ช่างโชคดีเหลือเกินที่หญิงไทยมีสิทธิเลือกตั้งพร้อมชายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 แต่อำนาจประชาธิปไตยทางอ้อมนั้นไม่ใช่คำตอบของการเมือง เห็นได้จากความล่าช้าในการผลักดันนโยบายเพื่อเด็กและสตรี อย่างเส้นทางนโยบายเพิ่มวันลาคลอดที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต้องยอมกรีดเลือดหน้าสภา และต่อสู้เพื่อสิทธิอันพึงจะมีนานถึง 3 ปี
จากงานวิจัย Substantive representative of women in Asian parliaments กล่าวว่าต้องมี ผู้หญิง 30% ในสภาถึงจะมากพอในการสร้างผลกระทบต่อกระบวนนิติบัญญัติ เช่น จำนวนสมาชิกสมัยล่าสุดมี 500 ที่นั่ง ก็ต้องมีส.ส. หญิง 150 คน แต่ภาพจำนวน ส.ส. หญิงหรือเพศหลากหลายมากขนาดนั้นในสภาคงเป็นได้แค่ภาพในความฝัน เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังห่างไกลจากตัวเลขนี้มากโข
ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบผสม มี ส.ส. หญิง (รวมทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ) 46 คน จาก 500 ที่นั่ง หรือคิดเป็นเพียง 9.2%
ถัดมาสี่ปี ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1.4% หรือ 53 คน จาก 500 ที่นั่ง เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่เวลาล่วงเลยมากว่า 20 ปี แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทย ก็ยังมีส.ส. หญิง 73 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3 คน ซึ่งเป็นเพียงครึ่งเดียวจากจำนวน ส.ส. ที่ควรมีเพื่อผลักดันกฎหมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายเพื่อสิทธิสตรี หรือความเท่าเทียมทางเพศจะขาดโอกาสลืมตาอ้าปากในสภาไทย
Gender quota คือ การกำหนดสัดส่วน ในระบบจำนวนคงที่ (Fixed Number) หรือสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงในระบบการเมืองทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับชุมชนหรือ ระดับท้องถิ่น ตลอดจนภายในพรรคการเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงในพื้นที่การเมือง
รูปแบบของโควตามีหลากหลายตามแต่ละประเทศจะเลือกใช้ เช่น
1. สงวนที่นั่ง (Reserved seats) คือ กำหนดตำแหน่งหรือจำนวนที่นั่งสส. หญิงในสภาอย่างชัดเจน เช่น ประเทศอินเดียมีระบุในรัฐธรรมนูญว่าต้องจัดสรรโควตาที่นั่งหญิงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 33 จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด
2. โควตาผู้สมัครตามที่กฎหมายบังคับ (Legislated candidate quota) คือ กำหนดสัดส่วนผู้ลงสมัครว่าจะต้องเป็นผู้หญิงอย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ฝรั่งเศสกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครชายและหญิงในสัดส่วนร้อยละ 50 ทุก ๆ เขตเลือกตั้ง มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
3. ตามความสมัครใจของพรรค (Voluntary party quota) คือ ตามนโยบายหรือแนวคิดของพรรคว่าต้องการมีสัดส่วนหรือจำนวนผู้สมัครหญิงเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
ในปี ค.ศ. 2023 มี 137 ประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบบ Gender Quota ทั้งเม็กซิโก แคนาดา เยอรมนี ฯลฯ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามดังที่กล่าวมา โดยรวันดา มีส.ส. หญิงในสภาสูงถึง 61.3% ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 20-40% โดยเฉลี่ย
ประเทศแรกที่มีการริเริ่มใช้กฎหมายนี้คืออาร์เจนตินา ในปี ค.ศ. 1991 พรรคการเมืองใหญ่อย่าง The Justicialist Party ได้เริ่มใช้โควตาเพื่อเพิ่มนักการเมืองหญิงในพรรค ซี่งทำให้อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงในภาคการเมืองมากที่สุดของโลก ณ ขณะนั้น
หลังจากนั้นไม่นานก็สภาก็ผ่านกฎหมายการกำหนดจำนวน ส.ส. หญิง ให้มีจำนวน 30% ขึ้นไป รวมถึงกำหนดให้ในระบบบัญชีรายชื่อจะต้องมีผู้หญิงอยู่ในลำดับที่สูงพอจะมีสิทธิ์เข้าสภา ซึ่งอิงมาจากจำนวนที่นั่งที่พรรคนั้น ๆ ชนะในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า ก่อนในป ค.ศ. 2017 จะปรับมาเป็นระบบ Zipper ที่ชายและหญิงจะมีลำดับสลับกันในบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่ว่าใส่ชื่อผู้หญิงไว้ท้ายตารางให้ครบโควตา แต่มีเพียง ส.ส. ชายเดินเข้าสภาเป็นขบวน
หลากหลายงานวิจัยที่แสดงผลว่าโควตา ส.ส. หญิงส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิง หรือช่วยนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสตรีเข้าสภา เช่น งาน The Global Impact of Quotas: On the Fast Track to Increased Female Legislative Representation (2008) ของ Aili Tripp และ Alice Kang ก็ระบุว่า การมีโควตา ส.ส. หญิงสร้างผลอย่างเป็นรูปธรรมในการเพิ่มจำนวนสส.หญิง ในสภา ซึ่งทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ภาคการเมืองเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1980 และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีถัดมา
สอดคล้องกับบทความ Making Quotas Work: The Effect of Gender Quota Laws on the Election of Women ของ LESLIE A. SCHWINDT-BAYER ที่กล่าวถึงปัจจัยสำคัญสามประการที่ช่วยให้โควตาทำให้ผู้หญิงมีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมในระบบการเมือง คือ จำนวนเปอร์เซ็นต์ของโควตาที่เหมาะสม ลำดับของผู้ลงสมัครหญิงในระบบบัญชีรายชื่อ และระบบการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ซึ่งแม้ว่าความแตกต่างของวัฒนธรรมการเมืองในแต่ละประเทศจะส่งผลต่อประเภทที่ระบบโควตาที่จะได้ผลดีในประเทศนั้น ๆ ทว่าหากปัจจัยสามประการข้างต้นถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็จะส่งผลต่อจำนวนส.ส. หญิง หรือแม้กระทั่งมุมมองของประชากรหญิงทั่วประเทศที่ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งและระบบการเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าเพศหญิงได้รับสิทธิและบทบาทในการเมืองเช่นกัน
ในด้านนโยบายก็เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จากงานวิจัย Quota Shocks: Electoral Gender Quotas and Government Spending Priorities Worldwide ของ Amanda Clayton และ Pär Zetterberg ชี้ให้เห็นว่าระบบโควตาทำให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณใหม่ โดยมีแนวโน้มในการดึงงบประมาณส่วนการทหารและความมั่นคงมาเพิ่มให้การศึกษา สาธารณสุข สิทธิสตรี และการแก้ปัญหาปากท้อง อีกทั้งการมีสตรีในสภายังช่วยให้ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งด้วย
นอกจากโควตาส.ส. หญิงในสภาแล้ว อีกประเด็นที่น่าจับตามองภายใต้บริบทสังคมหลอมรวม (inclusiveness) คือการเสนอโควตา LGBTQ+ แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายให้บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐตนเองนั้น ต้องมีจำนวนสมาชิกในบอร์ดเป็นคนผิวดำ แอฟริกัน-อเมริกัน เอเชียน ฯลฯ รวมถึงเพศหลากหลาย อย่าง เกย์ เลสเบียน ไบเซกชวล หรือคนข้ามเพศด้วย
แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีข้อถกเถียงอยู่มาก ในแง่การแทรกแซงของรัฐต่อภาคเอกชน แต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในการพัฒนาความเท่าเทียมที่อาจนำไปปรับใช้กับระบบการเมือง
ย้อนกลับมาที่ไทยในการ #เลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง หลากหลายพรรคการเมืองยกประเด็นเรื่องโควตาเพศขึ้นมาพิจารณา โดยในโอกาสวันสตรีสากล ‘เพื่อไทย’ ชี้ถึงความพยายามเพิ่มสัดส่วนหญิงในภาคการเมือง ผ่านการส่งส.ส.หญิง เพิ่มขึ้นเป็น 20% จาก 15% ในการเลือกตั้งครั้งก่อน
เช่นเดียวกับ ‘ประชาธิปัตย์’ ที่ระบุถึงการใช้โควตาเพศในส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ที่กำหนดให้อย่างน้อยทุกๆ 5 คน ต้องมีผู้หญิง 1 คน และยังมีพรรคเสมอภาคที่ประกาศใช้โควตาเพศเป็นหญิง ชาย และคนเพศหลากหลายสลับไปในลำดับบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตามหากยึดตามงานวิจัย Substantive representative of women in Asian parliaments ความหวังของจำนวน ส.ส.หญิง 30% ก็ยังไม่ใกล้เคียง
หญิงว่าน้อยแล้ว LGBTQ+ ยิ่งน้อยกว่า จากจำนวนเพียงหยิบมือของส.ส. LGBTQ+ ที่ได้เดินเข้าสภาในสมัยที่ผ่านมา ซ้ำร้ายยังมักถูกเปรียบเปรยว่าต้องกลายเป็น ‘ไม้ประดับ’ ของสภา ที่สามารถยื่นหรือเสนอประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น ทั้งที่แท้จริงแล้วประเด็นการเมือง สิทธิ หรือเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็อาจมี ส.ส. LGBTQ+ ที่มีความถนัดไม่แพ้กัน
จนกว่าจะถึงวันที่ตัวเลขก้าวผ่านไปถึง 30% หรือส.ส. LGBTQ+ ได้เดินเข้าสภาอย่างไร้ข้อครหา ประเทศไทยอาจยังต้องพึ่งพิงระบบโควตา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอย่างความปรกติธรรมดาให้ทุกเพศได้ที่นั่งในสภา โดยมีสิทธิและเสียงอย่างเท่าเทียม
อ้างอิง
วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับเพิ่มเติม (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563): 29-52
Daily News: https://bit.ly/3GV2wD9
Decode: https://bit.ly/3MQFhhe
International Idea: https://bit.ly/3LelWFD
Leslie A. Schwindt-Bayer: https://bit.ly/3A9ySWH
iknowpolitics: https://bit.ly/41BnSNG
The Standard: https://bit.ly/3Abr2fi
Content by Panita Pichitharuthai
Graphic by 7pxxch
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”