ชื่อฟิลิปปินส์ ถูกตั้งโดยนักเดินเรือผู้ค้นพบเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนในปี
ค.ศ.1251 ก่อนจะนำทัพสเปนเข้ายึดครองหมู่เกาะฟิลิปินส์ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างสังคม และวัฒนธรรมของพวกเขาไปตลอดกาล
ไม่มีใครหนีพ้นกระแสการกลืนกินนี้ได้ไม่ว่าจะเป็น “คน” หรือ “เทพเจ้า” ท้องถิ่นก็ตาม
ก่อนการมาของชาวอาณานิคม ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์บูชาเทพท้องถิ่นมากมายหลายองค์ กระจายไปตามชนเผ่าต่างๆ หนึ่งในนั้นปรากฏเทพเจ้านามว่า Lakapati (ลากาปาติ) มีฐานะเป็นเทพที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์และการเก็บเกี่ยว เป็นผู้ปกปักษ์รักษาพืชผล ตลอดถึงสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ตามตำนานกล่าวถึงลักษณะของ Lakapati ไว้หลากหลาย แต่มีลักษณะเดียวที่ตรงกันคือ การไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด
บ้างกล่าวว่า Lakapati เป็นเทพีข้ามเพศ (Transgender) บ้างก็ว่าเป็นเทพ Intersex ในลักษณะของเป็นชายและหญิงในหนึ่งเดียวกัน บ้างก็ว่าเป็นเทพี androgynous ในบางตำนานเชื่อมโยง Lakapati ว่าเป็นมเหสีของเทพ Bathala ผู้สร้างโลกซึ่งเป็นเทพ intersex เช่นกัน
Lakapati มีบทบาทต่อชาวพื้นเมืองมาก โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ในทุ่งนามักมีรูปแกะสลักของ Lakapati ในรูปกายของเทพีอยู่กลางทุ่ง เมื่อมีการหว่านกล้า เริ่มต้นฤดูกาลทำนา ชาวฟิลิปปินส์ก่อนยุคล่าอาณานิคมจะทำการบูชา Lakapati เสียก่อน ดังมีบันทึกของหนึ่งในคณะมิชชันนารีฟรังซิสกัน (Franciscan Missionaries) กล่าวถึงการบูชา Lakapati ว่าชาวนาพื้นเมืองจะทำพิธีบูชา Lakapati ด้วยการอุ้มเด็กยกขึ้นไปบนอากาศและกล่าวว่า “Lakapati โปรดให้อาหารทาสของท่าน อย่าปล่อยให้เขาหิวโหย” (Lakapati pakanin mo yaring alipin mo; huwag mong gutumin)
การเคารพบูชาเทพ Lakapati จึงสะท้อนให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศในฟิลิปปินส์ก่อนการเข้ามาของสเปนนั้นนอกจากความปกติแล้วยังเป็นความศักดิ์สิทธิ์ การรักและแต่งงานในเพศเดียวกันจะได้รับพรศักดิ์สิทธิ์จากเทพ ทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีข้ามเพศในฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสังคมในช่วงยุคก่อนอาณานิคมก็ได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์เพศหญิงคนหนึ่ง ไม่ถูกกีดกันและจำกัดสิทธิ์ออกจากสังคม ซึ่งชาวฟิลิปปินส์เรียกสตรีข้ามเพศว่า “bakla”
Bakla หรือ กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศในฟิลิปปินส์ จะแต่งกายด้วยชุดของผู้หญิงและแต่งงานกับผู้ชาย ทั้งได้รับการยอมรับและบทบาททางสังคมเช่นเดียวกับผู้หญิงในฟิลลิปปินส์ พวกเขามีอิสระในการหย่าร้างกับสามี ถือครองทรัพย์สมบัติและที่ดินของตนเองได้ นอกจากนี้ Bakla ยังได้รับการยอมรับนับถือในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณอีกด้วย
การศึกษาของการ์เซีย (2004) เรื่อง Male Homosexuality in the Philippines: a short history มีการพูดถึงบทบาทของ Bakla ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณว่า พวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาและหมอผีที่เป็นตัวกลางระหว่างโลกที่มองเห็นและมองไม่เห็น พวกเขาสามารถทำนายอนาคต สยบวิญญาณร้าย รักษาโรคร้ายแรง และสมานสัมพันธ์ให้กับคู่รัก หรือแม้กระทั่งสงครามระหว่างชนเผ่าก็ได้ การ์เซียกล่าวว่าบทบาทที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจเหล่านี้ทำให้ชาวสเปนไม่พอใจ และข่มขู่ Bakla เมื่อพวกเขาเข้ามายึดครองฟิลิปปินส์
เมื่อสเปนเข้ามายึดครองฟิลิปปินส์ พวกเขานํานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามา และเปลี่ยนชาวพื้นเมืองให้เป็นโรมันคาทอลิก พวกเขายุติบทบาทของ Lakapati เทพท้องถิ่นอื่นๆ เมื่อจำกัดสิทธิของเทพได้แล้ว ก็ถือเป็นคราวของมนุษย์ ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ Bakla และสิทธิสตรีในฟิลิปปินส์เริ่มถูกบังคับให้สลายตัวตนและอัตรธานไป พิธีกรรมการทรงเจ้าเข้าผี และบูชาเทพท้องถิ่นดั้งเดิมที่ขัดต่อระบบระเบียบเดิมของเจ้าอาณานิคมต้องหมดไป ไม่ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความเชื่อของเจ้าอาณานิคมผู้ปกครอง ผลักพวกเขาให้เข้าสู่ในโลกที่มีเพียงหญิง และชาย เท่านั้น ดังเช่น พิธีกรรม Obando Fertility ซึ่งเดิมเป็นพิธีกรรมเต้นรำ บูชา Lakapati เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์และความรัก ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นการบูชาต่อนักบุญอุปถัมภ์ทั้ง 3 ของคริสตศาสนาไปในที่สุด การบูชา Lakapati ในวันดังกล่าวถือเป็นการกระทำนอกรีตที่อาจถูกลงโทษ
ในวันนี้นั้นพิธีกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ รูปแบบการบูชายังคงเหมือนเดิม ผู้คนยังคงออกมาร้องรำทำเพลง หากแต่ในขบวนพาเหรด เกวียนที่เคยประดิษฐานรูปของ Lakapati ได้กลายเป็นรูปของนักบุญอุปถัมภ์ทั้งสามไปเสียแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นนักบุญที่เชื่อว่าจะช่วยเหลือผู้หญิงที่มีบุตรยาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณค่าของผู้หญิงในฟิลิปปินส์นั้นถูกยึดโยงกับการมีบุตรธิดาให้กับครอบครัว ต่างกับพวกเธอในร้อยปีก่อนที่มีอำนาจเหนือเรือนร่างของตัวเองมากมายกว่านี้นัก เช่นนั้นแล้วกลุ่มสตรีข้ามเพศเองก็ยิ่งไร้ที่หยัดยืนในสังคม
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในฟิลิปปินส์นั้นถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศคริสเตียนอย่างแข็งขัน ดังที่ประชากรมากกว่า 86% ของประชากรทั้งหมดระบุว่าเป็นคาทอลิก ทั้งกฎหมายหลายฉบับยังสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยม อย่างการห้ามทําแท้ง และการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่จากการสำรวจของปี 2566 จากประชากร 1,200 ทั่วประเทศ 79% สนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นน่าเชื่อถือ (trustworthy) เหมือนกับคนอื่นๆ
แม้การบอกว่าน่าเชื่อถือได้อาจดูไม่ใช่หมุดหมายที่ยิ่งใหญ่นัก เมื่อเทียบกับเป้าหมายหลักคือการยอมรับในความเป็นมนุษย์ แต่นี่อาจเป็นก้าวเล็กๆ สำคัญที่จะขยับขยายสังคมฟิลิปปินส์ให้โอบรับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หลังจากถูกกดทับจากเจ้าอาณานิคมจนกลืนกินเป็นเนื้อเดียวกันนานหลายร้อยปี Lakapati อาจได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกคราในทศวรรษอันใกล้นี้ก็เป็นได้
Reference:
Making Queer History: https://bit.ly/3OGGJCj
Bria: https://bit.ly/45gfxRe
Garcia, Neil J. (2004). Male Homosexuality in the Philippines: a short history. IAAS Newsletter, pp. 13. https://www.npr.org/2023/06/28/1184968364/in-the-philippines-a-survey-shows-growing-support-for-gays-and-lesbians
&Oriental คอลัมน์ที่จะเดินออกจากองค์ความรู้เรื่องเพศแบบหมุนรอบโลกตะวันตก สืบค้นเพื่อพบรากเหง้าของความหลากหลายที่ฝังลึกอยู่ในกายเรา เริ่มที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) พื้นที่ที่เราเกิด เติบโต และอาศัย แต่เรารู้จักมันน้อยกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก
ทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน