ความเกลียดชังคนข้ามเพศมีจริง และมันกำลังคุกคาม-ข่มขู่-พยายามฆ่า

- Advertisement -

ผู้ประกาศข่าวหญิงข้ามเพศคนแรกในปากีสถาน ถูกลอบสังหารเพราะรณรงค์เพื่อสิทธิคนข้ามเพศ

มาร์เวีย มาลิค (Marvia Malik) นักข่าวหญิงข้ามเพศชาวปากีสถานเล่าผ่านสื่อท้องถิ่นว่าก่อนหน้านี้เธอได้รับโทรศัพท์และข้อความข่มขู่หลายครั้งเกี่ยวกับงานและกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิคนข้ามเพศที่ตนเข้าร่วม ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุเบื้องหลังการพยายามลอบสังหารครั้งนี้

- Advertisement -

ภายหลังได้รับข้อความและโทรศัพท์ข่มขู่หลายต่อหลายครั้ง เธอตัดสินใจย้ายออกจากเมืองเนื่องจากความหวาดกลัว ก่อนจะกลับเข้ามาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์เพื่อทำการผ่าตัด และในวันนั้นเองเมื่อกลับถึงบ้านหลังเสร็จธุระจากร้านขายยาละแวกนั้นคนร้ายก็เริ่มเปิดฉากยิง ตำรวจคาดว่าผู้ก่อเหตุเป็นชายสองคนซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถจับตัวได้

เมื่อปี ค.ศ. 2018 มาร์เวียได้ขึ้นเป็น ‘ผู้ประกาศข่าวหญิงข้ามเพศคนแรกในปากีสถาน’ ขณะที่เธออายุ 21 ปี หลังจากต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองเนื่องจากพ่อแม่ตัดขาดและปฏิเสธการส่งเสียเลี้ยงดูตั้งแต่เธอยังอยู่ระหว่างการเรียน ทำให้เธอต้องทำงานในร้านทำผมและรับงานเป็นนางแบบเพื่อหารายได้ส่งเสียตัวเองจนเรียนจบ และเริ่มต้นฝึกงานที่ Kohenoor TV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้โอกาสเธอได้เป็นผู้ประกาศข่าวที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญต่อสิทธิคนข้ามเพศในปากีสถาน

หลังจากนั้นมาร์เวียได้ใช้พื้นที่ของเธอในการส่งเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ชุมชนคนข้ามเพศมาโดยตลอด เธอเรียกร้องสิทธิการทำงานและการรับมอบมรดก และยังสนับสนุนให้มีโควต้าการจ้างงานและที่นั่งในสภาสำหรับคนข้ามเพศ มาร์เวียกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ USA Today ว่า “เราต้องการการยอมรับในฐานะพลเมืองเท่าเทียมกับคนอื่น”

#สิทธิคนข้ามเพศในปากีสถาน

Khwaja Sira, hijra หรือ ‘เพศที่สาม’ มีตัวตนและเป็นที่เคารพนับถือในวัฒนธรรมของปากีสถานมาอย่างช้านานก่อนจะได้รับสิทธิทางกฎหมายจากคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งพวกเขาได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง และเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชน ใบขับขี่ และเอกสารราชการอื่นๆ ได้โดยมีตัวเลือกคือ หญิง ชาย และ ‘เพศที่สาม’ (third sex)

ต่อมาในปี ค.ศ. 2018 ปากีสถานได้ออก ‘กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศ’ [Transgender Persons (Protection Rights) Act] โดยมีจุดหมายเพื่อปกป้องคนข้ามเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติในโรงเรียน ที่ทำงาน ขนส่งสาธารณะ และบริการทางสุขภาพ กฎหมายนี้ยืนยันสิทธิของคนข้ามเพศในการแสดงออกถึงตัวตนได้โดยไม่ต้องปกปิดหลบซ่อน นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและสถานพักพิงสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ถูกกระแสต่อต้านและทักท้วงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (10 วันก่อนเหตุการณ์พยายามลอบสังหารมาร์เวีย) มีการเสนอแก้ไข ‘กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศ’ โดยต้องการเปลี่ยนจากคำว่า “คนข้ามเพศ” เป็น “Khunsa” (Intersex) โดยนายวาลิด อิกบอล (Walid Iqbal) ซึ่งได้กล่าว ณ รัฐสภาว่าเพศไม่ได้มาจากความรู้สึกภายใน แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพและอวัยวะเพศเท่านั้น และเสนอให้ใช้ใบรับรองแพทย์ในการยืนยันในการแก้ไขคำนำหน้าชื่อ

#ความรุนแรงต่อคนข้ามเพศ

แม้จะมีการรับรองและปกป้องทางกฎหมายแล้วแต่คนข้ามเพศยังถือว่าเป็นชุมชนคนชายขอบของประเทศนี้ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ก็ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง นายับ อาลี (Nayyab Ali) นักกิจกรรมข้ามเพศกล่าวว่า “การคุกคาม ข่มขู่ และการล่วงละเมิด เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา และในที่สุดมันก็เปลี่ยนเป็นอาชญากรรม เช่น การฆาตกรรมคนข้ามเพศ” 

สถิติพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เฉพาะในพื้นที่แคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) มีผู้หญิงข้ามเพศกว่า 91 รายตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งเพศ และมีคดีความรุนแรงในชุมชนคนข้ามเพศที่ลงทะเบียนแล้วถึง 2,000 คดี (ข้อมูลเมื่อ 1/04/2022) ซึ่งมักไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากตำรวจและผู้ทำงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความสำคัญกับคดีของคนข้ามเพศนัก

“แค่เต้นที่ปาร์ตี้ก็อาจทำให้เราถูกฆ่าได้แล้ว เราไม่ได้รับความยุติธรรมหรอก”

ชัดเจนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับมาร์เวีย มาลิคไม่ใช่ครั้งแรกที่ชุมชนคนข้ามเพศและนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขาต้องพบเจอกับความรุนแรง อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมข้ามเพศชาวปากีสถานก็ยังคงมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีชีวิตที่ปราศจากความรุนแรงและความหวาดกลัวต่อไป

#ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ #HateCrime #Transgenders #Transphobia #TransRightsAreHumanRights #StopTransphobia #StopHateCrime

อ้างอิง
Outlook: https://bit.ly/3yBySOG
The Guardian: http://bit.ly/3JICft
The Independent: http://bit.ly/3Jf3zy5
Them:http://bit.ly/409TMAg, http://bit.ly/3YPhtMQ

Content by Ms. Chapman
Graphic by 7pxxch

อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp

#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน