จากแม่บ้านฟันหลอกับผู้ชายในตู้แช่ สู่คังฮยองนัม The Glory
<มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ The Glory>
‘คังฮยองนัม’ คือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เธอมีลูกสาววัย 14 ปี ในครึ่งแรกของ The Glory เราได้เห็นภาพการร่วมมือกันในฐานะนักสืบที่แนบเนียน เพื่อแลกกับผลต่างตอบแทนคือการจำกัดสามีผู้ใช้ความรุนแรงทิ้งโดยไม่ให้มือของทั้งคู่เปื้อนเลือด ตัวละครคังฮยองนัมแบกรับความเป็นแม่ เป็นเมีย ที่ต้องละทิ้งตัวเองเพื่อรักษาความสุขของลูกสาววัย 14 ปีไว้ ผู้หญิงธรรมดา ๆ บ้าน ๆ ที่เหมือนจะพบได้ทั่วไป ไม่แต่งตัวแต่งหน้า และใช้ชีวิตกับความรุนแรงจนสิ้นหวัง จนเมื่อได้พบกับไฟแค้นที่ลุกโชนของมุนดงอึน เธอก็ได้ชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งคืนกลับมา ในครึ่งแรก เราได้เห็นภาพคังฮยองนัมขับรถ ออกเดินทาง พาลูกออกจากบ้านไป ‘มีความสุข’ ทิ้งชุมชนที่คุ้นเคยและสามีใช้ความรุนแรงต่อเธอไว้เบื้องหลัง แต่ความสุขชั่วคราวนั้นไม่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ เพราะสามีที่ใช้ความรุนแรงยังตามรังควาญและไม่มีวันปล่อยให้เธอหรือลูกได้อยู่อย่างสงบสุข ราวกับปิศาจที่หลอกหลอนชีวิตผู้หญิงทั้งสองคนอยู่เสมอ
ในครึ่งหลังของซีรีส์ คังฮยองนัมตัดสินใจกลับบ้านเพื่อเผชิญหน้ากับความรุนแรงอีกครั้ง การกลับบ้านเป็นหลักประกันให้ลูกสาวของเธอสามารถย้ายไปอเมริกาได้อย่างปลอดภัย คังฮยองนัมถูกทุบตีไม่เว้นแต่ละวัน บทละครไม่แม้แต่จะพยายามลดทอนภาพความรุนแรง บ้านพังพินาศ รอยแผลบนใบหน้า ตามลำตัว และการกลายมาเป็นอาวุธของข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมอบความทรมานใจให้คนดูอย่างหนัก แต่หลังจากผ่านคืนวันที่เต็มไปด้วยรอยช้ำและคราบเลือด ข้อความจากลูกสาวที่เดินทางไปถึงอเมริกาเรียบร้อยแล้วก็นำความหวังมาสู่เธอ คังฮยองนัมลุกขึ้นมาดำเนินการกำจัดสามีอย่างใจเย็น เธอเริ่มหยอดข้อมูลที่จะนำสามีไปสู่ความตายทีละน้อย ลุกขึ้นมาแต่งหน้าแต่งตัว ทาลิปสติกสีแดงที่มุนดงอึนมอบให้ ปล่อยข่าวในชุมชนผ่านร้านสะดวกซื้อว่าสามีของเธอเริ่มจะปรับตัวและกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ การกระทำอย่างแนบเนียนนี้ก็นำพาความตายมาสู่คนที่ทำร้ายเธอมาเกินครึ่งชีวิตได้ในที่สุด แม้จะต้องยืมมือคนชั่วในการฆ่าเพื่อให้กฏหมายไม่สามารถเอาผิดเธอได้ก็ตาม
คังฮยองนัมยังคงไม่มีรอยยิ้ม แม้ผู้ใช้ความรุนแรงจะตายไปแล้ว ความรุนแรงยุติลงในที่สุด แต่การตัดสินใจเลือกจะเป็นผู้รอดชีวิตในความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงนั้นไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข กลับกันเรายิ่งเห็นสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างผู้ใช้ความรุนแรง (Abuser) และเหยื่อ คังฮยองนัมยังเลือกใส่ชุดที่สามีเลือกให้ในวันลอยอังคาร แต่น้ำตาแห่งการหลุดพ้นและโล่งใจก็เป็นสัญญาณว่าการที่สามีต้องตายเป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว สำหรับร่องรอยความโหดร้ายบนร่างกายเธอ
จากสถานการณ์ความจนที่บีบคั้นให้เกิดความรุนแรง ถ้าไม่มีใครสักคนตายไป แผลบนร่างกายคังฮยองนัมจะไม่มีวันเก่า เธอจะมีเจ็บซ้ำ ๆ จากความรุนแรงในครอบครัวอยู่เสมอ เรื่องที่ว่าสามีของเธอปรับตัวและกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ไม่ใช่เรื่องจริงและไม่ใกล้เคียง คังฮยองนัมทนมานานจนรู้ว่าความตายของผู้ใช้ความรุนแรงเท่านั้นที่จะหยุดความรุนแรงได้
#ความตายของผู้ใช้ความรุนแรงเท่านั้นที่จะหยุดความรุนแรงได้ จริงหรือไม่?
เมื่อวันวาเลนไทน์ (14 ก.พ. 66) ที่ผ่านมา ‘Banksy’ ได้อัปโหลดผลงานผ่าน Instagram ผลงานดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Valentine’s day mascara’ หรือมาสคาร่าวันวาเลนไทน์ (หรือที่เราเรียกว่าแม่บ้านฟันหลอกับผู้ชายในตู้แช่) โดยภาพดังกล่าวเป็นงานศิลปะบนผนังของอาคารแห่งหนึ่งในเมืองมาร์เกต สหราชอาณาจักร ภาพผู้หญิงแต่งชุดแม่บ้านยุค 50s กับตู้แช่ที่มีขาที่สวมกางเกงสแล็คและรองเท้าหนังโผล่ออกมา ใบหน้าของผู้หญิงมีรอยยิ้มแม้ตาจะบวมปูดและฟันซี่หน้าหายไป จากภาพนี้ เข้าได้ใจว่าศพที่อยู่ในตู้แช่คือสามีของเธอ และเข้าใจว่าเป็นเจ้าของร่องรอยความรุนแรงบนดวงตาและฟันของเธอเช่นกัน

หลายคนอธิบายว่า Banksy ต้องการนำเสนอประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง (Violence Against Woman) รัฐที่อ่อนไหวต่อประเด็นความรุนแรงก็คิดเช่นนั้น หน่วยงานของรัฐในเมืองมาร์เกตจึงตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการ ‘ย้ายตู้แช่’ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน) ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงที่ Banksy เผยแพร่ และให้เหตุผลว่าเพื่อความสะอาดและปลอดภัยของสาธารณะ แต่เหตุผลนี้ทำคนในชุมชนหัวเสียไม่น้อย เพราะปกติรัฐก็ไม่ได้สนใจจะย้าย ‘ขยะ’ ไวขนาดนี้ แล้วก็ไม่รู้ทำไมต้องย้ายด้วย ทั้งที่งานชิ้นนี้ควรจะสร้างชื่อเสียงให้เมืองมาร์เกตได้แท้ๆ
อย่างไรก็ตาม แม่บ้านยุค 50s ในภาพของ Banksy ก็เป็นอีกคนที่เลือกจะยุติความรุนแรงด้วยการ ‘ฆ่า’ เช่นเดียวกัน เป็นความบังเอิญที่น่าเศร้าใจเมื่อผู้หญิงต้องเลือกระหว่างการเป็นฆาตกรเสียเองกับเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่อไป
เว้นเสียแต่ว่าการเลือก ‘ฆ่า’ ไม่ใช่ความบังเอิญ
#BatteredWifeSyndrome คือภาวะที่เหยื่อความรุนแรงเลือกตอบโต้กลับเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะทนไม่ไหวอีกต่อไป แปลเป็นไทยว่าโรคความผิดปกติทางจิตจากการถูกกระทำรุนแรงเป็นเวลานานสะสม คอนเซปต์นี้ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 จากการศึกษาในเชิงจิตวิทยาจากเหยื่อที่ถูกกระทําความรุนแรงในครอบครัว และต่อมาได้นำมาใช้ต่อสู้คดีในทางกฎหมายของผู้หญิงที่ถูกกระทําความรุนแรงในครอบครัวหรือถูกทำร้ายเป็นระยะเวลานานจนฆาตกรรมสามี
แต่ทำไมความรุนแรงในครอบครัวถึง ‘เกิดซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานจนเหยื่อทนไม่ไหว’ ได้ เมื่อความรุนแรงมีหลักฐานและมีกฏหมายคุ้มครองการทำร้ายร่างกาย มูลนิธิผู้หญิงได้รวบรวมการดำเนินคดีผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและฆ่าสามี ที่ปรากฏรูปแบบความรุนแรงซ้ำ ๆ กัน
ผู้หญิงเผชิญความรุนแรงในครอบครัว > แจ้งตำรวจและขอความช่วยเหลือจากในชุมชน > ตำรวจและชุมชนผลักดันกลับสู่ความรุนแรงเพราะ‘เป็นเรื่องของผัวเมีย’ > ผู้หญิงเผชิญความรุนแรงซ้ำ นำไปสู่การฆ่าสามีในที่สุด
กรณีของเอ เอถูกสามีทำร้ายร่างกายตั้งแต่ตั้งท้องลูกชายคนโต สามีทำร้ายเอหนักขึ้นและเคยทำร้ายลูกชายคนโตที่เข้ามาช่วยแม่โดยบีบคอจนตาถลน เอเคยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านและเคยแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ช่วยอะไรเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องผัวเมีย
และกรณีของซี ซีเคยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่และมีการบันทึกประจำวันไว้เมื่อปี พ.ศ. 2546 วันเกิดเหตุเป็นวันก่อนแต่งงานลูกสาวหนึ่งวัน สามีเมาและทำร้ายซีด้วยการบีบคอจากทางด้านหลัง ซีคว้าได้มีดจึงตวัดไปด้านหลังโดยไม่ได้หันไปมอง จากนั้นซีก็รีบไปบอกพี่สาวและลูกสาวเพื่อให้โทรขอความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลแต่สามีเสียชีวิตเสียก่อน
การผลักเหยื่อกลับสู่ความรุนแรงเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ที่ปิดทางไม่ให้เหยื่อออกจากความรุนแรงในครอบครัวเพราะมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ในบางวัฒนธรรมยินยอมให้ผู้ชายใช้กำลังเพื่อ ‘สั่งสอน’ ภรรยาของตนอย่างได้ และต่อให้ไม่ยินยอมอย่างชัดเจน แต่รัฐและชุมชนก็เมินเฉยเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้หญิง รอยแผลบนใบหน้ากลายเป็นเรื่องน่าอายของผู้ถูกกระทำมากกว่าประจานความเลวของผู้ใช้ความรุนแรง ยังไม่รวมถึงการตั้งคำถามกับผู้ถูกใช้ความรุนแรงว่าไปทำอะไรไม่ถูกใจสามีหรือเปล่าหรือทะเลาะกันเรื่องอะไร ซึ่งเป็นการลดทอนความรุนแรงและโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเมื่อเหยื่อกล้าพอที่จะพูดถึงความรุนแรงที่เผชิญ บางครั้งชุมชนเลือกจะให้เหตุผลว่า ‘การไม่อยากยุ่งเรื่องผัวเมีย’ โดยอ้างว่าเหนื่อยหน่ายที่เห็นเหยื่อต้องกลับสู่ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งนี้ลดทอนมิติที่ซับซ้อนของความรุนแรงในครอบครัวด้วยการมองว่า ‘หากผู้หญิงไม่อยากเจ็บตัว ก็ให้เลิกกับผัวซะ’ ทั้งที่การออกจากครอบครัวของผู้หญิงในบางครั้งสัมพันธ์กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การยอมรับในสังคม และความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ‘ลูก’ ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาแทนที่ประมวลกฏหมายอาญาทำร้ายร่างกาย โดยต้องการให้มีความละเอียดอ่อนในการพิจารณาคดีเพื่อ ‘ปกป้อง’ ผู้ถูกใช้ความรุนแรงและ ‘แก้ไขฟื้นฟู’ ผู้ใช้ความรุนแรงเพื่อ ‘รักษาสถาบันครอบครัว’ เอาไว้ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับเปิดช่องโหว่ให้ผู้หญิงต้องกลับสู่ความรุนแรงอีกครั้ง เมื่อแนวทางของพ.ร.บ. เน้นการเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาสถาบันครอบครัวเอาไว้ ทำให้ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงถูกหลงลืม และขาดความละเอียดอ่อนต่อบางกรณี เช่น การยอมความเพื่อรักษาครอบครัว แทนที่จะให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งข้อกำหนดให้ต้องแจ้งความหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ถูกกระทำความรุนแรง และเจ้าหน้าที่ที่ยังขาดความเข้าใจความรุนแรงในครอบครัวในบางกรณี
จะเห็นว่าวัฒนธรรมที่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงและกระบวนการทางกฏหมายต่างร่วมกันผลักผู้หญิงกลับสู่ความรุนแรง สิ่งนี้เป็นความกดดันที่ทำให้ความรุนแรงยังเกิดซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานจนเหยื่อทนไม่ไหว ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจฆ่า หรือภาวะ Battered Wife Syndrome (BWS) ในที่สุด แต่แม้จะมีการศึกษาในเชิงจิตวิทยาและมีการนำไปใช้เพื่อลดโทษต่อผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและฆ่าสามีแล้วในต่างประเทศ แต่ในไทยกลับยังไม่นำมาเป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษ และยังเสี่ยงถูกตีความว่าเป็นเจตนาและจงใจทำอีกด้วย
#ความตายไม่ใช่ทางเดียวที่จะหยุดความรุนแรงได้ – ถ้าสังคมใส่ใจผู้เสียหายมากพอ
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม SHero Thailand ได้เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ร่างกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่เน้นครอบครัว (family-centric) มากกว่าการคุ้มครองผู้เสียหายตามหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (survivor-centred approach) โดยเสนอให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่และเตรียมความพร้อมในส่วนผู้บังคับใช้กฏหมาย กำหนดให้มี Case Manager เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายเนื่องจากคดีความรุนแรงเป็นกระบวนระยะยาว นอกจากนั้นยังเน้นย้ำให้ลดการไกล่เกลี่ย ให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง และลดการโน้มน้าว ชักจูง กดดันจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคดีด้วย
นอกจากนั้นยังมีเนื้อหา เช่น ปรับแก้ระยะเวลาจากภายใน 3 เดือนเป็น ภายใน 6 เดือน นับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในสภาพวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ และให้ความสำคัญกับการดูแลผู้เสียหายหลังออกจากความรุนแรงได้ โดยอาจเป็นกองทุนที่ช่วยดูแลฟื้นฟูผู้เสียหาย และสุดท้ายคือการให้กฏหมายมีความละเอียดอ่อนในการพิจารณาคดีมากขึ้นโดยพิจารณาข้อท้าทายทางจิตใจ สังคมและระบบที่อาจทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์
การแก้กฏหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ยุติความรุนแรงได้ในทันที แน่นอนว่าสังคมต้องมีบทบาทเชิงรุกกว่านี้อีกมากในการขจัดความรุนแรง แต่อย่างน้อยหากกฏหมายเป็นที่พึ่งของผู้ถูกใช้ความรุนแรงได้ ผู้หญิงอาจไม่ถูกบีบบังคับจนเหลือทางเดียวเช่นนี้
และหากสังคมเอาจริงเอาจังกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกว่านี้
เราคงได้เห็นคังฮยองนัมและลูกสาวจะใช้ชีวิตในบ้านอย่างสงบสุข อย่างที่ควรจะเป็น
#ViolenceAgainstWoman #DomesticViolence #TheGlory #Banksy
อ้างอิง
Banksy: https://bit.ly/3Lem5cg
Thai PBS: http://bit.ly/3mL4Aq4
Prachatai: http://bit.ly/3ZHuc5Q
SHero Thailand: https://bit.ly/422dYFT
จุลนิติ: https://bit.ly/3Fh9aCJ
มูลนิธิผู้หญิง: http://bit.ly/3JvUaDx, http://bit.ly/400heQq, http://bit.ly/421kIDZ