“ถ้าพรุ่งนี้ผู้หญิงเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าจ้างสำหรับงานบ้านทั้งหมดที่พวกเธอทำ เศรษฐกิจก็คงพังพินาศ”
ผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่าผู้หญิงใช้เวลามากกว่าผู้ชายในการทำงานที่ไร้ซึ่งการตอบแทนเป็นเงินค่าจ้าง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมายาคติและความเชื่อว่าเพศหญิงเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณในการดูแล จึงเป็นเหตุให้คนเพศกำหนดหญิงหลายคนจำต้องถูกกดดันให้รับผิดชอบในการดูแล ‘แรงงาน’ ในบ้านด้วยพละกำลังของตัวเองแม้จะไร้ค่าตอบแทน
#SPECTROSCOPE: เราทุกคนเป็นแรงงาน แต่มีบางคน ‘ไม่เคย’ ได้ค่าจ้างตลอดชีวิต
ผู้หญิงเกาหลีใช้เวลาในการทำงานบ้านมากกว่าผู้ชาย 4 เท่า ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่ผู้หญิงใช้เวลาในการทำงาน ‘ไร้ค่าจ้าง’ มากกว่าผู้ชายสูงถึง 6 เท่า และแม้แต่ฟินแลนด์ที่ได้รับการสำรวจว่าเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลกก็ยังมีความแตกต่างของระยะเวลาที่ใช้ในการรับผิดชอบงานบ้านระหว่างหญิง ชาย อยู่ถึงหนึ่งเท่าตัว และแน่นอนว่าผู้ชายเป็นฝ่ายใช้เวลาในการทำงานบ้านน้อยกว่า สำหรับประเทศไทยเองมีผลสำรวจ ‘งานดูแลและงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างของหญิงไทย และผลกระทบต่อการจ้างงานที่มีคุณค่า’ ที่จัดทำโดย UNDP พบว่าผู้หญิงไทยก็ใช้เวลาในการทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ชายราว ๆ 1 เท่าตัว
เนวินิดา เมนอน (Nivedita Menon) เล่าผ่านหนังสือ Seeing Like A Feminist ของเธอว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันทางเพศอย่างชัดเจน ครอบครัวที่สมาทานแนวคิดและวิถีปฏิบัติแบบปิตาธิปไตย (ซึ่งอาจถูกหล่อหลอมมาจากสังคมโดยไม่รู้ตัว) มีการยึดถือการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศ (Sexual Division of Labour) อย่างเข้มงวดโดยผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน และผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้านซึ่งถือเป็น ‘การสร้างพลังแรงงาน’ ที่เธอให้นิยามว่าหมายถึงการที่ผู้หญิงทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ดูแลครอบครัวเพื่อเติมพลังแรงงานให้แก่ผู้ชายออกไปเป็นแรงงานในระบบซึ่งได้รับการตอบแทนเป็นค่าแรงได้วันแล้ววันเล่า.แม้การสร้างพลังแรงงานจะเป็นหน้าที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ที่กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าโลกทุนนิยมไม่อาจดำเนินต่อไปได้หากขาดคนทำงานเหล่านี้ แต่การลงแรงงานเพื่อทำหน้าที่อันสลักสำคัญนี้กลับไม่ได้รับค่าจ้าง
#ไร้ค่าจ้างแต่ไม่ไร้ต้นทุน: งานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (Unpaid Domestic Work) หมายรวมถึงงานที่ดูแลบ้านและคนในบ้านทั้งหมด เช่น การซื้อของชำ ทำอาหาร ทำความสะอาด ดูแลเด็ก คนสูงอายุ คนป่วย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนมีทรัพยากรที่ต้องใช้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรเวลาและแรงงาน นั่นหมายถึงผู้ที่ต้องรับหน้าที่ในการทำงานเหล่านี้อาจไม่สามารถทำงานนอกบ้านที่เป็นงาน ‘ในระบบ’ และได้รับค่าจ้างได้ สิ่งที่สูญไปจากการต้องรับผิดชอบงานบ้านเหล่านี้ไม่ใช่แค่ค่าแรงที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโอกาสในการเข้าสังคม โอกาสในการมีอิสระทางการเงิน โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นโอกาสที่ต้องสูญเสียไปเพราะความรับผิดชอบที่ถูกผูกติดกับความคิดความเชื่อและทัศนคติว่างานบ้านนั้นเป็นงานของ ‘ผู้หญิง’ ที่พิจารณาจากเพศกำหนดเท่านั้น ว่าเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณการดูแลเลี้ยงดูอุ้มชูคนในบ้าน
ความเชื่อนี้ส่งผลให้คนเพศกำหนดหญิงในครอบครัวถูกบีบบังคับให้แสดงความรักด้วยการเสียสละทั้งเวลา แรงงาน อนาคต และโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานหรือแม้กระทั่งหลุดออกจากระบบศึกษา ปัญหาที่เกิดจากการคาดหวังบทบาทการเป็นผู้ดูแลนี้จะยิ่งหนักขึ้นหากผู้มีเพศกำหนดหญิงอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน หรือมีต้นทุนทางสังคมไม่สูงนัก ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเข้าถึงแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากความยากจนและการกดขี่ที่ต้องเผชิญจากทั้งคนในครอบครัวและสังคม เพราะในขณะที่ผู้ชายสามารถออกไปทำงานปากกัดตีนถีบหารายได้สร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อให้พ้นจากความยากไร้ คนเป็นหญิงหลายรายถูกจองจำด้วยความคาดหวังและความรับผิดชอบในการดูแลคนในบ้าน แม้จะต้องต่อสู้ปากกัดตีนถีบไม่ต่างกันแต่ก็เป็นการดิ้นรนในพื้นที่จำกัดที่อาจไร้ทางออก
#ไร้ค่าจ้างแถมยังขาดทุน: ผลสำรวจกว่า 19 ฉบับซึ่งครอบคลุมประชากร 70,310 คนทั่วโลกพบว่ายิ่งทำงานบ้านไร้ค่าจ้างเหล่านี้มากเท่าไหร่ สุขภาพจิตของผู้หญิงยิ่งย่ำแย่มากเท่านั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงมักถูกกดดันให้เป็นฝ่ายดูแลบ้านให้เรียบร้อย สะอาด และดูแลคนในครอบครัวให้กินอิ่ม นอนหลับ สุขภาพร่างกายดีตามอัตภาพอยู่เสมอ เมื่อไหร่ที่เกิดความผิดพลาดหรือไปไม่ถึงมาตรฐานที่สังคมตั้งไว้ก็มักจะต้องพบสายตาตำหนิถึงการทำหน้าที่ ‘ผู้ดูแล’ ว่าขาดตกบกพร่องไปหรือเปล่า นอกจากนี้การถูกคาดหวังให้ต้องรับผิดชอบงานบ้านและการดูแลคนในครอบครัวซึ่งล้วนเป็น ‘งานประจำ’ หรือ Full Time Job ยังส่งผลให้ผู้รับผิดชอบหน้าที่การดูแลเหล่านี้ต้องประสบกับ Time Poverty หรือการจนเวลา ซึ่งหมายถึงการไร้ซึ่งเวลาที่ควรใช้ไปในการดูแลตัวเอง การพักผ่อนหย่อนใจ และการหาความสุขเข้าตัวเองบ้าง บางรายยากจนข้นแค้นถึงขั้นไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการกินการนอน (มักพบได้ในคุณแม่มือใหม่) ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบแง่ลบต่อสุขภาพทั้งกายและจิตไม่มากก็น้อย และเมื่อต้องการทรัพยากรทางการเงินในการดูแลสุขภาพของตัวเองก็ย่อมเป็นไปได้ยากเนื่องจากงานที่ทำมาตลอดนั้นไร้ซึ่งค่าแรงที่เป็นตัวเงิน
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดคดีครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศสเปน ที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่การทำงานไร้ค่าจ้างในคู่สมรส เมื่อศาลสเปนได้ตัดสินให้ อิวานา มอรัล (Ivana Moral) ได้รับเงินชดเชยราว 7 ล้านบาทจากอดีตสามีของเธอหลังการทำงานบ้านโดยไม่เคยได้รับค่าจ้างมายาวนานถึง 25 ปีของชีวิตแต่งงาน เธอเล่าว่าเป็นผู้รับผิดชอบงานบ้านทั้งหมดตั้งแต่การดูแลสามี ลูก ไปจนถึงการจัดการเรื่อง ‘เล็กน้อย’ ในครอบครัวเพื่อให้อดีตสามีได้ทำงานตามที่เขาต้องการ จนสามารถสร้างธุรกิจฟิตเนสสำหรับออกกำลังกายและประสบความสำเร็จจนร่ำรวยในที่สุด โดยที่เธอไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเงินและทรัพย์สินใดของเขา– ทุกอย่างล้วนมีชื่อของเขาเป็นเจ้าของ อิวานากล่าวชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการข่มเหงทางการเงิน เนื่องจากเธอไม่เคยเข้าถึงเงินของเขา และไม่สามารถประกอบอาชีพเองได้เนื่องจากต้องรับผิดชอบการทำ ‘งานไร้ค่าจ้าง’ ทั้งหมดในครอบครัว “หลายปีมานี้ฉันทุ่มเททั้งเวลา พลังงาน และความรักทั้งหมดให้ครอบครัว”.มาร์ทา ฟูเอนเตส (Marta Fuentes) ทนายความของอิวานากล่าวว่าการตัดสินครั้งนี้ถือเป็นการส่องแสงถึงแรงงานที่ผู้หญิงทั้งหลายทุ่มเทไปโดยแทบไม่ได้รับการกล่าวถึงทั้งที่งานเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ส่งให้ผู้ชายมีเรี่ยวแรงในการออกไปทำงานเพื่อหาเงินสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้ “เธออยู่บ้านดูแลลูกเพื่อให้เขาได้ประกอบอาชีพ เธออยู่ใต้เงาของเขา ทำงานเบื้องหลังเขา เพื่อให้เขาได้เติบโตทางหน้าที่การงานและได้เป็นคนสำคัญ”
แม้ว่าจำนวนเงินที่เธอได้รับอาจนับได้ว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรเวลา อารมณ์ และแรงงานที่เธอลงแรงไปทั้งหมดในระยะเวลากว่า 25 ปี แต่นี่ก็นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่านอกจากการมองเห็นการมีอยู่ของแรงงานไร้ค่าจ้างที่มักล่องหน หรือแอบอยู่ในเงาแล้วก็ยังมีการพยายามทำให้แรงงานที่ลงไปในการทำงานบ้านนั้นมีค่าตอบแทนตามกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อยเหมือนดังที่โควทอันโด่งดังจาก เนวินิดา เมนอน กล่าวว่า “ถ้าพรุ่งนี้ผู้หญิงเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าจ้างสำหรับงานบ้านทั้งหมดที่พวกเธอทำ– ไม่ว่าจะจ่ายโดยสามีหรือนายจ้างของสามีที่ได้ประโยชน์จากสร้างพลังแรงงานของผู้หญิง เศรษฐกิจก็คงพังพินาศเพราะระบบทั้งหมดนี้ทำงานอยู่ได้ด้วยพื้นฐานว่าผู้หญิงทำงานไร้ค่าจ้างเหล่านี้ด้วยเหตุแห่งรัก”
#วันแรงงานสากล#MayDay2023#UnpaidLabour#InvisibleWork
อ้างอิง
Feminism in India : https://bit.ly/44aLyKK, https://bit.ly/3AEOtxK
New York Times: https://bit.ly/40OOQkb
OECD.Stat: https://bit.ly/3LG9qyY
World Population Review: https://bit.ly/3Nj5Zzl