- Advertisement -
“เตือน “ฝีดาษลิง” เสี่ยงระบาดในไทย
กลุ่มชายรักชายมีเซ็กซ์ พึงระวัง”
“มั่วเซ็กซ์เสี่ยงติดโรคฝีดาษลิง
ถุงยางอาจกันไม่อยู่ เตือนรับเชื้อโดยไม่รู้ตัว”
“ผวาอีก! อังกฤษเจอคนติด ‘ฝีดาษลิง’
อีก 4 ราย ชี้พบในกลุ่มเกย์”
“ระทึกเลย! คาดสัปดาห์หน้าเจอแน่
ป่วยฝีดาษลิงในไทย จากงาน ‘ไพรด์พาเหรด’ ที่ กทม.”
ในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หลังทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 16,000 คน ใน 75 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย โดยความเสี่ยงของโรคฝีดาษลิงทั่วโลกอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นในทวีปยุโรปที่อยู่ในระดับสูง
ในขณะเดียวกัน โครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ (UNAIDS) ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการ ‘ตีตรา’ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน พร้อมเรียกร้องให้สื่อ รัฐบาล และชุมชนต่าง ๆ ตอบสนองต่อข่าวนี้ด้วยวิธีการที่คำนึงถึงสิทธิ และหลักฐานตามที่ปรากฏ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตรา และการเลือกปฏิบัติต่อไป
SPECTROSCOPE: Monkeypox – ฝีดาษลิง โรคระบาดที่มากับการตีตรา LGBT+
‘กลับมาอีกครั้งกับสื่อ และการตีตรา’ – นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2022 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกในรอบหลายปี จนถึงปัจจุบันที่พบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกนั้น มีสื่อหลายสำนักทั้งไทย และต่างชาติ ได้ใช้ภาษาที่ตอกย้ำทัศนคติแบบเหมารวมและตีตรากลุ่มเพศหลากหลายเพื่อรายงาน และติดตามการแพร่ระบาดดังกล่าว
โดย UNAIDS ระบุว่า รายงานหลายฉบับเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงได้ ‘ตอกย้ำทัศนคติแบบปรักปรำ การเหยียดเพศ การแบ่งแยกเชื้อชาติ และทำให้การตีตราทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น’
“การตีตรา และการกล่าวโทษบ่อนทำลายความไว้วางใจ และความสามารถในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการระบาดเช่นนี้” แมททิว แควานอ (Matthew Kavanagh) รองผู้อำนวยการบริหาร UNAIDS กล่าว
เนื่องจาก UNAIDS มีประสบการณ์เรื่องผู้ป่วยเอชไอวีและเอดส์ที่ถูกตีตราจากคนในสังคมตอนช่วงแพร่ระบาดในทศวรรษที่ 80-90 แควานอ จึงเสริมอีกว่า การใช้วาทศิลป์ที่ตีตรา เป็นการปลุกปั่นวงจรแห่งความกลัว ขับไล่ผู้คนให้ออกจากบริการด้านสุขภาพ ขัดขวางความพยายามในการระบุความแตกต่างระหว่างแต่ละกรณี ทั้งยังส่งเสริมมาตรการลงโทษที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
‘มารู้จักฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox)’ – เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ซึ่งแพร่จากลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ฟันแทะ และคนสู่คน ซึ่งถือเป็นโรคเก่าระบาดใหม่ แต่ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับปี 1970
อาการเบื้องต้นของฝีดาษลิงนั้น มีระยะฟักตัวประมาณ 5-13 วันต่อด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ก่อนพัฒนาเป็นตุ่มใสคล้ายอีสุกอีใส ตุ่มน้ำเหลือง และตกสะเก็ดในท้ายที่สุด โดยรวมแล้วจะหายเองภายใน 2-4 สัปดาห์ ปัจจุบันสามารถใช้ยาต้านไวรัสที่พัฒนาขึ้นสำหรับรักษาไข้ทรพิษในการรักษาโรคฝีลิงได้เช่นกัน
‘ฝีดาษลิงติดต่อกันได้อย่างไร?’ – เชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่มีตุ่ม ผื่น เลือด และสารคัดหลั่งในร่างกาย รวมไปถึงจากการไอ จาม และจากละอองฝอยของทางเดินหายใจ หรือระหว่างการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การจูบ การกอด หรือการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางปาก ทวารหนัก หรือช่องคลอด
‘ถ้าอย่างนั้น ฝีดาษลิงก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?’ – จากข้อมูลล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC: The Centers for Disease Control and Prevention) พบว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำอสุจิหรือของเหลวในช่องคลอดได้หรือไม่ ดังนั้นโรคฝีดาษลิงยังไม่ได้ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นว่า ทุกคนสามารถเป็นโรคฝีดาษลิงได้ แต่ในการระบาดครั้งล่าสุดนั้น มีการนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติมากมายที่แฝงไปด้วยการตีตรากลุ่มชายรักชาย และไบเซ็กชวลเมน ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แม้ฝีดาษลิงจะติดต่อผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศวิถีแต่อย่างใด จนราวกับว่าประวัติศาสตร์อาจกำลังจะซ้ำรอยเหมือนช่วงที่มีการระบาดของ HIV/AIDS ที่ยังคงมีการผูกติดโรคนี้กับ LGBT+ มาจนถึงปัจจุบัน
‘ #โรคระบาดไม่เลือกเพศ ’ – ดร.จอห์น บรูกส์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค เน้นย้ำว่า ทุกคนสามารถเป็นโรคฝีดาษลิงได้โดยการสัมผัสและใกล้ชิดกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด และความเสี่ยงก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในชุมชนเกย์และไบเซ็กชวลเท่านั้น
“ชีววิทยาไม่สนใจเรื่องเพศของใคร ทุกคนสามารถเป็นโรคฝีดาษลิงได้” – ดร.เดเมตร ดาสกาลากิส ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค กองป้องกันเอชไอวี/เอดส์ อดีตนักเคลื่อนไหวด้านเอชไอวี ผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและเป็นผู้นำโครงการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จำนวนมากในนิวยอร์กซิตี้ กล่าว
“น่าเสียดายที่ไวรัสโจมตีโซเชียลเน็ตเวิร์กของเกย์ก่อน แต่มันจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะชายรักชายเท่านั้นหากมันแพร่กระจายไปแล้ว ทุกคนสามารถรับมันได้ และทุกคนสามารถเป็นโรคฝีดาษได้จากการสัมผัสกับแผล การสัมผัสวัตถุ และทางระบบทางเดินหายใจ ไวรัสไม่เลือกปฏิบัติและไม่สนใจว่ามันจะเข้าสู่ร่างกายยังไงหรอกนะ”
นอกจากนี้ ดาสกาลากิสยังบอกอีกว่า ชุมชนเพศหลากหลายกำลังถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัส ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกตีตราว่าอัปยศในยุคปัจจุบัน และเขารู้สึกว่าข้อความบางอย่างที่เชื่อมโยงชายรักชายและโรคฝีดาษลิงนั้นควรจะหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่แรกแล้ว
“สำหรับผม สถานการณ์ทั้งหมดนี้เหมือนย้อนกลับไปเมื่อมีการระบาดของเชื้อ MRSA (เชื้อแบคทีเรียที่พัฒนาจนเกิดอาการต่อต้าน หรือที่เรียกว่า การดื้อยา) ครั้งแรก ซึ่งเกิดจากชายรักเพศเดียวกันเป็นครั้งแรกในปี 2018” เขากล่าว
โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีรายงานว่าการติดเชื้อ MRSA เกิดขึ้นกับเกย์ ก่อนจะมีการอธิบายในภายหลังว่า MRSA เริ่มแพร่กระจายในโรงยิม เรือนจำ และสถานที่อื่น ๆ ที่ผู้คนรวมตัวกันหรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งช่วยคลี่คลายข่าวลือที่ว่า MRSA แพร่กระจายผ่านชุมชนเกย์เท่านั้น
“การปักหมุดว่าไวรัสและการถ่ายทอดไวรัสขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะมันสามารถส่งผลต่อความรู้ การรักษา และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของไวรัส” เขาอธิบาย “คนที่ไม่ใช่เกย์อาจจะพอใจที่คิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา ความอัปยศที่เกิดขึ้นสามารถบิดเบือนความรู้ และความจริงเกี่ยวกับการตอบสนองของสังคมที่มีต่อโรคนี้ได้”
ณ ตอนนี้ มีสื่อหลายสำนักตื่นตัวเกี่ยวกับการตีตราที่เกิดขึ้น และได้มีการประณามท่าทีการนำเสนอข่าวที่เข้าข่ายเหยียดเพศหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขจัดและยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อโรคระบาดต้องถดถอย และทำให้ผู้คนที่มีอาการต้องหลบซ่อนแทนการรักษาอย่างเหมาะสม
ด้าน UNAIDS ก็ยังคงดำเนินการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกัน และมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในการพัฒนา ดำเนินการ และติดตามผลในทุกขั้นตอนของการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดนี้
เพราะหากสิ่งที่ทุกคนทำได้และควรทำในช่วงเวลาวิกฤต คือ การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ หาใช่การเลือกปฏิบัติ และส่งผ่านการตีตราซ้ำแล้วซ้ำเล่า หวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตซ้ำการตีตราจะเล็งเห็นความสำคัญ และออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ในอนาคตไม่ต้องมีใครต้องพบเจอกับการประสบการณ์แบบนี้อีกต่อไป
#ฝีดาษลิง #Monkeypox
#ตีตราLGBT+ #HIV
#Aids #LGBT+
Content by Natthapon T.
Edited by SPECTRUM’S EDITORIAL TEAM
Graphic by Napas
อ้างอิง
Vox: https://bit.ly/3RSEXPb
UN: https://bit.ly/3vcSYNR
WHO: https://bit.ly/3z2Uzqx
CDC: https://bit.ly/3RYyv9j
CNN: https://cnn.it/3b9NJrj
Advocate: https://bit.ly/3J1kkvW
UNAIDS: https://bit.ly/3OxFm6w
Pink News: https://bit.ly/3z7GTL5
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://spectrumth.com/
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -