นับตั้งแต่ตัดสายสะดือเข้าสู่สนามการเมืองในสมัยเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 นี่คือพรรคการเมืองที่ 3 ที่นาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเลือกสังกัด แฟนเพจสเปกตรัมอาจคุ้นเคยกับนาดา ไชยจิตต์ดี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราคุยกับเธอในฐานะนักการเมืองไฟแรงที่เปล่งแสงสว่างสไวอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 ของพรรคเสมอภาค
ความรู้เรื่องเพศจากประสบการณ์ และแพชชั่นที่พานาดา ไชยจิตต์ที่ไปติดอาวุธด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ได้แปลงมาเป็นนโยบายรอบด้านเพื่อสุขภาวะของคนเพศหลากหลาย สิ่งที่น่าสนใจคือการทำงานหนักของเธอ แม้จะสอบตกไปครั้งหนึ่ง เจอเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลไปอีกครั้ง แต่ก็ยังลุกขึ้นใหม่เสมอ นี่อาจเป็นเครดิตของเธอที่จะทำให้ประชาชนเชื่อใจได้ว่าพลังของนาดา ไชยจิตต์ไม่มีวันหมด และเธอพร้อมจะผลักดันความเสมอภาคให้เป็นอเจนด้าหลักของสนามการเมืองด้วยทุกเครื่องมือที่มีอยู่
Spectrum ชวน ‘นาดา ไชยจิตต์’ คุยเรื่องบัญชีรายชื่อสีรุ้งของพรรคเล็กที่พร้อมผลักเพดานกระจกของเพศหลากหลายในการเมือง ภาวะตาบอดของ ส.ส. ในสภาที่ไม่เคยเห็นเรื่องเพศสำคัญเลยสักครั้ง และการทำงานเรื่องเพศในสภาพแวดล้อมที่ต้องสู้สิบทิศ แต่ก็ยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์
นาดา ไชยจิตต์ คือใคร ?
ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับ 3 ของพรรคเสมอค่ะ และเป็นประธานยุทธศาสตร์ด้านความเสมอภาคทางเพศและสิทธิมนุษยชนด้วยค่ะ
ก่อนเข้ามาทำงานการเมืองนาดา ไชยจิตต์ทำอะไรมาบ้าง แน่นอนว่าหลายคนรู้จักชื่อนี้ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ถือว่าแนะนำตัวอีกครั้งในฐานะนักการเมืองแล้วกัน
ทำงานเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แล้วก็เป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิและองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนค่ะ ทั้งสิทธิมนุษยชนในภาพรวม กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาด้านงานรณรงค์สิทธิมนุษยชนของมูลนิธิมานุษยะ แล้วก็เป็นที่ปรึกษาของหลาย ๆ องค์กร เช่น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เครือข่ายสุขภาพและโอกาส แต่พอกระโดดเข้ามาทำงานการเมือง เราก็ต้องชัดเจนกับตัวเอง เพราะมูลนิธิหรือสมาคม กฎหมายบังคับเรื่องของการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ณ วันนี้สังกัดพรรคการเมือง พรรคเสมอภาคอย่างเดียวค่ะ ให้เวลาเต็มที่กับการหาเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาที่จะถึงนี้
ก้าวแรกในวงการการเมืองของอดีตนักสิทธิมนุษยชน
สมัยก่อนเราอยู่พรรคมหาชน ทุกคนโหยหาการเลือกตั้ง เพราะว่าไม่ได้เลือกตั้งมานานมาก รัฐประหารมากินระยะเวลาหลายปีมาก ตอนนั้นก็มีคุณแอนนา (แอนนา วรินทร) ชวนกันคุยเรื่องสื่อสารกฎหมายรับรองเพศและเรื่องสมรสเท่าเทียมอยู่ตลอด ตอนนั้นแอนนาก็บอกว่า มีพรรคมหาชนสนใจทำงานประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็เลยได้เข้ามาทำงานการเมือง ต้องบอกว่าคุณแอนนาเป็นคนตัดสายสะดือนาดาเข้ามาทำงานการเมือง เรามีสัญญาใจต่อกันว่าเราอยากทำงานเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ อยากให้การเมืองเป็นพื้นที่ตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มจริง ๆ ไม่ใช่เห็นเราเป็น Voter เนื้อหอมตอนเลือกตั้ง ชิงชังตอนเข้าสภา แต่ว่าการเลือกตั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะระบบคะแนนมันก็แปลก ๆ ตอนนับคะแนนก็หลักแสน แต่ทำไมตอนประกาศคะแนนจริงเหลือหลักหมื่น
พลาดหวังกับเลือกตั้งสมัยแรก แล้วนาดา ไชยจิตต์ไปอยู่ที่ไหนทำอะไรต่อ
เราตัดสินใจสมัครขอทุนเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้ทุนรัฐบาลอังกฤษไปเรียน ก็เลยคิดว่าไปติดอาวุธทางปัญญามาก่อนแล้วกัน ไปเรียนรู้ว่าต่างประเทศเขาต่อสู้เรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ทำไมยุโรปถึงมีความก้าวหน้าเรื่องนี้ ทำไมอังกฤษมีกระทรวงผู้หญิงและความเสมอภาคทางเพศที่ก่อตั้งโดยพรรคอนุรักษ์นิยมด้วย มีแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ดูแลเรื่องคนข้ามเพศ ในสมัยที่นายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้
เรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราสนใจ เราอยากไปเรียนรู้ เราไปเปิดอ่าน ค้น ทำวิจัยหนักมาก เราไปอ่านบทอภิปรายในสภาล่างอังกฤษว่าเขาถกเถียงกันเรื่องอะไรบ้าง แล้วเขาให้พื้นที่กับองค์กรภาคประชาสังคมในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญความหลากหลายทางเพศ พอกลับมาไทย ก็คิดว่าจะเป็นหลังบ้านการเมืองก็ได้ แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งเราได้ไปพูดในฐานะองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมในเวทีที่พูดเรื่องสมราเท่าเทียม เราก็รู้สึกว่าตอนที่เราพูด อินเนอร์เรา มันบอกกับตัวเองว่า กูต้องไปทำงานตรงนั้นได้แล้ว เราควรจะต้องพูดเรื่องนี้ในสภาผู้แทนฯ เราพูดที่นี่มาเยอะเกินไปแล้ว
พอเห็นว่าสมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน มันจุกข้างในมาก เราคิดว่า หนึ่ง เรามี ส.ส. ที่เป็น LGBT ไม่มากพอและกระจุกตัวอยู่พรรคสองพรรค สอง คือเรามีพันธมิตรทางการเมืองไม่มากพอ ถ้าเรามีสองสิ่งนี้ เราเชื่อว่ามันจะโหวตผ่าน แล้วมันจะไม่ได้ผ่านแค่กฎหมายสมรมเท่าเทียม มันจะหมายถึงกฎหมายอื่น ๆ ด้วย เช่น (ร่าง) พระราชบัญญัติรับรองคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ นี่คือสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้เลยอยู่แล้วว่าเราอยากเข้าไปผลักดัน จน ดร.ฐิติพร ฌานวังศะ หรือ ดร.พีค เลขาธิการพรรคการเมืองพรรคแรกที่เป็น LGBT ท่านขึ้นเวทีไม่นานนี้ว่า อยากมาช่วยไหม เราก็บอกว่าอยากให้ช่วยอะไรขอให้บอก ไม่ได้สนใจเรื่องตำแหน่งแห่งที่ หลังบ้านก็ได้ หน้าบ้านก็ดี ทำได้หมด ขอให้มีโอกาสได้ผลักดันกฎหมาย ขอให้การเมืองครั้งนี้มันเป็นการเมืองที่คำนึงถึงฐานภาวะเพศวิถีจริง ๆ มันเห็นหัวคนเรื่องเพศจริงๆ เพราะว่ามันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า ถ้าสัดส่วนของผู้หญิงกับความหลากหลายทางเพศมีน้อย โอกาสที่จะขับเคลื่อนกฎหมายที่มันพูดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมจะน้อยตามไปด้วย นี่แหละเป็นจังหวะที่ดีที่สุด แล้วก็ภูมิใจมากกับพรรคเสมอภาคค่ะ เพราะพรรคเสมอภาคทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า Gender Quota ในภาคการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องปักหมุด และเราก็ทำแล้ว
บทบาทหน้าที่ของนาดา ไชยจิตต์ในพรรคเป็นอย่างไรบ้าง ได้มีส่วนร่วมกับนโยบายมากน้อยแค่ไหน
เรามีประสบการณ์การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในภาพรวมมาก่อน เราก็ไม่ได้ทำแต่เรื่อง LGBT ดังนั้นเราก็จะทราบสภาพปัญหา เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ การคุกคาม การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการดำเนินนโยบายของรัฐที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราจะรู้ และเราก็รู้ว่าข้อเสนอแนะของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เขาต้องการอะไร ข้อมูลเหล่านั้นก็พัฒนาปรับปรุงเป็นนโยบายกลางของพรรค
การมีคนออกแบบนโยบายหรือดูแลประเด็นพวกนี้ แล้วเป็นคนใน community จริงๆ มันสำคัญอย่างไร
สำคัญมาก มันเป็นการเมืองเชิงตัวแทน คุณจะไม่มีวันรู้ความทุกข์ยากของพวกเราได้เท่ากับตัวพวกเราเอง คุณจะไม่รู้หรอกว่าทำไมเราต้องการกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ทำไมฉันต้องการบัตรประชาชนที่ใช้คำนำหน้านามตรงกับเพศสภาพของฉัน ทำไมฉันต้องการกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการก่ออาชญากรรมด้วยความเกลียดชัง ไม่ใช่มีใครอยู่ ๆ ก็เดินมาเตะเด็กกะเทยคนหนึ่งหน้าคว่ำ แล้วก็บอกว่ากูเกลียดตุ๊ด เข้าใจไหมคะ คุณจะไม่มีวันลิ้มรสชาตินั้นเพราะว่าแหล่งอำนาจของคุณ เพศสภาพของคุณน่ะ มันสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง เหมือนกัน ทำไมเราควรมีตัวแทนชาวนาชาวไร่เข้าไปนั่งเป็นผู้แทนราษฎร ทำไมเราควรชาติพันธุ์และชนเผ่า ทำไมเราควรมีผู้หญิง เพราะที่ผ่านมามันได้พิสูจน์แล้วว่า ตัวเลขความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ และในครอบครัวมันยังสูงอยู่ ทำไมออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2518 แทนที่จะบังคับใช้กลายเป็นว่าต้องมานั่งทำ MOU ขอให้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ทั้ง ๆ ที่มันมีสภาพบังคับโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เราไม่อยากเห็นภาพนี้อีก เพราะฉะนั้นการเมืองที่มีตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มต่าง ๆ เข้าไปนั่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรคือหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเลยค่ะ
แปลว่านาดา ไชยจิตต์ซื้อเรื่อง Gender Quota
ซื้อเรื่อง Gender Quota แน่ ๆ ค่ะ ไม่ซื้อไม่ได้ และยังจำเป็นต้องมีอยู่ ต้องทำระยะยาวค่ะ บางคนบอกเราก้าวข้ามกรอบเพศไปแล้ว ก้าวข้ามห่าอะไร แหล่งอำนาจของคุณกับฉันเท่ากันหรือเปล่า โอกาสที่คุณได้รับก่อนฉันมาเป็น 100 ปี 1,000 ปี ในทางการเมืองการปกครอง แล้วฉันเพิ่งจะโผล่หัวมาเนี่ย ระยะเวลา โอกาส องค์ความรู้ที่มันยัดใส่มือคนที่เกิดมาเป็นคนตรงเพศโดยเฉพาะเพศชายมันมากมายมหาศาลกว่า ตัวอย่างก็ชัดเจน ไปดูลำดับบัญชีรายชื่อได้เลย 20 อันดับแรกของทุกพรรคการเมือง แม้จะบอกว่ายึดเอาความเหมาะสม ยึดเอาความเชี่ยวชาญ แต่มันก็ไปกองอยู่ที่ผู้ชายหมดเลย เพราะฉะนั้น Gender Quota อย่างไรก็ต้องมา จนกว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างสังคมเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศได้ วันนั้นเราคงไม่ต้องมานั่งคุยว่าใครเข้า เพราะว่าโดยธรรมชาติ เราจะเห็นเองว่าเราควรจะจะเฉลี่ยพื้นที่ เราควรจะเปิดโอกาสให้ใครบ้างมานั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ณ วันนี้พื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสนามการเมืองเป็นอย่างไร
คึกคัก คึกคักมากจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม นี่คือความงดงามของประชาธิปไตย นี่คือพื้นที่แห่งโอกาสที่ทำให้เขาได้พิสูจน์ตัวตน ทำให้เขาได้แสดงศักยภาพออกมา สุดท้ายเราก็ต้องการพื้นที่เหล่านี้ จะไปได้ไกลกี่มากกี่น้อยมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยการสนับสนุนของพรรค ในขณะเดียวกันมันก็ขึ้นอยู่กับมันสมองสองมือของคนที่ปวารณาตนมาเป็นผู้แทนรับใช้ประชาชนด้วยว่าเขาจะไปได้ไกลขนาดไหน ขอให้มีลู่วิ่งค่ะ เราพร้อมวิ่ง แต่ลู่วิ่งนั้นต้องเป็นธรรมนะ จุด Start เราอยู่ตรงไหน ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
นาดา ไชยจิตต์กำลังบอกว่าทุกคนสามารถทำงานได้ในทุก ๆ ประเด็น และนำเสนอประเด็นอัตลักษณ์ไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย นี่คือความเชื่อที่หายไปจากการเมือง หลายคนวิจารณ์การมีผู้สมัคร ส.ส. เพศหลากหลายในพรรคใหญ่ ถึงแม้จะมีนโยบายออกมาก็ตาม มันก็เป็นแค่การตกเบ็ด
นาดาชอบใจมากเลยสิ่งที่ แม่ต้อย รฎาวัญพูดว่า ‘ไม่อยากเป็นไม้ประดับ’ เราต้องไม่เป็นไม้ประดับ ต้องแสดงให้เห็นว่า ความเป็นเพศของเรามันเป็นมายาคตินะคะ ความเป็นเพศของเราไม่เป็นข้อจำกัดในการดูแลปากท้อง สารทุกข์สุกดิบของพี่น้องประชาชนได้ แต่การไม่ให้เราเนี่ยมีตัวตนเนี่ย เป็นประเด็นแน่นอน เพราะว่าความทุกข์ร้อนของเราไปไม่ถึงเขา ทุกพรรคการเมืองไหนพูดว่า ‘โอ๊ย เอาเรื่องปัญหาปากท้องก่อนมาเรื่อง LGBT อะไร’ คำถามคือ วันนี้ค่าตอบแทนวันละพันบาท แต่ว่าถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน กูก็ไม่ได้ตังค์พันบาทต่อวันมากินข้าวอยู่ดี
นี่คือการมองไม่เห็นมิติของเพศ?
และมองไม่เห็นว่านี่คือปากท้อง ทำไมฉันต้องซื้อฮอร์โมนส์เอง ทำไมฉันต้องจ่ายค่าดูแลสุขภาพ อนามัยเจริญพันธุ์ด้วยเงินในกระเป๋าของฉันเอง ในขณะที่คุณน่ะฟรีทุกอย่าง แล้วไม่ใช่เรื่องปากท้องได้อย่างไรคะคุณ นี่มันคือปากท้องร้อยเปอร์เซ็นต์ รอไม่ได้
มันสำคัญที่เราต้องมีพรรคที่ดูแลเรื่องนี้ พรรคการเมืองที่อาจจะเล็ก แต่มีประเด็นชัดเจนอย่างพรรคเสมอภาค
ใช่ สำคัญที่ทำอย่างไรให้หัวใจของประชาชนเบิกบาน ยอมรับ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญจนต้องเดินทางวันที่ 14 พฤษภาคม ไปกาหมายเลข 17 พรรคเสมอภาค อันนี้คือโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของเรา ทำให้เขาตระหนักรู้ได้อย่างไร แต่พรรคเสมอภาคไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องนี้ เราให้ความสำคัญกับชาวนาชาวไร่ชาวสวนด้วย เราก็ลูกชาวสวน แม่ก็ปลูกกาแฟ เคยปลูกข้าวขาย จนเลิกปลูก เพราะเหนื่อย ไปซื้อเขาก็ราคาเท่ากันที่ลงทุน แล้วเราไม่มีโอกาสที่จะกำหนดราคาเลย พ่อค้าคนกลางกำหนด เราไม่มีโอกาสที่จะทำให้คนเหล่านี้เข้าไปนั่งในกรรมการระดับชาติ เป็นตัวแทนตัวจริงแล้วก็ไปต่อรองผลประโยชน์สูงสุดให้กับคนของตัวเอง
ประสบการณ์คือส่วนสำคัญมาก หมายถึง ทั้งจากที่เล่าเรื่องชาวนาชาวไร่ ทั้งจากเล่าเรื่องกฎหมายความเป็นธรรมทางเพศ
ใช่ เราทำเรื่องพลังงานสะอาด สนับสนุนเรื่องการทำโซลาร์เซลล์ โครงการที่นาดารับผิดชอบสมัยทำงานให้กับมูลนิธิ ก็มีการประชุมเสวนา ในวงเสวนาคนทำงานเพื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องลดโลกร้อนบ้านเรามีแต่ผู้ชายหมดเลย จำได้ขึ้นใจเลย พอพูดถึงเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ การผลิตช่างเทคนิค มีคนบอกว่าเดี๋ยวให้ผู้หญิงไปทำบัญชี เพราะว่างานปีนป่ายอันตรายเป็นของผู้ชายอย่างเดียว เออ นี่ไง โลกของการต่อสู้เรื่องความเป็นธรรม การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมันไปไม่ถึงไหนไง เพราะว่าผู้ชายมันตีกันอยู่ มันไม่เห็นปัญหาปากท้อง มันไม่เห็นผู้หญิงที่ไปเพาะปลูกทุกวันว่าต้องเผชิญกับชะตากรรมอะไรบ้าง ทั้งที่ทำพร้อมกันได้ กะเทยก็กินข้าว กะเทยก็ร้อน
หนึ่งประเด็นที่พรรคเสมอภาคชูเป็นนโยบายชัดเจนคือการผลักดันพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในฐานะที่นับถือศาสนาอิสลามและทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน นาดา ไชยจิตต์ทำอย่างไรกับความย้อนแย้งของการมีนโยบายนี้ในพรรคเสมอภาค
ยอมรับว่ามีการถกเถียงเรื่องนี้ค่ะ ในพรรคมีคนหลายรุ่นหลายความคิด และใช้ประชาธิปไตยในการโหวตมติเรื่องนโยบาย ในขณะที่เราเข้ามาทีหลัง นโยบายนี้ผ่านไปละ เราก็เข้าใจหัวอกคนที่อยากให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราก็เลยเสนอ ถ้าจะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โอกาสที่จะเสนอกฎหมายฉบับนี้ แล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกก็มีเหมือนกันนะ เพราะว่าทำไมต้องเป็นศาสนาเดียว ดังนั้นเราขอเสนอ พ.ร.บ.คู่ขนาน พระราชบัญญัติส่งเสริมเสรีภาพและคุ้มครองการนับถือศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณ เราขยายไปเลยค่ะ รู้อยู่แล้วสังคมไทยเป็นสังคมมูเตลู แล้วความเชื่อแบบศาสนาพุทธอย่างเดียวปิดกั้นการมูเตลูนะคะ ในเมื่อบ้านเราแต่ดั้งแต่เดิมมันเป็นศาสนาผีอยู่แล้ว มันมีความเชื่อชนเผ่า มีความเชื่อท้องถิ่นอยู่แล้ว เราต้องคุ้มครองทั้งหมดเพราะนี่คือหลักการสากล คุ้มครองทุกศรัทธาและความเชื่อ ทุกคนมีเสรีภาพในการจะเชื่อ อย่ากำกับกำหนด ถ้าพรรคจะออกกฎหมายศาสนาพุทธแห่งชาติ ดิฉันก็เสนอกฎหมายนี้และพรรคก็แฮปปี้ดี๊ด๊า ก็ให้ผ่านกัน ก็เสนอออกไปทั้งคู่เลยค่ะ คุ้มครองหลากหลาย ก็ให้มันไปรู้กันไปว่าในสภาเนี่ยฉบับไหนจะผ่าน
ไม่ใช่แค่เรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ดูเหมือนนาดา ไชยจิตต์มีหลาย ๆ นโยบายที่อยู่ในมือ และยังมีภาระอีกมากมายที่จะต้องทำ
มากมาย เราต้องแก้เยอะ แก้กฎหมายแรงงาน ลำพัง พ.ร.บ.ความเสมอภาคระหว่างเพศไม่พอ ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานสูงมาก ต้องไปแก้เลยค่ะ เราต้องผ่านพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล แต่สุดท้ายแล้วหลักประกันที่ดีที่สุดก็คือหลักประกันทางศาล ถ้าเราแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แก้หมวดที่พูดถึงเรื่องห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เติมเรื่องวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพ หรือคุณลักษณะทางเพศเข้าไปด้วย อย่างน้อยที่สุดในชั้นกลไกของ หน่วยงานภาครัฐ เจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สามารถให้ความเป็นธรรมได้ หรือถ้ากรณีนั้นมันรุนแรงเกินกว่าเจ้าพนักงานตรวจแรงงานจะจัดการได้ ผู้เสียหายที่เป็น LGBT ถูกเลือกปฏิบัติสามารถนำเป็นคดีความไปฟ้องในชั้นศาลแรงงานได้ สร้างบรรทัดฐานทางด้านกฎหมายเพิ่มเข้าไปอีก เรื่องอาชญกรรมความเกลียดชังก็ต้องแก้ประมวลกฎหมายอาญา และป.วิอาญาเรื่องวิธีการพิจารณาการ เหตุเพิ่มโทษเรื่องอาชญกรรมความเกลียดชังก็ต้องใส่เข้าไป มันมีอะไรรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ สมรสเท่าเทียมผ่าน ก็ต้องไปสู้เรื่องแก้ พ.ร.บ. อุ้มบุญ กฎหมายรับรองเพศผ่าน ก็ต้องไปแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เรื่องลาคลอดมันไม่ใช่ของหญิงโดยกำเนิดอีกต่อไป มันเป็นของคนทุกคนที่มีมดลูก ไม่ว่าเขาจะได้รับการรับรองเพศว่าเป็นอะไร นี่คืองานใหญ่ที่รอเราอยู่ เราต้องทำให้สำเร็จ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นไม่ได้เลย
แล้ววันที่เราจะ ‘มีศักดิ์ศรีความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่น’ มันยังอีกนานไหม ในฐานะผู้อาสารับใช้ประชาชน คิดว่าจะใช้เวลากี่ปี
นาดาเชื่อว่าอีก 4 ปีข้างหน้าเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนตื่นรู้ และเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ มันทำให้เราทำเสร็จใน 4 ปีได้ ถ้ามีเราอยู่เยอะ ถ้ามีสัดส่วนตัวแทนของคนที่มีความหลากหลายเยอะมากขึ้น เราก็จะคัดคานอำนาจได้ว่านี่คือเรื่องเร่งด่วน ผู้ชายข้ามเพศคลอดลูกไม่ได้เนี่ย เรื่องเร่งด่วน ใช่ปะ คนจะเกิด เกิดไม่ได้อะ ไม่มีสิทธิลา เรื่องเร่งด่วนเปล่า เรื่องเร่งด่วน ถือบัตรประชาชนผิดมาทั้งชีวิตเนี่ย ไม่ตรงกับเพศ เรื่องเร่งด่วนไหม เรื่องเร่งด่วน เขาอยู่กินกันแต่จดทะเบียนสมรสไม่ได้อะ โคตรเร่งด่วนเลย เพราะฉะนั้น 4 ปีจากนี้ หวังว่าเราจะไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ แต่ถ้าให้มองในภาพรวม นาดาคิดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สภา ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ เพราะโฮโมโฟเบีย ทรานส์โฟเบีย และเอ็นบีโฟเบียมันเยอะมาก
และมันไม่กลัวที่จะแสดงตัว
ใช่ มันพร้อมจะปรากฏตัวทันทีที่ยกมือโหวตกฎหมาย เราก็เห็นมาแล้วตำตา ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ตาม
ความรุนแรงทางเพศในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่คำด่าทอต่อว่ามันเยอะมาก แม้กระทั่งเราที่คุยกับนักการเมือง ในพื้นที่แบบ Spectrum ก็ยังเจอคน ‘โฮโมโฟเบีย ทรานส์โฟเบีย และเอ็นบีโฟเบีย’ อยู่เรื่อย นาดา ไชยจิตต์กลัวพลังลบพวกนี้ไหม
ไม่อ่าน เราตาเร็วมาก อ่านแต่คำชม ไม่กำก้อนหินให้เจ็บมือตัวเอง เห็นปุ๊บก็รีบตัด เราถูกทำให้เป็นแกะดำของสังคมมาก่อน เพราะตัวตนอัตลักษณ์ทางเพศของเรา แล้วเราก็จะติดนิสัยมองหาแต่รอยด่างพร้อย ทำให้เราจิตตก แต่ทำงานการเมืองเราต้องสว่างตลอด ไม่งั้นไฟเรามอด แค่เราไม่มีพื้นที่สื่อเราก็มอดแล้วบางที นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายเรามากว่าต้อง ทำให้ตัวเองสุกสกาววาวใสตลอดเวลา ทำตัวเองเปล่งแสงเป็นเพชร 7 สีมณี 7 แสงสีรุ้ง เราถึงจะสามารถที่จะอยู่ได้ ทุกวันก็ทำอย่างนี้ค่ะ กลับไปบ้านนอนให้หลับ ตื่นขึ้นมาทำงาน
และมันทำได้ยากมาก
ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะเป็นคนที่มอดไหม้ไปเสียก่อน ยังไม่ทันจะได้เข้าไปปักธงสีรุ้งเพิ่มอีกหนึ่งธงในสภา เดิมพันเราใหญ่มากค่ะ น้ำหนักธงที่เราต้องถือไปปักมันหนักมาก เราปล่อยวางไม่ได้ เราปล่อยไม่ได้
ณ วันนี้นาดา ไชยจิตต์เชื่อมั่นในทีมงานของตัวเองมากแค่ไหน พึงพอใจหรือยังกับการทำงานเรื่องความเสมอภาคทางเพศของพรรคเสมอภาค
เชื่อค่ะ ทีมเล็กแต่เล็กพริกขี้หนู เราคิดว่าเราเจนสนาม ทักษะเรื่องงานสื่อสารของเราน่าจะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดในเรื่องการดีเบต ถ้าเราเตรียมข้อมูลดี เราดีเบตไม่แพ้ใคร อย่างน้อยเป็นพรรคที่เราภูมิใจมากที่เขาปักธงเรื่องนี้ เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ
ฝากอะไรถึงประชาชนไหม อาจจะเป็นคนที่ยังไม่เข้าใจประเด็นเรื่องเพศวันนี้ หรือคนที่ต้องการสิ่งนี้แต่ยังไม่รู้จักพรรคเสมอภาค
เราถูกหล่อหลอมอยู่ในสังคมที่ทำให้เชื่อเรื่องคุณค่าในตัวตนทางเพศแตกต่างกัน แล้วทุกคนก็ลิ้มรสความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่กดทับจากความเชื่อนี้ ขอให้พรรคเสมอภาคได้เป็นพรรคที่ช่วยคุณปลดแอกเถอะ ขอให้เราได้เข้าไปทวงคืนความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคุณคืนมาในสภาผู้แทนราษฎร ขอ 1 ล้านเสียง LGBTQIAN+ สตรีทั่วประเทศ แค่ล้านเสียง ก็เปลี่ยนอะไรได้เยอะมาก