เป็นผู้หญิงต้องกลัว ต้องรู้จักความกลัว พวกเธออ่อนแอ รอคอยการปกป้องจากเพศชาย แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ช่างน่ากลัว น่าเกลียดและอันตรายมากพอที่จะคุกคาม ล่อลวงเหล่าผู้ชาย ผู้เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์สังคมนี้ ให้ประสบกับหายนะ
ผู้หญิงรับบทสัตว์ประหลาดน่ารังเกียจให้กับสังคมมาอย่างยาวนาน ลิลิธผู้ดื้อรั้น เมดูซ่า พรายน้ำ แม่มด ไปจนถึง เสือสมิง หญิงชุดขาว ผีนางรำ ไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหน ภาพของผู้หญิงที่ถูกทำให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ก็ยังคงได้รับความนิยมเป็นนิยายขายดีในโลกวรรณกรรมและภาพยนตร์ ควบคู่ไปกับการเป็นเรื่องจริงน่าเจ็บปวดในโลกของปิตาธิปไตยว่าผู้หญิงต้องแบกรับความกลัวและเป็นสิ่งน่ากลัว ต้องถูกควบคุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ทว่าไม่เพียงแต่การเป็นหญิงเท่านั้นที่สั่นคลอนความเป็นชาย องค์ประกอบของความเป็นหญิง มดลูก โยนี เลือดระดู และความสามารถในการให้กำเนิดชีวิต สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองว่าน่ากลัวและสยดสยอง จนนำไปเป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่งชั่วร้ายให้โลกของวรรณกรรมและภาพยนตร์
SPECTROSCOPE: ‘Monstrous-Feminine’ เมื่อความเป็นหญิง…คือสิ่งชวนสยองในโลกของผู้ชาย
บาร์บารา ครีด (Barbara Creed) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เธอสำรวจการสร้างสัตว์ประหลาด ปีศาจ หญิงสาวที่ถูกผีสิงในโลกภาพยนตร์ และให้กำเนิดคำว่า ‘Monstrous-Feminine’ ซึ่งสะท้อนความกลัวของเพศชายต่อความเป็นหญิง ซึ่งปรากฎในภาพยนตร์สยองขวัญต่างๆ ตั้งแต่เอเลี่ยนจากต่างดาวถึงแม่มดสาวแครี่ โดยใช้มุมมองของ เฟมินิสม์และการวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา อธิบายถึงการนำองค์ประกอบของความเป็นหญิงในแง่ของการเจริญพันธ์และการเป็นมารดา มาทำให้สยองขวัญในลักษณะต่างๆ
บาร์บาราใช้ภาพยนต์เรื่องเอเลี่ยน สะท้อนภาพของความน่ากลัวจากความสามารถในการให้กำเนิดและความเป็นแม่ ด้วยรูปร่างของพวกมันที่มีส่วนเว้าโค้งแบบผู้หญิงแต่มีส่วนหัวคล้ายอวัยวะเพศชาย ทำให้เอเลี่ยนเป็นเหมือนเพศหญิงที่แสดงความต้องการทางเพศอย่างเปิดเผย ตัวอ่อนของพวกมันเรียกว่า เฟซฮักเกอร์ (Facehugger) มีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากอวัยวะเพศหญิง มีความสามารถเกาะติดใบหน้าของเหยื่อ เพื่อสอดท่อฝังน้ำเชื้อลงไปในตัวเหยื่อ ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากการมีเพศสัมพันธ์หากแต่ในมุมผู้สร้าง นี่กลับเป็นเพศสัมพันธ์ที่ดุร้ายและเหยื่อคือบรรดาเพศชาย ที่ถูกเพศหญิงที่กระหายทางเพศไล่ล่า ฝังตัวอ่อนในร่างกายของพวกเขา ความน่ากลัวที่ผู้หญิงต้องคลอดลูก เต็มไปด้วยเลือด และของเหลว ถูกสะท้อนผ่านภาพของตัวอ่อนเอเลี่ยนที่แหวกทะลุกลางอกของเหล่าชายโชคร้าย
บาร์บารายังได้ตั้งข้อสังเกตกับภาพยนตร์สยองขวัญในตำนานอย่าง The Exorcist ว่า เป็นการประณามความน่ารังเกียจของร่างกายผู้หญิง หญิงสาวที่ถูกสิงทำให้เกิดความรู้สึกขยะแขยงเพราะเธอเผชิญหน้ากับเพศชาย (บาทหลวง) ซึ่งเข้ามาจัดระเบียบความชั่วร้ายนี้ ด้วยของเหลวและพฤติกรรมน่าสยดสยองเหล่านั้น คือ เลือดที่ไหลผ่านช่องคลอง แผลหนองตามตัว อาเจียน และการปัสสาวะลงพื้นของเธอ ในขณะที่การปัสสาวะลงพื้นของเพศชายนั้นกลับดูปกติ ไม่น่าสยองแต่อย่างใด ความน่ากลัวของระบบเจริญพันธ์ุของเพศหญิงยังแสดงให้เราเห็นในเรื่อง สาวสยอง (Carrie) เมื่อการมีประจำเดือนตามปกติ คือจุดเนิดของความชั่วร้าย
มาที่ฝั่งไทยกันบ้าง เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ก็ดังเป็นพลุแตก ด้วยความน่ากลัวของอีมิ้ง ที่แสดงลักษณะของ ‘Monstrous-Feminine’ ได้อย่างสมบูรณ์ทั้งเลือดระดูที่ไหลทะลัก พฤติกรรมทางเพศของเธอ และพฤติกรรมหญิงเสเพล ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน จนทำให้เธอเหมาะสมที่จะเป็นปีศาจร้ายทั้งในโลกของเรื่องเหนือธรรมชาติ และโลกของชายเป็นใหญ่ที่สอนให้ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี
บาร์บาราให้เหตุผลของความกลัวและรังเกียจผู้หญิง โดยการโจมตีปมโอดิปุสของฟรอยด์ ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ถูกตอนอวัยวะเพศชายออกไป เป็นมนุษย์ที่บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ และอิจฉาผู้ชาย บาร์บาราแย้งว่า แท้จริงแล้วผู้ชายมองผู้หญิงน่ากลัว เพราะความเป็นอื่น ต่างจากตนเองที่พวกเขาไม่สามารถจัดระเบียบมันได้ ผู้หญิงนั้นสมบูรณ์ได้โดยไม่มีองคชาต เพราะหากผู้ชายถูกตัดตอน พวกเขาจะกลายเป็นหมันและได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่เพศหญิงไม่เป็นอะไรเลย ความกลัวต่ออวัยวะเพศหญิงจึงสะท้อนถึงการกลัวถูกตอนอีกด้วย ดังที่มีเรื่องเล่าขำขันว่าในช่องคลอดของผู้หญิงนั้นมีฟันซ่อนอยู่ หรือที่ปรากฎในภาพยนต์เรื่อง The Teeth กลีบเขมือบก็สะท้อนความกลัวถูกตอนได้เป็นอย่างดี
นอกจากอวัยวะเพศ ความสามารถในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ อย่างการมีประจำเดือนตามรอบเดือนก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสิ่งน่ากลัว การให้กำเนิดทารกที่ต้องผ่านพิธีกรรมน่าเจ็บปวด และเกี่ยวข้องกับความเป็นและความตาย ก็เป็นสิ่งที่เพศชายไม่อาจเข้าใจและหยั่งรู้ได้
ความเป็นหญิงจึงกลายเป็นสิ่งลึกลับ แปลกประหลาด และอันตราย เพราะร่างกาย และอำนาจทางเพศทั้งหมดของเธอเกินความเข้าใจของโลกปิตาธิปไตยที่ความเหมือนเดียวของพวกเขาคือการรายล้อมด้วยองคชาตินั่นเอง
#monstrousfeminine #Misogyny #Menstruation #Flim #Psychoanalysis
Content by Pachcharaporn Supaphol
Graphic by Chutimol khuntong
อ้างอิง
Creed, Barbara. The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis. 1 edition, Routledge, 1993.
CAITLIN DUFFY : http://bit.ly/3OgNV7g
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน