แม่จะเดินต่อไปในตลาดแรงงาน | เรื่องเล่าจากแม่ครัว แม่บ้าน และแม่ของลูก

- Advertisement -

21% หรือ 1 ใน 5 ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในประเทศไทย โตมาโดยที่ไม่ได้อยู่กับแม่และพ่อ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวเลขนี้สูงกว่าหลาย ๆ ประเทศในแถบอาเซียน และดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐเล็งเห็นแต่ยังแก้ไม่ได้ถูกทาง

- Advertisement -

ในครอบครัวอุดมคติ แม่คือผู้ที่ต้องอุทิศเวลาที่เหลือในชีวิตเพื่อดูแลลูก แล้วแม่ของเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหน กระแสหลักของสังคมเป็นเวลาหลายสิบปีมองเห็นเด็ก ๆ เหล่านี้อย่างเห็นใจ บางครั้งก็เผลอห่วงไปถึงอนาคตว่าประเทศชาติจะเป็นเช่นไร หากขาด ‘แม่ที่ดี’ คอยดูแลคนรุ่นต่อไปอย่างใกล้ชิด

และบ่อยครั้งความห่วงกังวลก็พาให้เกิดคำถามที่ขาดความเข้าใจ จนลืมไปว่า ‘แม่’ ก็เคยเป็นลูกสาวคนหนึ่งที่เป็นความหวัง เรี่ยวแรง และกำลังของครอบครัวหนึ่งเช่นกัน

#ลูกอยู่บ้านนอกแล้วแม่ไปอยู่ไหน

การมีลูกเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ทุกคนรู้ เช่นเดียวกับแม่ในตลาดแรงงานที่ก็รู้ – แต่เส้นทางชีวิตมันลิขิตให้เป็นเช่นนั้น เมื่อแรงงานหญิงต้องมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในเมืองหลวง การมีคู่ที่คอยดูแล ให้กำลังใจ แบ่งเบาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยกันย่อมดีกว่าการอยู่คนเดียว และการมีลูกก็เป็นไปตามวิถีชีวิตของคนมีครอบครัว สำหรับรายได้และอาชีพของคนพลัดถิ่นที่ไม่ได้มีวุฒิปริญญาตรี หรือแม้แต่มัธยมฯ 6 การกินยาคุมกำเนิดเป็นของสิ้นเปลือง ซับซ้อน และบางครั้งไม่รู้ว่าจะถามวิธีกินที่ถูกต้องจากใคร แม้จะมียาคุมกำเนิดแบบฉีด แต่มันก็เอฟเฟกต์กับร่างกายมากเกินไปจนบางครั้งทำงานไม่ได้ แม้ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเป็นแม่โดยตั้งใจหรือไม่ แต่ความบอบบางของทารกในอ้อมอกก็เป็นความสุขใจเมื่อพูดถึง เป็นความเป็นห่วงตลอดชีวิตของพวกเธอ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องดิ้นรนในตลาดแรงงานตลอดชีวิตที่เหลือ หรือจนกว่าครอบครัวเราจะพ้นความจน.เมื่อตั้งครรภ์ ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงก็เพิ่มพูน และเมื่อคลอดลูก ครอบครัวที่เคยมีรายได้สองทางก็เสียแรงงานไปหนึ่งเพื่อดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัว สำหรับแรงงานชนชั้นกลางที่พอมีทางเลือก การใช้สิทธิลาคลอด 60 วันอาจเป็นเรื่องหนักใจพอตัวอยู่แล้ว แต่สำหรับแม่ที่อยู่ในสถานะแรงงานรายวัน แค่การพักฟื้นไม่ถึงเดือนก็อาจทำให้เสียอาชีพและรายได้ไปทั้งหมด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าทำคลอด ค่าเสื้อผ้า ค่าผ้าอ้อม ค่าที่นอน ค่านมผง ค่าขวดนม คือรายจ่ายที่จำเป็น ยังไม่นับรวมความกดดันจากรายได้น้อยนิดของพ่อที่มักจะเป็นแรงงานรายวันไม่ต่างกัน จนบางครั้งลุกลามไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่แม่ต้องแบกรับความเครียดเพียงลำพัง หนทางเดียวที่แม่ของลูกจะประคับประคองลูกน้อยให้เติบโตไปได้ คือพาตัวเองกลับไปสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง แล้วค่อยพาตัวเองกลับบ้านเพื่อกอบเก็บเศษเสี้ยวความทรงจำที่ได้อยู่กับลูกแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ย้ำเตือนว่าบนบ่ายังมีอะไรให้แบก และการอยู่บ้านต่อไปก็ไม่ใช่ทางออก

แม้งานวิจัย “ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย” (2557) จะชี้ให้เห็นผลกระทบรุนแรงต่อปัญหาพัฒนาการเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์เมื่อต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย สิ่งนี้เป็นความห่วงกังวลของสังคมถึงสวัสดิภาพเด็กเล็กที่อาจจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในภายภาคหน้าในห้วงเวลาที่เด็กแรกเกิดทั่วโลกลดลง แต่ถูกต้องแล้วหรือไม่ที่เด็กคนหนึ่งจะต้องเป็นภาระแต่เพียงผู้เดียวของแม่ที่แบกชีวิตตัวเองก็ยากเย็น และสำหรับแม่ที่เป็นแรงงานย้ายถิ่น นี่อาจเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่เพื่อให้เด็กหนึ่งคนเติบโตได้ดีที่สุดตามกำลังแล้ว

#แม่ไม่อยู่บ้านแต่อยู่ในตลาดแรงงานเพื่อครอบครัวเราพบ ‘แม่ของลูก’ เหล่านี้อยู่ในทุกที่ที่มีชุมชนเมือง แม่ของลูกอยู่ในครัว อยู่ในร้านอาหาร อยู่ในสำนักงาน อยู่ในตลาด อยู่ในไซต์งานก่อสร้าง อยู่ในโรงงาน อยู่ในตลาดแรงงานเพื่อแลกค่าแรงกลับไปจุนเจือปากท้องครอบครัวและลูกเล็ก ๆ ที่มักจะอยู่กับย่าและยาย จนกว่าจะเติบโตบรรลุนิติภาวะและออกหางานทำ เช่นเดียวกับแม่ที่ก็มักจะต้องอยู่ในตลาดแรงงานไปจนเกษียน หรือไม่ก็ถูกเลิกจ้างเพราะมีเรี่ยวแรงน้อยเกินไปที่จะทำงานหนัก เจ็บป่วยมากเกินไปที่จะทำงานได้ต่อเนื่อง หรือค่าแรงมากเกินไปสำหรับงานที่ผู้ว่าจ้างอ้างว่าเป็นงานใช้แรงงาน – ร่างกายที่ทุ่มเทเพื่อค่าแรงรายวันก็ได้ผลตอบแทนแค่วันต่อวัน ไม่มีสวัสดิการใดรองรับ เครื่องมือเพื่อความเป็นธรรมอย่างกฏหมายแรงงานที่ว่าคุ้มครองทุกคนทุกกลุ่มก็ยากเย็นและซับซ้อนเกินกว่าที่คนมีปัญหาปากท้องจะหยิบฉวยมาใช้

การย้ายถิ่นฐานคือตัวเลือกแรก ๆ เพื่อดำรงชีพของแรงงานในไทยจากพื้นที่ชนบทที่ส่วนใหญ่คนรุ่นก่อนหน้าทำไร่ทำสวน เช่นเดียวกับวัยแรงงานในอินโดนีเซีย ในเวียดนาม และในฟิลิปปินส์ที่มักจะเลือกไปทำงานต่างประเทศเพื่อส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว ช่างภาพที่ตามติดชีวิตแรงงานหญิงชาวฟิลิปปินส์ในฝรั่งเศสบอกว่าแรงงานหญิงเหล่านี้ต้องการให้ลูก ๆ มีชีวิตที่ดีกว่า ให้พวกเขาได้เรียนหนังสือและมีงานที่ดีทำ และหวังว่าการอุทิศแรงงานของเธอในต่างแดนจะเป็นหนทางให้คนรุ่นถัดไปของครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน สิ่งนี้เป็นเหมือนประสบการณ์ร่วมของแม่บ้าน แม่ครัว และแม่ของลูกในเมืองหลวงที่ย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงาน ความหวังของพวกเธอคืออยากให้ลูก ๆ ไม่ต้องเหนื่อยอย่างที่เธอเป็น และมีชีวิตที่ดีเท่าที่โชคชะตาของแม่จะนำพาไปได้

คำนิยามของแม่ที่ดีของใครหลายคนอาจเป็นแม่ที่อยู่ใกล้ชิด ทุ่มเทชีวิตเพื่อประคับประคองเคียงข้างลูก แต่สำหรับแม่บางคน การตัดใจจากลูกที่ยังเล็กเพื่อกลับสู่ตลาดแรงงาน อาจเป็นการทุ่มเทสุดชีวิตแล้วที่แม่คนหนึ่งจะทำได้

วันแม่ปีนี้ Spectrum ชวนฟังเรื่องของ ‘แม่’ ที่สังคมมองไม่เห็น จากปากและเสียงที่สั่นเครือแต่ยังยืนหยัดสู้สุดหัวใจในตลาดแรงงาน เพื่อค่าแรงที่จะก่อร่างสร้างฝันของคนรุ่นต่อไป

ขอขอบคุณพี่เอ พี่ขวัญ น้องจอย ยายน้อย และพี่ใย ที่อุทิศเวลาเล่าประสบการณ์ให้พวกเราฟังอย่างเต็มใจ และดูแลลูก ๆ ในออฟฟิศอย่างพวกเราเต็มที่เสมอ.สุขสันต์วันแม่แห่งชาติ แด่แม่ทุก ๆ คน

พี่เอ

“พี่เกิดที่ลาดพร้าว 71 มีพี่น้องมี 5 คน พี่คนโตผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 1 คน พี่เรียนที่โรงเรียนบ้านลาดพร้าวจนถึง ป.6 พอบ้านพี่มันไม่ค่อยมีตังค์ พ่อพี่ตายตั้งแต่พี่เรียนอยู่ ป. 4 พี่ก็ทำงานไปเรียนไป อยู่ ป. 5 พี่ก็มาทำงานอยู่โรงงานทำถาดใส่ของ เป็นไม้ ขัด ๆ ทาทินเนอร์ พอเสร็จก็เอาไปส่งตามร้าน ไปกับเถ้าแก่ เอาไปส่งข้างนอก พี่ทำงานนี้แค่เฉพาะเสาร์อาทิตย์ ได้วันละ 70 บาท พอคนเริ่มไม่ใช้ถาดไม้ เริ่มใช้ถาดพลาสติก พี่ก็ไปหางานอื่นทำ พี่ทำงานโรงงานเย็บกระเป๋า จนได้มาเจอแฟน แฟนพี่เป็นช่างเครื่องทำรถ แต่งงานแล้วก็กลับไปอยู่บ้านแฟน ตอนนั้นพี่อายุ 19 ปี ก็มีลูกคนแรก ตอนนั้นไม่มียาคุมกำเนิดแบบฉีด พี่ก็ยังกินยาคุมไม่เป็น พอมีลูกคนแรก บ้านเราก็เลยไปอยู่กันที่สุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง ไปอยู่กับย่าเขา”

“รายจ่ายกรุงเทพมันเยอะ เงินมันหายาก ตอนท้องพี่ทำงานอยู่โรงงานกระเป๋า ค่าแรงอาทิตย์หนึ่งออกทีหนึ่งแค่สามร้อยกว่าบาท เงินมันน้อย แล้วพี่ก็ลาคลอดไม่ได้ เพราะเรากินแบบรายวัน เขาไม่ได้ให้เป็นเดือน”

“พี่เลยตัดสินใจไปอยู่สุพรรณฯ อยู่ที่นั่น 10 กว่าปีกว่าจะเข้ากรุงเทพฯ มาอีกที พอไปอยู่สุพรรณฯ พี่ก็ทำไร่ เป็นที่ดินทำกินของครอบครัวแฟน เช้ามาพี่ก็จัดข้าวอะไรไว้ให้ลูก แล้วให้แม่แฟนป้อน ช่วงกลางวันเขาก็ช่วยดูลูกสาวคนโต พอเลิกทำไร่ห้าหกโมงพี่ถึงจะมาดูลูกต่อ พอโตขึ้นเขาก็ไปอยู่โรงเรียนอนุบาล พี่ก็ไปคอยรับคอยส่ง รีบกลับจากนาไปรับลูก เพราะว่ามอเตอร์ไซค์มีอยู่คันเดียวที่พี่ก็จะเอาไปไร่ไปนาด้วย เย็นมาก็รีบไปรับลูกกลับมาก่อน แล้วไปไร่นาต่อ เป็นอย่างนี้ประจำ”

“งานทำไร่สามเดือนกว่าจะได้เงินสักที ส่งผ่านพ่อค้าไปกว่าเราจะเบิกได้ก็ต้องทำให้ถึง 7000-8000 บาท พอครบถึงจะทยอยเบิกมาใช้ได้ เงินมันน้อย มันก็เลยไม่พอใช้ เงินก้อนเดียวนี่แหละใช้กันทั้งบ้าน แม่แฟน พ่อแฟนอีก แล้วก็ผัว พี่ และก็ลูก มันก็ต้องใช้ตังค์ อยู่ได้ประมาณ 4 ปีก็มีลูกคนที่สอง งานทำไร่ทำเท่าไรมันก็ไม่เหลือ มันเป็นเงินทางเดียวของทั้งบ้าน พอคนที่สองก็อยู่ ป.2  พี่เลยต้องเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานผู้ช่วยแม่ครัวในร้านอาหาร ได้วันละ 80-90 บาท”

“พอพี่มาอยู่กรุงเทพฯ เขาสองคนก็ขี่จักรยานของปู่เขาไปโรงเรียนกันเอง บางทีเลิกเรียนเขาจะแวะเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน ไม่ค่อยกลับตรงเวลา ทางเข้าบ้านตอนนั้นเป็นป่าอ้อย เปลี่ยว ตอนนั้นไม่มีโทรศัพท์ เราไม่รู้อะไรเลย ย่าปู่เขาก็ไม่ได้มาจี้เหมือนเรา อยู่ได้ไม่เท่าไร เราก็เลยย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ดีกว่า อย่างน้อยเราได้เห็นว่ากลับตรงเวลา”

“พอเขาเข้ากรุงเทพฯ มาไม่กี่ปี น้องเขาเรียนอยู่ ลูกคนโตก็เรียนจบ ป.6 แล้ว เขาทำงานกับเถ้าแก่พี่ที่โรงงานงานเย็บกระเป๋า พลอยช่วยเลี้ยงลูกเถ้าแก่ เขาก็เลยแบบมีตังค์อีกทางแล้วของเขา ตอนนี้ลูกคนโตก็ทำงานที่โลตัส ส่วนคนเล็กก็เป็นช่างล้างแอร์ พี่บอกเขาตลอดว่าให้เขาอยากทำงานนะ แล้วก็ทำตัวให้ดี ไม่อยากให้ไปยุ่งกับเรื่องยาเสพติด”

“อีก 4 เดือนพี่ก็เกษียนแล้ว แต่ก็คงจะทำงานต่อ น้องสาวพี่มีงานสังฆทานที่เอามาทำที่บ้านได้ ก็คิดว่าจะทำงานนี้ต่อไป”

“ยายเกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร อยู่อำเภอไทรงาม เกิดที่อำเภอไทรงามนั่นแหละ แล้วก็โตที่อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พอจบ ป.6 ก็ไม่เรียนต่อแล้ว ใจมันอยากทำงานมากกว่า เพื่อน ๆ ก็ไม่ค่อยเรียนกัน จนอายุ 17 ถึงเข้ากรุงเทพฯ หนีแม่เข้ากรุงเทพฯ มาเลี้ยงเด็ก

“ตอนอยู่กำแพงเพชรก็ค้าขาย ขนมครกบ้าง ขายแกงบ้าง ที่บ้านขายแกงในตลาด แล้วแม่ก็ให้ไปเลี้ยงลูกหมอ เขาก็ให้เลี้ยง เลี้ยงอยู่ไม่กี่เดือน ไม่ถึงปีหรอก เด็กนั่นเขาซนเยอะเกิน (หัวเราะ) ร้านเขาขายยา รื้อหมด แล้วไม่ค่อยนอน เป็นเด็กไม่ค่อยนอน นอนย๊ากยาก แกว่งจนกูนี่จะหลับก่อน ยายนอนบ้านเขา หลับตื่นกินนอนบ้านเขา เคยพูดกับเขาแล้วว่าไม่เลี้ยง แล้วเขาก็บอกว่า ไม่เลี้ยงแล้วใครจะเลี้ยงน้อง เราก็เลยบอกว่า ไม่ไหว เขาก็บอกว่าเลี้ยงเองไม่ไหวถึงให้มาเลี้ยงไง ก็ช่วย ๆ เขาไป เขาก็จ้างเดือนละ 1,500 บาทตอนนั้น พอน้องหลับเราก็หลับ”

“ทำ ๆ ไม่เท่าไรก็มาหุงหาอาหารให้พวกคนงานเลื่อยไม้ ได้ปีละ 5,000 บาท เขาก็ทิ้งตังค์ไว้ให้ซื้อกับข้าว มีประมาณ 5-6 คน ก็มีพี่ชายอยู่ด้วย พอทีนี้เขาเลิกทำกิจการก็กลับมาอยู่บ้าน อยู่กับแม่ เราก็เอาตังค์ให้แม่ ปีละ 5,000 บาท พออยู่กับแม่ไม่นาน เพื่อนก็หนีเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานอยู่โรงงานเบาะ ยายก็หนีขึ้นรถมากับมัน ต้องหนี เพราะคนบ้านนอกเขาไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ ต้องหนีพ่อแม่เข้านะแต่ก่อนนี้ พ่อแม่กลัวโดนขาย โดนหลอก แม่ก็เห็นข่าวหนังสือพิมพ์ แต่เพื่อนมันก็พาไป เที่ยวสว่างอารมณ์ แล้วก็เจอตำรวจในงาน เขาจำได้ว่าเป็นลูกป้าที่ขายแกง เขาเลยกักตัวไว้ 3 ตัวแล้วส่งกลับบ้าน แต่ก็หนีเข้ากรุงเทพฯ มาอีก ก็ไปอยู่แถวปากเกร็ด ไปเลี้ยงเด็ก เดือนไม่ถึง 3,000 บาท แต่ไม่ใช่แค่เลี้ยงเด็ก ต้องทำทุกอย่าง เขาทำอะไรเราก็ทำด้วย กินนอนที่บ้านเขา จนไม่ไหว ก็ย้ายมาทำร้านกระดุมที่นางเลิ้ง มีเจ้าของร้านขึ้นไปหาตอนเรารดน้ำต้นไม้อยู่ชั้น 3 เหมือนเขาจะทำอะไรเราอ่ะ เรายังเป็นผู้หญิงเรา เรายังสาว ก็กลัวเขาทำอะไร ก็เลยออก มาวิ่งวินมอเตอร์ไซค์ที่สิบสามเหรียญ แล้วก็เจอแฟน”

“มีลูกคนแรกตอนอายุประมาณ 20 ยายกินยาคุมไม่เป็น ก็เลยท้อง แล้วก็แท้ง ตอนช่วยแม่ย่าเขาขายของ ไปซื้อขนมที่สะพานบางกะปิ พอกลับมาบ้าน ตอนกลางคืนดึก ๆ มันก็มีเลือดไหล พอไหลปุ๊บสองแถวก็ไปส่งโรงพยาบาลนพรัตน์ เขาก็ถามว่า ทำแท้งหรือเปล่า ยังไม่รู้จักเลยว่าทำแท้งยังไง ก็บอกไม่ใช่ ไม่ได้ทำ รอจนตัวเราจะเขียวอยู่ พอซักญาติเสร็จ เขาถึงฉีดยาไง”

“พอไปอยู่กับแฟนก็กินยาคุม แต่กินกลับหัวกลับหาง ยาคุมเขาให้กินตามอักษร ไอ้นี่กินข้างล่างก่อน พอทีนี้เขาก็เลยบอกให้ไปฉีดยาคุม จะได้ไม่ต้องหลงกิน แล้วก็มีคนบอกว่าถ้าเรามีลูก ถ้าไปกินยาคุมอ่ะนมมันจะแห้ง เราก็เลยไปฉีด พอไปฉีดยาคุม อ้วน เดินจะไม่ไหว”

“เงินในบ้าน พ่อไอ้นุ่นหานั่นแหละ ที่สามีหา ก็กินใช้อย่างนั้นแหละ จนดูแล้วไม่ไหว เขาไม่ได้เงิน แต่พอเงินเขาได้มา เขาจะเอาไปทำธุระก่อน เราได้ทีหลัง แล้วไหนเราต้องกินต้องใช้ค่าบ้านอีก เราทำงานดีกว่า แล้วช่วงนั้นวิ่งวินฯ ด้วย จนวิ่งวินไม่ไหว มันปวดหลังมาก แล้วต้องอั้นฉี่ด้วย ถ้าเกิดเราวิ่งไปไม่เจอปั๊มเราก็ต้องอั้นต่อ จนเราเป็นโรคไต อั้นฉี่ด้วยแล้วก็กินยาชูกำลังกับใบกระท่อมด้วย”

“พอยายทำงานก็ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง แม่ก็เลยขึ้นมาเลี้ยงให้ ตอนนั้นเขาอยู่อยุธยา ทำอิฐอยู่ ตอนนั้นก็ทำงานส่งให้แม่ ให้น้อง ได้ตรงไหนมาก็หมด ลองกันมานาน รับจ้างอะไรก็หมด ไม่มีเงินเหลือเก็บ ของมันแพง”

“ยายอะรักลูกเท่ากันนะ แต่ก็ห่วงไม่เท่ากัน ส่วนพ่อมันรักลูกสาวมาก แต่รักแค่ไหนเขาก็ยังเอาแต่ใจตัวเอง เขาก็ยังมีด่า ทั้ง ๆ ที่เราก็ยังไม่เคยด่าลูก ถ้าคนโตคนกลางเล่นกับน้อง ถ้าแกล้งน้อง คนกลางจะโดนพ่อตี พ่อตบทุกทีเลย เลยบอกมึงไม่ต้องมายุ่งกับลูกกูเลย เขาลำเอียง ไม่ได้มาอุ้มมาป้อน ทำงานมามันก็หลับ เมื่อตอนไอ้คนโตก็ทำงานเสร็จกลับมาก็ใส่รองเท้าไปเตะบอล ไม่ได้มาสนใจลูก”

“ตอนนี้ใกล้เกษียนแล้ว แต่ก็อยากทำต่อ แต่ถ้าออกกองก็ไม่ไหวแล้ว ขามันไม่ได้แล้วไง ข้อมันเสื่อม หมอจะผ่า แต่มันจะผ่าตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วนะ ยายน้อยไม่ผ่า ก็เดินมาจนป่านนี้ แต่ถึงจะไม่ได้ทำต่อที่นี่ ก็ต้องหาทำอ่ะลูก ก็ต้องหาทำอยู่ดี ที่บ้านก็ให้กลับไปอยู่บ้าน มันไปไม่ได้ เพราะคนป่วยรายจ่ายที่ต่างจังหวัดมันเยอะนะ แฟนยายต้องฟอกไต กำแพงเพชรฟอกไม่ได้ก็ต้องไปพิษณุโลก รอบละพันสองพัน ไหวเหรอ ต้องเหมารถเข้าไปนะ”

“พ่อแม่พี่เอแม่เป็นสาวโรงงานเหมือนกัน พ่อก็เป็นหนุ่มโรงงานซึ่งเป็นช่าง รู้สึกว่าเป็นสาวทอผ้า สาวฉันทนา สมุทรปราการ พ่อกับเเม่เล่าให้พี่เอฟัง ว่ามีลูกคนแรกซึ่งเป็นพี่เอที่เกิดทีนี่ กลับไปเรียนอนุบาลก็กลับเอาไปให้ยายเลี้ยงที่เกาะสมุย  เรียนจบประถมฯ แล้วก็มัธยมฯ นี่ไม่จบ เพราะด้วยความที่นิสัยเป็นวัยรุ่นไม่เรียนดีกว่าไม่สนุกเลย ก็พอทำบัตรประชาชน พ่อกับแม่เอามาฝากซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีอยู่ที่โรงงานทอผ้าซึ่งพ่อกับแม่อยู่อีก มันก็เลยมาเป็นสืบว่ารับลูกฉันไว้ด้วยนะ พี่เอก็มาเป็นรุ่นลูกที่เป็นมาเป็นสาวฉันทนา เข้ากรุงเทพฯ มาใหม่ ๆ ก็เป็นสาวโรงงานทอผ้า ก็เป็นวัยรุ่นธรรมดา สาวโรงงาน ชีวิตก็สบายดี ทำงานเป็นกะ”

“อยู่ ๆ ไป พี่เอก็ไม่ได้ชอบหนุ่มในโรงงานเดียวกันนะคะ ไปชอบหนุ่มโรงงานข้าง ๆ เป็นหนุ่มไฟฟ้า จนมาอยู่โรงงานรองเท้า แฟนคนแรกเขาสุขภาพไม่ค่อยดี ก็จากกันไป เสียชีวิตจากกันไป ก็จนพี่เอไปทำงานโรงงานอยู่แถวดาวคะนอง วันหยุดก็แวะมาหาอาที่มีนบุรี พ่อของลูกพี่เอเป็นเพื่อนกับอา อายุมากกว่าประมาณ 10 ปีได้”

“ตอนนั้นก็ทำงานอยู่โรงงานรองเท้า คิดว่ารักกัน อยู่ด้วยกัน แล้วก็ยังทำงาน อยู่ไปอยู่มาแล้วก็ท้อง พอเราท้องแก่เขาก็บอกให้เราออกจากโรงงานรองเท้ามาอยู่คอนโดฯ เขา คอนโดฯ เขามันไกล ก็มาอยู่กับเขา มีพี่สาวของเขาอยู่มาด้วยกัน”

“เขาเป็นคนที่กินเหล้า สูบบุหรี่ พูดจาไม่เพราะ ตอนพี่เอท้อง พี่สาวของเขาดูแล เขาไปเป็นเพื่อน เขาก็พาไปฝากท้อง เขาก็เมาตามประสาของเขาไป เรื่องดูแลซื้ออะไรมาให้ทานก็เป็นป้าเขา เงินพี่เอก็ไม่ค่อยได้ใช้ ก็กินกับเขา แล้วก็พอช่วงคลอด คลอดที่โรงพยาบาลราชวิถี ทุกวันนี้เวลารู้สึกว่าอดทนอะไรไม่พอ ให้นึกถึงตอนที่คลอดลูกเลย”

“ตอนที่ปากมดลูกมันเปิด มันเปิดได้น้อย มันเปิดได้น้อย หมอฉีดยาเร่ง ยาเร่งมันทำให้มันปวด มันปวดมาก มันปวดจนไม่รู้จะปวดยังไง รู้สึกว่าสามทุ่มก็คลอด เป็นผู้หญิง แล้วโรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาลที่ห้ามนำขวดนมเข้าไป ไม่ให้กินขวดนม ให้กินนมแม่เท่านั้น ตอนคลอดใหม่ ๆ พี่เอก็ไม่มีนม แล้วก็ห้ามเฝ้า อยู่ห้องรวม เขาก็เอาเข็นลูกมา แล้วเขาก็บอกว่าคุณแม่ค่ะ เอาน้องเข้าเต้าค่ะ เขาก็จะให้นมผงเป็นออนซ์ ช่วงตอนดึกหนึ่งออนซ์ น้ำนมก็ไม่มี ดูดไปเลือดมันก็ออก แต่ก็หมอเขาก็ยังให้ บอกว่าเดี๋ยวมันก็มีมา จนกลับมาบ้าน ป้าเขาก็สรรหาอะไรมาให้กิน น้ำนมก็ยังไม่ค่อยมี เขาก็ยังพูดว่าแล้วเธอมีเงินซื้อนมให้ลูกกินเหรอ ก็ลองดู เขาก็สรรหาต้มหัวปลีต้มข่า ต้มขาหมู ต้มหัวปลี ปั่นน้ำขิงอะไรหลาย ๆ อย่าง เขาเป็นคนทำให้ เคล็ดลับที่ทำให้นมมีเยอะมากก็คือต้มมะละกอใส่ขาหมู”

“น้องออมไม่เคยใส่แพมเพิร์ส เลี้ยงเอง งานก็ไม่ได้ทำ น้องออมถึงแบบไม่เคยกินขวดนม ไม่เคยมีแพมเพิร์ส แล้วน้องออมกินนมแม่หนึ่งปีครึ่งเดือน เขาถึงแข็งแรง เขาไม่ค่อยป่วย”

“พี่เอก็อยู่เลี้ยงลูกจนเตรียมเข้าอนุบาล สองขวบครึ่ง ป้าเขาเลี้ยงลูกให้ พี่เอก็อยากหางานทำ ก็ไปสมัครแม็คโครที่บางกะปิอ่ะ ไปทำงานแค่วันเดียว เขาบอกให้ไปลาออกไม่ต้องทำ แต่ว่าความที่เราอยากทำงานแล้ว ลูกก็เดินได้แล้ว ก็มีป้าเขาอยู่ด้วยไง แต่เขาเป็นคนขี้หึงไง เขาเป็นคนขี้หึงมากมาก ถ้านั่งกินข้าวอยู่กับผู้ชายจะโทรลงมาแล้ว เวลาเมาไม่เคยพูดจาเพราะ สารพัดคำหยาบคายที่มันออกมา ตบตีร่างกาย หน้าตาเสียก็มาทำงานนะ 

“ตอนนั้นที่ออฟฟิศจัดงานปาร์ตี้ที่มันเป็นธีมอินเดีย ความที่ว่าเราหน้าตาเป็นแบบนี้แล้วก็มีพี่เขาอยากให้ไป เขาก็โบ๊ะหน้าให้หมดเลยนะ ทำให้หมดเลยนะที่เขียว ๆ ที่ตาแตก พี่เอเลยได้ไปกับเขา ถึงเวลาตอนนั้นถ้าพูดตรง ๆ นะชีวิตครอบครัวเคยมีคำว่าตีกัน มีดฟันกัน จนต้องให้พ่อแม่ขึ้นมาแล้วก็หย่ากันไปแล้วนะหนึ่งรอบ แต่มันยังไม่ขาดกัน เวรกรรมมันไม่จบก็กลับมาใหม่ ก็กลับมาคืนดีกับเขาใหม่ ป้าเขาก็ยังเลี้ยงลูกอยู่ พอวันหยุดเราก็จะมารับไป”

“จนป้าของน้องออมเขามีแฟนเป็นญี่ปุ่น เขาก็ไปอยู่พัทยา น้องออมก็ไปอยู่กับเขา วันหนึ่งเขาเมาไม่รู้เรื่องเลย พี่เอก็หนี จนพี่ กลับไปเอาลูกที่พัทยา กลับไปส่งที่สมุย แต่เขาบอกว่าเขาก็อยากได้ลูกของเขา ถ้าอยากหย่า เธอต้องเอาลูกมาแล้วฉันจะหย่าให้เธอ”

“น้องออมไปอยู่สมุย กลับไปเข้าป.1 เขาเป็นคนที่พูดกรุงเทพฯ กับภาษาใต้มันจะต่างกัน แต่น้องออมเป็นคนเข้มแข็งนะ พี่เอเอาขึ้นเครื่องแล้วไปส่งที่สมุยเอาให้พี่อยู่กับเขา 3 วัน แล้วก็บอกว่าหนูอยู่กับยายนะ หนูต้องเรียนหนังสือทีนี่ เขาไม่ร้อง ไม่อะไรเลย”

“สมัยเซเว่นมันจะมีสโมกกี้ไบท์  ชีวิตที่มีความสะดวกสบาย มีดินสอยางลบน่ารัก ๆ เราส่งไปให้แล้วเขาจะบอกว่า แม่เพื่อนขโมยของหนู แล้วภาษาก็ไม่ได้ คนที่สมุยจะพูดใต้ น้องออมจะพูดกรุงเทพฯ บางคำมันฟังกันไม่ออก น้องออมก็บอกว่าแม่ เพื่อนตีหนู คุยกันไม่รู้เรื่อง ยายก็พาหนูไปซื้อสโมกกี้ไบท์ไม่ได้ ยายไม่รู้จัก พอวินาทีสุดท้ายที่คำพูดหนึ่งคือ ยายเขาบอกว่าโทรคุยกับลูกเธอหน่อยสิ ก็ลูกเธอไม่ยอมอาบน้ำไปโรงเรียน ก็เลยบอกว่ามันเป็นยังไงลูก น้องออกบอกว่าหนูไม่อยากไปโรงเรียนแม่ ตอนเช้าพี่เอก็เข้ามาลางานเลย ไปสนามบิน ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปสมุย เอารถตู้จากสมุยไปส่งหน้าบ้าน แล้วก็บอกเขาว่าพรุ่งนี้เช้ามารับจากหน้าบ้านไปสนามบินเพื่อกลับกรุงเทพฯ โดยเอาน้องออมกลับ ตอนนั้นพี่เออาจจะคิดผิด นึกถึงหัวอกของคนที่เขาเลี้ยงมาได้สักพักหนึ่งแล้วเข้าใจใช่ไหม เขาเสียใจ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ พี่เอตั้งใจว่าเอาไปคืนพ่อเขา แล้วพ่อเขามารับที่เขตบางกะปิ มาหย่า”

“เขาก็เอาไปให้ป้าเขาเลี้ยง แล้วพอไปอยู่กับป้าเขาก็กุกๆ กักๆ ป้าเขาเขาก็ให้เจอนะ แต่เราทำงานที่นี่ กว่าพี่จะไปพัทยาก็นั่งจากนี่ไป 2 ชั่วโมง กลับ 2 ชั่วโมง ไปถึงก็เหมือนกับเหมือนกับความรู้สึกมันก็กลายเป็นคนอื่นกันไปหมดแล้ว ป้าเขาก็เหมือนคนอื่น  รู้สึกว่าลำบาก ร้องไห้เพราะว่าฉันไปหาลูก แล้วมันลำบาก ไปแล้วมันก็ไม่มีที่ให้นอน บางครั้งไม่รู้จะไปยังไงก็เหมารถตู้ไปก็ไปนะ เหมารถกระบะไปก็ไป จนเขาโต ทุกวันนี้เขายี่สิบสองแล้วนะ เห็นว่าออกมาเช่าคอนโดอยู่เองแล้ว ก็ตามนั้นลูก นี่แหละชีวิต”

“อีกไม่กี่ปีก็เกษียนแล้ว พี่เอเคยคิดว่าอยากกลับไปเปิดร้านที่สมุยนะ แต่เงินที่เก็บ ๆ มา ช่วงโควิดแค่แป๊บเดียวมันก็หมด เพราะคนมันตัวคนเดียว แต่พี่เอก็อยากจะไปมีร้านขายของชำใกล้ๆ กับสำนักงานทนายของน้องชาย แต่ถ้าไปตอนนี้มันคงเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ส่งเงินไปเพื่อซื้อตู้แช่ ส่งไปเพื่อซื้อเชลฟ์ ส่งไปเพื่อซื้อนู่นนี่นั่น แล้วเราค่อยเอาตัวเองออกไป หรือว่ารอให้เราปลดเกษียณแล้วก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้ปลดหนี้ ธกส. ให้พ่อกับแม่ไปก่อน”

“จอยค่ะ อยู่ที่ สปป. ลาวค่ะ หนูเริ่มมาทำงานที่ประเทศไทยตอนอายุ 14 ตอนนี้อายุ 27 อายุค่ะ งานแรกหนูก็มาทำเป็นงานร้านข้าวต้มนี่ล่ะค่ะ ข้าวต้มกลางคืน ร้านอาหารกลางคืน เปิดประมาณตอน 5 โมง ปิดตอนเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง เวลาปิดเราก็อาจจะมีไปเที่ยวบ้างอะไรบ้าง ตอนนั้นทำงานที่สกลนคร ใกล้ชายแดน เพราะมันเข้ามาง่าย ยังไม่ได้เข้ามาทำกรุงเทพ จนอายุ 16 หรือ 17 ปี แล้วก็มีแฟนค่ะ มีแฟนแล้วก็แต่งงาน แฟนเป็นคนลาวเหมือนกัน”

“พอรู้ว่าท้องก็เลยกลับไปสปป.ลาว กลับไปคลอดที่นู่น ช่วงที่ท้องก็ไม่ได้ทำงาน ที่นู่นเขาไม่ให้ทำงาน รายได้ตอนนั้นมาจากพ่อแม่หนูค่ะ แล้วก็แฟนด้วย ครอบครัวเขาทำงานเปิดร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ จนตอนลูกอายุประมาณขวบ 6 เดือน เงินมันมีไม่พอ ค่าใช้จ่ายค่ะ แล้วลูกเขาก็โตด้วย ค่าใช้จ่ายก็ไม่พอ ก็ต้องมาหาเพิ่ม ลูกก็อยู่กับปู่กับย่าค่ะ”

“คนที่นู่นเขาแต่งงานเขาก็มาทำงานที่นี่กันหมดเลยค่ะ ด้วยเศรษฐกิจด้วยแหละค่ะ ที่นู่นไม่มีโรงงาน ไม่มีอะไรให้เราทำเหมือนที่นี่ค่ะ ที่นี่ยังมีงานเยอะแล้วก็ค่าแรงก็เยอะกว่า ก็ดีกว่าก็เลยมา แต่ก็พาลูกมาด้วยไม่ได้ ถ้าเข้ามาก็จะเป็นบัตรท่องเที่ยว ถ้าเป็นบัตรท่องเที่ยวเขาก็ต้องต่อทุกเดือนใช่ไหมคะ ก็ให้เขาเรียนที่นู่นก็ยังดีกว่า”

“ได้กลับบ้านก็แค่ปีละครั้งค่ะ ปกติเป็นเทศกาลปีใหม่ มันหยุดยาว แล้วก็กลับหาพ่อหาแม่ ไม่ได้กลับบ่อย ๆ ก็เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายนี่แหละค่ะ ถ้าเรากลับบ่อยแล้วค่าใช้จ่ายเราก็เยอะนะคะ ก็เลยเลือกแบบปีละครั้ง ต้องต่อรถทัวร์ข้ามชายแดน จากกรุงเทพไปนครพนมก็ 11 – 12 ชั่วโมงค่ะ แล้วก็ต่อรถทัวร์ข้ามชายแดน ปีละครั้งก็ได้เจอกัน คุยกันอาทิตย์ละครั้ง เวลาคุยก็ถามว่าทำอะไรอยู่ กินข้าว ได้อ่านหนังสือบ้างไหม ได้ช่วยปู่กับย่าทำงานบ้านบ้างไหมเดี๋ยวนี้มันก็เห็นหน้ากันได้แล้วค่ะ เจอหน้ากันได้ ตอนนี้เขา 10 ขวบแล้วค่ะ แต่เขาจะสนิทกับน้าเขามากกว่า เพราะน้าเขาเป็นคนดูแล กับเราก็ไม่สนิท”

“ตอนแรกที่มามันคิดถึงมากค่ะ น้ำตาไหลเลยตอนที่จะต้องตัดสินใจ กว่าจะชินก็ 2-3 เดือน แรกๆ ก็ร้องไห้ทุกคืน คิดถึง แต่นี่ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ มันเป็นความทรงจำที่มันลำบากนะพี่ ตอนนั้นก็ไม่อยากมี เพราะว่ามันใช้อะไรเยอะ อยากมีลูกคนเดียวก็พอ ตอนที่ท้องก็คิดอะไรไม่ออกเลยค่ะ เพราะว่ามันไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย อยู่ดี ๆ เขาก็เกิดมาเอง เราก็ต้องยอมรับ”

“ความฝันหนู ถ้าทำงานที่นี่นะคะ ความตั้งใจตอนนี้ก็อยากจะสร้างบ้าน อยากจะมีพื้นที่เล็ก ๆ ปลูกผักปลูกหญ้าไว้กิน แล้วก็ขายของ อยู่กับลูกค่ะ ไม่ได้อะไรมากมาย”

“ไม่อยากให้เขามาเจออะไรเหมือนเราค่ะ อยากให้เขาเรียนสูง ๆ มีหน้าที่การงานแล้วก็ไม่ต้องมาทำงานเหมือนเรา ถ้าเป็นเหมือนเรา ถ้ามีครอบครัวก็คงต้องมีชีวิตเหมือนเรา ต้องฝากลูกไว้กับเรา ต้องทิ้งลูกมาอีก คนที่นู่นมักจะเป็นอย่างนั้น พอมีลูกมีกี่คนก็ต้องอยู่กับพ่อกับแม่ แล้วก็ต้องจากลูกมาทำงานที่ไทย เป็นความรู้สึกที่ลำบากมากเลยนะคะ ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากทำแบบนี้”

อ้างอิงประชาไท: https://bit.ly/3L0lLxd
Unicef: https://bit.ly/3OzL0ai

#SPECTRUM#พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”




- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me