จาก #ล็อคกี้แฟน สู่ ‘ก้อยนัตตี้ดรีม’ และ ‘แร็ปเปอร์หญิง’ ตกลงแฟนคลับศิลปินชายเกาหลี มีปัญหาอะไรกับเซเลปไทยกันแน่

- Advertisement -


- Advertisement -

เนื้อหาในบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาโจมตีไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยตรง เป็นเพียงการพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นโดยรวมเท่านั้น

เป็นไปได้ไงที่ 3 เหตุการณ์มาพ้องต้องกันในวันที่คอนเสิร์ตเป็นใจ ?

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่วันที่ 26 พ.ย. 2565 แฮชแท็ก #ล็อคกี้แฟน ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์คู่กับ #JacksonwangWorldTourinBKK ซึ่งเป็นแฮชแท็กหลักในการอัพเดตโมเมนต์ที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ต JACKSON WANG MAGIC MAN WORLD TOUR 2022 BANGKOK ของ ‘แจ็คสัน หวัง’ ศิลปินชาวฮ่องกง และสมาชิกวง GOT7 ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี เมื่อวัน 25 – 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ต้นเหตุของ #ล็อคกี้แฟน เกิดจากสิทธิพิเศษในคอนเสิร์ตที่แจ็คสันจะเลือก Lucky Fan จากโซนบัตรยืน 1 คน ไปร่วมโชว์ในเพลง ‘DEAD’ ด้วย โดยในวันเกิดเหตุ ‘ล็อคกี้แฟน’ นั้น เป็นวันแสดงวันที่สองของคอนเสิร์ต แฟนคลับที่สังเกตเห็นความผิดปกติของการเลือกลักกี้แฟนได้ระบุว่า ‘เพิร์ธ วีริณฐ์ศรา’ ถูกเลือกโดยมีทีมงานเรียกมาจากด้านหลัง ซึ่งแตกต่างจากการเลือกลักกี้แฟนในวันอื่น ๆ ที่แจ็กสันจะเดินไปเลือกแฟนคลับในโซนบัตรหลุมด้วยตัวเอง ซึ่งในกรณีของเพิร์ธ แจ็คสันยังเดินไปไม่ถึงตำแหน่งที่นักแสดงสาวยืนอยู่ด้วยซ้ำ เรื่องยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อภายหลังแฟนคลับรู้ว่าเพิร์ธ วีริณฐ์ศรา เป็นนักแสดงในสังกัดช่อง One 31 เริ่มมีการนำแชทหลุดที่อ้างว่าเป็นบทสนทนาของนักแสดงสาวและทีมงานออกมาเผยแพร่ รวมทั้งมีการวิเคราะห์คลิปวิดีโอบรรยากาศในงานของช่วงลักกี้แฟนของเพิร์ธเปรียบเทียบกับลักกี้แฟนในวันที่ 1 และ 3 โดยระบุว่าแจ็คสันดูจะไม่พอใจ และไม่เต็มใจโอบกอดลักกี้แฟน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโชว์) เหมือนกับช่วงลักกี้แฟนในวันอื่น ๆ

หลังจากมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้น AEG Presents ผู้จัดคอนเสิร์ตคอนแจ็คสันในครั้งนี้ก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าการเลือกลักกี้แฟนเป็นไปอย่างโปร่งใส และช่อง One 31 ก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเพิร์ธไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ความเป็นดารา และมีช่วงออกอากาศในรายการหนึ่งเพื่ออธิบายด้วยว่าการติดต่อผ่าน Line ของทีมงานและนักแสดงเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นขั้นตอนปกติของการเลือกลักกี้แฟนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาคือไม่มีใครเชื่อ ภายหลังจึงเกิด #แบนช่องวัน ตามมาอีกระลอก

(อ่านแถลงการณ์จาก AEG Presents: https://bit.ly/3VXo0nT)

หนึ่งสัปดาห์ถัดมาหลังจากจบคอนเสิร์ตของแจ็คสันหวัง ก็มีคอนเสิร์ตของศิลปิน NCT127 2ND TOUR ‘NEO CITY BANGKOK – THE LINK’ ที่จัดขึ้นที่อิมแพคอารีน่า 3 รอบในวันที่ 3-5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 แล้วเรื่องก็เกิดเมื่อเช้าวันที่ 5 ธันวาคม มีแฟนคลับพบเห็น ‘ก้อย’ ‘นัตตี้’ และ ‘ดรีม’ จากช่องยูทูป GoyNattyDream Channel ในบริเวณคอนเสิร์ต ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นน Facebook Fanpage Goy Natty Dream ก็ได้ออกมาชี้แจงในช่วงเช้าของวันที่ 5 ธันวาคม ว่า “เนื่องจาก วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ช่องก้อยนัตตี้ดรีมได้รับเกียรติจากทาง SM Entertainment ให้เข้าสัมภาษณ์ NCT127 เป็นระยะเวลา 10 นาที และ นำภาพบรรยากาศคอนเสิร์ต NCT 127 2ND TOUR ‘NEO CITY BANGKOK – THE LINK’ บางส่วนมาให้ผู้ชมได้รับชม เพื่อหวังว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะช่วยนำเสนอความสามารถและความน่ารักของวง NCT 127 ออกไปสู่ผู้ชม ทางช่องเราจะทำอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นตัวแทนสื่อหนึ่งในไทยให้ได้รู้จักกับความน่ารักของพวกเขา ฝากรอติดตามกันนะคะ”

หลังจากนั้นแฟนคลับศิลปินจึงเริ่มแสดงความกังวลผ่านทางทวิตเตอร์ โดยมีเนื้อหาประมาณว่าก้อยนัตตี้ดรีมเป็นช่องที่ไม่เหมาะสม มีความจำเป็นอะไรที่ต้องให้คนอื่นมา PR วงที่ดังและขายบัตรหมดแล้วด้วย ไปจนถึง ช่องนี้เนี่ยนะ แค่คิดก็รำคาญแล้ว และเริ่มมีกระแสความกังวลปนด่าออกมาเป็นระลอกๆ รวมทั้งมีการพูดถึงช่องยูทูป ‘เทพลีลา’ ว่าควรจะเป็นช่องที่ได้เข้าหลังเวทีมากกว่า ซึ่ง ‘เติร์ด’ จากช่องเทพลีลาได้มีการชี้แจงในทวิตเตอร์ก่อนหน้านี้แล้วว่า ทางค่าย SM เชิญเทพลีลาไปถ่ายรายการ และที่นั่งที่ได้รับ not for sale อยู่แล้ว ไม่ได้ไปหลังคอนเสิร์ต และก็ไม่ได้เจอกับศิลปินใด

ในค่ำของวันเดียวกันนั้น แฟนคลับจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นความไม่ลงรอยกันของการ ‘แสดงความกังวล’ ต่อคอนเทนต์ของก้อยนัตตี้ดรีม กับเซเลปท่านอื่น ๆ ที่ได้เข้าไปหลังเวที ตกค่ำของคืนนั้นมีทวิตเตอร์หนึ่งที่หยิบรูปภาพของแจฮยอน สมาชิกวง nct127 และบลู พงศ์ทิวัตถ์ นักแสดงชาวไทยมาเปรียบเทียบกันไปในเชิงชื่นชม ภาพหลังเวทีของแจฮยอนและบลูได้รับความสนใจอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้มีการตั้งคำถามว่าทำไมบลู พงศ์ทิวัตถ์ ซึ่งเป็นเซเลปที่ได้รับเชิญให้เข้าหลังเวทีเหมือนกัน ไม่โดนด่า แต่ทำไมก้อยนัตตี้ดรีมโดน ทั้งที่แถลงชัดว่าเข้าไปทำงาน

เหล่าแฟนคลับที่แสดงความกังวลก็เริ่มออกมาให้เหตุผล เช่น ก้อยนัตตี้ดรีมไม่เคยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ K-POP มาก่อนเลย จะเข้าไปสัมภาษณ์อะไร และเคยมีคอนเทนต์ที่ Sexual Harassment ด้วย รวมทั้งกังวลว่าจะเกิดการเล่นมุกที่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อคนไทย อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการโต้เถียงระหว่างกลุ่มแฟนคลับที่รอคอนเทนต์ขอก้อยนัตตี้ดรีม และฝั่งที่ให้เหตุผลว่าทำไมก้อยนัตตี้ดรีมถึงไม่เหมาะ ก็มีทวิตหนึ่งที่ระบุถึงคนดังอีกท่านหนึ่งว่า “แต่เมื่อวานกุรำคาญชีแรพเปอร์หญิงที่ตะโกนบอกอยากได้จอห์นนี่ๆๆๆๆๆๆๆอะ รำคาญ คือมึงได้บัตรสปอนเข้ามาดูฟรีแล้วก็ช่วยให้เกียรติแฟนคลับที่เค้าซื้อบัตรเข้ามาดูหน่อย” ซึ่งต่อมา ‘มิลลิ ดนุภา’ ก็ได้แสดงตัวว่าเป็น ‘แร็ปเปอร์หญิงท่านนั้น’ และไม่ได้ตะโกนว่าอยากได้จอห์นนี่ บอกว่าแด๊ดดี้จอห์นนี่เฉยๆ ลงท้ายด้วยคำขอโทษที่ทำให้รำคาญ ต้นทวิตมาเห็น ก็ขอโทษกลับ เรื่องจบ และปัจจุบันก็ได้ Hide Tweet นี้ไปแล้ว

ก็ดูเหมือนเหตุการณ์ทั่วไปของแฟนคลับศิลปินต่อเซเลปนี่นา แล้วมันมีปัญหาอะไร ?

ก่อนอื่นเราต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค ในที่นี่คือแฟนคลับเป็นผู้บริโภค และผู้จัดคอนเสิร์ตเป็นผู้จำหน่าย ข้อนี้เป็นเหตุผลหลักที่แฟนคลับของแจ็กสันหวังใช้ในการโจมตีเพิร์ธ วีริณฐ์ศรา ที่ผ่านมาการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในไทยมีปัญหาเรื่องกดยาก บัตรคอนเสิร์ตไม่เพียงพอต่อความต้องการมาโดยตลอด ซึ่งนำไปสู่การอัพราคาสูงกว่าราคาจำหน่ายหน้าบัตรจากมือที่สามที่ไม่ได้ต้องการจะดูคอนเสิร์ตจริงๆ แต่เข้ามากดบัตรเพื่อเก็งกำไร และผู้จัดก็มักจะมีการจัดการที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคสะดวกสบายขึ้น โดยเลือกใช้มาตรการยกเลิกบัตรเมื่อมีแจ้งเข้ามาว่าจำหน่ายเกินราคา ระบุชื่อที่หน้าบัตร ไปจนถึงเปิดระบบสมัครสมาชิกเพื่อให้กดในรอบพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 800 – 1000 บาท ความอึดอัดของผู้บริโภคต่อประเด็นบัตรคอนเสิร์ตเกิดเป็นประเด็นหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยมีการคว่ำบาตรผู้จัดคอนเสิร์ตอย่างจริงจัง เนื่องจากแฟนคลับเองก็รอคอยที่จะได้ดูคอนเสิร์ตของศิลปินในประเทศไทย ในมุมนี้ ความรู้สึกต่อสิทธิต่าง ๆ ที่แฟนคลับควรจะได้รับในคอนเสิร์ตจึงมีความเปราะบางสูง ในกรณีของเพิร์ธ วีริณฐ์ศราเองที่แฟนคลับเชื่อว่าเป็นการล็อคสิทธิ ก็เป็นสิทธิพิเศษที่ในแต่ละรอบจะมีแฟนคลับ 1 คนเท่านั้นที่ได้ ปฏิกริยาตอบสนองต่อเซเลปจึงรุนแรง เพราะมีมุมมองต่อกลุ่มเซเลปที่มักจะใช้เส้นสายเพื่อให้ได้ที่นั่งในคอนเสิร์ตฟรี ที่นั่งติดกันหลายใบ ซึ่งแฟนคลับเองกดยากมาก แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ อีกทั้งยังได้สิทธิพิเศษในการเข้าหลังคอนเสิร์ต ซึ่งทั้งหมดนี้ แฟนคลับมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยอมรับไม่ได้

(อ่านเหตุการณ์ที่เซเลปโดนโจมตีเรื่องบัตรคอนเสิร์ต: https://bit.ly/3FzfQMU)

แต่กระนั้น ‘การเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค’ ก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เพิร์ธ วีริณฐ์ศรา โดนโจมตี (อย่างหนัก) เพราะหากเข้าไปใน #ล็อคกี้แฟน เราจะพบว่ามีหลายทวิตการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นบนเวทีอย่างละเอียด เช่น ผู้หญิงดี ๆ ที่ไหนเขาจะเดินมาคล้องคอคนที่ไม่สนิทอะไรด้วย ไปจนถึงการคาดเดาถึงนิสัย เช่น พึ่งดูซีรีส์ ไม่คิดว่านิสัยจริงกับในละครจะเหมือนกันขนาดนี้ ไปจนถึง ใช้วลีฮิตอย่าง ‘ผู้หญิงด้วยกันดูออก’ เช่น เลิกกอดตอแหลก่อนลูก เค้าดูออก อันไหนกอดแฟนคลับอันไหนกอดล่าผู้ชาย เลิกตอแหลลูก อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้มันโคตรจะ slutshaming

เมื่อมองมาที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับก้อยนัตตี้ดรีม และมิลลิ ดนุภา ก็แทบไม่มีอะไรต่างกัน ยกเว้นในกรณีของมิลลิ ดนุภา ที่มีกระแสโจมตีน้อยกว่า ซึ่งก้อย นัตตี้ ดรีม และมิลลิ ได้พูดชัดเจนถึงที่มาของบัตรแล้ว ปัดตกเรื่องประเด็นเซเลป แต่เมื่อไม่มีเหตุผลอะไรก็ยังโดนด่าอยู่ดี สิ่งนี้กำลังบอกว่า ‘เซเลปหญิงไทย’ ในพื้นที่ของ ‘แฟนคลับศิลปินชายเกาหลี’ กำลังเผชิญอะไรอยู่

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ก้อย นัตตี้ ดรีม ได้ไปถ่ายรายการในคอนเสิร์ต NCT 127 2ND TOUR ‘NEO CITY BANGKOK – THE LINK’

‘Internalized Misogyny’ หรือ การเหยียดหยามความเป็นหญิง

‘Internalized Misogyny’ หรือการเหยียดหยามความเป็นหญิง ที่ถูกปลูกฝังมาในผู้หญิงอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากทุกส่วนของวัฒนธรรมสังคมปิตาธิปไตยต่างร่วมกันตอกย้ำสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าและความเป็นอื่นของผู้หญิง ไม่ว่าจะแนวตรงหรือแนวแฝง จึงหล่อหลอมให้ผู้หญิงเป็นผลผลิตของสังคมชายเป็นใหญ่และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความไม่เท่าเทียมแบบไม่ได้จงใจ

การเหยียดหยามความเป็นหญิงไม่ใช่เรื่องใหม่ และ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนที่เป็นอยู่จะยอมรับ แต่มันมีอยู่จริง และกำลังเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ไหลวนอยู่ในแวดวงแฟนคลับและวงการบันเทิง และยังไม่เคยถูกแก้ปัญหาอย่างจริงจังมาก่อนด้วย

ในแวดวง K-POP เอง ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา เราจะเห็นคอนเซปต์วงแบบ ‘Girl Crush’ มากขึ้น นับตั้งแต่ 2ne1, f(x), 4Minute มาจนถึงวงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจากคอนเซปต์เกิร์ลครัชจนโด่งดังไปทั่วโลก อย่าง ‘BlackPink’ บิลบอร์ดอธิบายคอนเซปต์ของเกิร์ลครัชว่ามันมีทั้งการให้พลังกับผู้หญิง (empowering woman) ไปจนถึงทำคาแรกเตอร์ให้ดูแสบๆ (badass) ดูบอยนิด ๆ และบางครั้งก็เซ็กซี่อย่างร้ายกาจ แต่ทั้งหมดของเกิร์ลครัชก็คือการเป็นมิตรอย่างมากต่อหัวใจของแฟนเกิร์ล  ซึ่งเพลงป็อปยุคก่อนหน้าที่มักจะเป็นแนว Bubblegum Pop สมาชิกมีภาพลักษณ์น่ารัก ๆ ทำไม่ได้

เราจะเห็นชัดเจนว่าวงที่มีแฟนคลับเป็นผู้ชาย กับวงที่มีแฟนคลับเป็นผู้หญิง มันต่างกันอย่างมาก ในเกาหลีใต้เอง ช่วงเวลาที่ BlackPink เดบิวต์ก็มีอีกวงหนึ่งคือ Twice ที่เดบิวต์ในช่วงเวลาเดียวกัน BlackPink กวาดกลุ่มแฟนคลับผู้หญิงไปแทบทั้งหมด ในขณะที่ Twice ซึ่งเดบิวต์ด้วยคอนเซปต์เกิร์ลครัช และภายหลังเปลี่ยนแนวมาเป็น Bubblegum Pop กวาดฐานแฟนคลับผู้ชายไปเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้อาจเร็วไปที่จะสรุป แต่ความนิยมของวงไอดอลระดับท็อปในเกาหลีใต้อย่าง Twice กลับไม่มากเมื่อมาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย และทไวซ์เองก็มักจะเผชิญกับการแสดงความเกลียดชังในโลกออนไลน์อยู่บ่อย ๆ ด้วย สิ่งนี้อาจไม่ได้สรุปได้ในทันทีว่าทไวซ์โดนความเกลียดผู้หญิงเข้าให้แล้ว แต่ทำไมวงเกิร์ลกรุปต้องทำคอนเซปต์แบบเกิร์ลครัชด้วยล่ะ การไม่ประสบความสำเร็จของ Bubblegum Pop ก็น่าสนใจ ว่าทำไมแฟนเกิร์ลถึงไม่ชอบอะไรน่ารัก ๆ และไม่ชอบอะไรแบ๊วๆ จนถึงขั้นต้องด่าทอความแบ๊วเหมือนกับมันเป็นโทษมหันต์

(อ่านดราม่าอ๊บไสไม้: https://bit.ly/3Y2Be4A)

เหตุการณ์ที่ผู้หญิงเจอพิษของความเกลียดชังหาเจอได้ทั่วไป เช่น แทยอน Girls’ Generation ที่โดนโจมตีอย่างหนักหลังจากมีข่าวเดตกับแบคฮยอน สมาชิกวง EXO, เจนนี่ Blackpink ที่โดนหาว่าขี้เกียจเต้น กินแรงเพื่อน, ไอรีน RedVelvet ที่โดนกลุ่มผู้ชายในเกาหลีใต้แบนเพราะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเป็นเฟมินิสต์ หรือเรื่องของคูฮาร่า และซอลลี่ ผู้จากไปแล้ว ก็เป็นอีกสองคนที่โดนโจมตีอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องจากโลกออนไลน์เช่นกัน 

ความเกลียดชังต่อผู้หญิงนั้นช่างเป็นสากล แฟนคลับของแฮร์รี่ สไตล์นั้นขึ้นชื่ออย่างยิ่งเรื่องความเกลียดชังที่มีต่อโอลีเวีย ไวลด์ แฟนสาวของเขา ไวลด์โดนโจมตีด้วยประเด็นที่ก้าวหน้ามาก ๆ เช่น นี่มันคือการ Child Grooming ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่เลย แฮร์รี่อายุจะสามสิบอยู่แล้ว ไปจนถึงการมีบล็อกลับ ๆ ปล่อยข่าวว่าไวลด์ให้บรรยากาศอย่างกับแอมเบอร์ เฮิร์ด เรียกว่าปลุกความเกลียดกลัวผู้หญิงที่อยู่ในใจออกมาโต้ง ๆ ทั้งที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น

กลับมาที่เซเลปหญิงไทยในคอนเสิร์ตศิลปินชายเกาหลี เมื่อเทียบกันแล้วดราม่าในโลกออนไลน์ที่พวกเธอเจออาจจะดูไม่รุนแรงและค่อย ๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์อยู่เสมอคือ เมื่อผู้หญิงตกเป็นเป้า ก็มักจะมีถ้อยคำ Slut Shaming ที่มุ่งโจมตีพฤติกรรมทางเพศของพวกเธอนำมาก่อน แล้วหากเธอมีแนวโน้มว่าจะทำผิด เธอมักจะโดนโจมตีอย่างรุนแรงจนเหมือนไม่มีวันได้รับโอกาสครั้งที่สอง เช่นที่เพิร์ธกำลังเจอ  หากเธอไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่นิด ก็จะโดนระแวงคลางแคลงใจอย่างหนัก และพร้อมใจหยิบยกพฤติกรรมในอดีตมาสาดใส่เพื่อยืนยันว่าเธอไม่ควรได้รับโอกาสนี้ เช่นที่ก้อย นัตตี้ ดรีม โดนไปแล้ว และหากเธอแค่อยู่เฉย ๆ ไม่รู้เลยว่าโดนจ้องอยู่ ก็ไม่แคล้วจะโดนสายตาที่มองไม่เห็นสำรวจตรวจสอบ สร้างเรื่องผิด ๆ มาป้ายสี และหยิบขึ้นมาด่าแบบงง ๆ ยกเรื่องมารยาทมาใช้ แบบที่มิลลิต้องมาขอโทษด้วยตัวเอง ถ้ามองสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติ เราอาจเป็นกำลังอยู่ในโลกที่เกลียดผู้หญิงสุด ๆ เลยก็ได้

แม้แต่แฟนคลับเองก็ต้องเผชิญกับพิษของการเหยียดหยามความเป็นหญิง เมื่อผู้หญิงเข้าไปสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคัลเจอร์แบบผู้ชาย ๆ ก็มักจะโดนตั้งคำถามสงสัยว่า รู้จักสิ่งนี้ได้ยังไง ชอบสิ่งนี้จริงหรือเปล่า เหมือนเป็นข้อสอบเข้าด้อม ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเองอาจจะท่องชื่อนักฟุตบอลได้แม่นยันระดับเทรนนี แรงค์ในเกมสูงค้างฟ้า และประกอบคีย์บอร์ดเก่งกว่าท่านผู้รู้ดีทั้งหลายก็เป็นได้ หรือแม้แต่อัตลักษณ์ของแฟนคลับ K-POP เอง ก็ต้องต่อสู้อย่างยาวนานกว่าจะได้รับการยอมรับ และหลุดพ้นจากสถานะเรื่องไร้สาระ มาสู่เมนสตรีมที่คนดังต่างให้ความสนใจเฉกเช่นทุกวันนี้ ทุกความรักอันลึกซึ้งของผู้หญิงมีประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน คือมันถูกปฏิเสธ ถูกโจมตีด้วยความเข้าใจผิด ๆ เสมอ และสิ่งนี้คือผลพวงจาก Misogyny ที่มองว่าเรื่องของผู้หญิงช่างเล็กน้อยและไม่สำคัญ ความสนใจของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ และมักจะหยิบยกเรื่องอื่น ๆ มาโจมตี แค่ฟังเพลงเกาหลี ก็มาโจมตีว่าฉันไม่รักชาติ – แต่สิ่งที่น่าเศร้ากว่า คือแม้ผู้หญิงจะเป็นผู้ประสบภัยความเกลียดชังอยู่เสมอ แต่ความเกลียดชังนั้นไม่เคยหยุด ผู้หญิงเองก็ยังส่งต่อความเกลียดชังนี้ต่อกัน มันถูกส่งต่ออย่างแนบเนียน ไม่เคยหายไปไม่ว่าจะแวดวงไหน

เอาเป็นว่าเราไม่สรุป ว่าต้นสายปลายเหตุของดราม่าของแฟนคลับศิลปินชายเกาหลีต่อเซเลปหญิงไทย คือการเหยียดหยามความเป็นหญิงอย่างแน่นอนหรือไม่ และไม่มีบรรทัดใดในนี้ที่สรุปว่ามีแค่แฟนคลับศิลปินชายเกาหลีเท่านั้นหรอที่เหยียดหยามความเป็นหญิง และไม่ได้จะบอกว่าแฟนคลับศิลปินชายเกาหลีทุกคนกำลังเหยียดหยามความเป็นหญิง เป็นความจริงที่มีหลาย ๆ ยูเซอร์ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อคัดง้างกับกระแสที่มุ่งด่าทอต่อว่า การรวบรวมเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันอย่างบังเอิญในครั้งนี้จึงเป็นเพียงข้อคิดเห็นและชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนาบนโลกออนไลน์ ที่ใครก็ได้จะแสดงความเห็น และจะขอทิ้งท้ายไว้ว่า อคติทางเพศที่เคลือบแฝงอยู่ภายในจิตใจอันยากแท้อย่างถึงของเรามันอันตราย และควรค่าที่จะตรวจสอบ พินิจพิเคราะห์ และอย่าลังเลที่จะกำจัดมันซะ ก่อน ‘อคติในใจ’ จะกลายเป็น ‘แผลจริง ๆ’ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง

(แก้ไขเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 12.56น.)

อ่านเรื่องการเหยียดหยามความเป็นหญิง (Misogyny) เพิ่มเติม

เมื่อความเป็นหญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อด่าทอ

https://bit.ly/3hb5l9d

‘หนังไล่เชือด’ กับการเสนอภาพผู้หญิงผ่าน ‘อคติ’ และ ‘ความเกลียดชัง’

https://bit.ly/3F7Munt

เพราะ FEMICIDE นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และยังคงเกิดขึ้นตลอดทั่วทุกมุมโลก เปิดสถิติ ‘การฆ่าผู้หญิงด้วยสถานะทางเพศ’ ใน UK ชวนให้เราตั้งคำถาม ความปลอดภัยของผู้หญิงอยู่ไหน?

https://bit.ly/3F9hVht

คำด่าที่แฝงไปด้วยการเหยียดเพศหญิง ใช้คำด่าเพศไหนสุดท้ายก็เจ็บถึงเพศหญิง

https://bit.ly/3UzKTfX

อ้างอิง

ข่าวสด: https://bit.ly/3uwJFaF

Billboard: https://bit.ly/3P6S7H7

Dailybeast: https://bit.ly/3BiXYUi

Misogyny in Fandom: https://bit.ly/3Fcezdm

Goy Natty Dream: https://bit.ly/3Bga2FI

Teddix: https://bit.ly/3utVFtN

ขอบคุณภาพจาก SM True

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me