ในโลกยุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เติบโตและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในหลาย ๆ ครั้ง นวัตกรรมกระแสหลักนั้นก็ไม่สามารถตอบโจทย์เงื่อนไขในการใช้ชีวิตของกลุ่มคนที่มีปัจจัยทางร่างกายที่ต่างออกไป อย่างกลุ่ม ‘ผู้พิการ’ ได้ จึงนำไปสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาสำหรับผู้พิการประเภทต่าง ๆ เพื่อทำให้ชีวิตประจำวันของพวกเขาดำเนินไปได้ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ
Gender Notes 10: เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการที่จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้สะดวกยิ่งขึ้น
เจนเดอร์ โน้ตวันนี้ เลยจะพาไปดูเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับผู้พิการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้คนพิการสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมในสังคม และทำให้พวกเขาไม่ต้องถูกดันให้ไปอยู่ข้างหลังในโลกาภิวัฒน์ (Globalization) หรือถูกมองว่า ‘ไม่ปกติ’ อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปของใช้ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นการส่วนตัวแล้ว ในสเกลของส่วนรวม สังคม หรือรัฐฐะ ไม่ว่าจะในประเทศไหน ในการออกแบบเมืองหรือแผนพัฒนาต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึง ‘การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design)’ เป็นหลักด้วย
เพื่อที่ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวจะไม่ต้องเจ็บตัวจากฟุตบาทที่เป็นหลุมบ่อ
เพื่อที่ผู้พิการทางการมองเห็นไม่ต้องเสี่ยงถูกรถชนเมื่อข้ามถนน
เพื่อให้คนทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
และเพื่อให้เราได้รับความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
Be My Eyes — แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางสายตา
สำหรับผู้พิการทางสายตานั้น การใช้งานสมาร์ตโฟนจะเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากการสัมผัสหน้าจอไม่สามารถบอกได้ว่ากำลังใช้งานอะไรอยู่ ผู้พิการทางสายตาหลาย ๆ คนจึงจำเป็นต้องลงโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงการใช้งาน และเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันชื่อ ‘Be My Eyes’ ขึ้น ซึ่งทางผู้พัฒนาได้ระบุว่าแอปพลิเคชันนี้จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถ “มองเห็นโลก” ได้
แอปพลิเคชันนี้ทำงานโดยการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงผู้พิการทางสายตากับอาสาสมัครจากทั่วโลก ทำให้ผู้พิการสามารถขอความช่วยเหลือสำหรับเรื่องทั่วไป เช่น การตรวจสอบวันหมดอายุบนกล่องนม โดยอาสามาสมัครจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีคำขอ ซึ่งการช่วยเหลือในแต่ละรายการจะใช้ระบบวิดีโอคอลระหว่างอาสาสมัครและผู้ใช้บริการ
อ้างอิง
Hongkiat: https://bit.ly/3jO5s9E
AXS map — แอปพลิเคชันแผนที่สำหรับผู้ใช้รถเข็น
ยังมีสถานที่สาธารณะอีกหลายแห่งที่ไม่มีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถเข็น ไม่ว่าจะเป็นทางลาดหรือห้องน้ำ ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นในการเดินทางเคลื่อนย้ายไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งหากมีการรวบรวมข้อมูลของสถานที่ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถเข็น ก็จะทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น สามารถเลือกไปยังสถานที่ที่มีความสะดวกรองรับได้
ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมสร้าง AXS Map ขึ้นมา ซึ่งแอปพลิเคชันนี้เป็นแผนที่ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทางลาดสำหรับเก้าอี้รถเข็นและห้องสุขาในสถานที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ แผนที่นี้ยังรวบรวมข้อมูลให้อีกด้วยว่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในสถานที่นั้น ๆ มีคุณภาพอยู่ในระดับไหนด้วยการรวบรวมรีวิวจากผู้ที่เคยไปใช้บริการ ซึ่งแอปพลิชันนี้เปิดให้บริการในประเทศไทยอีกด้วย
อ้างอิง
Hongkiat: https://bit.ly/3jO5s9E
ดอท (Dot) — สมาร์ตวอทช์อักษรเบรลล์
ในปัจจุบันมีหลายแบรนด์แข่งขันกันผลิตเทคโนโลยีสมาร์ตวอทช์ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ทว่าเมื่อมีหน้าจอแบบระบบสัมผัสแล้ว สมาร์ตวอทช์จึงไม่สามารถใช้งานได้ในกลุ่มผู้พิการทางสายตา หากจะต้องใช้งานโดยส่วนมากแล้วผู้พิการทางสายตาจะต้องดาวน์โหลดโปรแกรมเพิ่มเติมเพื่อใช้คำสั่งเสียงเพื่อในการใช้งาน
Dot จึงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นสมาร์ตวอทช์อักษรเบรลล์เครื่องแรกของโลก การทำงานของ Dot คือรับและแจ้งเตือนข้อมูลต่าง ๆ และประมวลผลออกมาในรูปแบบอักษรเบรลล์ ผ่านหน้าจอความละเอียด 4 เบรลล์เซลล์ส หรือ 4 ตัวอักษรเบรลล์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข่าวสารและ e-Book ได้ทุกที่ทุกเวลา
อ้างอิง
Hongkiat: https://bit.ly/3jO5s9E
Ahead Asia: https://bit.ly/2SQBNl9
Sesame Phone — โทรศัพท์สำหรับผู้พิการ
ในโลกปัจจุบันโทรศัพท์มือถือนับเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน รวมไปถึงผู้พิการ แต่อย่างไรก็ตามโทรศัพท์มือถือธรรมดานั้นไม่อาจรองรับความต้องการของผู้ที่มีความคล่องตัวจำกัด ปัญหานี้ทำให้นวัตกรรมที่เรียกว่า ‘Sesame phone’ สมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ
โทรศัพท์เครื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจาก Google Nexus 5 และออกแบบเพิ่มเติมให้ใช้งานผ่านการเคลื่อนไหวของศีรษะ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้จะมีกล้องหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน มีระบบการจดจำท่าทางคล้ายคลึงกับการใช้นิ้วสัมผัส นอกจากนี้ยังมีระบบการควบคุมด้วยเสียงอีกด้วย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้งานได้โดยง่าย
อ้างอิง
Hongkiat: https://bit.ly/3jO5s9E
Wired: https://bit.ly/3qOXleJ
Liftware — ช้อนสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี โดยมีอาการที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในท่าพักแต่ดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว และอาการเกร็ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารด้วยตัวเองได้เนื่องจากอาหารจะหกออกจากช้อน ทำให้ ‘Liftware’ ถือกำเนิดขึ้น
Liftware คือผลิตภัณฑ์ประเภทด้ามจับที่มีความมั่นคงในตัว ซึ่งผู้ใช้งานสามารถนำช้อนหรือส้อมมาติดกับอุปกรณ์นี้เพื่อใช้งานได้ ทำให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันหรือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มีอาการสั่นของมือสามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตัวเอง เพราะ Liftware สามารถลดการสั่นสะเทือนได้ถึง 70% ทำให้การที่อาหารจะรั่วไหลหรือหกออกจากช้อนเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
อ้างอิง
Hongkiat: https://bit.ly/3jO5s9E
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: https://bit.ly/2V9KmZ3
OrCam MyEye — แว่นที่ช่วยใช้คนตาบอดมองเห็นได้
ในอดีตการช่วยผู้บกพร่องหรือพิการทางการมองเห็นให้สามารถ “มองเห็น” และใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้อย่างสะดวกจะถูกจำกัดไว้เพียงการใช้ตัวอักษรเบรลล์หรือการใช้เสียงสื่อสารเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันถูกพัฒนาอย่างก้าวหน้ามากขึ้นในแต่ละวัน จึงทำให้มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้ตาบอด “รู้สึกเหมือนมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้” และอุปกรณ์ชิ้นนั้นคือ ‘OrCam MyEye’
OrCam MyEye เป็นแว่นติดกล้องเทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ โดยตัวแว่นจะมีกล้องสำหรับบันทึกภาพและวิดีโอเพื่อแปลงเป็นข้อมูลเสียงไปยังผู้ใช้งานในการแจ้งว่าสภาพแวดล้อมข้างหน้าเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ในระยะบ้าง ผู้ใส่แว่นเพียงใช้มือชี้ไปยังวัตถุต่าง ๆ เพื่อให้แว่นสแกนข้อมูลสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ซึ่งตัวแว่นสามารถสแกนพื้นผิวต่าง ๆ ได้มากมาย อาทิ หนังสือ เมนูอาหาร และป้ายโฆษณา นอกจากนี้ยังสามารถจดจำใบหน้าและแจ้งเตือนผู้ใส่แว่นว่ามีใครอยู่ข้างหน้าได้อีกด้วย
อ้างอิง
Orcam: https://bit.ly/3wsLcNO
SiamPhone: https://bit.ly/3ysCMaq
Kenguru — รถยนต์สำหรับผู้ใช้วีลแชร์
สำหรับผู้ใช้รถเข็น การเดินทางด้วยรถยนต์อาจจะเป็นเรื่องที่ลำบากเนื่องจากการที่จะขึ้นโดยสารรถยนต์แต่ละครั้ง นอกจากที่จะต้องนำตัวเองขึ้นรถแล้ว ยังจะต้องมีการพับเก็บรถเข็นใส่รถอีก ซึ่งหากไม่มีผู้ช่วย การเดินทางนั้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และถึงแม้จะมียานพาหนะหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้รถเข็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของการนำตัวเองออกจากรถเข็นเพื่อขึ้นรถยังคงมีอยู่
Kenguru เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงผู้ใช้รถเข็นซึ่งเป็นผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ขับขี่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องออกจากรถเข็นเพื่อขึ้นโดยสารเพราะสามารถเคลื่อนรถเข็นเข้าทางประตูหลังซึ่งมีทางลาดเอื้ออำนวยและสามารถขับรถได้เลยทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้อื่นช่วย โดย Kenguru ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในฮังการีและในปัจจุบันได้มีฐานผลิตในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
Kengurucars: https://bit.ly/3ACYESc
Startup Selfie: https://bit.ly/3AvKouN
XBOX Adaptive Controller — คอลโทรลเลอร์สำหรับผู้พิการ
ในระยะไม่นานมานี้วงการการเล่นเกมถูกขยับขยายมากขึ้น ผู้พัฒนาระบบเกมและอุปกรณ์เล่นเกมเริ่มขยายขอบเขตของผู้เล่นเกมมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงความบันเทิงชนิดนี้ได้ ทำให้ทาง Microsoft Japan และ Hokkaido Medical Center เปิดตัว ‘Xbox Adaptive Controller’ อุปกรณ์เล่นเกมสำหรับผู้พิการและผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว
Xbox Adaptive Controller จะเป็นจอยคอนโทรลเลอร์ที่สามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ โดยจะมีปุ่มขนาดใหญ่ 2 ปุ่มกับปุ่มตัวอักษรที่ตั้งได้ตามความถนัดของผู้ใช้ และด้านหลังของตัวคอนโทรลเลอร์ก็จะมีช่องเชื่อมต่อในการปรับแต่งถึง 19 ช่อง ตัวคอนโทรลเลอร์ยังมีการออกแบบให้ใช้กับรถเข็นได้ ทำให้ผู้พิการที่ไม่ว่าจะมีปัญหาด้านใดก็สามารถใช้คอนโทรลเลอร์ตัวนี้เพื่อเล่นเกมได้อย่างง่ายดาย และสามารถใช้คำสั่งเสียงในการใช้งานได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วทางผู้ผลิตเองยังได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตัวควบคุมอักษรเบรลล์ in-put และ out-put เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้งานได้อีกด้วย
อ้างอิง
Youtube: https://bit.ly/3yu3BLh
Xbox: https://bit.ly/36j0WIk