเข้าใจต่อคนข้ามเพศในไทยยังน้อยนิด และสิทธิก็พัฒนาอย่างล่าช้า การเข้ามาเป็นปากเสียงของคนในคอมมูนิตี้จึงเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำให้สำเร็จ แม้ความจริงแล้วความถนัดของเขาจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วยของผู้คน แต่ในเมื่อคอมมูนิตี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ยินดีจะเป็นหนึ่งในเสียงที่ผลักดันสิทธิเพศหลากหลายต่อไป แต่ครั้งนี้… ในสนามการเมือง
Spectrum ชวน ‘รณกฤต หะมิชาติ’ คุยเรื่องความล่าช้าของรัฐไทยที่ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรถึงจะโอบรับความหลากหลายได้จริง อุปกรณ์เพื่อสุขภาวะทางเพศที่จำเป็นแต่มองไม่เห็นได้ทั่วไปเพราะไม่ถูกกฏหมาย และนโยบายเพื่อเพศหลากหลายที่กลายไปเป็นอภิสิทธิ์ในสายตาคนบางคน (ซะงั้น)
รณกฤต หะมิชาติ คือใคร
แซม รณกฤต หะมิชาตินะครับ ผู้สมัคร สส. เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต เบอร์ 15 สังกัดพรรคเพื่อชาติ ครับ
สรรพนามที่เลือกใช้ หรือจริงๆ แล้วซีเรียสกับเรื่องนี้ไหม ว่าต้องใช้สรรพนามอะไร ?
สำหรับเราซีเรียสนะ เราอยากเป็นนายรณกฤต หะมิวิชาติ เราใช้ He / Him / His / Mr. เพราะว่าสำนึกทางเพศเราเป็นผู้ชาย เราอยากให้คนให้เกียรติเราในจิตสำนึกของเรา เคารพตัวตนเราว่าเป็นเพศชาย แต่ถ้าอยากให้มันไปก้าวหน้าจริง ๆ อยากให้มองคนว่าเป็นบุคคลมากกว่า ไม่อยากให้มองว่าเขาเป็นเพศหญิง หรือเพศชาย แต่พื้นฐานการให้เกียรติกัน ต้องเคารพที่หนึ่งคนเป็นหนึ่งคน
ก่อนเข้ามาทำงานการเมือง คุณแซมเคยเคลื่อนไหวในฐานะนักกิจกรรมข้ามเพศ และทำงานกับคณะร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ มาก่อน?
ครับ แซมเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายชุดที่หนึ่งครับของ GEN-ACT ประมาณช่วงเดือนไพรด์เมื่อปีที่แล้ว เรามีการเปิด (ร่าง)พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์ สื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างดี มีภาคีเครือข่ายเข้ามารับฟังร่างกฎหมายของข้างเยอะมาก ถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เราทำงานกันหนักมาก ยังมีบางจุดบางอย่างที่เราไม่สามารถที่จะเขียนกฎหมายขึ้นมาได้ บางอย่างก็คือต้องไปรับฟังเสียงของสาธารณชน ซึ่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่าแซมลาออกจากการเป็นคณะกรรมการมาแล้ว เนื่องจากเรามาทำงานในส่วนของพรรคการเมือง
ถ้าย้อนกลับไปสักประมาณ 9 – 10 ปีที่แล้ว แซมน่าจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากว่าช่วงนั้นมีการเปิดตัวผู้ชายข้ามเพศ ซึ่งไม่มีไม่กี่คน ก็จะมีพี่จิมมี่ (พรรคเสมอภาค) มีแซม และเราก็ได้เข้าไปทำงานในสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นยังใช้คำว่าสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยอยู่ เราเข้าไปเป็นเลขาธิการ สมาคมแล้วก็เป็นเหรัญญิกด้วย ทีนี้ประมาณสัก 3 ปีที่ผ่านมาเนี่ยเราก็ได้ทาบทามให้เป็นอุปนายกสมาคม
เมื่อ 9 – 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเนี่ยไม่มีผู้ชายคนไหนปรากฏตัวเลย มีแต่หญิงข้ามเพศ ตอนนั้นพอมีคำว่า Transman เข้ามา เราได้ไปคุยกับคณะกรรมการ เขาก็ทึ่งมากเลยที่มีผู้ชายข้ามเพศจริง ๆ แล้วปรากฏตัวอยู่อยู่ในสังคมไทย พอเราได้ทำงานตรงนั้น สมาคมก็สนใจในความเป็นผู้ชายข้ามเพศมากขึ้น เริ่มมีคณะกรรมการที่เป็นผู้ชายข้ามเพศเข้ามาอยู่ในสมาคมด้วย ข้อบังคับสมาคมก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศเลย แต่เราเพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทยได้ไม่นานมานี้ เพื่อให้มันครอบคลุมไปสู่ Transsexual โดยตรง
แปลว่าสังคมไทยเพิ่งรู้จัก ‘ผู้ชายข้ามเพศ’ เมื่อ 10 ปีที่แล้วนี่เอง
ไม่ได้นาน ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีเรื่องการใช้ฮอร์โมน แม้แต่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือวิทยาการทางการแพทย์ในเมืองไทยตอนนั้นก็ไม่มี คือต้องบอกว่าชุมชนกลุ่มคนข้ามเพศในสมัยก่อนเมื่อ 9 – 10 ปีก่อน เราจะต้องทดลองอะไรบางสิ่งบางอย่างที่มันเป็นเรื่องอันตราย ต้องสั่งยาจากเมืองนอกเข้ามาเอง ฉีดเอง หรือให้คลินิกพยาบาลฉีดให้ มันไม่ได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ กลายเป็นว่าเราต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกจากการใช้ฮอร์โมน บางคนสิวเห่อ บางคนอวัยวะเพศบวม แต่พอมันเกิดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาแล้วสื่อให้ความสนใจตรงนี้มากขึ้น ก็มีคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญเกิดขึ้น ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนก็เริ่มที่จะเอาเรื่องของการรับฮอร์โมน เรื่องของสุขภาวะทางเพศของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาเรียนรู้มากขึ้น ปัจจุบันก็มีคลินิกหลายแห่งที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
ก็แสดงว่าจริงๆ แล้ว ในระยะเวลา 10 ปี มันก็พอมีพัฒนาการที่น่าชื่นใจบ้างใช่ไหม
น่าชื่นใจบ้าง แต่ในเชิงลึกเข้าไปอีกนะ พี่แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งรณรงค์ให้บรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเข้าไปเรียนตั้งแต่ ป. 1 แต่ถามว่าทุกวันนี้เราไปบรรจุในช่วงกลางคัน คุณครูเข้าใจในเรื่องนี้จริง ๆ ไหม เรารู้ว่าวันนี้ความหลากหลายทางเพศมีเยอะ เรารู้ว่ามันถูกบรรจุเข้าไปแล้ว แต่ถามว่าในการบังคับใช้หรือหลักสูตรที่เป็นขั้นพื้นฐานจริง ๆ มันไม่มีใครที่จะเข้าใจที่จะสอนมันได้จริง ๆ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นใน 9 – 10 ปี
การเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้ามากแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้คุณแซมตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมือง
เราอยากยุติการเลือกปฏิบัติในสังคม เชื่อไหมว่ามีหลายคนที่บ้านเป็นคนจีนถูกเรียกว่าอีลูกกะหรี่ มีเด็กเหลือขออยู่ในครอบครัว แต่เด็กอะ เขาไม่ได้มีทุนทรัพย์ เขาไปไหนไม่ได้ แต่เขาต้องอยู่ในครอบครัวที่มีความกดดัน บางคนอาจจะต้องออกออกจากการศึกษาหรือออกจากบ้าน ไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ขาดโอกาสในการศึกษา เพราะเราโดนบังคับแต่งกายไปโรงเรียนในสภาพที่ต้องใส่กระโปรง เราเคยถูกครูประจำชั้นถามว่า ‘แม่เป็นเมียเช่าฝรั่งเหรอ ถึงตัดผมแบบนี้มาโรงเรียน’ เป็นสิ่งที่มันแย่มากเลยสำหรับเรา เราเลยต้องเลือกที่จะเดินออกมาจากการศึกษา ออกมาเรียน กศน. แล้วการเลือกปฏิบัติแบบนี้มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มา 9 – 10 ปี ขยับไปเรื่องหลังเรียนจบ ถ้ามานั่งถามกันจริง ๆ คนข้ามเพศทำอาชีพอะไรครับ แทบจับต้องไม่ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงข้ามเพศทำอะไร คนก็จะคิดว่าต้องประกวดนางงาม ต้องเป็นบิวตี้ควีน ถึงจะเป็นคนที่น่าสนใจ ผู้ชายข้ามเพศบางคนที่กลายเป็นเพศชายไปแล้ว เขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเปิดเผยอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้อยากให้สังคมมาตั้งคำถามกับเขา ถูกไหมครับ มันเลยกลายเป็นว่าวันนี้ นอกจากเราถูกเลือกปฏิบัติในโรงเรียน เราก็ถูกเลือกปฏิบัติในอาชีพด้วยเหมือนกัน ยังมีน้อง ๆ หลาย ๆ คนที่จบมาต้องการเป็นครู ไปสมัครเป็นครูเขาก็ไม่รับ เขาบอกว่าไม่อยากให้มีครูที่เป็นเพศสภาพแบบนี้มาสอนนักเรียน นี่ก็คือปัญหาในสังคมอีก มันก็เลยทำให้คนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนชาย-หญิง นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นไม่เปิดรับความหลากหลายที่สังคมวัฒนธรรมสั่งสมกันมานานมาก คุณแซมมองว่าการเมืองจะเข้าไปช่วยยังไงได้บ้าง
เรามองว่าการที่มีชุมชนคนข้ามเพศเข้ามาอยู่ในงานการเมืองมันเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิด Awareness ขึ้นมา ถูกไหมครับ เพราะตอนนี้เนี่ยสัดส่วนของการเป็นผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ในสภาเนี่ยก็เยอะแล้ว แต่ไม่เคยมีไม่ค่อยได้มี ส.ส.ข้ามเพศเข้าไปอยู่ในนั้นเลย เพราะฉะนั้นการที่เราจะร่างกฎหมายสักฉบับหนึ่ง มันควรต้องเป็นคนที่อยู่ในชุมชนที่ประสบปัญหาจริง ๆ ที่จะออกมาร่างกฎหมายและผลักดันให้กฎหมายนี้มันสำเร็จไปได้ เรามองว่าเรามีจุดแข็งเรื่องหนึ่งคือเราเป็นภาพแทนที่ดีที่เป็นคนในชุมชนจริงๆ
แล้วทางพรรคเพื่อชาติมีนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศยังไงบ้าง
พรรคเพื่อชาติมีนโยบายความหลากหลายทางเพศที่เยอะมากเลยนะครับ ตั้งแต่เรื่องสมรสเท่าเทียม การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อโดยที่ตามจะยึดตามเจตจำนงตามหลักสิทธิมนุษยชนเนอะ เรื่องเทคโนโลยีในการสามารถมีลูกได้ การรับมรดก เรามีเรื่องสินค้าเพื่อสุขภาวะ เซ็กส์ทอยต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ต้องบอกว่าการที่เราจะมีความสุขในเรื่องเพศของตัวเองมันเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนตน เราควรจะต้องผลักดันเรื่องเซ็กส์ทอยให้มันถูกกฎหมายได้แล้ว หรืออย่างผู้ชายข้ามเพศ ก็มีปัญหาเวลาไปเข้าห้องน้ำผู้ชาย เราต้องนั่งสควอตในการฉี่อะ มันก็จะมีอุปกรณ์เสริมเขาเรียกว่า STP หรือ Stand To Pee ก็ควรที่จะเข้ามาส่งเสริมผลักดันให้เขาได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น พวก Female Comdom, Finger Condom, Dental Dam รวมถึง Sex Creator และ Sex Worker ก็ต้องถูกกฎหมาย
เอาจริง ๆ นะบางคนยังไม่รู้เลยว่าโรคซิฟิลิสรักษาได้ การยุติการตั้งครรภ์คนยังไม่รู้เลยว่าสามารถทำด้วยกระบวนการยังไง เข้าไปฟรีได้ที่ไหนบ้าง คนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย แต่ถ้าเราออกมาส่งเสริมสินค้าเพื่อสุขภาวะทางเพศมันจะทำให้คนตระหนักรู้และเข้าใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์ยังไงให้ปลอดภัย แล้วมีความสุขกับคู่รักได้ยังไง ทุกวันนี้แจกถุงยางอนามัยกันเกลื่อนเลย แต่ทำไมเรื่องพวกนี้ไม่แจกบ้าง ใช่ไหมครับ แค่จะไปตรวจ HIV บางคนยังไม่กล้าตรวจเลย แล้วก็ควรที่จะออกมาอย่างน้อยถ้าเรารักษาไม่ได้ เราก็ต้องเลือกมาตรการที่ต้องป้องกันก่อนที่มันจะต้องไปขั้นรักษา เป็นเรื่องที่พรรคเราใส่ใจครับ
คุณแซมมีส่วนยังไงบ้างในนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วในพรรคมีกระบวนการสร้างนโยบายกันยังไงบ้าง
เรียกว่าแซมเข้ามาเติมเต็มในพรรคดีกว่า บอกเลยว่าคุณฮาย (หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ) เรียนรู้เรื่องเจนเดอร์ค่อนข้างลึกเลย แต่ตัวเราเป็นคนหนึ่งในชุมชน และเราประสบปัญหาจริงๆ เราเลยเข้ามาเติมเต็มเรื่องของนโยบายให้เขาเห็นภาพชัดขึ้น เรามีส่วนเข้าไปเสนอนโยบาย เช่น ผลักดันให้ฮอร์โมนเข้าไปอยู่ในสปสช. มันแค่ไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน ทำไมถึงจะผลักเข้าไปไม่ได้ รัฐต้องเป็นคนจัดสรรงบตรงนี้มาให้เรา ถูกไหมครับ ทุกวันนี้ผู้ชายข้ามเพศบางคนผู้หญิงข้ามเพศบางคน ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนหรือไปตรวจสุขภาพได้เพราะค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนครั้งละ 3,000 – 4,000 บาท เวลาไปตรวจเลือดรับยาครั้งละ 1,000 บาท หมายความว่าเขาต้องเตรียมเงินอย่างน้อยเดือนละประมาณ 1,000 – 2,000 บาท เพื่อรับฮอร์โมน แต่ถ้ารัฐคุ้มครอง เราไม่จำเป็นต้องไปตรวจเลือดทีละ 3,000 – 4,000 บาทก็ได้ เพราะการตรวจความเข้มข้นของเลือด หรือระดับฮอร์โมน มีค่าใช้จ่ายแค่ 50 – 60 บาทเท่านั้นเอง คำถามคือ ทำไมถึงจะผลักดันเข้าไปไม่ได้ ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่มันจำเป็น
ซึ่งจริงๆ ต้นทุนไม่ได้สูงแต่มันคือการมองไม่เห็นว่าสุขภาวะของคนข้ามเพศสำคัญ ?
ถูกต้อง ยิ่งเราเป็นคนส่วนน้อยเราเหมือนเขายิ่งละเลย เพราะฉะนั้นวันนี้พรรคเพื่อชาติเลยต้องมาทำให้คนที่เป็นชุมชนกลุ่มน้อยมีเสียงมากขึ้น ผลักดันให้เขาเห็นปัญหามากขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเรากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่เราต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกันเท่านั้นเอง
ในขณะที่คนเพศหลากหลายดิ้นรนเพื่อจะเข้าให้ถึงสิทธิและโอกาส ก็ยังมีคนที่พูดว่านโยบายเพื่อ LGBTQ+ หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ คืออภิสิทธิ?
ต้องถามว่าคำว่าอภิสิทธิจริง ๆ คืออะไร สำหรับแซม เราพูดถึงนโยบาย LQBTIQ+ เราไม่ได้ขออะไรที่พิเศษ เราขอเท่ากัน เช่น เรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราแค่ไม่ได้รับสิทธิที่คนอื่นได้รับ เราไม่ได้ขออะไรที่มากกว่า เราไม่ได้ขออะไรที่น้อยกว่า แต่เราขอสิ่งที่มันเท่ากันจริง ๆ ไอ้ที่เราได้มันมากกว่าเหรอ มันต้องตั้งคำถามนะ อย่างที่เราไปขอฮอร์โมนเราขอมากกว่าชายหญิงทั่วไปไหม ในเมื่อชายหญิงที่บกพร่องทางฮอร์โมนก็ต้องใช้เหมือนกัน ถ้าพูดถึงเรื่องกฎหมายแรงงาน ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอด ผู้ชายมีสิทธิลาบวช ลาไปเกณฑ์ทหาร แต่คนที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศไม่เคยได้ใช้สิทธิเหล่านี้เลย อย่างแซมจะคลอดลูกเหรอ ก็ไม่ได้คลอดอะ เราก็ไม่สามารถที่จะลาได้เลย อย่างผู้หญิงข้ามเพศ เขาจะลาบวชเหรอ เราลาไปตรวจเลือดแค่ 3 เดือนครั้ง หมายถึงว่าปีหนึ่งเราขอลาแค่ 4 วัน ลาแค่ครึ่งวันไปตรวจเลือดรับฮอร์โมน บางทีมันอาจจะเป็นเสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ จะอธิบายว่าสิ่งนี้เป็นอภิสิทธิจริง ๆ ได้ไหม ในเมื่อมันมันต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหนใช่ไหม หรือเรื่องรับบุตรบุญธรรม เรื่องของการใช้เทคโนโลยีการตั้งครรภ์ ชายหญิงเขาก็ควรที่จะได้รับในการทำทำบุตรได้ ตอนนี้กฎหมายในการที่จะใช้เทคโนโลยีการตั้งครรภ์ต้องจดทะเบียนสมรสนะถึงจะมีลูกได้ คนที่เขามีศักยภาพในการที่จะดูแลบุตรเขาก็ทำไม่ได้ บางคนก็ฉันไม่อยากแต่งงานกับใคร แต่ฉันอยากมีลูก ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ขออะไรที่มากกว่า เราขอให้ชายหญิงทั่วไปได้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้ด้วยซ้ำ
ณ วันนี้ คิดว่าพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสนามการเมืองเป็นยังไงบ้าง มากพอหรือยัง
ส่วนตัวก็ยังว่าน้อยอยู่ สำหรับคนที่เป็นความหลากหลายทางเพศแล้วมาลง เนอะมันไม่มากเพียงพอที่จะเข้าไปเสริมในเรื่องของการยกโหวตร่างกฎหมายแล้วทำให้คนในสภาเข้าใจได้ จริงๆ อยากให้มีเยอะกว่านี้ครับ
คิดยังไงกับคำที่ว่า ‘ผู้สมัครเพศหลากหลายคือไม้ประดับ’ ?
แซมเคยโดนเรื่องนี้ ตอนที่มีสื่อหนึ่งเอาแซมไปลง มีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘เขาก็คงซื้อมานั่งในพรรคให้มันดูสวยงามแหละ’ แต่เราก็เอาเพจของเราไปตอบแหละ ว่าไม่ได้ซื้อมานะ เราเดินเข้ามาสมัครเอง ขนาดติดป้ายยังติดเองเลย เราทำเองทุกกระบวนการ เราลง ส.ส. เขต เราเหนื่อยมาก พรรคเพื่อชาติเราคิดนโยบายที่ตอบสนองกับผู้คนจริงๆ เราเป็น LGBTQ+ เราเป็น Transman เราทำงานเชิงรุก เราลงพื้นที่ และการที่มีแซมเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้คน เราเป็นคนที่อยู่ในเรดาร์ของปัญหามาตลอด เราสื่อสารกับพรรคมาโดยตลอด เรามองว่าเพื่อชาติไม่ได้มองแซมเป็นไม้ประดับ แต่เราคือคนจริงที่เข้ามาทำงานในสนามการเมืองจริง ๆ
ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เพื่อให้สัดส่วนของผู้แทนฯ ในสภาสะท้อนค่านิยมของพวกเขามากที่สุด แม้สัดส่วนของผู้สมัคร LGBTQ+ จะยังไม่มากเพียงพอในสมัยนี้
ตอนนี้สัดส่วนของ ส.ส. ที่เป็นคนข้ามเพศน้อยอยู่แล้ว และ ส.ส. ที่มีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิทางเพศ ก็ยิ่งน้อยกว่านั้นนะครับ มันไม่สำคัญเท่ากับคนที่เป็นคนข้ามเพศได้เข้าไปทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจริงๆ เราต้องไม่สนับสนุนให้ ส.ส. ที่เป็นทั้งหญิงหรือชายเนี่ยที่มีความคิดที่เป็นปิตาธิปไตยเข้าไปเสริมอำนาจ เราไม่ควรคิดว่าถ้าผู้หญิงแต่งตัวโป๊ก็สำควรโดนข่มขืน ผู้ชายจะต้องทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้หญิง คนที่คิดแบบนี้ไม่ควรเข้าไปในสภาในฐานะเป็นผู้แทนราษฎร มันจะต้องไม่มีการกดขี่แล้วเอาเหตุผลทางเพศมาเป็นการโหวตคว่ำทำให้ร่างกฎหมายในอนาคตของเรามันไม่ผ่าน
จริงหรือไม่ที่ผู้สมัคร ส.ส. เพศหลากหลายต้องทำงานแค่ในประเด็นเฉพาะอย่างการเมืองอัตลักษณ์ นี่คือภาพตายตัวที่คนภายนอกมองเข้ามาหรือเปล่า ?
เราอยากทำงานในเรื่องอื่น ๆ ด้วย คนที่มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เกิดจนเรียนหนังสือจบต้องต่อสู้กับอคติและการเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว เขาต้องครุ่นคิดตลอดเวลาว่าเขาต้องทำยังไงให้เก่ง ต้องทำยังไงให้เด่น ต้องทำยังไงเพื่อให้เกิดการยอมรับ ตอนนี้เรา 30 แล้วกำลังจะย่าง 31 แล้ว มันต้องมานั่งตอบคำถามเรื่องพวกนี้อยู่เลย ทั้ง ๆ ที่เราควรที่จะเอาเวลาของเราไปตั้งหน้าตั้งตาทำตามความฝันของเราในเรื่องอื่น ๆ ถามว่าวันนี้แซมอยากทำอะไร เราเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน และเราก็เราทำอาชีพตัวแทนประกันมา 4 ปี สิ่งที่เรามีข้อมูลอยู่ในหัวคือเรื่องของการเจ็บป่วยของคน เราอยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขมาก อยากไปผลักดันเรื่องนั้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถที่จะ Represent ในเรื่องนั้นได้เพราะเรื่องของชุมชนความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นชุมชนของเราจริง ๆ มันยังไม่ถูกคุ้มครอง เขายังไม่ปลอดภัยเลยอะ ในการใช้ชีวิตเราเลยไปทำเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศและสิทธิเสรีภาพทางเพศในการแสดงออกมันผ่าน เรามองว่าเราไม่ต้องมานั่งทำเรื่องนี้อีกแล้ว คนข้ามเพศหลาย ๆ คนจะมีการศึกษาที่ดี มีอาชีพที่ดีนะครับ มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น ได้ไปทำอะไรที่เขาอยากจะทำมากขึ้น เราไม่ต้องเสียโอกาสในการที่จะให้คนที่เป็นพลเมืองที่เก่ง ๆ ของเราไปแต่งงานเสียภาษีประเทศอื่น
ถ้าวันนี้คุณแซมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอยู่ คิดว่าพรรคทำได้ดีหรือยังกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ
สำหรับตัวแซมวันนี้นะครับ ในมุมมองของพรรคเพื่อชาติที่เราเป็นคนนอกเนี่ย เรามองว่าพรรคทำดีที่สุดแล้วเท่าที่จะทำได้ เขาทำเต็มกำลัง ทำแบบเท่าที่พรรคการเมืองการเมืองหนึ่งจะทำได้ โดยที่ไม่ได้มีคนที่เป็น Transman อยู่ในนั้นด้วยซ้ำ พรรคเพื่อชาติลงพื้นที่เอง ไปนั่งรับฟังคนที่มีความหลากหลายทางเพศถึงออกมาร่างเป็นนโยบายของพรรคได้ ซึ่งอยู่ในไกด์บุ๊คของพรรคเพื่อชาติด้วยซ้ำ พรรคเล็กแต่ไม่เคยทำงานเล็กเลย ทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ครับ
อะไรคือสัญญาที่อยากจะมอบให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
สัญญาเลยว่าหากมีโอกาสนะครับ เราก็จะทำให้เต็มที่ ตามสรรพกำลังที่เรามี ทำเต็มที่ในทุกสิ่งทุกอย่างที่พูดมาตามนโยบายพรรคจะทำให้มันเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้รับโอกาสนั้น เราก็ยังเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องสิทธิ เรื่องปากท้องของประชาชนอยู่ดี นโยบายการศึกษาต่าง ๆ เราก็อยากจะทำให้มันเต็มที่ตามเท่าที่พลเมืองคนหนึ่งอย่างเราจะทำ ได้ไม่ได้ยังไงก็จะทำอยู่ดีครับ แล้วถ้าไม่ได้ ก็ยังจะเตรียมตัวเพื่อลงสมัยหน้าอยู่