‘เพดานที่มองไม่เห็น’ (Glass Ceiling) กั้นไว้ ผู้หญิงเลยไปถึงจุดสูงสุดไม่ได้ง่าย ๆ

- Advertisement -

มองกระจกใสใสที่ผู้หญิง เพศหลากหลายและคนชายขอบ ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน และยังทลายลงไปไม่ได้ให้เต็มตา ผ่านซีรีส์การเมืองเรื่องใหม่ ‘Queenmaker’

- Advertisement -

Queenmaker เล่าเรื่องของ ‘ฮวังโดฮี’ นักกลยุทธ์ที่ผลักดัน ‘โอกยองซุก’ ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน และเฟมินิสต์ เข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ฮวังโดฮีคือแรงผลักดันที่จะพาโอกยองซุกทำลาย ‘เพดานที่มองไม่เห็น’ เพื่อไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงโซล เพื่อจบทุกซากความพินาศของ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่กัดกินเมืองหลวงของเกาหลีใต้ และกัดกินเธอไปด้วย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฮวังโดฮีมีความแค้นเป็นแรงผลักดัน

ความตั้งใจที่จะพูดถึงชีวิตใต้ตีนปิตาฯ ของผู้หญิงไม่ได้ถ่ายทอดผ่านเนื้อหาในซีรีส์เท่านั้น แต่จงใจอย่างยิ่งที่จะบอกเล่าถึง Glass Ceiling หรือ ‘เพดานที่มองไม่เห็น’ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และเป็นชื่อเพลงประกอบซีรีส์เรื่องนี้ด้วย

ฟังเพลงประกอบซีรีส์ได้ที่ https://bit.ly/3GRNePu

Glass Ceiling หรือ ‘เพดานที่มองไม่เห็น’ คือสิ่งกีดขวางผู้หญิงและคนชายขอบจากการขึ้นสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน อุปสรรคเหล่านี้มันจะมองไม่เห็นได้โดยง่ายในสังคมที่ผู้ชายครอบงำ (male dominated) แต่มันส่งกระทบต่อผู้หญิงอย่างเป็นระบบและทั่วถึงทุกคน

‘เพดานที่มองไม่เห็น’ มีบทบาทอย่างมากในสนามการเมือง และเคยเป็นหมุดหมายสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 2008 หลังพ่ายแพ้การหยั่งเสียงเลือกตั้งต่อบารัค โอบามา ฮิลลารี่ คลินตันประกาศว่ามีรอยร้าวใน ‘กระจกที่สูงและแข็งแกร่งที่สุด’ เกิดขึ้นแล้ว 18 ล้านรอยร้าว และในการเลือกตั้งครั้งเลือกตั้งทั่วไป ปี ค.ศ. 2016 เมื่อฮิลลารี่ คลินตันเป็นผู้ลงสมัครจากเดโมแครต เธอก็เลือก Javits Center ที่เป็น ‘อาคารกระจกทั้งหลัง’ ในนิวยอร์ก เป็นที่รอรับชัยชนะหลังการเลือกตั้งในคืนที่ 8 พ.ย. ฝากความหวังไว้กับประชาชนว่าจะช่วยกันทลาย ‘เพดานกระจก’ ลงไปให้ได้ ฮิลลารี่ คลินตันแบ่งปันความสำเร็จของเธอกับผู้หญิงอเมริกาตลอดแคมเปนจ์หาเสียง แม้จะโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้แต่ความเป็นหญิง แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี จนถึงวันนี้ สหรัฐอเมริกาก็ยังทลายเพดานกระจกนั้นไม่สำเร็จ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง 45 คนยังเป็น ‘ผู้ชาย’

ผู้คนอาจเข้าใจความหมายของ ‘เพดานที่มองไม่เห็น’ แล้วเป็นอย่างดี แต่ Queenmaker ใช้ทั้ง 11 ตอน พาเราไปสำรวจรูปร่างหน้าตาของเพดานที่มองไม่เห็นอย่างละเอียด ค่อย ๆ มองเห็นชีวิตผู้หญิงแต่ละคนทีละน้อยว่าอะไรบ้างที่ทำให้ยิ่งพยายามอย่างหนัก พวกเธอยิ่งตกต่ำ แม้แต่ความผิดพลาดที่เล็กน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องต้องห้าม และต่อให้เป็นผู้หญิงในตระกูล 1% แต่ความเป็นหญิงก็ไม่เคยขว้างได้พ้นตัว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเงยหน้ามอง ‘ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จหนึ่งเดียวคนนั้น’ ก็ช่างห่างเหิน แข็งแกร่ง ดำมืด และไร้หัวใจ ราวกับว่าผู้หญิงที่สละแล้วซึ่ง ‘ความเป็นหญิง’ เท่านั้นที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจ

#SpoilerAlert

ท้ายที่สุดแล้ว โอกยองซุกอาจทำลายเพดานกระจกไปได้ด้วยมือของผู้หญิงมากมายที่ผลักดัน เป็นผู้ว่าราชการกรุงโซลที่ปราบปรามทุจริตและประคับประคองครอบครัวได้ด้วยดี แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงอีกมากยังต้องติดอยู่ใต้เพดานที่ร้อนระอุ และแย่งชิงกันเองเพื่อเป็นที่หนึ่งที่เดียวในกติกาชายเป็นใหญ่ ที่กีดกันความหลากหลายจากทุกทิศทุกทาง ทุกเครื่องมือที่มีในมือ และมีทุกคนที่พร้อมจะสยบยอมต่ออำนาจล้นเกินนั้น

แต่มันต้องเป็นแบบนั้นเสมอไปหรือ?

แต่มันต้องเป็นแบบนั้นเสมอไปหรือ? Queenmaker กำลังบอกให้ผู้หญิงแค้นเคืองต่อทุกสิ่ง และสงวนความเมตตาไว้เผื่อแผ่แก่ผู้หญิงข้าง ๆ เพื่อให้เราชนะไปด้วยกัน

ไม่ใช่การเมืองของผู้หญิงเป็นใหญ่
นี่คือการเมืองของ ‘เฟมินิสต์’

พื้นที่ไม่มี ต้องชิงดีชิงเด่น

พื้นที่อันจำกัดบีบบังคับให้ผู้หญิงที่ไม่ได้มีใครด้อยกว่าใครต้องแข่งขันกันเพื่อเป็นที่หนึ่งที่เดียว ความสูญเสียที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้นและเป็นแผลในใจผู้หญิงทุกคนเพราะโอกาสที่ไม่เพียงพอ

ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ ‘Queenmaker’ จับคู่ปะทะระหว่างผู้หญิงสองคนให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โอกยองซุกและซอมินจอง ช่วงชิงการเป็นนักการเมืองหญิงในใจประชาชน, กุกจียอน วางแผนไล่ฮวังโดฮีออกจากตำแหน่งผู้จัดการและตั้งเป้าจะไปให้ไกลกว่าฮวังโดฮีให้ได้, อึนแชรยองและอึนซอจิน ลูกสาวสองคนแห่งตระกูลอึนก็ต้องขับเคี่ยวกันอย่างหนักเพื่อเป็นลูกรักของแม่

แต่จำเป็นจริงหรือที่นักการเมืองหญิงต้องมีแค่คนเดียวในหมู่นักการเมืองชายที่ได้ลงเลือกตั้งมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า* รุ่นน้องในบริษัทต้องวางแผนกำจัดหัวหน้าเพื่อจะขึ้นสู่ตำแหน่งเท่านั้นหรือ ลูกสาวสองคนต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ความรักของแม่หรืออย่างไร ทั้งที่จริงแล้วไม่มีใครเข้าใจหัวอกของทั้งคู่ได้ดีเท่ากันและกันเอง

‘Queenmaker’ ไม่ได้เล่าตรง ๆ ว่าผู้ชายเข้าถึงทรัพยากรทั้งหมดโดยไม่ถูกตั้งคำถาม จนทำให้ผู้หญิงต้องหันมารบราฆ่าฟันกันเองเพื่อช่วงชิงพื้นที่อันน้อยนิด แต่ก็เห็นความพยายามควบคุมให้ผู้หญิงต้องตบตีกันจนลืมไปในที่สุดว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้โอกาสสำหรับผู้ชายมีไม่จำกัด แต่สำหรับผู้หญิงต้องแข็งแกร่งที่สุด ‘เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น’ จึงจะขึ้นถึงจุดสูงสุดได้

ไม่มีอะไรฟรี ไม่มีอะไรง่าย แม้แต่ฮวังโดฮีที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของกุกจียอนก็พยายามสุดชีวิตมาจนถึงวันนี้ ต้องสละเสื้อผ้าทั้งชุดของตัวเองเพื่อรักษาผ้าพันคอผืนเดียวของเจ้านาย มีรอยแผลช้ำที่นิ้วโป้งอยู่เสมอเพราะเหยียบอยู่บน ‘เกียรติ’ ในคราบส้นสูงที่ต้องวิ่งวันละ 10 ชั่วโมง แต่ก็พ่ายแพ้ต่อกุกจียอนง่าย ๆ เพราะมีหัวใจ

กุกจียอนฉกฉวยโอกาสอย่างรวดเร็วและแนบเนียนกับความด้อยโอกาสของฮันอีซึล และสามัญสำนึกของฮวังโดฮี กำจัดทั้งคู่ออกไปเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปแผนกกลยุทธ์ เหยียบย่ำผู้หญิงสองคนเพื่อขึ้นสู่จุดสูงกว่าโดยปลดเปลื้องสำนึกผิดชอบชั่วดีทิ้งไป 

แต่แม้เหยียบย่ำหัวผู้หญิงคนอื่นขึ้นไปได้ ก็ไม่อาจทะลุเพดานกระจกไปได้อยู่ดี

แข็งแกร่งแต่ก็ยังอ้อนแอ้น จุดลงตัวที่ตายตัว

ก่อนจะเข้าคอร์สจัดระเบียบร่างกายและเปลี่ยนรูปลักษณ์เข้มข้น ‘โอกยองซุก’ ถูกตัดต่อภาพเพราะมีเหงื่อที่รักแร้ขณะออกหาเสียง และโจมตีว่าเป็น ‘เหงื่อของรากหญ้า’  

เหงื่อออกมากเป็นภาวะหลังคลอดลูกเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน โอกยองซุกทราบถึงข้อจำกัดในร่างกายของตัวเองดีและพูดออกมาเองว่า ‘ดูแลตัวเองไม่ดีหลังคลอด’ ลูกคือความภาคภูมิใจ แต่เหงื่อทำให้เธออับอาย สังคมที่อยากให้ผู้หญิงทุกคนมีลูกแต่ยอมรับผลที่ตามมาจากการมีลูกไม่ได้สร้างความตึงเครียดให้ผู้หญิงอย่างมหาศาล

ฮวังโดฮีจัดการยกเครื่องภาพลักษณ์ผู้สมัครผู้ว่าฯ เสียใหม่ ตัดผมให้สั้นเพื่อลดการดูแล ตัดชุดพอดีเพื่อให้เนี้ยบอยู่เสมอ รูปลักษณ์ไร้ที่ติเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และลดโอกาสที่เธอจะโดนโจมตีจากความเป็นตัวเอง เพื่อเข้าสู่สนามการเมืองที่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย โอกยองซุกต้องวางทิ้งหลายสิ่งและยอมรับหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘รัดทรง’ ที่บีบจนอึดอัดแทบหายใจไม่ออก สุดท้ายเธอก็ทนมันไม่ได้ ถอดออกในรายการสดจนกลายเป็นสัญญาณการปฏิวัติ ‘รัดทรง’ ผู้หญิง ว่ามันไม่ใช่ความจำเป็น ผู้หญิงอยากจะสวยก็ทำได้ ถ้าอยากจะไม่เป๊ะบ้างจะผิดอะไร และสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้โอกยองซุกเป็นผู้หญิงน้อยลงสักหน่อย

เพราะความเป็นหญิงยังตามรังควานนักการเมืองหญิงอีกเป็นขบวน แม้จะถอดรัดทรงทิ้งก็ตาม

ปีกและขาจงหายไป เพื่อให้ครอบครัวเป็นสุข

เดิมพันจากการส่ง ‘แพคแจมิน’ ชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงโซล ดึงอึนแชรยองกลับสู่ความเป็นหญิงอีกครั้ง เมื่อต้องแสดงให้สังคมเห็นว่าแพคแจมินเป็นผัวและพ่อที่สมบูรณ์แบบ บทบาทสนับสนุนของเมียและแม่ต้องเด่นชัด อึนแชรยองต้องวางมือจากตำแหน่งผู้บริหารห้างปลอดภาษีเพื่อติดตามแพคแจมินตลอดการหาเสียง และต้องเล่นละครตบตาสังคมในบางครั้งเพื่อทำให้เกาหลีใต้เชื่อว่าแพคแจมินคือผัวที่ผู้หญิงทุกคนต้องการ และพ่อที่แบกรับทุกอย่างจน ‘แม่’ มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ สร้างภาพครอบครัวแสนสุขตามขนบ เพราะไม่เคยมีผู้ได้รับเลือกตั้งคนไหนในเกาหลีใต้ที่ชีวิตแต่งงานล้มเหลว

ในขณะที่อึนแชรยองถูกดึงกลับสู่หน้าที่ในครอบครัว ‘โอกยองซุก’ และ ‘ฮวังโดฮี’ ต้องทอดทิ้งทั้งสองสิ่งนี้ไปโดยสิ้นเชิง เป็น ‘โชคดี’ ของโอซุกยองที่สามีของเธอพร้อมจะดูแลบ้าน ดูแลลูก และปลอบประโลมจิตใจเธอเสมอ สามีของโอกยองซุกไม่เคยอ่อนไหวเพราะความเป็นชายที่เปราะบาง เข้าใจและผลักดันภรรยาของเขามาตลอดตั้งแต่วันที่เธอเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนมาลงสนามการเมือง ชีวิตครอบครัวของโอกยองซุกรอดพ้นมาได้เพราะเธอไม่ได้ต้องประคับประคองมันโดยลำพัง แต่ฮวังโดฮีไม่ได้โชคดีอย่างนั้น เธอเลิกกับสามีไปนาน ตอบคำถามพ่อไม่ได้เมื่อถามถึงลูก และไม่มีเวลาดูแลพ่อที่ป่วยหนักจนต้องมาเสียใจเมื่อพ่อจากไปเพราะเกมการเมือง ในวันที่ชีวิตนอกบ้านประสบความสำเร็จ พื้นที่ส่วนตัวของฮวังโดฮีล่มสลายลงโดนสิ้นเชิง

พื้นที่นอกบ้านเรียกร้องเอาทุกอย่าง ทั้งหมด และหลายครั้งก็รุกรานมาถึงพื้นที่ส่วนตัว โอกยองซุกและซอมินจองโดนโจมตีเรื่องความเป็นแม่ในฐานะผู้สมัครหญิงแม้จะทำงานการเมืองได้ไร้ที่ติ โดนไล่ให้ออกจากการเลือกตั้งไปเพื่อ ‘เลี้ยงดูลูกตัวเองให้ดีก่อน’ และพวกแม่ ๆ ในเกาหลีใต้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างง่าย ๆ ถูกมองว่าเป็นฐานเสียงที่อ่อนไหว ให้ความสำคัญกับประเด็นเดียว เมื่อเป็นแม่แล้ว ผู้หญิงก็ถูกทำความเข้าใจทันใดว่าต้องอุทิศชีวิตเพื่อดูแลลูกให้เติบโตอย่างดี และเหนี่ยวรั้งครอบครัวเอาไว้ให้สุดกำลัง

‘ความเป็นแม่’ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในสนามการเมืองที่ผู้หญิงโผล่ขึ้นมาได้ เป็นคุณและเป็นโทษของผู้หญิงในการเมืองได้ทั้งนั้น แต่ผู้ชายไม่เคยต้องเผชิญ

ความจำกัดคับแคบของ ‘ครอบครัวแสนสุข’ หักปีกหักขาผู้หญิงจนต้องจำยอม ลูกต้องมาก่อน ผัวต้องสำคัญกว่า ครอบครัวจึงเป็นกำแพงชั้นหนาที่สุดที่ฝ่าฟันยากยิ่งในการที่ผู้หญิงจะทะลุเพดานกระจกไปได้

ผู้หญิงรวยวางภาระลง ผู้หญิงจนจงมารับไป

ผู้หญิงทุกคนมีอคติทางเพศเป็นปราการสุดท้ายก่อนถึงความสำเร็จจริง แต่ผู้หญิงทุกคนไม่ได้เผชิญความเจ็บปวดเดียวกันเท่ากัน อย่างน้อย ๆ ‘ผู้หญิงรวย’ ก็มีทางเลือกขว้างความเป็นหญิงให้ออกไปไกล ๆ สักระยะ แม้จะขว้างได้ไม่พ้นก็ตาม

‘อึนซอจิน’ พี่สาวคนโตของตระกูลอึนกลับมาอยู่บ้าน หลังฟ้องหย่ากับสามี แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพราะ ‘เรื่องด่างพร้อย’ จากการฟ้องหย่า ทุกอย่างในบ้านจึงพึ่งพา ‘อึนแชรยอง’ น้องสาวที่ต้องแบกรับความเป็นหญิงดี แต่งงานกับผู้ชายที่ทัดเทียม มีลูกที่จะโตมาอย่างเพียบพร้อม รับงานบริหารบริษัทที่กดดันมหาศาล อึนแชรยองมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้างเสมอ เป็นไปได้จริงหรือที่คนหนึ่งคนจะแบกรับทุกอย่างเอาไว้ได้ขนาดนั้น?

อาจเป็นไปได้สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือก-แต่อึนแชรยองไม่เคยเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ภาระของการเลี้ยงเด็กแฝดหนักหนาเกินไปสำหรับผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านและต้องแบกรับความกดดันในตระกูลแชโบล เพื่อจะใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงทำงานหนักได้ บทบาทแม่จึงถูกถอดทิ้ง อึนแชรยองส่งต่อภาระนี้โดยจ้างพี่เลี้ยงเด็ก 4 คนเพื่อรองรับ ‘งาน’ ที่ผู้หญิงชนชั้นกลางคนเดียวคงต้องแบกไว้ลำพัง

‘ผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือก’ มาจากโลกที่สาม อายุน้อย หัวอ่อน พูดภาษาอังกฤษดี เป็นแรงงานผิดกฏหมาย และค่าแรงถูก เข้ามารับภาระของผู้หญิงรวยที่สวม ‘ส้นสูง’ ออกนอกบ้าน

ไม่ใช่เพราะอึนแชรยองไม่มีปัญญาจ้างพี่เลี้ยงมืออาชีพคุณภาพสูง แต่สถานะ ‘แรงงานผิดกฏหมาย’ ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกอะไรมาก ไม่สามารถร่วมสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ไม่สามารถต่อรองค่าจ้างที่เป็นธรรมได้เพราะไม่มีอะไรคุ้มครอง ไม่แม้แต่จะมีสิทธิลุกขึ้นสู้หากโดนกระทำ หนึ่งในพี่เลี้ยงถูกไล่ออกแค่เพราะเผลอพูดภาษาเกาหลีกับเด็กทารก-ตามกฏหมายคงทำแบบนั้นไม่ได้ แต่อึนแชรยองทำได้ เพราะกฏหมายไม่คุ้มครอง ‘ผีน้อย’

สำหรับพี่เลี้ยงเด็กจากประเทศโลกที่สาม การได้ทำงานในประเทศโลกที่หนึ่งคือโอกาสของตัวเองและครอบครัว คือการเติมเงินที่หาไม่ได้ในมาตุภูมิเพื่อให้ชีวิตยังไปต่อแม้จะต้องผิดกฏหมาย แต่สำหรับอึนแชรยอง การเลือกเอาเปรียบผู้หญิงไม่มีทางเลือก คือความมั่นคงของชีวิตว่าต่อให้จะ ‘กดขี่’ แค่ไหน ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะไม่มีทางสู้กลับได้ ต่อให้ใช้ร่างกาย สุขภาพจิต และชีวิตที่เหลือของพวกเธอเพื่อเลี้ยงลูกตัวเอง ก็จะสามารถตอบแทนได้ด้วยแค่เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

โอกาสมีน้อย จุดด่างพร้อยเลยเกิดง่าย

โอกาสที่จะมีชีวิตไร้รอยด่างพร้อยเป็นพริวิเลจขั้นสุดยอด เป็นผลงานจากการลงทุนที่สม่ำเสมอหรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีจริยธรรมที่ตั้งมั่น แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก ประวัติงามหมดจดแพงเกินไป จริยธรรมกลายเป็นของฟุ่มเฟือย เพราะค่าเทอมต้องจ่ายแล้วเดือนหน้า ถ้าไม่ทำอะไรเลยวันนี้ ก็บอกลาอนาคตที่ ‘อาจจะดี’ ได้เลย

‘ฮันอีซึล’ คือตัวละครผู้หญิงหน้าตาดี อายุน้อย ทำงานหนัก ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในครอบครัวที่ฐานะการเงินเปราะบาง แต่ก็สามารถฝ่าฟันเข้าไปทำงานบริษัทใหญ่ในฝ่ายกลยุทธ์ได้ด้วยความมานะของตัวเอง แต่ฮันอีซึลก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะไปออกทริปต่างจังหวัดกับแพคแจมิน และถูกกำจัดอย่างโหดเหี้ยม ด้วยการโยนเธอลงจากดาดฟ้าของอึนซองกรุ๊ป และอำพรางว่าเธอฆ่าตัวตายเพราะความกดดันในที่ทำงาน

ใช่ว่าฮันอีซึลไม่ขอความช่วยเหลือ แต่ฮวังโดฮีไม่เชื่อว่าเป็นความรุนแรงทางเพศและมองว่าเป็นแสวงหาผลประโยชน์จากความเป็นหญิงมากกว่า เธอสืบเจอว่าฮวังอีซึลเคยทำงานเป็นเด็กเอ็นมาก่อน และข่มขู่ฮวังอีซึลว่าต่อให้พูดจริงว่าถูกกระทำ สังคมที่โทษเหยื่อและเชื่อผู้หญิงอยู่แล้ว ไม่มีทางเชื่อ ‘เด็กเอ็น’ ที่บอกใครต่อใครว่าโดนผู้มีอำนาจล่วงละเมิดแน่ๆ
จริงที่ฮันอีซึลเคยทำงานในร้านเหล้าช่วงสั้น ๆ ก่อนเรียนจบเพราะเงินกู้จ่ายค่าเทอมมีปัญหา แต่ต่อให้ฮันอีซึลไม่ได้ต้องทำเพราะความจำเป็น การทำงานกลางคืนก็ไม่ควรจะเป็นต้องเป็นรอยด่างพร้อยในชีวิตของเธอ ประวัติด่างพร้อยจากเหตุแห่งความจนทำให้ฮันอีซึลหมดทางสู้ในระบบที่โดนล็อบบี้มาก่อนแล้ว ถูกปลอมแปลงข้อความว่าข่มขู่คนที่ข่มขืนเธอด้วย #metoo ปลอมแปลงจดหมายลาตาย และฮวังโดฮีก็เชื่อแบบง่าย ๆ เพราะความจน ไร้ที่พึ่ง และอดีตของฮันอีซึล จนนำไปสู่การลาออกเพราะละอายใจของเธอเองเมื่อฮันอีซึลตาย ทั้ง ๆ ที่ฮันอีซึลไม่เคยจำนนต่อชีวิต ไม่เคยอับอายต่ออดีต ต่อสู้อย่างภาคภูมิใจ แต่ก็เป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยินเพราะด้อยโอกาสเกินไป

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me