สถิติปี 64 ระบุภาคประชาสังคมคือช่องทางหลักในการยุติ HIV หากรับยาได้เฉพาะสถานพยาบาลรัฐ รัฐมีความพร้อมจริงหรือ ?
“ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทาง SWING คลินิกสาขาสีลมและสาขาสะพานควาย งดให้บริการ เพร็พ เป็บ (PrEP, PEP) เนื่องจากประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่าย เพร็พ เป็บ (PrEP, PEP) ได้”
ประกาศจาก SWING เมื่อวันที่ 6 ที่ระบุว่าจะยุติการจ่าย PrEP (ยาเพื่อป้องกัน HIV ก่อนสัมผัสเชื้อ) และ PEP (ยาสำหรับหลังสัมผัสเชื้อใน 72 ชม.) โดยอ้างถึงประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ชะลอการจัดสรรงบประมาณค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เฉพาะส่วนประชาชนนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องจากการทักท้วงในข้อกฏหมายว่างบประมาณสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมคนไทยทุกคนหรือเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง จึงนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ไม่ใช่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ ส่งผลให้ภาคประชาสังคมไม่สามารถจ่ายยา PrEP และ PEP ได้ตามเดิม ซึ่งเป็นการผลักผู้ใช้ PrEP ที่รับยาจากคลินิกชุมชน จำนวนกว่าหมื่นคน กลับไปสู่สถานพยาบาลของรัฐตามสิทธิ
จากสถิติการรับยา PrEP ในปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า ร้อยละ 60 ของผู้ใช้ PrEP รับยาจากสถานบริการของชุมชน โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ให้บริการราว 6,000 คน และมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ (SWING) ให้บริการอยู่ราว 5,000 คน ในขณะที่สถานพยาบาลของรัฐให้บริการเพียงร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 25 เป็นการซื้อบริโภคด้วยตนเอง จากข้อมูลนี้จะทำให้เห็นว่า ช่องทางหลักในการจ่ายยา PrEP เพื่อป้องกัน HIV ก่อนสัมผัสเชื้อ คือสถานบริการของชุมชน ซึ่งประกาศสาธารณสุขที่ผลักผู้รับบริการไปสู่สถานพยาบาลของรัฐตามสิทธิ กำลังทำให้ประชากร 10,000 คนขึ้นไป ต้องไปแออัดที่สถานพยาบาลของรัฐ และใช้เวลามากขึ้นในการรับยา การผลักให้ไปใช้บริการสถานพยาบาลจากรัฐอาจหมายถึงการผลักผู้รับยาออกจากสุขภาวะขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ
แม้รัฐจะมีเป้าหมายยุติเอดส์ได้ในปี ค.ศ. 2030 แต่การกระทำเช่นนี้กลับสร้างความไม่แน่ใจให้ชุมชนและภาคประชาสังคมว่านี่คือการยุติการส่งต่อเชื้อที่ถูกทางหรือไม่ การจำกัดช่องทางในการจ่ายยา PrEP จะผลักผู้มีความเสี่ยงให้ออกจากการรับบริการ ทั้งที่ควรจะทำให้เข้าถึงง่ายที่สุด testBKK ระบุว่า ผู้คนยังคงกังวลใจเมื่อเข้าไปรับบริการที่สถานบริการของรัฐ เพราะจะเจอการบริการที่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้รับยาว่าเป็นกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอคติฝังลึกในสังคมที่ไม่หายไปง่าย ๆ และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ติดเชื้อ HIV รวมถึงผู้มีความเสี่ยงด้วย
คำถามต่อมาคือ สถานพยาบาลของรัฐที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมากต่อวันจะมีความพร้อมในการดูแลผู้รับยา PrEP มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับสถานบริการโดยชุมชนที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเพศภาวะ, เพศวิถี และใกล้ชิดชุมชนมากกว่า – โดยเฉพาะเมื่อสถานพยาบาลของรัฐต้องมีการซักถามประวัติ ยืนยันตัวตน โดยบุคลากรที่ไม่มีความรู้เฉพาะทาง สิ่งนี้อาจนำไปสู่การตีตราในท้ายที่สุด นอกจากนั้นยา PrEP ยังไม่มีให้บริการทั่วถึงในสถานพยาบาลของรัฐด้วย ข้อมูลจากคุณสุภาพร มูลนิธิ IHRI ระบุว่า โรงพยาบาลมิชชั่นยังไม่รู้จักยา PrEP เลย และไม่มีให้บริการด้วย (ข้อมูลจากการเสวนาใน THE ACTION TALK ที่จัดขึ้นโดยไทยแอ็ค)
หากคุณเห็นด้วยกับการ ‘ให้ภาคประชาสังคมให้บริการ PrEP และ PEP’ ตามเดิม และให้รัฐสนับสนุนภาคประชาสังคมในการกระจายยามากขึ้น ร่วมลงชื่อเรียกร้องได้ที่ https://bit.ly/3jVzIl7
Content & Graphic by Ms. Satisfaction
อ้างอิง
Swing Thailand: https://bit.ly/3WUjAiA
ไทยแอ็ค: https://bit.ly/3GoxQsF
พรรคเพื่อไทย: https://bit.ly/3vKwTpQ
สปสช.: https://bit.ly/3Cz4JBN
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://spectrumth.com/
#SPECTRUM#พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”