อีกหนึ่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคไทยสร้างไทยที่เปิดเผยตัวเองอย่างภาคภูมิใจอย่างเป็นเกย์ ‘ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล’ และไม่นานมานี้ เขาเพิ่งลงพื้นที่พร้อมกับเมคอัพแดรก เพื่อบอกประชาชนในพื้นที่ว่าอัตลักษณ์ของเขาคืออะไร และเพื่อสร้างความเข้าใจว่าเป็นเกย์อาจจะอยากแต่งหญิงหรือไม่แต่งหญิงก็ได้ แต่วันนี้เขาอยากแต่ง (เพราะเชื่อว่าประชาชนอยากเห็น)
และในฐานะรองโฆษกพรรคฯ และผู้รับผิดชอบนโยบายด้านความหลากหลาย ทวีชัยก็ยืนยัน (และยืนหยัด) ว่าเขาสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อจะเป็นปากเสียงให้ประชาที่ไว้วางใจเขา และเชื่อว่านโยบาย 7 ข้อที่เข็นออกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของการทำงานกับคอมมูนิตี้ จะตอบสนองความต้องการของชุมชนเพศหลากหลายได้ไม่มากก็น้อย แม้สังคมก็จะไม่ค่อยรับฟังเสียงจากพรรคเล็กๆ เท่าไรนัก
Spectrum ชวน ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล คุยเรื่องความน่าเชื่อถือของนักการเมืองที่ต้องใส่สูทผูกไทเท่านั้นจริงหรือ อาการปากว่าตาขยิบของพรรคการเมืองที่แหว่งวิ่นในเชิงนโยบายแต่โอบรับความหลากหลายหน้ากล้องเหลือเกิน และการไปงานศพของ ส.ส. ที่ครั้งนึงเขาเคยเห็นค้านสุดฤทธิ์ แต่วันนี้เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่?
ใครคือ ‘ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล’ ?
รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และคณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศและความเสมอภาคทางสังคมครับ และผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานครเขต 7 บางซื่อ-ดุสิต เฉพาะแขวงถนนนครชัยศรี เบอร์ 2 ครับ
มีส่วนอย่างไรในนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย
ดูแลในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ รับผิดชอบในเรื่องการทำนโยบาย นโยบายของไทยสร้างไทยเกี่ยวกับเรื่องเพศเนี่ยมีประมาณ 7 หัวข้อ คือ พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหมด และพ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศครับ ตอนนี้อยู่นี้อยู่ในขั้นตอนของการเริ่มร่างแล้วก็รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ โดยหลักการของเรา เราต้องการให้ครอบคลุมทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็น Intersex หรือ Nonbinary รวมถึงเรื่องของการผลักดัน Sex worker และ Sex creator ให้ไม่ผิดกฎหมาย ณ วันนี้ทางพรรคไทยสร้างไทยและคุณหญิง สุดารัตน์ พยายามทำนโยบายออกมาให้ครอบคลุมและมีข้อขัดแย้งน้อยที่สุด แล้วก็ให้มันไปเดินไปข้างหน้าได้ อีกเรื่องก็คือการทำหลักการ Gender Responsive ก็คือการทำออกนโยบายให้รองรับกับทุกเพศทุกวัยนะครับ อันนี้คือเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญมาก
อะไรคือสารตั้งต้นที่ทำให้มาทำงานผลักดัน พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติ?
โดยส่วนตัว ก่อนหน้านี้ก็ไม่เข้าใจการเลือกปฏิบัติ เราเองอาจจะโดนแต่ว่าไม่รู้สึก เพราะว่าเราเองก็เป็นเกย์ที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ทับซ้อน แต่พอเราเริ่มทำงาน เริ่มเห็นว่าคนทั่วไปไม่เข้าใจเลยจริง ๆ ว่าอะไรคือเลือกปฏิบัติ ทำไมอ่ะ แล้วจะเป็นอะไร ก็เรื่องแค่นี้เอง แล้วคนมันจะแบบเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่แหละ มันคือจำเป็น อย่างเรื่อง HIV คนลืมไปว่าแล้วคนที่อยู่ร่วมกับ HIV เขาอยู่ยังไง ได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง แล้วมีผลอะไรกับชีวิตเขาบ้าง ที่เขาเนี่ยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น การไปทำงาน ทำไมต้องตรวจ HIV ด้วย
การเลือกปฏิบัติไม่ได้มีแค่เรื่องเพศ มีอีกหลายเรื่องมากเลย ทั้ง เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องประวัติอาชญากรรม เรื่องความพิการ เรื่องวัย ทุกอย่างมันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยที่เราเลือกไม่ได้ พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ มันมีอยู่แล้วก็จริงนะ แต่มุ่งเน้นแต่เรื่องเพศอย่างเดียว แล้วถามว่าวันนี้มีประสิทธิภาพแค่ไหน จากการที่กฎหมายมันไม่ถึงที่สุด หลายเคสหลายกรณีก็ส่งต่อไปที่ศาลปกครอง ศาลปกครองตีกลับไป ฟ้องกันไปฟ้องกันมา ทุกวันนี้มีเคสหนึ่งที่เพิ่งทำก็คือเรื่องของการแต่งกายตามเพศสภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏฟ้องกลับ สุดท้ายก็ต้องไปยื่นคุ้มครองฉุกเฉินให้ใส่ แต่ก็จะเป็นรายบุคคล ปัจจุบันมหาวิทยาลัยยื่นอุทธรณ์อยู่ ไม่ยอมที่จะแก้ระเบียบ ถามว่าสิ่งนี้มันก็เป็นแสดงถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กรนั้น ๆ ด้วย แต่ถ้าตัวกฎหมายเองเขียนมาได้อย่างแบบสมบูรณ์แบบ มันจะไม่เกิดพิพาทซ้ำซ้อน
สร้างเครื่องมือให้คนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้ใช้เพื่อปกป้องสิทธิตัวเอง ?
ใช่ ความตั้งใจคือเขียนออกมาเพื่อลดช่องว่างของ พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยให้คณะกรรมการสามารถหยิบเรื่องขึ้นมาพิจารณาได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอคนมาฟ้องร้อง ซึ่งต้องถามว่าโดยปกติ ใครมันจะมาฟ้องร้อง ถ้าโดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงานแล้วจะมาฟ้อง คุณต้องลางานมา เดินทางมา และ LGBTQ+ หลาย ๆ คน โดนเลือกปฏิบัติเรื่องงาน เขาก็ลำบากอยู่แล้ว คนหางานมันคือคนต้องการรายได้ มันยาก ก็เลยมองว่า โอเคนะ กรรมการสามารถเลือกหยิบขึ้นมาได้เลย ถ้าคุณเห็นเรื่องในปัจจุบัน และตอนนี้กำลังพยายามเขียนให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สิ้นสุด ควรจะมีหน้าที่คล้าย ๆ ศาล เพราะวันนี้ศาลก็ไม่ฟัง เคสของครูอาจารย์แต่งกายตามเพศสภาพ สำนักนายกฯ ก็ฟ้องกลับ แล้วศาลเองก็รับพิจารณา จริงๆ ศาลควรจะไม่รับพิจารณาแล้วแจ้งเลยว่าการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นที่สิ้นสุด หรือถ้าไม่เป็นที่สิ้นสุด ก็ต้องมีความเห็นไปทางเดียวกับคณะกรรมการ
ซึ่งเหมือนกับว่ามันต้องทำไปพร้อมๆ กันทั้งการปลูกฝังความคิดของคนในสังคม และมีเครื่องมือทางกฎหมายที่จะช่วย
เราไม่ได้เป็น NGO มาก่อน เป็นคนทั่วไปแล้วก็มาทำงานการเมือง ในบางครั้งการสื่อสารทางสังคมเราไม่สามารถสื่อสารวิชาการได้อย่างเดียว เราต้องมีการซอฟต์บ้าง แรงบ้าง ทำตามที่เขาต้องการบ้าง ทำให้เขาเห็นอย่างที่เขาอยากจะเห็น
ที่เราแต่งแดร็กลงพื้นที่ เราตั้งใจว่า พอเราเป็นเกย์ที่เข้ามาในการเมือง คำถามแรกเลย เราเจอเกย์ ‘อุ๊ย อยากแต่งหญิง อยากสวย อยากสาวหรือวะ’ ซึ่งเราไม่ได้อยากเป็น เราเป็นเกย์ เราก็แค่โอเคอาจจะมีสาวบ้างอะไรบ้าง แต่เราตุ้งติ้งเป็นเรื่องปกติบุคลิกเรา แต่ถามว่าเราอยากเป็นแต่งหญิงไหม เราไม่ได้อยากแต่ง เราเฉย ๆ มากกับการแต่งหญิง แต่ที่เราแต่งออกไปเพราะสังคมอยากรู้ คุณอยากเห็นภาพจำนั้น เราทำให้คุณเห็นเลยว่าเราเป็นให้คุณได้ แต่เราไม่ได้เป็นอย่างนี้ตลอด แล้วที่เราทำให้คุณเห็น เราอยากจะสื่อสารกับคุณ ว่าคุณต้องเข้าใจก่อนว่า วันนี้ LGBTQ+ หรือเกย์ทุกคนไม่ได้อยากแต่งหญิง แล้วเราก็เป็นคน ๆ เดิม ถึงแม้ว่าวันหนึ่งเราอยากจะแต่งแบบนี้ก็ตาม แต่เรายังเป็นคนเดิมที่ตั้งใจมาทำงาน เรายังเป็นนักการเมือง หรือเป็นเบสท์ที่มีความคิดข้างใน เป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ได้แตกต่างจากประชาชน ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป เหมือนนักการเมืองคนอื่นที่เขามาทำงาน เราไม่อยากได้แต้มต่อในการเป็น LGBTQ+ แต่ก็ไม่อยากลดแต้มจากการเป็น LGBTQ+ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณเห็นเราแล้วคุณชอบนโยบายเรา คุณชอบในสิ่งที่เป็นเรา คุณไม่ต้องมองเราเป็นเพศอะไร แค่มองว่าเราเป็นคนที่ทำประโยชน์กับคุณได้ และทำเพื่อทุกคน นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ
ความน่าเชื่อถือ ไม่ได้อยู่ว่าคุณแต่งตัวอย่างไร แต่มันอยู่ว่าคุณทำอะไรให้คนเขาเชื่อถือคุณมากกว่า คุณเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี นโยบายที่คุณหาเสียงมา คุณไม่เคยทำ คุณใส่สูทผูกไทเนี่ย คุณนั่งรถเบนซ์มีขบวนนำมาเนี่ย ใช้ภาษีประชาชนไปไม่รู้กี่ปี อันไหนคือความน่าเชื่อถือของคุณ นโยบายที่คุณตั้งใจสื่อสารกับประชาชน คุณทำได้จริงหรือเปล่า เราทำงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ สิ่งหนึ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์พูดเสมอคือ เป็นนักการเมืองถ้าพูดแล้วทำไม่ได้ อย่าพูด เป็นนักการเมืองสิ่งที่สำคัญก็คือต้องรับใช้ประชาชน ต้องพูดให้ได้ พูดแล้วต้องทำ นี่คือความน่าเชื่อถือของนักการเมือง นี่คือความน่าเชื่อถือของคน ไม่ใช่การแต่งตัวอย่างไร เราจะใส่ผมสีชมพู ใส่ชุด Drag Queen ถ้าเราทำให้ประชาชนไว้ใจได้ รับปากประชาชนแล้วว่าทำได้ นี่คือความน่าเชื่อถือของเรา
แต่งตัวโดดเด่นสุดๆ และลงพื้นที่ชุมชนสุดๆ
เราต้องการพิสูจน์แนวคิดของตัวเอง แล้วก็พิสูจน์สิ่งที่เราเป็นว่า คนจะแฮปปี้ไหมกับการที่เราเป็นแบบนี้ เราวัดดวงเหมือนกันนะ ตอนทำก็ ‘เอาวะ โดนด่าก็โดนด่าวะ เอาวะ มันมีแค่นี้แหละ โดนด่ากับโดนชม มันคงไม่มีคนเฉย ๆ หรอก’ ซึ่งตอนนั้นก็แบบคิดแล้วแหละคิดหลายวันมาก เพราะเรามีการวางแผน มีครีเอเตอร์ คิดกับทีมว่าเอายังไง จะออกมาสื่อแบบไหน จะสื่อยังไง เพราะเราเองก็กลัว เราไม่ได้กลัวประชาชนด่าอย่างเดียวนะ เรากลัวภาคประชาสังคมด่าด้วย กลัวเขาจะว่าเราทำภาพจำให้กับ LGBTQ+ หรือเปล่า กลัวทั้งคนด่า กลัวนักการเมืองด่า แต่พอเราใส่ชุดแบบนั้นไป เขาเอ๊ะ ประชาชนเอ๊ะมาก อุ๊ย แปลกดี ไม่เหมือนคนอื่น ไม่เคยเห็นนะ ไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้ แล้วถามแล้วโอเคไหมกับการที่เราเป็นเกย์ ก็ไม่เห็นมีอะไรหนิ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลยนะ เป็นเกย์แล้วยังไงเหรอ แล้วถ้าผมแต่งหญิงเลยล่ะ แต่งหญิงมาทำงาน เขาบอกถ้าแต่งได้ก็แต่ง เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาชอบ เขาบอกว่า ส.ส. แต่งแบบนี้เข้าสภาวันแรกให้ด้วยนะ อยากเห็น
แล้วที่พีคสุดมีคุณแม่คนหนึ่งเดินมา เดินมาจับมือเราแล้วบอกว่า ‘ชอบ ลูกป้าก็เป็น เมื่อก่อนป้านะไม่เข้าใจ โกรธกันทะเลาะกันแล้วไม่มีความสุขเลย ไม่เข้าใจว่าเขาเป็นอะไร แต่เขาก็บอกว่าเนี่ย แล้วเขาเองก็พิสูจน์ตัวเอง ตั้งใจทำงาน เป็นคนดี’ ซึ่งจริง ๆ LGBTQ+ ไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้นะ เป็นคนก็พอ แต่นี่คือสิ่งที่เขาพูด แล้วเขาก็ร้องไห้ แล้วก็ขอบคุณเราด้วยนะ ขอบคุณนะที่แบบลุกขึ้นมาแสดงอัตลักษณ์ของเราให้คนเห็น ให้คนยอมรับ ให้คนเข้าใจ แล้วเขาร้องไห้ เราก็ร้องไห้ตาม
แม่เขาคงรู้สึกว่า ลูกเขาอาจจะไม่ได้โดดเดี่ยว เราเข้าใจคนเป็นพ่อเป็นแม่นะ ตอนเราบอกที่บ้านว่าเราเป็นเกย์ ที่บ้านก็บอกว่าเออจะเป็นก็เป็นไป แต่ก็เป็นห่วงเรา ว่าเราอาจจะเจอปัญหาสังคมแล้วก็โดดเดี่ยว แต่เราก็เข้าใจ เรามาเจอเคสนี้เราก็คิดว่าเขาคงรู้สึกว่าลูกเขาจะอยู่ในสังคมนี้ได้ยาก พ่อแม่อาจจะรักลูก แล้วพอเจอว่าเรายืนหยัด เราทำให้สังคมเข้าใจ ลูกเขาเองก็จะได้มีคนเปิดทาง
เมื่อ Search ชื่อ ‘ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล’ เราจะเจอเรื่อง ‘ส.ส. ตลาดล่าง’ ที่คุณเคยพูดเมื่อ 4 ปีก่อน วันนี้ความคิดเปลี่ยนไปไหม พอลงพื้นที่มากขึ้น ได้ทำงาน พบปะประชาชนมาแล้วจริง ๆ
ความคิดจริง ๆ ไม่ได้เปลี่ยน ที่เราพูดวันนั้นน่ะ เราไม่ได้บอกว่า ส.ส. ไปงานศพแล้วไม่ดี เราพยายามจะสื่อว่า ส.ส. คนหนึ่งไปงานศพวันละ 10 งาน มันไม่ใช่ เราพยายามพูดเสมอว่า การที่คุณจะไปหาประชาชน ไม่จำเป็นที่จะต้องไปงานบวช งานศพ งานแต่ง สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ คุณไปได้หมด แล้วถ้าคุณต้องการจะไปดูแลสารทุกข์สุกดิบประชาชน ถ้าคุณจะไปงานศพ คุณไปด้วยใจ คุณไปเถอะ เราก็ไป ไม่ใช่ไม่ไป แต่การที่คุณวิ่งวันละ 10 งานเนี่ย คุณไปแล้วได้อะไร คุณได้ไปดูแลสารทุกข์สุกดิบเขาจริง ๆ หรือเปล่า ชาวบ้านได้คุยอะไรกับเขา รู้ไหมเขาทุกข์อะไรอยู่ รู้ไหมชาวบ้านมีปัญหาอะไรอยู่ ไม่รู้ ไปเจอหัวคะแนนของเรา เดี๋ยวไปฝากคุยด้วยนะ วันนี้ ความคิดเราไม่ได้เปลี่ยน นักการเมืองต้องเข้าหาประชาชน แต่นักการเมืองเข้าหาประชาชนอย่างไร ไม่ใช่ว่าคุณไป แค่ไป คุณไปแล้วคุณต้องสามารถที่จะ รู้สารทุกข์สุกดิบ แก้ไขปัญหาให้เขาได้ และรับฟังเขาจริง ๆ ไม่ได้ไปหาเสียง
วันนี้ประชาชนหลายคนยังไม่เข้าใจวิธีการเลือกตั้งเลย หลายคนมากที่บอกว่าจะลงเลือกตั้งนอกเขต พอถามว่าลงทะเบียนหรือยังครับ ยังไม่ได้ลง อ้าวหมดแล้วเหรอ หมดแล้ว ก็เขาไม่รู้ บัตรเลือกตั้งมี 2 ใบ อ้าวบัตรมันเลือกอย่างไรอะ ทุกวันนี้เราทำหน้าที่เหมือน กกต. ไม่ได้ไปหาเสียงอย่างเดียว ต้องแนะนำประชาชนว่าบัตรเลือกตั้งมี 2 ใบนะครับ บัตรใบหนึ่งสีนี้นะครับ บัตรใบหนึ่งสีนี้นะครับ ถ้าจะเลือกต้องเลือกแบบนี้นะครับ ไม่ต้องกาผม ถ้าคุณป้าชอบเบอร์นี้ คุณป้าต้องไปดูตรงนี้นะครับ เราทำแบบนี้ เราพูดมาเสมอว่า ถ้าวันนี้ พ่อแม่พี่น้องยังไม่ไว้ใจผม ถ้าพ่อแม่พี่น้องไว้ใจคุณหญิงสุดารัตน์เบอร์ 32 ที่ทำงานมา 30 ปี ถ้าไว้ใจ เลือกท่าน แต่ถ้าวันนี้คุณแม่ยังไม่ไว้ใจผมในระดับเขต คุณแม่เลือกคนที่คุณแม่ไว้ใจ ผมมีเวลาทำงาน ผมยังมีโอกาส คุณแม่เลือกผม ถ้าคุณแม่ไม่เลือกผม เลือกคุณหญิงได้เลย แต่ถ้าวันนี้คุณแม่เห็นผมแล้วเอ็นดู เห็นว่าผมทำงานได้ เลือกผมวันนี้ ให้โอกาสกัน
จำนวน ส.ส. ที่เป็น LGBTQ+ ในสนามการเมืองสมัยปัจจุบันมีมากขึ้นหรือยัง มีพอไหมสำหรับมุมมองของคุณ มันควรจะเยอะกว่านี้ไหม
มากขึ้น แต่ถามว่าพอไหม ในสมัยที่แล้วมี LGBTQ+ ประมาณ 4-5 คนที่นับได้ ทั้งฝั่งรัฐบาลและฝั่งฝ่ายค้าน ถามว่ามี 4-5 คนนี้ สัดส่วน LGBTQ+ มันไปไหนหมด แล้วพื้นที่เปิดกว้างไทม LGBTQ+ เข้ามาทำงานไหม ไทยสร้างไทยยืนยันว่าเปิดกว้างแน่นอน
คุณจะบอกว่า LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอ สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญสิ ถ้าวันนี้คุณไม่พูดถึงสิทธิมนุษยชนในการเมือง จะไปทำเพื่อใครอะ เพื่อประชาชน แต่คุณบอกสิทธิของเขามันไม่สำคัญหรอ คุณต้องทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อนคุณจะจัดการเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ถ้าคุณไม่พูดถึงเรื่อง LGBTQ+ คุณไม่พูดถึงเรื่องความหลากหลาย คุณไม่พูดถึงเรื่องชาติพันธุ์ รัฐบาลไม่สนใจเรื่องนี้ มันจบ
บางทีนักการเมืองก็ยังมองแค่ว่ามันเป็นเรื่องของกระแส เรื่องของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ เขาทำแล้ว อยากจะทำตาม แต่ไม่เข้าใจ พอคุณไม่เข้าใจ คุณแค่จะทำตาม มันก็เลยออกมาแขนขาดขาด้วนอ่ะ ครบบ้างไม่ครบบ้าง เช่น มาบอกว่า Sex Worker ทำลายครอบครัว Sex Worker ไม่ได้ทำลายสถาบันครอบครัว คุณจะบอกว่าถ้าไม่มี Sex Worker แล้วคุณจะไม่มีเมียน้อยหรอ
ส.ส. LGBTQ+ เป็นไม้ประดับ?
เรามองว่าการเป็นไม่ประดับหรือการเป็นสีสันในสภาไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องแปลก คือใครจะโวยวายว่าโอ๊ย มึงเป็นสีสันในสภา อ้าว แล้วไม้ประดับผิดตรงไหนอะ สีสันผิดตรงไหน เราเป็นไม้-แต่เราเป็นไม้ประดับที่มีค่ามีประโยชน์นะ คือวันนี้เราเป็นไม้ประดับที่เราทำให้เกิดประโยชน์ ถ้าวันนี้เราเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ไม่มีสีสันเลย ไม่ได้มีใครมามองว่าดีเลย ไม่ได้มองว่าเราเป็นจุดสนใจได้เลย เราจะพูดแทนประชาชนได้หรือเปล่า วันนี้เราเป็นผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราถือเสียงของประชาชนหลังเราอีกเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นคน ถ้าวันนี้คุณพูดไปแล้วไม่มีใครฟังคุณ สื่อไม่ให้ความสนใจคุณ นักการเมืองคนอื่นไม่ให้ค่าคุณ คุณจะเป็นผู้แทนราษฎรได้ไหม เสียงของคุณจะพูดได้ไหม วันนี้ถ้าในสภาบอกว่าให้ค่าคุณบอกว่าคุณเป็นสีสัน คุณเป็นไม้ประดับ เรายินดี ยินดีเป็นไม้ประดับที่มีพลัง เป็นไม้ประดับที่มีเสียงของประชาชนอยู่ด้านหลัง เสียงของ LGBTQ+ เสียงของคนในชุมชน เสียงของประชาชนที่เดือดร้อน เสียงของคนที่เขาได้รับการเลือกปฏิบัติ เสียงของคนที่เขาถูกกดทับ เรายินดี เป็นไม้ประดับได้เลย เป็นสีสันได้เลย เราพร้อมเป็นสีสันทุกวัน ประชาชนบอกเราว่า ‘แต่งอย่างนี้แค่จะหาเสียงหรือเปล่า เข้าสภาจะแต่งไหม’ เราก็ตอบ ‘พี่อยากให้ผมแต่งเหรอ แล้วพี่เลือกผมไหม ถ้าเลือกเป็น ส.ส. แต่งนะ’ เราจะแต่งแบบนี้เข้าสภาวันแรกเลย เป็น Drag เข้าสภาวันแรกไม่ผิดกฎหมาย เราก็เป็นสีสัน ดี นักข่าว คนจะได้เห็นเราเยอะ ๆ แล้วเราจะได้พูด ในสิ่งที่เราอยากพูด พูดแทนประชาชนที่เขาพูดไม่ได้ พูดแทนประชาชนที่เขาไม่มีสิทธิไม่มีเสียงไม่มีคนสนใจเขา ถามว่าวันนี้ ประธานรัฐสภาจะฟังประชาชนที่เดินอยู่ริมถนน หรือฟัง ส.ส. คนหนึ่งที่ประชาชนให้คะแนนมาเป็น ส.ส. สื่อมวลชนเองก็ตาม ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนมีใครอยากสัมภาษณ์เราจริง ๆ น้อยมาก แม้แต่ Spectrum ยังไม่เคยสัมภาษณ์เราเลย จนเราต้องไปทำอะไรบางอย่างเพื่อให้สื่อสนใจ วันนี้การสื่อสารทางการเมืองมันต้องแยกออกเป็น 2 ทาง สื่อสารกับนักการเมืองด้วยกัน สื่อสารกับประชาชน สื่อสารกับกลุ่มเฉพาะ เราจะสื่อสารอย่างไร คือถ้าเราสื่อสารวิชาการตลอดเวลา
อะไรคือบาร์ขั้นต่ำสุดของพรรคที่จริงจังเรื่องเพศ
ต้องคำนึง Gender Responsive ให้ที่สุด อย่างน้อยต้องคิดแล้วว่า ทำออกไปแล้วจะส่งผลกับเพศ คนพิการ คนแก่ และเด็กยังไง ในมุมขของเรา ต้องยอมรับตรง ๆ ก่อนว่าทุก ๆ นโยบายมันส่งผลกระทบกับทุกคนไม่มากก็น้อย เราพูดเรื่องนี้ เราทำนโยบายเรื่องนี้ มันได้ประโยชน์กับคน ๆ นี้ แต่อีกคนอาจจะเสียประโยชน์ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่าทำอย่างไรที่เราจะทำนโยบายแล้วไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้มากที่สุด และต้องมีมาตรการรองรับเขาด้วย
ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้เงินมหาศาล ทุกวันนี้ก็มหาศาล ถามว่าประเทศเราล่มจมยัง ก็ใกล้แล้วแหละ เพราะประยุทธ์บริหาร (หัวเราะ) ไม่ได้ใกล้เพราะ 30 บาท แต่ใกล้เพราะว่ารัฐบาลบริหารไม่เป็น มันไม่เกี่ยวเลย 30 บาท มันอยู่ได้มาเป็นสิบ ๆ ปีอะ สุดท้ายใครได้ประโยชน์ ประชาชน เราเกิดทันสมัยผู้ป่วยอนาถา ทำไมต้องมีคำว่าอนาถาล่ะ ทำไมคนมันไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ ทำไมต้องกราบขอบคุณนะให้มีชีวิตอยู่ ทุกคนมีสิทธิมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีคุณภาพ อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ถ้าวันนี้สมมติ ‘เบสท์ ทวีสิทธิ์’ ไม่ได้อยู่ไทยสร้างไทย ไม่ได้เป็นคนทำนโยบายเหล่านี้ เป็นคนนอกที่มองเข้ามา จะพึงพอใจกับสิ่งที่ไทยสร้างไทยสื่อสารในเรื่องเพศหรือยัง หรือคิดว่าควรจะทำให้เข้มข้นกว่านี้
ให้สัก 75 แล้วกัน ก็ประเมินตัวเองด้วย ต้องเข้าใจว่า เรื่อง Gender ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ นักการเมือง คนในพรรค ก็อาจจะยังไม่เข้าใจทุกคน แต่ถ้าให้คะแนนคุณหญิงสุดารัตน์ เราให้ร้อยเลยนะ แต่ตอนนี้พรรคสื่อสารได้เต็มที่หรือยัง ก็ต้องบอกว่า อาจจะยังไม่เต็มที่ อาจจะยังมีบางส่วนที่ขาดหายไปบ้าง ต้องบอกว่าวันนี้เราทำให้ชัดเจนว่าไทยสร้างไทยมีนโยบายเรื่องเพศ 7 ข้อนะ เรื่องนี้เราทำไว้ 7 พรรคไทยสร้างไทยทำแล้ว แต่ว่าได้รับความสนใจ ได้รับโอกาสจากประชาสังคมหรือเปล่าเราไม่รู้