สองมือเลี้ยงลูกเรา สองเท้าอยู่กับที่ ตัวตนและความฝันของผู้หญิงที่เลือนหายเพราะกลายเป็น ‘แม่’

- Advertisement -

“We mothers stand still so that our daughters can look back and see how far they’ve come.”

- Advertisement -

คือประโยคจากภาพยนตร์ Barbie ซึ่งเป็นฉากที่ รูธ แฮนด์เลอร์ ผู้ริเริ่มไอเดียการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ พูดกับบาร์บี้หลังจากถ่ายทอดความรู้สึกว่ามีความหวังดีให้กับบาร์บีเช่นเดียวกับที่เธอปรารถนาดีแก่ลูกสาวของตัวเอง ประโยคนี้ถูกหยิบมาทำ Reaction Video อย่างล้นหลามในช่วงที่ผ่านมา เพราะทำให้หลายคนตระหนักถึงความเสียสละที่แม่เคยทำให้ ใจความของประโยคนี้สื่อถึงคนเป็นแม่ที่ต้องหยุดเดินเพื่อส่งลูกสาวให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ และหวังว่าวันหนึ่งเมื่อเธอมองกลับมาจะเห็นว่าตัวเองนั้นเดินไปได้ไกลแค่ไหนจากจุดที่แม่เคยอยู่

ผู้ชมบางส่วนมองว่าบทต้องการสื่อว่าเมื่อมีลูกสาวแล้วคนเป็นแม่จึง ‘เลือก’ จะหยุดเดินเพื่อสนับสนุนและหลีกทางให้ลูกได้เปล่งประกายในเส้นทางของตน ในขณะที่อีกฝ่ายตีความว่าเมื่อกลายเป็นแม่แล้วผู้หญิงหลายคน ‘ต้อง’ พักชีวิตและความฝันของตัวเองเอาไว้และทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูก

แต่ไม่ว่าจะตีความไปในทางไหน ทั้งสองความหมายต่างชี้ให้เห็นถึง ‘ความเสียสละ’ ของผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้จะเต็มใจมอบให้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่ต้องเผชิญกับความคาดหวังและกดดันจากสังคมมากมายเหลือเกิน

#SPECTROSCOPE: สองมือเลี้ยงลูกเรา สองเท้าอยู่กับที่ ตัวตนและความฝันของผู้หญิงที่เลือนหายเพราะกลายเป็น ‘แม่’

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาว่า “ถ้ามัลติเวิร์สมีอยู่จริง ขอให้มีจักรวาลหนึ่งที่แม่ไม่เคยได้พบกับพ่อ เธอจะได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างมีความสุข” ซึ่งต่อมากลายเป็นปรากฎการณ์ที่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้เข้ามาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของแม่แต่ละคนที่แตกต่างกันไป

“แม่คงได้เป็นครูอย่างที่ตั้งใจ”

“ถ้าได้เรียนสูงกว่านี้เชื่อว่าแม่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมและเติบโตในหน้าที่การงานได้ดีแน่ๆ”

“ขอให้แม่ในโลกนั้นมีความสุข ไม่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก”

“แม่คงได้มีอิสระ อยากซื้ออะไรก็ได้ซื้อ”

ในความต่างของเรื่องราวนั้นมีจุดร่วมหนึ่งคือความเสียสละของผู้เป็นแม่ที่ไม่ว่าจะได้ ‘เลือก’ หรือไม่แม่หลายรายก็เสียสละตัวตนและความฝันเพื่อทำหน้าที่แม่ในฐานะผู้ดูแลลูกและครอบครัว ซึ่งถูกบอกเล่าในโพสต์นี้ผ่านถ้อยคำของลูก ๆ ผู้เป็นพยานการต่อสู้ การเสียสละ และความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่มาตลอดระยะเวลาการเติบโต ลูกหลายรายที่ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์นี้กล่าวชัดเจนว่าหากเลือกได้ก็ยินดีจะไม่เกิดมา ถ้านั่นหมายความว่าแม่จะได้ใช้ชีวิตให้มีความสุข ได้ทำตามความฝันอย่างใจเธอต้องการ

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ‘ความเสียสละ’ ที่สังคมคาดหวังจากการเป็นแม่อย่างกว้างขวาง เนื่องจากป้ายคำคมซึ่งตั้งโชว์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในสเปนช่วงวันแม่ที่ระบุว่า “เสียสละ 98% เอาใจตัวเอง 3% และบ่น (เรื่องความเสียสละในฐานะแม่) 0% = 100% ของคนเป็นแม่” ซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจจนถึงขั้นมีแคมเปญแบนซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้านี้เนื่องจากมองว่าเป็นข้อความที่ผลิตซ้ำค่านิยมปิตาธิปไตยที่กดทับผู้หญิงและความเป็นแม่ไว้ในกรอบของความเสียสละที่ถูกคาดหวังตามบทบาททางเพศ (Gender roles) ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ของการวิพากษ์ในครั้งนี้มุ่งไปที่ความพยายามยกย่องเชิดชูความเสียสละของคนเป็นแม่ซึ่งถูกใช้เป็นข้อกดดันให้ผู้หญิงต้องทำตามมาตรฐานนั้นเพื่อที่จะสามารถเป็นแม่ที่ดีได้

เอสเธอร์ วิวาส (Esther Vivas) นักเขียนเฟมินิสต์ชาวสเปนให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าในสังคมปิตาธิปไตยนั้น คนเป็นแม่ถูกแบ่งไว้เพียง 2 ประเภท คือแม่ผู้เสียสละและแม่ที่แย่ ซึ่งแม่ที่ยินดีเสียสละทุกสิ่งคือแม่ที่ดี ในขณะที่แม่ที่แย่ยังคงมีความฝันความหวังส่วนตัว อย่างไรก็ตามเฟมินิสต์ที่ร่วมถกเถียงในประเด็นนี้เห็นตรงกันว่าปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นการเชิดชูความเสียสละว่าเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้คนคนหนึ่งเป็นแม่ที่ดีได้ต่างหากที่ต้องถูกตั้งคำถามว่าการเสียสละนั้นเกิดจากการเลือกของคนเป็นแม่หรือไม่ หรือเกิดจากความกดดันของสังคมที่มุ่งหมายให้ผู้หญิงคนหนึ่งละทิ้งอาชีพและตัวตนเพื่อทำหน้าที่ดูแลครอบครัว เพื่อที่จะอยู่ในกรอบของแม่ที่ดีได้ ซึ่งแน่นอนว่าความคาดหวังนี้ทำให้ภาพจำของความเป็นแม่นั้นบิดเบี้ยวไปจากความจริงที่มนุษย์คนหนึ่งมีหลายมิติ มีหลายบทบาท และความเป็นแม่ยังประกอบไปด้วยความท้อแท้ เหนื่อยล้า และบางครั้งมีความเสียใจและความโกรธ ซึ่งมักไม่ได้รับการพูดถึงและไม่ให้ความสำคัญเนื่องจากความคาดหวังว่าคนเป็นแม่จะต้องเสียสละทุกสิ่งได้ด้วยจิตใจชื่นบานตลอดกาลตลอดไป

คนเป็นแม่ต้องเสียสละอะไรบ้าง

ผลสำรวจจากสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดทำโดยมีแม่กว่า 10,000 รายร่วมตอบคำถามพบว่าช่วงปีที่ผ่านมามีคนเป็นแม่จำนวนมากที่ลาออกจากงานเพื่อรับบทบาทในการเลี้ยงลูก เนื่องจากปัญหาเวลางานไม่สอดคล้องกับการดูแลลูก และการเข้าถึงเดย์แคร์และจ้างพี่เลี้ยงก็เป็นไปอย่างยากลำบากจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ผลสำรวจในครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่จัดทำขึ้นก่อนหน้านี้โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพ่อ-แม่ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งพบว่าเมื่อจำเป็นต้องเลือกหรือเสียสละหน้าที่การงานเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ผู้เป็นแม่มีแนวโน้มมากกว่าในการรับผิดชอบการเลี้ยงดูลูก แม้นั่นจะหมายถึงการลาออกจากงานและกลายเป็นคนไร้รายได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งงานสำรวจที่ตั้งคำถามตรง ๆ กับคู่สามี-ภรรยาที่มีลูกว่าพวกเขาได้เสียสละอะไรที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานไปบ้างในการเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากงาน การปฏิเสธเลื่อนตำแหน่ง (ซึ่งจะทำให้งานหนักมากขึ้น ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น) ผลสำรวจพบว่ากว่า 65% ของผู้เป็นแม่ได้บอกลาการเติบโตในอาชีพไปมากกว่าพ่อซึ่งคิดเป็น 45%  ผลสำรวจสามชิ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าค่านิยมของสังคมที่มองว่าสวัสดิภาพของเด็กเป็นความรับผิดชอบหลักของแม่ และค่านิยมว่าแม่ควรเสียสละเพื่อการเลี้ยงดูบุตรนั้นส่งผลต่อผู้หญิงในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและทางเดินอาชีพของพวกเธอ ดังเช่นที่ผู้ใช้งาน X หลายรายได้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ว่าแม่ของตนต้องลาออกจากงานและละทิ้งเส้นทางอาชีพในฝันเพื่อรับบทบาทในการเป็นแม่เต็มตัว ซึ่งการหยุดเดินต่อตามความฝันของตัวเองนั้นแม้จะเป็นประสบการณ์ร่วมของแม่หลายรายแต่กลับเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงบ่อยนัก หรือไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร

แม้จะต้องเสียสละเส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ก็มีผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าแม่จำนวนไม่น้อยมีความสุขดีที่เลือกใช้เวลาร่วมกับลูก แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แม่ทุกคนจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่เสียดาย และไม่ใช่ทุกความทุ่มเทจะได้รับการมองเห็นและให้คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมเอเชียซึ่งมีบทบาททางเพศฝังลึกอยู่ในทุกห้วงของชีวิต

นักเขียนเฟมินิสต์ชาวอินเดียหลายรายเล่าว่าต้องใช้เวลาในการมองเห็นสิ่งที่แม่ทำให้ แม้จะถูกเลี้ยงดูและเติมโตมาด้วยแรงกายและใจของแม่ แต่การทำงานดูแลครอบครัวนั้นกลับดูเป็นงานที่ล่องหน หลายครอบครัวทานอาหารโดยไม่สนใจว่าใครเป็นคนทำ สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดโดยไม่ใส่ใจว่าใครเป็นคนซัก เพราะนั่นคือหน้าที่ของแม่ที่ต้องทำ ‘เป็นปกติ’ นอกจากนี้ลูกหลายคนไม่เคยตั้งคำถามถึงบริบทอื่นในชีวิตของแม่ ลูกไม่รู้ว่าแม่ตัวเองเป็นใครก่อนมาเป็นแม่  ลูกไม่รู้จักแม่ตัวเองในฐานะคนคนหนึ่งที่มีบทบาทอื่นนอกจากการเป็นแม่ เพราะแม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เราเจอแม่ในฐานะแม่ที่ใช้ชีวิตแบบเดิมแทบทุกวัน แม่อาจไปทำงาน แม่อาจอยู่ที่บ้าน แต่เราไม่รู้ว่าแม่มีความฝันอะไรก่อนมาเป็นแม่เรา และจริง ๆ แล้วแม่ยังจำความหวังและความฝันของตัวเองได้อยู่ไหม

หนึ่งในผู้ใช้งาน X ได้โพสต์วีดีโอของเกล็นน์ โคลส (Glenn Close) ที่ขึ้นพูดขณะรับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ณ เวที Golden Globes ว่าขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่แม่ของเธอผู้ซึ่งใช้ทั้งชีวิตในการสนับสนุนลูกและสามี เธอเล่าว่า ‘แม่ไม่รู้สึกว่าประสบความสำเร็จอะไรซักอย่างในชีวิต’ ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ร่วมของแม่หลายคนทั่วโลกผู้ซึ่งเป็นมือล่องหนที่สนับสนุนครอบครัวอยู่เบื้องหลัง และไม่เหลือเวลาหรือพละกำลังมากพอจะทำตามความฝันอื่นของตน

แน่นอนว่าเราชื่นชมความเสียสละของแม่ทั้งหลายบนโลกนี้ แต่เราสามารถรู้สึกขอบคุณได้โดยไม่เอาความเสียสละนี้มาเป็นค่านิยมที่กดดันให้คนเป็นแม่ต้องเสียสละทุกสิ่ง ทั้งความฝัน ความหวัง ความเจริญในหน้าที่การงานและความสุขส่วนตัวของพวกเธอเพื่อสนับสนุนโอบอุ้มคนอื่นในครอบครัว เราคาดหวังว่าสังคมพัฒนามามากพอที่คนเป็นแม่ไม่จำเป็นต้องหยุดเดินเพื่อให้ลูกได้เดินไปข้างหน้า เราคาดหวังว่าวันนี้เราเข้มแข็งมากพอที่จะพาแม่เดินไปด้วยกัน

ถ้าบทบาททางเพศถูกทำลายไปและความเท่าเทียมหลากหลายเบ่งบานได้กว่านี้เราอาจไม่ต้องคาดหวังว่าแม่จะไปมีชีวิตที่มีความสุขอยู่ในมัลติเวิร์สอื่น แม่อาจได้พบรักกับพ่อที่ร่วมรับผิดชอบลูกอย่างเท่าเทียมกันด้วยความยินดี แม่จะได้มีชีวิตที่มีความสุขอยู่ในชุดความจริงนี้แบบที่มีเราอยู่ในชีวิตเธอด้วย

#Barbie #MotherDay #InterrogatingMotherhood #selfsacrificingmother

Graphic by 7pxxch

อ้างอิง

@_callmesamuel_: https://bit.ly/3Ywin2g

Equal Times: https://bit.ly/3YxHr9d

Feminism in India: https://bit.ly/3QBVGIb

Now This: https://bit.ly/3DMOuS2

Motherly: https://bit.ly/3OxrL1h

Plos: https://bit.ly/3YwfgaX

Says: https://bit.ly/3DQTPry

The Atlantic: https://bit.ly/3ONOuaH

 

- Advertisement -
Ms.Chapman
Ms.Chapman
a senior baby girl