ผลสำรวจบอก ‘เฟมินิสต์’ ทำผู้ชายไม่แต่งงาน ส่วนผู้หญิงไม่แต่งเพราะต้องทำ ‘งานบ้าน’

- Advertisement -

ส่องอคติในผลสำรวจจากเอเจนซี่หาคู่ในเกาหลีใต้ ที่สะท้อนการกดทับผู้หญิง และส่งเสริมการต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ

- Advertisement -

ผลสำรวจนี้มาจากคำถามที่ว่า “ถ้าแก้ไขได้เรื่องนึง การแก้เรื่องอะไรที่จะทำให้คุณอยากแต่งงาน” โดยเก็บข้อมูลจากหญิงและชายที่มีรสนิยมรักต่างเพศและยังไม่ได้แต่งงานจำนวน 536 คน ผู้ชาย 34.7% ตอบว่า ‘เฟมินิสต์’ อันดับที่สองคือการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน อันดับที่สามคือเรื่องลูก และอันดับที่สี่คือการต้องทำงานบ้าน และในการรายงานผลสำรวจนี้ผ่านทางเว็บไซต์ munhwa.com ได้ระบุบทสัมภาษณ์ของ CEO เอเจนซี่จัดหาคู่ด้วยว่า ผู้ชายโสดไม่พึงพอใจเท่าไรกับการที่ผู้หญิงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่หลีกเลี่ยง ‘ความรับผิดชอบ’ ของตัวเอง

ในขณะที่ผู้หญิง 36.2% ตอบว่าอยากให้มีการแบ่งกันทำงานบ้านบ้าง ส่วนอันดับที่สองคือเรื่องพ่อแม่ของสามี อันดับที่สามคือเรื่องของการมีลูก และอันดับที่สี่จึงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ข้อมูลจากผลสำรวจสะท้อนความกังวลที่สวนทางกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะประเด็น ‘เฟมินิสต์’ ที่เป็นความคับข้องใจอันดับหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่มีคำพูดที่ชี้ไปที่ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็สะท้อนในผลสำรวจของผู้หญิงเช่นกันว่ามีความกังวลเรื่องงานบ้าน การต้องดูแลครอบครัวสามี และการมีลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเกาหลีใต้มองว่าเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของผู้หญิง

ความรับผิดชอบของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมถูกกำหนดโดยบทบาททางเพศ (Gender roles) ที่เป็นค่านิยมของสังคม ในขณะที่ผู้ชายเกาหลีใต้ถูกคาดหวังให้ทำงานหาเงิน ผู้หญิงต้องแบกรับความกดดันมหาศาลจากภาระภายในบ้าน ทั้งการทำงานบ้าน เตรียมเสื้อผ้าให้สามี เตรียมอาหาร ดูแลบ้านให้เรียบร้อย ความกังวลใหญ่ที่สุดของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจึงเป็นการต้องแบกรับเรื่องลูกและงานบ้านเพียงลำพัง ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องเสียสละชีวิตส่วนตัว

ค่านิยมว่าผู้หญิงจะต้องแต่งงาน ดูแลบ้าน ดูแลสามี และมีลูก ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของผู้หญิงด้วย สถานที่ทำงานบางแห่งยังคงตั้งคำถามกับผู้สมัครงานหญิงว่า ‘มีแผนจะแต่งงานหรือไม่’ รวมทั้งการตั้งท้องในขณะทำงานยังทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง นอกจากนั้น ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐานก็ยากที่จะเข้าถึง บางที่ต้องจองล่วงหน้าเป็นปี สิ่งนี้ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถจะเลี้ยงลูกและทำงานนอกบ้านไปพร้อมกันได้ จนต้องเสียชีวิตการทำงานไปในที่สุดเมื่อมีครอบครัว และการเสียชีวิตการทำงานนั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ สูญเสียสังคม โอกาสในการพบปะผู้คน การสังสรรค์ การพักผ่อนหย่อนใจ การต้องอยู่แต่บ้านที่มีงานให้ต้องทำทั้งวัน จึงลงเอยด้วยถูกโดดเดี่ยวออกจากสังคมไปในที่สุด ปลายทางของการแต่งงานในความคิดของผู้หญิงเกาหลีใต้จึงไม่สวยงามนักเมื่อเทียบกับการเลือกใช้ชีวิตโสด แต่ถ้าหากเลือกจะไม่แต่งงาน ก็ต้องเผชิญกับการกดดันทางสังคมจากสถานการณ์อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ที่ต่ำที่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ทุ่มเงินกว่า 6.7 ล้านล้านบาทไปกับความพยายามแก้ปัญหานี้ แต่เหมือนว่าจะยังแก้ปัญหาได้ไม่ถูกจุด

ในขณะที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศทำให้ผู้หญิงไม่อยากสร้างครอบครัว การเรียกร้องความเท่าเทียมกลับกลายมาเป็นเหตุผลที่ผู้ชายเลือกไม่แต่งงาน (ซะงั้น) ความกังวลรอง ๆ ลงมา ของผู้ชายที่ไม่อยากแต่งงาน คือภาระทางการเงินและการมีลูก (ซึ่งนำไปสู่ภาระทางการเงินที่หนักกว่าเดิม) สิ่งนี้ก็เป็นผลพวงจากบทบาททางเพศที่คาดหวังให้ผู้ชายต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวได้ผลักผู้หญิงออกจากการมีรายได้เมื่อเป็นแม่และเมีย และทุ่มความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่พ่อและผัวแต่เพียงผู้เดียว จากความกังวลทั้งหมดนี้ ดูเหมือนการแก้ปัญหาจะไม่ยากเท่าไร เพียงแค่ผู้หญิงสามารถทำงานหาเงินและเลี้ยงตัวเองได้อย่างก่อนจะมีครอบครัว แต่เกาหลีใต้กลับไม่เห็นด้วยแบบนั้น แถมยังเลือกที่จะต่อต้านมันแทน

ขบวนการต่อต้านเฟมินิสต์ของผู้ชายเกาหลีใต้ในนามกลุ่ม Dang Dang We เริ่มก่อตั้งตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีมูนแจอิน ในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘ประธานาธิบดีสตรีนิยม’  โดยมีชนวนมาจากการจัดการการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) อย่างจริงจังในยุคนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มูฟเมนต์ #MeToo และ #mylifeisnotyourporn เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ผู้ที่ต่อต้านไม่เชื่อว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ และมองว่าเฟมินิสต์ไม่ใช่การเรียกร้องความเท่าเทียมแล้ว แต่เป็นความรุนแรง อีกทั้งยังยกการเกณฑ์ทหารมาด้วยว่านี่ต่างหาก การเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา การต่อสู้ทางอุดมการณ์ของเฟมินิสต์และขบวนการต่อต้านเฟมินิสต์ส่งผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และสังคมที่นำโดยชาย (male dominate) ก็นำเกาหลีใต้มาสู่ประธานาธิบดีคนล่าสุด ‘ยุนซอกยอล’ ผู้ที่สตรีไม่นิยมและไม่สตรีนิยมสุด ๆ จนจะยกเลิกกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศมาแล้ว 

แม้แต่บทสัมภาษณ์ของเอเจนซี่จัดหาคู่ที่เป็นเจ้าของผลสำรวจ ก็ยังชี้ความผิดไปที่ผู้หญิงว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่แล้วยังมาเรียกร้องความเท่าเทียม น่าตลกที่ไม่มีแม้แต่สักคำที่จะพูดว่าภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับในฐานะเมียและแม่นั้นหนักหนาสาหัสแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงก็พูดออกมาแล้วแท้ ๆ ว่าภาระนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เธออยากทำซะหน่อยในฐานะเด็กผู้หญิงที่เกิดและเติบโตมาอย่างยากลำบาก ตั้งใจเรียนและทำงาน สู้ในโลกทุนนิยมอย่างเต็มที่ตามวิถีชนชั้นกลาง แต่พอมาสู่ชีวิตครอบครัว กลับต้องโดนทิ้งให้อยู่แต่บ้านและรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ครั้นจะทำงานเพื่อจุนเจือครอบครัวบ้างก็ไม่มีใครสนับสนุน เอาง่าย ๆ แค่ผู้ชายใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแค่ 2 สัปดาห์ ก็ถูกคนรอบตัวและบริษัทตั้งคำถามแล้วว่าทำไมไม่ให้ภรรยาเลี้ยงล่ะ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าลูกเป็นภาระของผู้หญิงเพียงคนเดียวจริง ๆ อัตราการใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรในปี 2021 ก็บอกตรงกัน ว่ามีผู้ชายเพียง 22.7% เท่านั้นที่ใช้สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร

ผลสำรวจจากเอเจนซี่หาคู่ที่ไม่ปิดบังที่จะบอกว่า ‘เฟมินิสต์’ คือปัญหา จึงเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด โดยเฉพาะเมื่อผู้ทำแบบสำรวจอย่างเอเจนซี่หาคู่ Bien เองก็แสดงความคิดเห็นในเชิงส่งเสริมผู้ชายที่ปฏิเสธการแต่งงานเพราะแนวคิดเฟมินิสม์ – แต่สิ่งนี้ก็นำไปสู่คำถามว่า หากการแต่งงานมีลูกคือทางรอดเดียวจากสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ แล้วทำอย่างไรดี ‘ผู้ชาย’ จึงจะมองเห็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เป็นทางออกของวิกฤตนี้ ไม่ใช่ตัวร้ายอย่างที่กำลังเป็นอยู่

CNN: https://bit.ly/3ZlMpGj , https://bit.ly/3W8prQd
The Guardian: https://bit.ly/3XbcEg
Korea Times: https://bit.ly/3jUmu8i
The Matter: https://bit.ly/3WUJ6UG
Munhwa: https://bit.ly/3VTE4qb
Washintonpost: https://bit.ly/3CqN6UT , https://bit.ly/3CqN6UT

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me