คุยกับชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ปักธงแห่งความหลากหลายให้พรรคเพื่อไทย

- Advertisement -

RainbowMaker คือซีรีส์การเมืองเรื่องเพศก่อนเลือกตั้ง 66 ที่เราจะชวนนักการเมืองและผู้สร้างนโยบาย (Policy Maker) ที่ทำงานในประเด็นความเสมอภาคทางเพศจากพรรคการเมืองต่าง ๆ มาสนทนาถึงการขับเคลื่อนประเด็นภายใต้สถานการณ์ที่ประชาธิปไตยตั้งท่าจะทอดทิ้งความเสมอภาคทางเพศอยู่เสมอ และความตั้งมั่นต่อการต้านปิตาธิปไตย ที่ยังไหลเวียนอยู่ในการเมืองไทยขณะนี้

- Advertisement -

2 ปีที่แล้ว ชานันท์ ยอดหงษ์ เปิดตัวในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ และในการ #เลือกตั้ง66 เราได้เห็นชื่อของชานันท์ ยอดหงษ์ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

จากบทบาทนักวิชาการกึ่งนักเคลื่อนไหวที่เล่นการเมืองแบบลงท้องถนนจนโดนหมายเรียก ชานันท์ ยอดหงษ์ขยับจากนักเขียน คอลัมนิสต์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยมาสู่ ‘นักการเมือง’ สังกัดเพื่อไทย พรรคการเมืองที่ถูกเรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ และครองบทสนทนาในสนามการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน อะไรคือแรงผลักดันให้เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้ออกแบบนโยบายคนแรกที่มาจากคอมมูนิตีผู้มีความหลากหลายทางเพศ และส่งนโยบายที่พูดถึงประเด็นสุขภาวะทางเพศมาพร้อมกับการรีแบรนด์พรรคครั้งใหญ่ เราเห็นนโยบายผ้าอนามัย นโยบายฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ที่ ‘คิดใหญ่’ และใช้เงินจำนวนไม่น้อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ผิดถ้าจะบอกว่ากระแสตอบรับเชิงบวกของสังคมบอกว่าความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเพศของพรรคเพื่อไทยมาถูกทางแล้ว

แต่ชายเป็นใหญ่ที่สั่งสมอยู่ในสถาบันการเมืองไม่อาจแก้ไขได้ด้วยคนคนเดียวในช่วงเวลาสั้น ๆ พรรคเพื่อไทยยังเผชิญการตั้งคำถามจากมุก(ไม่)ตลกสองแง่สามง่ามจากปากหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน แม้จะดูเป็นเหตุการณ์เล็กน้อย แต่สะท้อนความไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการยอมรับและเข้าใจความหลากหลายของนักการเมืองในพรรคบางส่วนเช่นกัน

Spectrum ชวน ‘ชานันท์ ยอดหงษ์’ คุยเรื่องเพศกับพรรคการเมือง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญอยู่คืออะไร ทำไมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยถึงถูกถามเรื่อง ‘พ่อ’ ไม่หยุดหย่อน จะทำอย่างไรให้นักการเมืองชายแท้อายุมากเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ และสำหรับเขาแล้ว พรรคเพื่อไทยทำงานเรื่องความเสมอภาคทางเพศได้ดีแค่ไหน

ชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นใคร

เป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ เป็นนักวิชาการ อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย ที่ถนัดประเด็นประวัติศาสตร์ การเมือง LGBTQ และ Feminism

ทำไมชานันท์ ยอดหงษ์​ถึงจากงานวิชาการมาสู่สนามการเมือง

เราสอนหนังสือไปได้สักระยะหนึ่ง จนลูกศิษย์ที่เราสอนแต่งงานมีลูกแล้ว เขียนคอลัมน์มา 5-6 ปี สิ่งที่กูสอนมามันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยนี่ แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราเขียนมันเริ่มซ้ำละ ประเด็นปัญหายังเหมือนเดิม สิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์ยังคงเหมือนเดิมอยู่ กลายเป็นว่าปีที่แล้ว สองปีที่แล้วก็ยังกลับมาให้เราต้องเขียนวิพากษ์วิจารณ์เดิมอีก เราก็เลยคิดว่าสิ่งที่เราพยายามจะผลักดันมันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนได้อย่างทันใจเราแล้ว น่าจะต้องหาพื้นที่หนึ่งในการเคลื่อนไหว ให้สิ่งที่เราคาดหวังไว้ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น อย่างเช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความยุติธรรมทางเพศ ความเป็นธรรมทางเพศ เรื่องเหล่านี้ เราคิดว่ามันต้องต่อสู้ผ่านแพลตฟอร์มอื่นแล้ว และพรรคการเมืองก็น่าจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงได้

ช่วงปี 63-64 เราไปม็อบบ่อย ๆ ช่วงเวลานั้นพรรคชวนเรามาเป็น Co-mentor ให้กับโครงการ Change maker ซึ่งเป็นการเอาคนรุ่นใหม่มาเสนอนโยบาย แล้วคุยกับคนในพรรค คุยกับ mentor ต่างๆ ที่เฉพาะด้าน เราก็จะเป็นเรื่อง LGBTQ เรื่องของ Feminism เราเลยได้ทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยตอนนั้น ควบคู่ไปกับที่ช่วงเวลายังมีม็อบ แต่เราก็ยังไม่เตรียมตัวกับพรรคเพื่อไทยเต็มที่ จนกระทั่งไปมีงานเปิดตัวครั้งใหญ่ที่ขอนแก่นเมื่อตุลา ปี 64 เราเลยได้เปิดตัวกับพรรคตอนนั้น หลังจากนั้นเราก็เลยเสนอว่า อยากทำนโยบาย อยากทำประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เกี่ยวกับอัตลักษณ์ต่างๆ เป็นเหมือน Proposal เลย เขาก็รับ ซึ่งขณะนั้นพรรคก็มี LGBTQ เยอะมากแต่ไม่ได้ทำประเด็นนี้โดยเฉพาะ เราก็ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มทีมนักวิจัย เป็นทีมนโยบายโดยเฉพาะ ซึ่งเราก็มีทีมของเขาอยู่แล้วด้วย มีคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานด้วย กลายเป็นทีมใหญ่ ๆในการออกแบบนโยบายร่วมกัน

ปี 62 เรารู้จักชานันท์ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศของพรรคเพื่อไทย และปีนี้ เป็นผู้สมัครสส.แบบบัญชีรายชื่อ

เราอยากเป็น ส.ส. บอกพี่อ้วน ภูมิธรรม ว่าอยากเป็น ส.ส. เพราะว่าอยากเป็นตัวแทนของประชาชน มันมีปัญหาหลายอย่างที่เราเห็นแล้วอยากจะแก้มัน แล้วเราก็โตมากับชุมชน LGBTQ โตมากับชุมชนนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว เราก็อยากจะแก้ไขมันว่ะ เราเลือกแพลตฟอร์มนี้ในการต่อสู้แล้ว ก็อยากจะทำให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาต่างๆ ในประเทศเรามันเป็นเรื่องกฎหมายและการบริหารของรัฐบาลด้วย เราก็คิดว่านี่แหละคือทางออกที่จะปลดล็อกปัญหาในโครงสร้างสังคมต่าง ๆ ได้

และด้วยความที่ไปม็อบบ่อย ก็ไปยืนเกาะหน้า สน. เวลาเพื่อนโดนจับ  แล้วก็เห็น ส.ส. มีสิทธิ์ในการที่จะประกันตัวได้ เราก็คิดว่า กูอยากเป็น ส.ส. แล้วล่ะ กูจะได้ประกันตัวคนที่อยู่ข้างในออกมาได้

ชานันท์ ยอดหงษ์ไม่เคยปิดบังว่าเป็นคนในคอมมูนิตีผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้สำคัญยังไงต่อการเป็นผู้ออกแบบนโยบายเพื่อคอมมูนิตีผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เราโตมาจากคนในคอมมูนิตี้ เวลาเราจะทำนโยบาย เราสามารถไปสอบถามหาข้อมูล ไปสัมภาษณ์จากคนที่เจอเรื่องนี้ได้จริง ๆ เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะมีเรื่องของฮอร์โมนในการข้ามเพศ เราถามเพื่อนเรา ถามภาคประชาสังคมได้ง่ายมากว่าตอนนี้ ค่าฮอร์โมนที่ต้องบริโภคในแต่ละครั้ง ในแต่ละเดือนมันเท่าไร นโยบายผ้าอนามัยที่ผ่านมา เราก็ถามจากเฟมินิสต์ที่เราเคยเรียนกับเขา ไปขอความรู้ แล้วก็ไปถามว่า ผ้าอนามัยควรจะทำยังไง เขาก็มีข้อเสนอมาให้เรา เราก็มานั่งคุยกันกับคนในพรรคว่า ทำแบบนี้ดีไหม

ทีมวิจัยมีแต่คนเก่งๆ มาก แล้วก็บางครั้งเขาก็จะเตือนเราว่าเราเป็นนักกิจกรรมมากเกินไป ต้องคุยกับนักธุรกิจด้วย นายจ้างด้วย ผู้ประกอบการผ้าอนามัยด้วย เราก็นัดเขาเข้ามาคุย มันเคยมีข้อเสนอของภาคประชาชนว่า ให้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของผ้าอนามัย และเราไม่สามารถหาทางออกด้วยเศรษฐศาสตร์ใดๆ เลย เราเลยคุยกับคนในพรรค นักวิจัยในพรรคก็ตอบว่า ถ้าลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่ากับราคาจะลดไปแค่ 1 บาท ถึง 5 บาท มันก็ไม่ได้แก้ไขปัญหานะ เพราะคนที่ไม่มีตังค์ซื้อผ้าอนามัย  ลดไป 5 บาท ก็ยังซื้อไม่ได้ คนก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่ดี ทำอย่างอื่นดีไหม ในรูปแบบอื่นที่ทำให้คนเข้าถึงผ้าอนามัยได้ง่าย ก็มานั่งคิดกันว่าอะไรคือทางออกที่ดีที่สุดของประชาชน จนมาเป็นนิทรรศกี การมีนิทรรศกีขึ้นมามันดีตรงที่ มันทำให้คนที่รู้สึกว่านโยบายพรรคการเมืองมันไกลตัวแล้วขี้เกียจอ่านอ่ะ แล้วจะไปศึกษาที่ไหน เข้าเว็บไซต์เหรอ มันก็มีเว็บไซต์ให้เข้าถึงง่ายอยู่แล้ว แต่พอมันเป็นนิทรรศกีมันใกล้ชิดกว่า เห็นภาพ จับต้องได้ง่าย แล้วมันเป็นรูปเป็นร่าง มันเซ็กซี่

เราเสนอพรรคไปเยอะมาก เราผลักดันสมรสเท่าเทียม รับร่างพรบ.จากภาคประชาสังคม ภาคประชาชนมานั่งอ่าน นั่งเรียนรู้กันไป แล้วก็เรื่องของแรงงาน เรื่องของสิทธิในการลาคลอด 180 วัน สิทธิแรงงานชายสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้ สิทธิ LGBTQ ที่จะสามารถลาไปเลี้ยงลูก ที่อาจจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือว่ารับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิในการลาข้ามเพศ บางคนผ่าตัด บางคนเทคฮอร์โมน มันมีความซับซ้อนของกระบวนการที่ทำให้บางวันอาจรู้สึกไม่มีแรง หรือแม้แต่ความวุ่นวายของการเข้าถึงยาที่มันต้องเสียเวลาไปเป็นวัน หรืออีกประเด็นคือปวดประจำเดือน เราก็เสนอพรรคไปว่าประจำเดือนไม่ใช่ความเจ็บป่วย เพราะฉะนั้นแรงงานไม่ต้องใช้วันลาป่วยเพื่อหยุดปวดประจำเดือน ถ้าคุณหยุดปวดประจำเดือนด้วยการใช้วันลาป่วยแปลว่า ความเจ็บปวดของการมีเมนส์มันคือความเจ็บป่วยเหรอ ไม่ใช่ พรรคก็รับเรื่องไว้แล้วก็ให้ไปคุยกับกลุ่มแรงงาน ว่าเขารู้สึกยังไง ขอกี่วัน แล้วกลุ่มนักธุรกิจ SMEs ต่างๆ ว่าเขาจะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน จนออกมาเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ที่สุด

การทำงานในประเด็นอัตลักษณ์และสุขภาวะทางเพศยากและใหม่สำหรับบ้านเรา จัดลำดับความสำคัญหรือไม่ว่าอะไรต้องทำก่อน อะไรต้องทำทีหลัง

เราไม่ได้จัดลำดับความสำคัญเลย แต่ทำอยู่ตลอด บางครั้งมีภาคประชาสังคมขอนัดพบเรา ขอนัดพบพรรค เราก็เก็บข้อมูลไปเลย ในแต่ละเดือน ในแต่ละวัน ก็จะมีเจ้าของปัญหามาเสนอประเด็นนี้อยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราเลือกไม่ได้ว่าอันไหนมาก่อนมาหลัง คนมันเดือดร้อนอะ เขาไปนั่งสังเคราะห์ข้อมูล ทำการบ้านกันมา แล้วเสนอ Paper มาให้เรา มันดีจะตายห่า! เขาทำงานหนัก เราก็ต้องรับสิ แล้วก็มาศึกษากัน

วิธีการทำงานคือ วันนี้ทำเรื่องนี้ อีกวันหนึ่ง ประเด็นนั้นเสร็จแล้ว ได้ระดับหนึ่งแล้ว  เพื่อที่จะไปเสนอผู้ใหญ่พรรคแล้วให้เขาคิด ระหว่างรอ เราก็ทำอีกเรื่องหนึ่งได้ นอกเหนือจากประเด็นเพศ บางครั้งจะมีเรื่องชาติพันธุ์ เรื่องคนพิการ

ในประเด็นคนพิการเราโชคดีมาก เพราะงานวิจัยในประเด็นนี้ของประเทศเรามีเยอะมาก และทำมาครบถ้วนรอบด้านแล้ว ทำให้เราเสนอพรรคได้เร็ว แล้วก็ต่อยอดได้เลย เช่น ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยเสนอว่าให้ตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในแต่ละตำบล ในแต่ละจังหวัด แต่ก็มีเรื่องที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า ถ้าบุคลากรภายในศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปไม่เพียงพอ เราจะผลิตผู้ให้บริการยังไง สิ่งนี้จะนำไปวิจัยกันต่อภายในพรรค

หรือประเด็นชาติพันธุ์ บางครั้งอาจารย์ นักวิชาการ ก็มาบอกเล่าเก้าสิบข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ และชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ท้าทายเรามาก เพราะว่ามันกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ในแต่ละภูมิภาคก็มีชาติพันธุ์ที่มีปัญหาแตกต่างกันออกไป ชาติพันธุ์ในภาคใต้ ชาวเล อูรักลาโวนจ ชาวมานิ ก็มีปัญหาไม่เหมือนกับชาวม้งที่อยู่บนภาคเหนือ ประเด็นนี้ท้าทายมาก แล้วก็ต้องใส่ใจรายละเอียดให้มากขึ้น แต่ผู้สมัคร ส.ส. ในพรรคหลาย ๆ คนก็อยู่กับคนพื้นที่ เขาอยู่กับชาติพันธุ์เยอะมาก ผู้ใหญ่ในพรรคบางท่านก็สามารถพูดภาษาม้งได้ มันก็เลยทำให้การทำงานหรือว่าการเรียนรู้จากเครือข่ายต่างๆ ที่มี มันค่อนข้างง่าย

แม้จะทำงานหลายประเด็นเช่นนี้ แต่ก็ยังเคยโดนเปรียบเทียบว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับพรรคก้าวไกลที่เปิดนโยบายด้านอัตลักษณ์และความเสมอภาคทางเพศจำนวนมากในวันสตรีสากลที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งภาพลักษณ์พรรคเองก็ดูเป็นพรรคเก่าแก่ พรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์จึงดูมีความเชื่องช้ามากกว่าพรรคการเมืองใหม่ ที่ดูมีภาพของความมีอิสระมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงผู้สมัครในแต่ละเขต หลายคนมาจากชุมชนในพื้นที่ในเขตบ้านเขาเลย เขารู้อะไรเยอะมาก บางครั้งเราต้องไปศึกษากับเขา แล้วเขาก็อยู่กับพื้นที่ แม้กระทั่งภาพลักษณ์ของเขาก็เป็นชาวบ้านมาก จะเห็นได้จากเวลาอภิปรายในสภา บางคนก็รู้เลยว่าเหมือนเพื่อนบ้าน เหมือนลุง เพื่อนบ้านเรา 

เรื่องของอะไรที่มันก้าวหน้ากว่าไม่ก้าวหน้ากว่า เราคิดว่าพรรคการเมืองไม่ได้แข่งกันออกนโยบาย แต่มันเป็นการต่อสู้กับปัญหาในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละแบบของประเทศเรามีปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมดเลย การออกแบบนโยบายคือการหาทางออกของปัญหานั้น ในเชิงโครงสร้างว่าจะทำยังไงดีที่เราจะชนะกับปัญหาที่มีอยู่ ไม่ใช่ไปออกนโยบายเพื่อไปแข่งเพื่อจะชนะกับพรรคการเมืองอื่น

เมื่อสักครู่ที่พูดถึงประเด็นส.ส.ที่เหมือนลุงข้างบ้าน มันคือความสัมพันธ์ใกล้ชิดของส.ส.เขตกับคนในชุมชนใช่หรือไม่  คุณชานันท์คิดยังไงกับเรื่องส.ส. และการไปงานศพ

ที่จริงแล้ว ผู้สมัคร ส.ส. หรือ ส.ส. เขต ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยกับคนในพื้นที่มากขนาดนี้ถ้าระบบราชการ ระบบสวัสดิการมันดี เขาจะไม่ต้องวิ่งวุ่นเลย ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล เข้าถึงสวัสดิการได้ง่ายมาก แต่ ณ วันนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นไง ในระหว่างนี้ ส.ส. สำหรับเราคือเหมือนเพื่อนบ้าน มีใครตายเหรอ มีใครไปบวชเหรอ งานแต่งเหรอ มันเป็นมิตรจิตมิตรใจ ที่เพื่อนบ้านต้องไปงานบวช งานแต่ง งานศพ อยู่แล้ว โดยเฉพาะงานศพที่เป็นเรื่องของการปลอบประโลมจิตใจ การที่มีคนที่รู้จัก คนใกล้ชิด คนที่เคยเห็นหน้าค่าตา มาแสดงความเสียใจหรือว่ามาปลอบประโลม มันก็ทำให้เราเยียวยาจิตใจได้ แล้วการจัดงานศพมันเหนื่อย มันใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรเยอะมาก มันจำเป็นต้องขอความร่วมมือคนในชุมชน ขอความร่วมมือจากเพื่อนบ้านให้เข้ามาช่วยในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องเงินด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องของการอยู่เป็นเพื่อน การอยู่เคียงข้างกันในยามที่ทุกข์ระทม เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่แย่สำหรับเรา มันเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำในฐานะมนุษย์ ส.ส. เขต มันก็คือเพื่อนบ้านคุณ มันก็คือความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่งเหมือนกัน

ทำไมล่ะ หรือว่าคุณคาดหวังให้ ส.ส. จะต้องอยู่บนหอคอยงาช้างแล้วก็ไม่สนใจความทุกข์ระทมของคนอื่นเหรอ ก็ไม่ใช่หรือเปล่า

ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องเฉพาะผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า 

ตอนทำผ้าอนามัยใหม่ๆ เลย ก็จะมีคนที่พูดว่าทำไมทำแต่เรื่องผู้หญิง แล้วถามว่าค่าผ้าอนามัยมันไม่ใช่เรื่องของผู้ชายด้วยเหรอคะ มันของผู้ชายด้วยเช่นเดียวกัน มันเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แล้วการที่ผู้หญิงมีประจำเดือนเนี่ย มันคือเรื่องของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นมันมันเท่ากับเรื่องของคนทุกเพศ

อย่างนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร การเกณฑ์ทหารคือการเลือกปฏิบัติทางเพศ ลองคิดดูนะ คนที่เพิ่งจบมา อายุ 20 ต้นๆ จะได้ใช้ชีวิตแบบช่วง Prime Time ในชีวิตของเขา แต่ต้องไปเกณฑ์ทหาร ทั้งที่มีความรู้ที่เรียนมา ก็ต้องไปหันซ้ายหันขวา เดินแถวตอนเดี่ยว แถวตรง อะไรก็ไม่รู้ แล้วคุณภาพชีวิตก็แย่ อาหารการกิน โดนบังคับตัดผม บางคนต้องไปแบบไปนั่งซักกางเกงใน เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด ล้างรถ ทั้งที่มันเป็นช่วงเวลาของคนเรียนจบใหม่ ๆ ที่จะได้แสดงศักยภาพของตัวเอง หรือเป็นคนหนุ่มที่มีพละกำลัง มีแรง แต่กลายเป็นว่าต้องไปทำอะไรแบบนี้ มันเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่เปล่าดาย ซึ่งเปลืองโดยใช่เหตุ มันสูญเสียหลายอย่างมาก

เช่นเดียวกัน ในเรื่องของการข้ามเพศ มันคืออิสรภาพอย่างหนึ่งในการเลือกเพศ สรีระ เลือกเพศสภาพของเรา เพราะฉะนั้นมันก็ควรมีสวัสดิการมาให้การสนับสนุนเสรีภาพของประชาชน มันไม่เกี่ยวว่าถ้ามีสวัสดิการฮอร์โมนข้ามเพศมันจะเป็นเรื่องของกลุ่ม ทอม กะเทย LGBTQ เท่านั้น คือไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์ข้ามเพศได้ สักวันหนึ่งคุณอาจจะอยากข้ามเพศก็ได้ ใครจะไปรู้ใช่ไหม เพราะเพศสภาพมันลื่นไหลอยู่แล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องของการสร้างนโยบายบางอย่างเพื่อคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น มันเป็นเรื่องของทุก ๆ คน

ก้าวต่อไปของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เราจะได้เห็นบทบาทของ 30 บาทต่อสุขภาวะของคนข้ามเพศอย่างไรบ้าง

เรื่องสำคัญคือการที่เราเข้าไม่ถึงฮอร์โมนในการข้ามเพศ การเข้าไม่ถึงความรู้ หรือว่าการควบคุมดูแลของแพทย์ มันทำให้คนไปซื้อฮอร์โมนตามอินเตอร์เน็ตบ้าง ซื้อยาคุมลาว มีสูตรที่ทดลองกันเอง เรียนรู้จากรุ่นพี่ปากต่อปาก รุ่นพี่กะเทยที่ประสบความสำเร็จด้วยความที่นางสวย ก็ไปเรียนรู้จากเขา แต่ว่าร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน การที่มาเรียนรู้โดยที่ไม่มีแพทย์มาดูแล มันก็อันตราย บางคนเป็นโรคนิ่ว โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจใด ๆ ก็มาจากการที่ทดลองสูตรการข้ามเพศไปเรื่อยๆ ถ้ามีสวัสดิการตรงนี้ หรือว่าอย่างน้อยที่สุด มีแพทย์ที่รัฐคอยให้การสนับสนุนเนี่ย มันก็เป็นเรื่องดีกับสุขภาพประชาชนนะ

สำหรับพรรค เบื้องต้นที่เราศึกษาเพื่อจะผลักดันนโยบายก็คือเรื่องฮอร์โมนก่อน แล้วเมื่อไหร่ที่ประเทศเรามัน GDP มันสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าเศรษฐกิจมันดีขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าการข้ามเพศโดยศัลยกรรม ก็จะทำได้ การผ่าตัดยืนยันเพศเนี่ย มีค่าใช้จ่ายสูงนะ อันนี้ต้องยอมรับ แต่ว่าฮอร์โมน ไม่ได้สูงขนาดนั้น 

หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยคือคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร และเห็นได้ชัดว่าเธอต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในแวดวงการเมืองมาก ในฐานะคนที่ทำงานในประเด็นนี้ มองเห็นสิ่งที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหญิงต้องเจอ รู้สึกอย่างไร

เราจะหงุดหงิดมากๆ เวลาพี่อิ๊ง ถูกนักข่าวยื่นไมค์ถามว่า คุณพ่อว่ายังไง ทำไมนักการเมืองชายท่านอื่นไม่เคยถามเลยว่าพ่อมึงเป็นยังไง คือมาถามอะไรกับนักการเมืองหญิงในเรื่องของพ่อ โอเค เราเข้าใจว่าคุณทักษิณเขาก็มีคุณูปการมาก แล้วคนก็คิดถึงและจดจำใช่ไหม ไม่ได้แปลกใจที่จะถูกถามเรื่องคุณทักษิณ แต่เวลาเขาอยู่ในที่สาธารณะ เขาคือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง แล้วเขาก็สื่อสารได้อย่างดี แต่กลายเป็นว่านักข่าวก็ไปถามเรื่องส่วนตัว เรื่องคุณพ่อ เรื่องครอบครัว มันก็ไม่ใช่หรือเปล่าวะ นี่มันเป็นพื้นที่สาธารณะ เขากำลังพูดถึงนโยบาย และนักการเมืองชายไม่เคยโดน

ในโครงสร้างที่เป็น Male state แบบนี้ การเมืองภาครัฐมักจะถูกมองเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงมีสภาวะต้องได้รับการดูแลปกป้องคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา ถูกเรียกว่าน้องนำหน้า ประหนึ่งว่ายังเป็นสมาชิกในครอบครัวอยู่ ยังไม่แยกขาดจากครอบครัว  เราไม่เคยเห็นนักการเมืองชายคนไหนถูกเรียกว่าน้อง เผลอๆ เราไปเรียกเขาแบบเป็นบิ๊กด้วยซ้ำ ให้มันดูยิ่งใหญ่ นี่คือสังคมชายเป็นใหญ่มาก ๆ

เราพูดตามตรงเลยนะ เราก็ทั้งเป็นห่วง ทั้งเห็นใจ แล้วก็ชื่นชมเขา ขณะเดียวกันเขาต้องเจอทั้งฝุ่น ทั้งควัน ทั้งความร้อน ลำพังอีนี่ไปเนี่ย ไม่ได้ท้องกับเขายังเหนื่อยเลยอ่ะ ยังเพลียเลย แล้วอินี่ก็ไม่ใช่คนพูด ไม่ต้องส่งพลัง แต่พี่อิ๊งเดี๋ยวก็ก้ม ๆ เงย ๆ หยิบของจากเวทีที่ประชาชนยื่นดอกไม้ไห้อะไรอย่างงี้ แค่ลำพังคนท้องเฉยๆ นอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เหนื่อยแล้วอ่ะ พี่อิ๊งท้องด้วย ต้องลงพื้นที่ด้วย ต้องปราศรัยด้วย ฉันเองคงทำไม่ได้หรอกค่า

แล้วเรื่องท้องยังจะเป็นนายกได้เหรอ ทำไมล่ะค้า มนุษย์ทุกคนที่มีมดลูก มีรังไข่ มันก็ท้องได้ มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทำไมถึงคิดว่าผู้หญิงมีลูกจะเป็นนักการเมืองไม่ได้ จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ แปลว่าคุณคิดว่าผู้หญิงเนี่ยต้องเป็นแม่และเมียอยู่ในบ้านเหรอ จะต้องเลี้ยงหมูดูหมาอยู่แต่ในบ้านพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้นรึไง ไม่ใช่ป่าววะ พื้นที่การเมืองมันเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีรังไข่ ไม่มีมดลูก ไม่ต้องคลอดลูกเหรอ เป็นเรื่องของผู้ชายเพศเดียวเท่านั้นเหรอที่จะอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองได้ เพราะฉะนั้นเนี่ยไอ้คำวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ที่เราเห็นใน Twitter ในดราม่าทั้งหลาย เราโกรธด้วยซ้ำว่าคุณกำลังจะรักษาโครงสร้างชายเป็นใหญ่อยู่นะ

วันที่คุณอุ๊งอิ๊งสื่อสารว่ากำลังตั้งครรภ์ มีความโกลาหลมหาศาลเกิดขึ้น เกิดคำถามทั้งเรื่องการเป็นนายกฯ สิทธิวันลาคลอด นมผง VS นมแม่ อะไรคือเหตุปัจจัยของวังวนปัญหาที่หาทางออกไม่ได้นี้ สังคมกำลังแสดงท่าทีแบบไหนต่อเพื่อไทย

สำหรับเรามันตลกมากตรงที่ อีดอก กลายเป็นห่วงโซ่แห่งความเกลียดชังอ่ะ เอะอะอะไรก็โยงมาถึงหมดเลย คนในพรรคหลายคนชินแล้ว จะเห็นได้ว่ามีกระแสโจมตีด่าทอ ข่าวลือต่างๆ ก็มี ก็นิ่งเฉยๆ ไม่ค่อยตอบ อ่ะตอบแล้วจบนะ ไม่ต้องถามอีกแล้วนะ พูดไปแล้วจบอะไรอย่างงี้ คือไม่พูดอะไรต่อ ทำนโยบายต่อดีกว่า เสียเวลาต้องนั่งตอบคำถาม แต่เรื่องสงครามนางแบก คนที่ชื่นชอบพรรคตีกัน มันก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ว่ะ จะไปบอกให้คนที่ชื่นชอบพรรคว่า ‘หุบปากซะ จะไปด่าเขาทำไม’ มันทำไม่ได้ มันคือเจตจำนงเสรีของคนที่เขาจะทะเลาะกัน มันอาจจะเป็นมีปัจจัยมาจากพรรคเรา มาจากพรรคเขา แต่ว่าเราไม่มีสิทธิที่จะบอกให้ใครหุบปาก

การทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกันมันก็มีข้อดีอย่างหนึ่งก้คือทำให้เราได้เรียนรู้กันไปว่า เห็นช่องโหว่ของตัวเอง เสียงประชาชนมันเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้วที่ต้องรับฟัง เพราะฉะนั้นก็เป็นข้อดีของการที่เราได้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตรงนั้นด้วย

การโจมตีด้วยเหตุแห่งเพศเช่นนี้มีมานานแล้วหรือเปล่าในสนามการเมืองไทย คุณชานันท์เองก็เคยเขียนเรื่องถึงเหตุการณ์ในงาน ‘ระบอบปิตาธิปไตยอันมีรักต่างเพศนิยม เป็นประมุข’ มาแล้ว อธิบายบริบทการเมืองในขณะนั้นให้ฟังหน่อย แล้ววันนี้ สังคมไทยก้าวหน้าเรื่องเพศและประชาธิปไตยมาก-น้อยขนาดไหน

เวลาต่อสู้การเมืองประชาธิปไตย มันมีกลิ่นอายของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) อยู่ แต่บริบทตอนนั้นเป็นเช่นนั้น ความคิดความอ่านคนเป็นเช่นนั้น ขณะที่ปีศาจร้ายที่บั่นทอนประชาธิปไตย ก็ดันเป็นบุคคลที่ทุกคนรู้กันว่าเขารักเพศเดียวกัน เป็นคนที่จับต้องไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง กินภาษีประชาชนอยู่สุขสบาย การที่จะดึงเขาลงมาจากหอคอยงาช้างได้ก็คือเรื่องความเป็นส่วนตัว ความเป็นมนุษย์ของเขา นั่นก็คือเรื่องเพศ แล้วบังเอิญเขาก็รักเพศเดียวกัน มันจึงกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการโจมตีเขา แต่เราก็จุกเหมือนกันเวลาด่าเขาเรื่องเพศ

และในช่วงเวลานั้น ปี 52 มีเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด ที่คนเสื้อแดงบุก ปาข้าวของ ขัดขวางงานไพรด์ที่เชียงใหม่ ซึ่งเราสะเทือนใจนะ คนเรียกร้องประชาธิปไตยเฉพาะการเมืองภาครัฐเหรอวะ ไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยในรูปแบบของสังคมวัฒนธรรม มันสะเทือนใจนะ แต่ก็เห็นแล้วล่ะว่าปัญหาของเพศเราเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยคืออะไร เมื่อภาคประชาสังคมที่จะผลักดันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ในช่วงเวลานั้นก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตยเท่าไร

ณ ขณะนั้น มันมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย กปปส. ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ทั้งที่สิทธิทางเพศกับสิทธิทางการเมืองมันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เขาแยกออกจากกัน

จนสังคมเราพัฒนาไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว เหตุการณ์ช่วงเวลาของม็อบปี 63 มันทำให้สังคมมันผลักเพดานไปได้สูงมาก และก้าวกระโดดมาก มันเลยทำให้เรื่องของคนเสื้อแดงก็สะบัดธงรุ้งมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็พูดถึงเรื่อง LGBTQ รวมไปถึงเรื่องของคนเสื้อแดงที่ครั้งหนึ่งเขาเคยอาจจะมองข้ามหรือว่าไม่ชอบ คนรุ่นใหม่ก็ออกมาบอกว่า ‘ขอโทษนะที่เคยมองเสื้อแดงไม่ดี’ กลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ได้ออกมาบอกว่า ‘เออขอโทษเหมือนกันนะ ที่ช่วงหนึ่งเคยพูดไม่ดีเกี่ยวกับ LGBTQ เคยต่อต้านงานไพรด์ที่เชียงใหม่’

ตอนนั้นที่เราเข้าพรรคใหม่ ๆ เราก็พยายามจะเสนอว่าเราควรจะขอโทษในที่สาธารณะอย่างจริงจังต่อเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดไหม เพราะมันเป็นแผลในใจเรามานานว่า ควรจะมีการ ยอมรับ รับผิด โดยคนเสื้อแดงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ทางพรรคก็บอกว่า พรรคไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมกำกับคนเสื้อแดง การที่ป้องจะเป็นตัวแทนพรรคจัดงาน ทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะพรรคไม่ได้มีอำนาจบอกให้คนเสื้อแดงต้องทำอะไรหรือไม่ต้องทำอะไร เขาเป็นประชาชนเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นเจ้าของเขา เราไปคุยกับนักเคลื่อนไหวเขาก็ยืนยันว่าไม่จำเป็น แค่เรียนรู้และต่อสู้ไปด้วยกันก็พอแล้ว เราเห็นด้วยนะ แต่เราคิดว่าคนที่ประสบภัยในเหตุการณ์วันนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยา มันเป็นโปรเจกต์หนึ่งในใจเราเหมือนกันที่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด ต้องได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ

ในเหตุการณ์ทางการเมืองขณะนั้น บุคลากรบางคนจากพรรคเพื่อไทยก็โจมตีด้วยเรื่องส่วนตัวคือประเด็นทางเพศเหมือนกัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ปรากฏคลิปวิดีโอของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่เล่นมุกคุกคามทางเพศ ในฐานะคนที่ทำงานประเด็นนี้โดยตรง จะทำยังไง

หาทางคุย ไม่ยอม ถ้ามีวันไหนได้คุยก็จะคุย ต้องหาโอกาสดีๆ บรรยากาศดี ๆ ในการเรียนรู้ ที่ทำได้ดีที่สุดคือเขียนคู่มือที่จะบอกว่าที่มาของคำนี้คืออะไร การปฏิบัติตัวหรือว่าการทำความเข้าใจ เป็นเครื่องมือให้เขาเรียนรู้และเข้าใจว่ามันคืออะไร แล้วเราก็เสนอพรรคไปว่ามันควรจะมีจัด Workshop เพื่อการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

บางคนไม่รู้จริง ๆ ว่าสาวประเภทสองใช้ได้หรือไม่ได้ อาเต้น ณัฐวุฒิยังมาถามเลยว่าใช้คำว่ากะเทยได้ไหม มันมีความกังวลไปหมดเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องดี มันเท่ากับว่าคนเริ่มให้ความสนใจ และความใส่ใจปัจเจกบุคคลมากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก ๆ นักการเมืองในพรรคบางคนถามว่า ทำไมถึงมีเดือนไพรด์ ควรจะมีเดือนผู้ชาย เดือนผู้หญิงบ้างอะไรหรือเปล่า เขาสงสัยก็โดนถล่มแล้ว มึงไปถามปกป้องสิ แล้วคืนนั้นก็โทรมาถามฉันเลย ซึ่งมันก็เรียนรู้จากความผิดพลาด เรียนรู้จากความอยากรู้ เราคิดว่าคู่มือกับ Workshop เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไม่ยอมเลย คือมันเคยมีเหตุการณ์เรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศโดยช่างภาพที่พรรค แล้วเราก็ไม่ยอม เราบอกพรรคว่าว่า ถ้าให้ป้องทำงานเรื่องนี้แล้ว ป้องไม่สามารถทำได้นะถ้าพรรคนิ่งดูดาย เราเลยร่างลิสต์ ข้อปฏิบัติ ข้อห้าม โทรไปหาพี่เจด็จ คุยกับป้ามุกดา คุยกับกระทรวงพม. ร่างแล้วส่งไปให้ว่าต้องทำตามนี้ ถ้าไม่ทำตามนี้จะลาออก เราก็กลัวเหมือนกันว่าจะต้องลาออกหรือเปล่าวะ แต่เราก็ทำงานต่อไปไม่ไง กับคนที่แบบนิ่งดูดายแบบนี้ เราส่องกระจกแล้วมองตัวเองไม่ได้ สุดท้ายพรรคก็ให้ออก แต่ก็ต้องมีการเยียวยาผู้ประสบด้วย ให้คนทำเป็นคนจ่าย พรรคเองก็ต้องจ่าย แต่ไม่ใช่คนละครึ่ง ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นว่าเท่ากับเป็นสวัสดิการให้คนล่วงละเมิดทางเพศได้ ตอนแรกเขาก็มันควรจะเป็นเรื่องภายในพรรคไหม หรือไม่ใช่ ป้องบอกไม่ มันต้องเป็นเรื่องที่คนตรวจสอบได้ แล้วคนที่มาตรวจสอบ คนที่ล่วงละเมิดทางเพศต้องไม่ใช่คนในพรรคด้วย ต้องเป็นคนอื่น คนนอก ต้องเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เป็นเฟมินิสต์ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหว ต้องมาร่วมกันทำ ไม่อย่างนั้น ไม่โปร่งใส ไม่โอเค เรื่องนี้ก็ผ่านไปด้วยดี

จากผลสำรวจหลายที่ และบทสนทนาในสังคมออนไลน์ ดูเหมือนว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ที่เชื่อมั่นในประเด็นอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศจะยังเลือกพรรคก้าวไกลมากกว่า ทำไมคุณชานันท์ถึงเลือกพรรคเพื่อไทย

เริ่มต้นจากคำว่าคนรุ่นใหม่ก่อน คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ Generation แต่เป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่หมายถึงคนที่มีตาสว่าง ซึ่งเราสนใจประเด็น LGBTQ เราทำอันนี้มานาน เราเห็นตั้งแต่สมัยคุณทักษิณในปี 44 รัฐบาลแรกปีแรกเลย กระทรวงมหาดไทยมีไอเดียว่าจะให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ ผ่าเหล่าผ่ากอผ่าบริบทมาก่อนกาลมาก เราก็ ‘เหี้ย มาได้ไงวะ’ ดีใจมาก แต่ว่ากระแสสังคมโจมตีหนักมาก แม้กระทั่ง LGBTQ ที่เป็นเซเลปในยุคนั้นก็บอกว่าเกาไม่ถูกที่คัน สังคมยังไม่ยอมรับ ออกกฎหมายมายอมรับมันก็ไม่มีประโยชน์ ไม่เกิดอะไรใด ๆ ขึ้น ก็เลยทำให้โดนโจมตีเยอะมาก สมาคมผู้ปกครองเอยใดก็ออกมาโจมตีว่ามันทำลายสถาบันครอบครัว ทำให้ไอเดียนี้อยู่ได้ประมาณสัปดาห์กว่าๆ แล้วคุณทักษิณก็ออกมาบอกว่าสังคมยังไม่พร้อม ซึ่งมันไม่พร้อมจริง ๆ ว่ะ มีเพียงอัญจารีเท่านั้น ที่ออกมาชื่นชมแล้วก็สนับสนุนเรื่องนี้ ต่อมายุคคุณยิ่งลักษณ์ ภาคประชาสังคมก็ผลักดันเรื่องนี้ นำไปสู่ร่าง พรบ. คู่ชีวิต ซึ่งในช่วงเวลานั้น ทั่วโลกเองก็มี Civil Partnership Law กันหมดแล้ว และยังไม่ได้แก้ตัวกฎหมายจดทะเบียนสมรสเป็น Marriage equality  ก็ปรับกันไปปรับกันมา จนกระทั่งปี 57 รัฐประหาร เราก็เลยมั่นใจว่าถ้าไม่เกิดรัฐประหารจะมี พรบ. คู่ชีวิตไปนานแล้วล่ะ แล้วก็มีการยกระดับไปเป็นสมรสเท่าเทียมตามกระแสสังคมเรียบร้อยแล้ว เราก็เลยคิดว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ พรรคเพื่อไทยคือคือเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศเราได้ในเชิงโครงสร้าง จากผลงานที่ผ่านมา

เมื่อวันสตรีสากลที่ผ่านมา นอกจากเปิดตัวนโยบายเรื่องผู้หญิงหลาย ๆ ส่วน พรรคยังได้แถลงว่ามีผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ส. ถึง 20% เป็นตัวเลขสูงขึ้นแล้วล่ะ แต่ก็เป็นตัวเลขที่น้อยมากอยู่ดี

ฟังดูน่าเศร้าว่ะ แต่ประเทศไทยเรามันก็อย่างนี้แหละ ไม่ได้โบ้ยประเทศนะ แต่เราไม่เห็นด้วยกับระบบโควตา ไม่เห็นด้วย แต่จำเป็น เพราะว่าในโครงสร้างชายเป็นใหญ่ การที่มีผู้หญิงเข้าไปในจำนวนอัตราที่เท่าๆ กันเนี่ย มันก็สะท้อนว่ามีการยอมรับให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปในสภา เขาเป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มนะ เขาจึงจำเป็นต้องเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มจริง ๆ เป็นปากเป็นเสียงให้ได้ทุก ๆ กลุ่มจริง ๆ แล้วก็ต้องไปทำการบ้าน ไปเรียนรู้ ไม่ใช่แค่คุณเป็นผู้หญิงแล้วคุณจะพูดแต่เรื่องผู้หญิง ไม่ใช่ คุณเป็นผู้ชายคุณก็ต้องพูดเรื่องผู้หญิงให้ได้ คุณจะเป็น LGBTQ คุณก็ต้องพูดเรื่องอื่นให้ได้เพราะว่าประชาชนทุกคนเสียภาษีว่ะเฮ้ย เงินเดือนคุณคือภาษีประชาชน แล้วก็เราคิดว่า สส. อย่างในพรรคอย่างงี้ เค้าก็เรียนรู้ นักการเมืองหลายคนก็ถาม มานั่งคุยกัน บางคนไม่รู้ก็เดินมาถาม ไม่จำเป็นหรอกว่าเขาจะต้องเป็นเกย์ แต่เขาสนใจเรื่องนี้และเขาเข้าใจปัญหา ตระหนักได้แล้วพร้อมจะผลักดัน เราคิดว่ามันโอเคมากๆ ขณะเดียวกันเรื่องของโควตา ถ้าเราบอกว่า มีแค่ผู้หญิง ผู้ชาย ก็ไม่ใช่หรือเปล่า มันมี LGBTQ แล้วเราจะจัดลำดับยังไง เพราะเพศมันลื่นไหล แล้วเราจะมองแค่เรื่องโควตาเฉพาะเพศเท่านั้นเหรอ มันมีทั้งผู้พิการก็มี 7-8 ประเภทแล้ว พิการทางการเคลื่อนไหว ทางสายตา การได้ยิน ในเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาก็มีอีก 7 ประเภทเลย แล้วก็อัตลักษณ์อื่นอีกล่ะ ชาติพันธุ์ จะเอาให้หมดเลยไหมที่ศูนย์มนุษย์สิรินธรจัดกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ 50 กว่าชาติพันธุ์เนี่ย เราต้องมีให้หมดเลยไหม หรือว่าถ้าเรามีโควตาชาติพันธุ์แล้ว ชาติพันธุ์นั้นเป็นตัวแทนชาติพันธุ์ทุกชาติพันธุ์ได้เหรอ อูลักลาโวยจจะเป็นตัวแทนของเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาติพันธุ์ชาวลีซอ หรืออะไรได้เหรอ ก็คนละปัญหากันอีก เพราะฉะนั้นเราคิดว่า โควตา เปอร์เซ็นต์ ยังคงสำคัญและจำเป็นอยู่ แต่การที่ สส. เรียนรู้ ทำการบ้าน เป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มจริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าสำหรับเรา

และส่วนตัว คิดว่าพรรคทำงานในประเด็นอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศได้ดีหรือยังในวันนี้

การทำงานเรื่องความหลากหลาย เราคิดว่ามันไม่มีอะไรเพียงพออยู่แล้ว มันเป็นโปรเจกต์ที่ต้องพัฒนากันไปเรื่อย ๆ พรรคการเมืองก็ต้องเป็นเช่นนั้น แล้วสังคมมันมีความหลากหลายมากขึ้น มันมีพัฒนาการของมันในตัวของมันเอง พรรคการเมืองจะต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับสังคมที่มันเปลี่ยนไป ประชาชนที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น แล้วก็มีพัฒนาการมากขึ้นอยู่แล้ว เราคิดว่าจะพอไม่พอก็แล้วแต่ที่จะพิจารณาก็ได้ แต่เราคิดว่ามันต้องเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน ทั้งสังคม ประชาชน ภาคประชาสังคมเอง พรรคการเมืองเองด้วย

คำถามพิเศษ: ชนชั้นกลางไม่แฮปปี้กับ 30 บาท เพราะรู้สึกไม่มีประโยชน์กับเขา?

คุณสบายแล้วนี่ อย่าให้คุณป่วยแล้วกัน เดี๋ยวคุณป่วยคุณก็เดือดร้อนเหมือนกันแหละ เรารู้ ชนชั้นกลางเหมือนกัน

30 บาทคือสวัสดิการ สวัสดิการคือสิ่งที่จะมารองรับคนจะล้มแล้วชีวิตคุณจะไม่ฉิบหายไปมากกว่านี้ มันคือสวัสดิการที่จะทำให้ประชาชนป่วยแล้วคุณจะได้ไม่ต้องล้มละลายในชีวิต คุณต้องเลือกระหว่างปากท้องกับสุขภาพอย่างนั้นเหรอ

สิ่งที่หมอบ่นกันเยอะๆ เราเข้าใจ เพราะลำพังบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมาก ปัญหาก็คือสวัสดิการของแพทย์ หรือรูปแบบการทำงานของแพทย์มันเป็นอุปสรรคกับสุขภาพ คนปฏิบัติการทางการแพทย์จริง ๆ นะ ควรจะมีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ขยายบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น แล้วก็อัตราการจ้าง เรื่องของชั่วโมงในการทำงานของแพทย์ ควรจะพัฒนาควบคู่กันไปด้วยระหว่างขยายสิทธิเรื่องสุขภาพ สาธารณสุข สปสช. กับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งมันก็มีสมาพันธ์คนที่ทำงานด้านแพทย์อยู่พยายามเสนอประเด็นเรียกร้องสิ่งเหล่านี้อยู่เพราะว่าเขาก็ต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนกันในเรื่องสิทธิ เรื่องของสวัสดิการ เรื่องของสุขภาพ

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me