รวมความเคลื่อนไหวสิทธิ LGBT+ ทั่วโลกส่งท้ายปี 2022
สเปกตรัมรวบรวมความเคลื่อนไหวและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศรอบโลกตลอดปี 2022 ที่อาจเรียกได้ไม่เต็มปากว่าสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเบ่งบาน แต่ก็มีความคืบหน้าที่น่าจับตามอง และหนึ่งในนั้นคือ (ร่าง) พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ที่คาดว่าใกล้จะเข้าสู่สภาในเร็ววันนี้

หลังจากร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกล ถูกเลื่อนพิจารณาเพื่อศึกษาเพิ่ม 60 วัน และได้ถูกเลื่อนพิจารณาอีกครั้ง ก็ได้เข้าสู่การประชุมสภาล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลคือสภาผู้แทนราษฎรได้ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ คือร่างแก้กฎหมายแพ่งสมรสเท่าเทียม ที่ได้คะแนนเห็นด้วยไป 210 เสียง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่เสนอโดยครม. ที่ได้คะแนนเห็นด้วยไป 229 เสียง และฉบับที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนนเห็นด้วยไป 251 เสียง ตั้งกมธ. พิจารณา 25 คน
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกลที่เป็นร่างหลักนั้นได้ผ่านวาระแรกของการประชุมสภาเป็นที่เรียบร้อย แต่เรายังคงต้องจับตาดูวาระที่ 2 และ 3 จนไปถึงชั้นวุฒิสภาต่อไป
แต่วาระที่ 2 ที่คาดการณ์ (และคาดหวัง) ก็ยังไม่เกิดในปีนี้ โดยเมื่อประชุมสภาผู้แทนราษฎร 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ก็ได้มีการกดดันจากภาคประชาชนที่คาดว่าจะมีการพิจารณาวาระที่ 2 ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยทำแคมเปนจ์ 14.48 ล้านทวิตบนแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่สุดท้ายในวาระประชุมดังกล่าวก็ไม่ได้ยกร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมหรือร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นมาพิจารณา และจนถึงป่านนี้ เราก็ยังต้องรอคอยสิทธิพึงมีนี้ต่อไป

เมื่อ 30 มิถุนายน 2565 คณะทำงาน Gen-Act ได้เปิดตัวร่าง พ.ร.บ. และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเนื้อหาในร่างฉบับนี้คือ สิทธิในการเปลี่ยนเพศ รับรองและคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลในเอกสารทางกฎหมาย โดยจะต้องมีตัวเลือกที่หลากหลายให้กับผู้มีประสงค์เปลี่ยนเพศ ให้ทุกคนสามารถยืนยันตัวตน (Self Determination) ทางกฎหมายได้ และต้องไม่ใช้เอกสารการรับรองจากแพทย์ หรือประวัติอาชญากรรม เป็นเครื่องมือในการขัดขวางการเปลี่ยนเพศของบุคคล เพราะการยืนยันตัวตนทางกฎหมายนั้น ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งคาดว่าร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเข้าสู่สภาในสมัยประชุมถัดไป
อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังเผชิญการตั้งคำถามจากกลุ่มนอนไบนารี่ไทยแลนด์ ให้มีการแก้ไขร่างพรบ.นี้ก่อนอย่างเร็วที่สุด เพราะในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนั้น ทุกคนควรได้เดินทางไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งข้อเรียกร้องของกลุ่มนอนไบนารีไทยแลนด์ มีรายละเอียดดังนี้https://www.facebook.com/showyourspectrum/posts/pfbid0jBbjR3FMbBmjhPQTBW4G2Div311WFcpMYpPD23j9rVysmfifSDkG4JaWT5yv3Hpcl
เป็นอีกความเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมในปีนี้ที่ต้องจับตามองต่อไปว่า รัฐจะตอบรับข้อเรียกร้องของประชาชนหรือไม่

เรียกได้ว่าความเคลื่อนไหวทางกฏหมายสิทธิของผู้มีความหลากหลายทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะก้าว 2 ถอย 3 และไม่ได้ก้าวหน้าไปพร้อมกันทั่วโลก แต่ก็ยังมีข่าวดีให้ชื่นใจอยู่บ้าง หลังยุโรปทยอยผ่านกฏหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ โดยใช้วิธียืนยันตัวเองโดยไม่ต้องใช้เอกสารทางการแพทย์ นอกจากสเปนและสก็อตแลนด์ที่เพิ่งผ่านร่างกฏหมายล่าสุด ก็ยังมีไอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ผ่านร่างกฏหมายและประกาศใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ และที่มอลตา กำลังจะมีการให้บริการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ในขณะที่รัฐฮาวาย ได้ผ่านร่างกฏหมายที่ให้ประกันสุขภาพต้องครอบคลุมสวัสดิการเรื่องเพศสภาพของคนข้ามเพศด้วย ถือเป็นความก้าวหน้าในประเด็นสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่น่าดีใจ
ส่วน #สมรสเท่าเทียม ปีที่ผ่านมานี้มี 4 ประเทศที่เพิ่งประกาศรับรองการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปคือ ชิลี สโลวีเนีย เม็กซิโก และคิวบา ทำให้ตอนนี้มี 34 ประกาศบนโลกที่การแต่งงานของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสถานะเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศอย่างแท้จริง
แต่ในอิรักและกัวเตมาลา กลับไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยขณะนี้ อิรักเตรียมร่างกฏหมายเพื่อเอาผิดการรักเพศเดียวกัน ซึ่งสร้างความกังวลต่อประชาคมโลกอย่างมาก ส่วนในกัวเตมาลา ก็ได้มีการประกาศแบนสมรสเท่าเทียม และมีการออกกฏหมายเอาผิดการทำแท้งด้วย
ส่วนในแถบเอเชีย หลังจากญี่ปุ่นประกาศใช้กฏหมาย same-sex partnership หรือกฏหมายคู่ชีวิตไปเมื่อปีก่อน แม้จะมีการนำไปปรับใช้ในหลาย ๆ เมือง แต่ก็ยังคงเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยคำตัดสินว่าการใช้กฏหมายคู่ชีวิต ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฮ่องกง ศาลก็ได้มีคำตัดสินไม่รับรองคู่แต่งงานที่แต่งงานกันถูกต้องตามกฏหมายในประเทศอื่นบนแผ่นดินฮ่องกง หลังจากใช้ระยะเวลากว่า 5 ปีในการเรียกร้อง
ในสิงคโปร์ ได้มีการยกเลิกกฏหมายเอาผิดชายรักชายแล้ว แต่สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และที่เวียดนาม ก็เพิ่งมีประกาศจากสาธารณะสุขที่ระบุว่า ‘LGBT+ ไม่ใช่ภาวะสุขภาพจิต บำบัดไม่ได้’ ทำให้ชาวเวียดนามมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ส่วนที่มาเลเซีย ยังคงปิดกั้นผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าจะเซ็นเซอร์ในสื่อเนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ศาลสูงสุดอเมริกา กลับคำคดี ‘Roe V. Wade’ อย่างเป็นทางการ ทำให้กฎหมายไม่คุ้มครองการทำแท้งในอเมริกาอีกต่อไป หลังเคยให้การทำแท้งถูกกฎหมายมานานกว่า 50 ปี
คดี ‘Roe Vs Wade’ – คือคดีในปี 1969 ที่ ‘นอร์มา แม็กคอร์วีย์’ (นามแฝงทางกฎหมาย ‘เจน โร’) ฟ้องต่ออัยการเขตท้องถิ่น ‘เฮนรี เวด’ ว่ากฎหมายของรัฐเทกซัสที่เธออาศัยอยู่นั้น ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ซึ่งนับว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยรัฐเทกซัสได้วินิจฉัยให้ โร ชนะคดีนี้ และมีการอุธรณ์ต่อศาลสูงสุดอเมริกา
ซึ่งในปี 1937 ศาลสูงสุดก็เห็นด้วยให้โรชนะคดี และก็ได้ตัดสินให้มลรัฐต่าง ๆ ในอเมริกาไม่สามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งระหว่างไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (ประมาณ 3 เดือนแรก) ได้อีกต่อไป ก่อนที่ศาลสูงสุดจะมีการปรับบรรทัดฐานจากไตรมาสแรก มาเป็นสามารถทำแท้งได้ระหว่างช่วง Fetal Viability หรือจุดที่ทารกสามารถดำรงชีวิตนอกมดลูกได้ ในปี 1992
ซึ่งแน่นอนว่าการกลับคำตัดสินในครั้งนี้ของศาลสูงสุด จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในวงกว้างต่อผู้มีเพศกำหนดหญิงที่สามารถตั้งครรภ์ได้ และเป็นการย้อนกลับถอยหลังไปกว่า 50 ปี ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐที่ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ต้องเดินทางไปทำแท้งที่รัฐอื่น หรือแย่ไปกว่านั้น หากไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะเดินทาง คือต้องทำแท้งเถื่อน ซึ่งอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นาย ‘รวิพล พุ่มเรือง’ วัย 39 ปี ผู้ช่วยผู้กำกับซีรีส์วาย ‘นิทานพันดาว’ และ ‘แค่เพื่อนครับเพื่อน’’ ถูกจับในข้อหากระทำอนาจารแก่เด็กชายอายุ 15 ปี โดยอ้างว่าเป็นการแคสติ้งบทบาทเพื่อเข้าสู่วงการซีรีส์วาย และผู้ต้องหายังมีสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ในครอบครองอีกด้วย
ข่าวของผู้ช่วยผู้กำกับในครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวและเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนในไทย แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีการกระทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมจากอุตสาหกรรมบันเทิง และเมื่อต้นปี ยังมีภาพยนตร์เรื่อง ‘Love เลย 101’ ที่เสนอ ‘ความรักต่างวัย’ ของชายวัยกลางคนและนักเรียนหญิงมัธยมปลาย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป มีการโปรโมตอย่างไม่ยั้งคิดว่ากำลังส่งต่อค่านิยมที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมที่ ‘ใคร่เด็ก’ อยู่แล้วเป็นทุนเดิม และในช่วงเวลาเดียวกับที่แฮชแท็กนี้กำลังขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ วงการเพลงก็ส่งมิวสิควิดีโอเพลง ‘Tutor’ ของวง Luss มาช่วยยืนยันว่าอุตสาหกรรมบันเทิงกำลังขาดความตระหนักถึงปัญหา ‘ใคร่เด็ก’ ในสังคมอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งการใคร่เด็กในสังคมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะในปีนี้ ก็มีคดีที่สะท้อนความไม่แยแสต่อเด็กและเยาวชนของสังคม คือคดีค้าบริการเด็กที่มีผู้ต้องหาคดีซื้อบริการเด็กทั้งหมด 12 ราย โดยผู้ต้องหาที่มีอายุมากสุดมีอายุ 79 ปี มีตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งยังมี รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ อ.พุนพิน, ครู, นายแพทย์ และทหาร และลูกอดีตนักการเมืองรวม ซึ่ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ลงพื้นที่ติดตามเรื่องนี้ ระบุว่าพบพฤติกรรมของรองอธิบดีกรมกิจการเด็กฯ และครูพี่เลี้ยงในบ้านพักเด็ก พยายามแทรกแซงการทำงานของตำรวจ และข่มขู่พยานที่เป็นผู้เสียหาย ห้ามไม่ให้ข้อมูลในการขยายผลของตำรวจ
สิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุด คือกลุ่มคนที่รายล้อมเด็กและเยาวชนและคาดหวังว่าจะเป็นผู้ดูแลเด็กๆ กลับมีส่วนร่วมและเกี่ยวพันกับคดีนี้ซะเอง

จากกรณีของครูกอล์ฟ ข้าราชการครูที่ไม่สามารถออกบัตรข้าราชการได้ เนื่องจากไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ก็มาถึงที่สิ้นสุด เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีคำวินิจฉัยส่งตรงไปถึงสำนักนายกรัฐมนตรีตามรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 72/2564 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2564 และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งเป็นกลไกการร้องเรียนใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ออกคำวินิจฉัย 05/2564 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ทั้งสองคณะได้ให้คำวินิจฉัยโดยสรุป ว่าบุคคลข้ามเพศที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดซึ่งเป็นข้าราชการ มีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพและต้องได้รับคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งคำวินิจฉัยนี้มีอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2478 ต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ
ได้ยิ้มไม่เท่าไร แต่สำนักนายกรัฐมนตรีก็ช็อตฟีลแสนล้านโวลต์ ส่งฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้จะต้องติดตามต่อไปว่าเจตนาที่แท้จริงของสำนักนายกรัฐมนตรีคืออะไรกันแน่ ทำเพื่อใคร ทำไปทำไม ต้องการอะไร แล้วเมื่อไร พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2478 ที่ใช้มา 78 ปีฉบับนี้ จะถูกแก้ให้โอบรับความหลากหลายสักที

Cambridge Dictionary ได้เพิ่มความหมายของคำว่า ‘Woman’ และ ‘Man’ ให้ครอบคลุมความหมายถึงสำนึกทางเพศ โดยให้ความหมายว่า มนุษย์ที่มีชีวิต และนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิง (หรือผู้ชาย) แม้จะต่างจากเพศกำเนิด สิ่งนี้กระทบกระเทือนรุนแรงต่อการรับรู้ของคนในสังคมมาก และต่อให้จะมีคนออกมาบอกว่านี่คือ ‘การทรยศความจริง’ แต่ Dictionary.com ก็ออกประกาศให้ Woman เป็นคำแห่งปีแล้ว เพราะเป็นคำที่จุดประเด็นการถกเถียงได้ตลอดปี และทำให้เห็นว่ามีคนอื่นชอบมายุ่งกับเพศสภาพของชาวบ้านชาวช่องเขามากแค่ไหน ซึ่งประโยคหลังนี้ Dictionary.com ไม่ได้พูด แต่เป็นการขยายความเฉยๆ
และเมื่อต้นปี ก็มีความเคลื่อนไหวจากวงการทางการแพทย์ที่วารสารการแพทย์ภาษาเยอรมัน 21 ฉบับจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น ทำให้ในเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาวารสารทั้ง 21 เล่มจะถูกตั้งชื่อใหม่เป็นชื่อสาขาวิชาทางการแพทย์ที่เป็นกลางทางเพศ แทนการใช้ชื่ออาชีพที่หมายถึงเพศชายเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น วารสาร ‘Der Internist’ (อายุรแพทย์ (ชาย)) จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Die Innere Medizin’ (อายุรกรรม) และ ‘Der Chirunrg’ (ศัลยแพทย์ (ชาย)) ก็จะถูกเปลี่ยนเป็น ‘Die Chirurgie’ (ศัลยกรรม) เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อให้เกิดความครอบคลุมต่อคนทุกเพศ แต่เนื้อหายังคงมีประเด็นครบถ้วนดังเดิม
แม้แต่ภาษาเองก็ต้องปรับตัว เพราะภาษาควรทำหน้าที่รับใช้คนในสังคม และเกิดความหมายที่สังคมยอมรับร่วมกัน
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

ฟุตบอลโลกที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือว่าเป็นบอลโลกที่กีดกันทางเพศมากที่สุด และมีรายงานจากหลายสำนักข่าวว่าไม่ใช่แค่กีดกัน แต่อันตรายต่อแฟนบอล หรือแม้แต่ผู้สื่อข่าวที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะกาตาร์ เจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup) มีกฎหมายที่เอาผิดการเป็นคนรักเพศเดียวกันอยู่
การทำหน้าที่เจ้าภาพบอลโลกแต่ยังกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศของกาตาร์เผชิญการตั้งคำถามอย่างหนัก และสร้างปัญหาต่อคอมมูนิตี้ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่หยุดหย่อน แม้กาตาร์เองจะบอกว่า ‘ยินดีต้อนรับทุกคน’ ลอร่า แมคเอลิสเตอร์ ถูกบอกให้ถอดหมวกสีรุ้งออกเมื่อต้องเข้าเวิลด์คัพสเตเดียม และมีแฟนบอลจำนวนหนึ่งถูกคุมขังด้วย เพราะใส่เสื้อสีรุ้งเข้าไปในสนาม
แฟนบอลที่เป็นเกย์คนหนึ่งพยายามจะชูธงไพรด์ที่ ‘เป็นสีขาวดำ’ (grey scaled) ในสนาม แต่ก็ถูกบังคับให้ทิ้ง และช่างภาพของ BBC ที่ใส่สายนาฬิกาเป็นสีรุ้ง ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสนาม ทั้ง ๆ ที่‘ จันนี อินฟันตีโน’ ประธานสหพันธ์ได้ออกมาพูดว่า “ทุกคนจะได้รับการต้อนรับ (ที่เวิร์ลคัพ) ไม่ว่าจะมีที่มา พื้นเพ ศาสนา เพศ หรืออัตลักษณ์ และเชื้อชาติไหนก็ตาม”
แม้จะมีความพยายามที่จะแสดงออกเพื่อต่อต้านการกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยทีมที่เข้าร่วม (ประกอบด้วยอังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, เวลส์, นอร์เวย์ และสวีเดน) โดยกัปตันทีมจะสวมปลอกแขน One Lobe ขณะลงเล่น แต่ FIFA ก็ได้ออกประกาศห้าม และมีบทลงโทษแจกใบเหลืองที่จะทำให้นักเตะคนนั้น ๆ โดยงดเล่นใน 1 แมตช์ถัดไป เพราะ ‘ไม่ต้องการให้การเมืองมายุ่งเกี่ยวกับกีฬา’ และตอนนี้บอลโลกก็จบลงไปด้วยชัยชนะของอาร์เจนติน่าที่ฉลองด้วยการล้อเลียน Kylian Mbappe นักเตะชาวฝรั่งเศส และถูกตั้งข้อสงสัยในเวลาต่อมาว่าอาร์เจนติน่านั้นเหยียดเชื้อชาติ และเกลียดกลัวคนข้ามเพศ
ท่ามกลางการเลือกปฏิบัติซึ่งหน้า และอาการปากว่าตาขยิบอย่างแรงของ FIFA ก็พอมีความหวังขึ้นมาบ้างเมื่อ โทนี่ เอสตองเกต์ แม่ทัพใหญ่ในการจัดปารีสโอลิมปิก 2024 ให้คำมั่นสัญญาว่า งานแข่งขันกีฬาในครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่ครอบคลุม (inclusive) มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ท่ามกลางข้อห้ามของหลายสมาคมกีฬาที่ไม่ให้คนข้ามเพศเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือนโยบายของสหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ (FINA) องค์กรที่ควบคุมดูแลกีฬาทางน้ำระหว่างประเทศ ที่ได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าแข่งขัน
ต้องรอดูต่อไปว่า Olympic 2024 และ World Cup 2026 จะเป็นกีฬาเพื่อทุกคนได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นได้แค่กีฬาที่ทำให้การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศยังดำเนินต่อไป อย่างกับเป็นเรื่องปกติ
ขอบคุณผู้ที่ติดตามและสนับสนุนสเปกตรัมมาตลอดปี แล้วกลับมาพบกันใหม่ในปี 2023 ที่เราหวังว่าสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเท่าเทียมอย่างแท้จริง