ท่ามกลางศาสนาที่นำโดยศาสดาชาย ที่ประเทศเวียดนามมี “Đao Mau”(เดิ่ว เมิ้ว) ศาสนาพื้นบ้านซึ่งมี “เพศหญิง เจ้าแม่ เทพธิดา” เป็นศาสดา หรือเรียกกันว่า ศาสนาเจ้าแม่ ที่เชื่อกันว่านับถือในสังคมเวียดนามกันมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของพัฒนาการชาติ แม้ภายใต้เสื้อคลุมลายคอมมิวนิสต์จะปกคลุมไปทั่วประเทศ
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า “Đao Mau” เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด Ngô Đức Thịnh ผู้เขียนหนังสือ Đao Mau Việt Nam บันทึกไว้ว่าการเคารพบูชาเจ้าแม่ อาจเกิดมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีรากฐานมาจากแนวคิดการนับถือ “แม่” และการบูชาจิตวิญญาณธรรมชาติ ตามภูมิศาสตร์ของประเทศเวียดนามที่อาศัยสังคมเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิม ก่อนจะพัฒนามาให้มีลักษณะเป็นร่างมนุษย์มากขึ้น (anthropomorphic) ก่อร่างเป็นเทพ เทพี ผนวกเข้ากับโลกทัศน์จักรวาลวิทยาของชาวพื้นเมืองเวียดนามเกี่ยวกับผู้ปกปักรักษาโลกธรรมชาติทำให้ “Đao Mau” เกิดเป็นศาสนาที่บูชาเจ้าแม่แห่งสาม/สี่ตำหนัก (Three/four palace) หรือ เทพธิดาต๋าม ฟู๋ ( Tam phu) ได้แก่ เจ้าแม่แห่งตำหนักสวรรค์ เจ้าแม่แห่งตำหนักผืนน้ำ เจ้าแม่แห่งตำหนักป่าเขา บางพื้นที่มีการเพิ่มเจ้าแม่แห่งตำหนักผืนดินเข้าไปด้วย เมื่อจะโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนเข้าใกล้แหล่งน้ำ บุกร้างถางป่าก็ต้องบูชาเจ้าแม่เหล่านี้ ในฐานะผู้ปกปักษ์จักรวาลและก่อกำเนิดโลก สวมใส่อาภรณ์สีแตกต่างกันพอเป็นจุดสังเกต ไม่นับรวมถึงเทพธิดาต่างๆ มากมายที่ผูกพันกับธรรมชาติและกระจายไปตามแต่ละชุมชน
เมื่อเวียดนามตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิจีน ซึ่งนำเอาลัทธิขงจื๊อและความเชื่อเรื่องบรรพชนเข้ามา การบูชาเจ้าแม่จึงเคลื่อนคล้อยเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้นด้วยการถือเอาวีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องในคุณธรรมเรื่องต่างๆ หรือมีคุณต่อชาติบ้านเมืองขึ้นเป็นเจ้าแม่เพื่อเคารพบูชา นัยหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมของการกดขี่ รุกรานพิชิตชนชาติอื่นได้ ศาสนาเจ้าแม่จึงเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อท้องถิ่นกับลัทธิและศาสนาต่างๆที่เข้าสู่เวียดนาม เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาก็ได้เชื่อมโยงถึงนางไม้ตนหนึ่งว่าได้ลงมาจุติในโลกมนุษย์และเป็นแม่ชีใต้ร่มพุทธศาสนา การผสมปนเปเหล่านี้ทำให้เป็นศาสนาที่ไม่มีระเบียบพิธีกรรมชัดเจน แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชนย่อย และไม่มีคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเป็นทางการ ศาลเจ้าแม่หรือรูปเคารพบูชาอาจตั้งอยู่เคียงข้างเทพเจ้าจีน หรือชายคาเดียวกับพระสาวกของพระพุทธเจ้าในอารามวัดต่างๆ ทั่วพื้นที่เวียดนามเหนือจรดใต้
การติดต่อกับเจ้าแม่ทั้งหลายนั้นต้องผ่านพิธีการเข้าทรงที่เรียกว่าพิธี lên dong ซึ่งจะใช้การแต่งกายตามสีอาภรณ์ของเจ้าแม่ เต้นรำประกอบพิธีและมอบคำทำนายหรืออวยพรให้ผู้บูชา แต่เดิมร่างทรงจะเป็นผู้หญิงเท่านั้น ภายหลังจึงปรากฏร่างทรงชาย แต่เมื่อประทับทรงเจ้าแม่แล้วก็ต้องแต่งหน้าแต่งกายในรูปลักษณ์ของสตรีเช่นกัน การเป็นร่างทรงถือว่าเป็นการเปลี่ยนร่างกายให้กลายเป็นยานพาหนะให้เจ้าแม่เข้ามาสู่ ผู้เป็นร่างทรงต้องเตรียมการอย่างพิถีพิถันเพื่อรักษายวดยานนี้ให้บริสุทธิ์ที่สุด งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ทานมังสวิรัติ
ในช่วงการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส lên dong ถูกมองว่าเป็นลัทธินับถือภูตผี (Shamanism) ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สั่นคลอนอำนาจปกครองของรัฐบาลอาณานิคมต่อคนท้องถิ่น จึงต้องกระทำกันอย่างหลบซ่อน เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่สังคมนิยม ที่นำโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในภายหลัง บรรดาผู้นำของรัฐมองว่านี่เป็นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดความล้าหลังต่อชาติ เริ่มมีการจับกุมและปรับผู้ที่ประกอบพิธี รัฐมองว่าไม่ควรมีองค์กรอื่นใดที่มีอำนาจเหนือจิตใจมนุษย์นอกจากรัฐบาล ผู้คนได้รับการอนุญาตให้นับถือเพียงแค่ศาสนาโลก หรือไม่มีศาสนาเท่านั้น ทว่าไม่ต่างจากแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำ lên dong ยังคงถูกจัดขึ้นอย่างลับๆ อยู่ใต้คลื่นมหาสมุทรแห่งการเปลี่ยนแปลง ภายหลังสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ยุติลง บรรดาทหารผ่านศึกต่างโหยหาการเยียวยาทางจิตวิญญาณ และสื่อสารกับญาติพี่น้องที่ตายไป lên don จึงกลับมาเป็นที่นิยมขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมอย่างเปิดเผยในปัจจุบัน การคงอยู่ของเจ้าแม่และร่างทรงในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ยังท้าทายอุดมการณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง การเข้าทรงยังมอบเสรีภาพให้กับผู้หญิง พวกเธอแสดงออกถึงความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้อย่างอิสระ หรือ แม้แต่การเต้นรำ และออกไปสนุกกับคนรอบข้าง
อาจดูเหมือนว่าพิธีกรรมนี้ผลิตซ้ำภาระผูกพันทางธรรมชาติกับเพศหญิง ทว่าการศึกษาของ Tu Anh T. Vu (2011) เกี่ยวกับอิทธิพลของ “Đao Mau” ต่อผู้หญิงเวียดนาม จากการลงพื้นที่ศึกษาผ่านการแสวงบุญ สังเกตและติดตามชีวิตของผู้หญิงที่มาสักการะเจ้าแม่ที่อาราม เธอพบว่าศาสนาเจ้าแม่ช่วยเสริมอำนาจภายในให้กับผู้หญิง Đao Mau ช่วยให้ผู้หญิงสามารถรับมือกับแรงกดดันในชีวิตที่เกิดจากภาระหน้าที่และความคาดหวังจากวัฒนธรรมของพวกเธอและจากรัฐบาล ด้วยการเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองและการสื่อสารกับจิตใจ การที่ผู้หญิงต้องรับหน้าที่สื่อกลางทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้ดูแลศาสนสถาน ทำให้ชุมชนและวัดกลายเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ที่ทำให้พวกเธอได้เรียนรู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ในชีวิต การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สำหรับคนที่เป็นร่างทรง พวกเธอพร้อมจะเป็นร่างอวตารของเจ้าแม่ และนำ “ความกลัว” มาใช้เป็นวิธีการในการฝึกสอนสมาชิกในครอบครัวหรือแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายในครอบครัว การเป็นร่างทรงยังช่วยทำให้ผู้หญิงมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้การมีอยู่ของศาสนาเจ้าแม่จึงสำคัญต่อผู้หญิงในสังคมเวียดนาม เพราะเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ทำให้พวกเธอได้ต่อรองอำนาจทางเพศคืนกลับมา
เมื่อพิจารณาจากความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำระบบตลาดแบบทุนนิยมเร่งให้เกิดภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรที่รุ่งเรืองในเวียดนามในช่วงปี 1986 ก็อาจเป็นไปได้ว่า lên dong นั้นกลับมาในฐานะแรงงานผู้ผลิตผลผลิตให้บรรดาบริษัทเอกชนอีกครั้ง การเข้าหาเจ้าแม่เพื่อขอความสำเร็จทางธุรกิจ เป็นเรื่องทั่วไป ศาลเจ้าแม่เริ่มกลายเป็นศาสนพานิชย์ และเมื่อ UNESCO ประกาศรับรองให้พิธีกรรมนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จึงโผล่ให้เห็นในวาระพิเศษต่างๆ อย่างการต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นสินค้าและบริการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้มาเยือนอาจได้พบเห็นตามอารามทั่วไป ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทความท้าทายของเหล่าเจ้าแม่อีกครั้งที่จะนำอำนาจของผู้หญิงมาต่อรองในพื้นที่ทุนนิยมใต้ร่มเสื้อคลุมคอมมิวนิสต์
อ้างอิง
https://ich.unesco.org/en/RL/practices-related-to-the-viet-beliefs-in-the-mother-goddesses-of-three-realms-01064
https://www.ijih.org/volumes/article/48Tu
Anh T. Vu. (2011). Đao Mau religious practices : the soft power and everyday lives of women in contemporary Vietnam. Honolulu : University of Hawaii at Manoa
#VietNam #ĐaoMau #LênDong
Content by Pachcharaporn Supaphol
Graphic by 7pxxch
&Oriental คอลัมน์ที่จะเดินออกจากองค์ความรู้เรื่องเพศแบบหมุนรอบโลกตะวันตก สืบค้นเพื่อพบรากเหง้าของความหลากหลายที่ฝังลึกอยู่ในกายเรา เริ่มที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) พื้นที่ที่เราเกิด เติบโต และอาศัย แต่เรารู้จักมันน้อยกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก
ทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
#Oriental #GenderinSEA#noneurocentric #SEA
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน”กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”