ท่ามกลางความสำเร็จของ New Jeans, NCT Dream และอีกหลากหลายวงในช่วงที่ผ่านมา เกิดกระแสบนโลกออนไลน์ถึงอายุที่เด็กลงเรื่อย ๆ ของสมาชิกในแต่ละวง รวมถึง Baby Monster วงใหม่ล่าสุดที่จะเดบิวต์ในปี 2023 ของตึกดำ YG Entertainment กลับมีสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดเป็นวัยรุ่นสาวชาวไทย อายุเพียง 14 ปี เท่านั้น
วงการ K-Pop ก่อกระแสการเดบิวต์แต่อายุยังน้อยมาตั้งแต่ปี 2000 อย่างโบอา ที่เดบิวต์ตั้งแต่อายุ 13 ปี แทมิน สมาชิกวง SHINee ในวัย 14 ปี หรือคริสตัล สมาชิกวง f(x) กับวัย 15 ปี
มาจนถึงยุคของ NCT Dream วงดังจากค่ายชมพูที่เปิดตัวด้วยคอนเซปต์ไอดอลเด็กหนุ่มอายุ 14-17 ปี ให้แฟนคลับได้ติดตามความน่ารักและเติบโตไปพร้อม ๆ กับพวกเขา วงนี้จึงเป็นวงของวัยรุ่นอายุน้อยพร้อมระบบจบการศึกษา ที่หากสมาชิกคนใดอายุครบ 20 ปีแล้วจะต้องออกจากวงไป โดย SM ตัดสินใจเปลี่ยนระบบและให้สมาชิกเป็นรูปแบบถาวรในภายหลัง
คอนเซปต์ดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของศิลปินที่เริ่มมีแฟนคลับติดตามตั้งแต่เริ่มเดบิวต์และเติบโตมาพร้อมกับวง อีกทั้งในแง่ของแบรนด์ที่ทำให้ชื่อ NCT Dream สามารถทำการตลาดต่อเนื่องได้ยาวนาน เนื่องจากสมาชิกวงยังไม่ถึงเงื่อนเวลาของการเข้ากรม และสามารถโปรโมททั้งวงได้นานกว่าวงอื่น ๆ
จากความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมา นำมาสู่ข้อถกเถียงในสังคมเรื่องอายุที่น้อยลงอย่างต่อเนื่องของสมาชิก ข้อกังวลสำคัญ คือ พวกเขา “เด็กเกินไป” สำหรับการเป็นไอดอลหรือไม่ ความเด็กในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสามารถ หรือสมรรถภาพที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน แต่เป็นเด็กเกินไปที่จะสูญเสียโอกาสทางการศึกษา การเข้าสังคม และแบกรับความกดดันในฐานะไอดอล
สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการ อิม มยองโฮ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น มหาวิทยาลัยทันกุก ที่พูดถึงประเด็นนี้ว่า “ไอดอลจะต้องประสบกับความโดดเดี่ยว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่หายไป ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางจิตใจของเด็กและวิธีการรับมือกับปัญหาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่างานนี้จะพาพวกเขาได้กลายเป็นดาราชื่อดัง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจัดการกับอารมณ์หรือความรู้สึกเมื่อได้รับความกดดันได้ยาก นอกจากนั้นยังอาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง (hate comments) จนนำไปสู่การทำลายตนเอง (self-destructive behavior) ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการโดดเรียน”
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ Jean Kim จิตแพทย์ชาวเกาหลี-อเมริกันที่ระบุถึงการไม่ได้ใช้เวลาในวัยเยาว์อาจสร้างความอันตรายต่อจิตใจเป็นอย่างมาก “พวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวลและการปรับตัวเข้าสู่สังคม เนื่องจากวัยรุ่นนั้นเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ เหล่าไอดอลที่อยู่ระหว่างการเทรนโดยมีคนคอยบอกให้ทำ หรือไม่ทำอะไรอยู่ตลอดจึงอาจสร้างปัญหาในการพัฒนาตัวตนและการตัดสินใจอะไรด้วยตนเอง”
ไม่เพียงแต่ความเห็นของนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ไอดอลก็ออกมาพูดด้วยตนเองหลายครั้งว่าการเข้าสู่วงการนี้ตั้งแต่เด็กก่อให้เกิดปัญหาบางอย่าง โบอา (BoA) ราชินีวงการเคป๊อบที่ออกอัลบั้มแรกตั้งแต่อายุ 13 ปี ได้พูดถึงชีวิตวัยเด็กของตนเองไว้ใน Vogue Korea ฉบับปี 2020 ว่า “ฉันหวังว่าฉันจะไม่พาตัวเองมาถึงจุดที่ต้องเจ็บปวดขนาดนี้” เช่นเดียวกับ พัคจีฮโย ไอดอลสาวจากวง Twice ที่เข้า JYP ตั้งแต่วัย 8 ปี และต้องเดบิวต์เป็นลีดเดอร์ (หัวหน้าวง) ตั้งแต่อายุ 18 นั้นก็เคยกล่าวว่า “ฉันเศร้านะ ที่ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับช่วงวัยเรียนเลย พอเลิกเรียนปุ้บ ฉันก็ต้องตรงไปที่บริษัททันที คิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็ได้แต่อิจฉาเพื่อน ๆ ที่สามารถไปกินต็อกบกกี ร้องคาราโอเกะหลังเลิกเรียนกันได้”
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยกับบรรยากาศความครึกครื้นของ T-Pop ที่ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของประเทศ ความสามารถและคุณภาพผลงานไม่อาจปฏิเสธได้ก็จริง แต่การคุ้มครองและความพร้อมในการเข้าสู่วงการของเยาวชนกลับยังเป็นปัญหา ขณะนี้วงการบันเทิงไทยกำลังเริ่มเดบิวต์ไอดอลหรือศิลปินที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพื่อสอดรับกับความนิยมและตลาดเพลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ.กระแสไอดอลฟันน้ำนมนี้แสดงให้เห็นชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่าง BNK 48 รุ่น 3 ได้เปิดตัวน้องโมเน่ต์ ภาริตา ไอดอลที่อายุเพียง 12 ปี หรือก่อนหน้านี้ก็มีวง Tiny Girls ที่เรียกตัวเองว่าวงไอดอลเด็กน้อย ผ่านการรวมกลุ่มเด็กผู้หญิงสิบคนที่อายุตั้งแต่ 6-10 ปี
ในด้านข้อกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองการใช้แรงงานเด็กบัญญัติอยู่อย่างชัดเจน ทว่างานวิจัย งานวิจัยปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็กในอตุสาหกรรมบันเทิงและการโฆษณา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในกรณีของดารา/นักแสดงเด็ก เช่น มาตรา 44 ที่มิให้นายจ้างว่าจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานทุกประเภท แต่กลับพบการจ้างงานในอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นการทั่วไป หรือการห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี แต่ในวงการบันเทิงก็มีการถ่ายละครช่วงกลางดึกโดยตลอด เช่นเดียวกับการทำงานในฐานะไอดอลวัยรุ่นของไทยที่เข้าออกงานไม่เป็นเวลา และไม่ครอบคลุมถึงสิทธิอื่น ๆ
แตกต่างจากเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายคุ้มครองไอดอลอายุน้อยออกมาโดยเฉพาะ โดยระบุถึง
(1) ผู้ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี ทำงานได้ไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
(2) ผู้เยาว์ไม่สามารถทำงานช่วง 22.00-06.00 น. ได้ เช่นในกรณีของงานต่าง ๆ ที่มีเยาวชนเข้าร่วม ก็จะไม่สามารถขึ้นเวทีตอนดึกได้ หรือแม้กระทั่งรายการ Produce 101 ก็เคยต้องให้ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเยาวชนถ่ายทำตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น
(3) ห้ามบังคับให้แต่งตัวเปิดเผย หรือมีท่าเต้นที่ส่อไปทางเพศ
(4) อายุ 15-18 ปี ต้องไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และไม่เกินสัปดาห์ ละ 42 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการตกลงกัน ชั่วโมงทํางานอาจเพิ่มได้อีกวันละ 1 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง
แม้ว่าข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในเกาหลีนั้นยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแสดงออกทางเพศที่ยังมีเล็ดลอดออกมา แต่ก็เป็นแนวทางที่ดีที่ไทยควรจะมีกฎหมายเฉพาะในยุคที่วงการบันเทิงมีดาราหรือศิลปินที่เด็กลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรมโดยไม่อ้างว่าเป็นกฎข้อบังคับของการฝึก หรือการปกป้องจากข้อความที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และการคุกคามทางเพศ
โดยเฉพาะในประเทศที่ไอดอลมักถูกคุกคามทางเพศ ทั้งทางวาจา การตัดต่อภาพ หรือทำเป็นมุกตลก ฉะนั้นแล้วการที่มีไอดอลอายุน้อยลงเรื่อย ๆ นั้น ยิ่งทวีความอันตรายต่อพวกเขาอย่างแน่นอน
ความวิตกกังวลของสังคมต่อประเด็นความเยาว์วัยในไอดอลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงอายุที่น้อยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ของไอดอลในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องได้รับการปกป้อง แน่นอนว่าชื่อเสียงที่เพิ่มพูนย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงต่อประเด็นต่าง ๆ ทุกภาคส่วนจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก
ไม่มีคำว่าเด็กเกินไปสำหรับความสามารถ แต่การคุ้มครองในฐานะเยาวชนคนหนึ่งต่างหากที่ต้องสนใจ
#MinorInKpop#SelfDestructiveBehavior#SaveChildren
Content by Panita Pichitharuthai
Graphic by 7pxxch
อ้างอิง
Kprofile: http://bit.ly/3IS6SMK
Koreaboo: http://bit.ly/3KAcnAF
Korea Joong Ang Daily: http://bit.ly/3KA8jRa
TinyGirls เจ้าตัวน้อย: https://bit.ly/3YVFDWY
ร้อยตำรวจโทเพชร มีพันธ์: https://bit.ly/3Irnedx
#SPECTRUM#พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”