ขบวนไพรด์ ต้องมีแฟชั่น แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด

- Advertisement -

คุยกับ ‘โป้ง – จรัญ คงมั่น’ ดีไซเนอร์เจ้าของโปรเจกต์ ‘ทูตนฤมิต’ ที่เนรมิตแฟชั่นเพื่อส่งพลังให้ทุกคนใน Bangkok Pride 2023

ถ้าใครได้เดินทางในกรุงเทพมหานครช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คงพอมีโอกาสได้เห็นป้ายโฆษณาที่มีเห็น ‘คน’ น้อยกว่า ‘เสื้อผ้า’ กับข้อความชักชวนไปงาน Bangkok Pride 2023 กันบ้าง หากยังไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นคือใคร-พวกเขาคือ ‘ทูตนฤมิต’ นักกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางเพศที่ผันตัวมาเป็นคนหน้ากล้อง สวมชุดที่ตัดอย่างปรานีตบรรจงเพื่อพูดเรื่องที่เขาคุ้นเคยในสำเนียงใหม่ ๆ ที่มีแฟชั่นเป็นสื่อกลาง

- Advertisement -

‘ทูตนฤมิต’ คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ Bangkok Pride 2023 และเสื้อผ้าทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนคนเดียวคือ ‘คุณโป้ง’ จรัญ คงมั่น ดีไซเนอร์ฟูลไทม์และพาร์ทไทม์นักกิจกรรมที่อุทิศหยาดเหงื่อแรงงานเพื่อร้อยเรียงเรื่องเล่าบนท้องถนนมาอยู่บนเสื้อผ้า แปลงโฉมนักกิจกรรมที่คนเข้าใจว่าต้องดุร้าย ให้กลายเป็นตัวจี๊ดเรื่องแฟชั่นที่เซ็กซี่และขี้เล่น (และเป็นตัวจริง) พร้อมสาดความภาคภูมิใจใส่ทุกคน

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการจะประชาสัมพันธ์งานไพรด์ กระแสสีรุ้งฟีเวอร์ได้พานักกิจกรรมทั้ง 6 คนไปไกลกว่านั้น เราได้เห็นทูตนฤมิตจัดรายการพิเศษสัมภาษณ์พรรคการเมืองในชื่อ ‘Job Appride’ (จ็อบแอพไพรด์), ขึ้นป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ, เป็นอินฟลูอินเซอร์ที่เล่นจริง กินจริงกับไอศกรีมเจ้าดัง และมีนิทรรศการเป็นของตัวเองในชื่อ ‘Road to World Pride 2028’  ที่ยังจัดอยู่ถึง 17 กรกฎาคม จะมีกี่ครั้งที่คนจากคอมมูนิตี้ที่เรียกร้องสิทธิอยู่บนท้องถนน จะได้เป็น ‘คนดัง’ ของสาธารณชน สิ่งนี้เป็นผลพวงจากกระแสตอบรับต่อเดือนแห่งความภาคภูมิใจ และ Bangkok Pride 2023 ที่เป็น ‘กระแสหลัก’ แล้วในปีนี้

แต่ทำไมต้องเป็นทูตนฤมิต ทำไมต้องเป็นทั้ง 6 คนนี้ แล้วชุดสีม่วง เหลือง ชมพู ส้ม เขียว ฟ้า ที่สุดแสนอลังการมีเบื้องหลังคืออะไร รวมถึงทำไม ‘แฟชั่น’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในงานไพรด์ครั้งนี้ มาฟังคุณโป้งเล่าให้ฟังว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากสีลมสู่สยามมันน่าตื่นเต้นอย่างไร การผันตัวจากนักกิจกรรมมาเป็นผู้ประกอบการยากง่ายแค่ไหน และทีมนฤมิตเองรับมือยังไงกับผลตอบรับหลังงานไพรด์ที่ทุกคนฉลองแล้วจากไป แต่คนทำไพรด์ยังต้องดีลกับมันต่อ

และตอบคำถามว่าทำไมไพรด์ครั้งนี้ถึงใช้แฟชั่นเป็นตัวนำ ที่คุณโป้งยินดีจะสรุปสั้น ๆ ให้ฟังว่า “มันเป็นภาพที่ดึงคนเข้ามาก่อน ดูไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ว่าเธอสนใจฉันก่อน เดี๋ยวฉันเล่าให้ฟัง”

“โป้ง จรัญ คงมั่น ทำงานแฟชั่นแล้วก็ทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวเรื่อง LGBT ค่ะ”

จุดเริ่มต้นของดีไซเนอร์นักกิจกรรม

นานแล้ว ไม่แน่ใจว่านับถูกหรือเปล่า ตั้งแต่เรียนจบเลย ประมาณ 6-7 ปีค่ะ ตั้งแต่เรียนจบมาก็ทำงานของตัวเองไปด้วย ก็คือทำเสื้อผ้าแฟชั่น แล้วมีเวลา ก็ไปทำงานเคลื่อนไหวด้วย  ช่วงแรกเลยเราตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand ฟอร์มทีมกันไม่เกิน10 คนด้วยซ้ำ เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็เป็นกลุ่มที่มันไม่เชิงว่าจะเป็นรับทุนอะไรมากมาย แค่ได้มาเจอ พูดคุยกัน แบ่งปันสิ่งต่าง ๆ มันเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน แล้วก็ได้รู้จักกับพี่ ๆ ที่เขาทำงาน NGOs ต่างๆ มากขึ้นด้วย ในช่วงหนึ่งก็ได้ทำงานในโรงน้ำชาฯ (โรงน้ำชา Togetherness for Equality and Action -TEA) ด้วย ทำงานกับกลุ่มสมรสเท่าเทียมด้วย ร่วมมือกับหลาย ๆ กลุ่มทำงานกันมาเรื่อย ๆ เรามีการรวมกลุ่มกันลงถนน และทำกิจกรรมที่อาจจะไม่ถึงขนาด Bangkok Pride มาก่อนเนาะ ในหลาย ๆ ครั้งด้วย แต่กลุ่มที่มาร่วมกันส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในคอมมูนิตี้ ที่รวมกลุ่มกันทุกปีก็จะจัดงานกับกลุ่ม Non-binary ใน International Non-binary People’s Day (14 กรกฎาคม)

คุณโป้งทำอะไรบ้างใน Bangkok Pride ครั้งนี้หรือครั้งที่ผ่านมา 

โป้งอำนวยการเรื่องความสร้างสรรค์อะไรต่าง ๆ เช่น แต่งตัวให้เพื่อน ๆ (ยิ้ม) หลาย ๆ ชุดที่เห็น ก็เป็นงานที่โป้งทำขึ้นมาแล้วก็ทำให้เพื่อน ๆ ใส่ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เนาะ แฟชั่นกับงานไพรด์ เราก็เลยได้ทำตรงนี้เยอะหน่อย แล้วก็มีงานส่วนอื่น ๆ ด้วยที่สนับสนุนกันไปให้มันครอบคลุมมากที่สุด เพราะเราไม่ได้มีเงินจ้างคนเยอะแยะมากมาย คนนึงมันก็รับหลายหน้าที่

มันสัมพันธ์กันยังไงคะ เรื่องเสื้อผ้ากับการออกไปเดินขบวนความภาคภูมิใจ

โอ้ สำคัญมาก ต่อให้ไม่มาถามดีไซเนอร์ ถามใครก็ตามก็จะรู้สึกว่างานไพรด์ต้องมีแฟชั่น หลายคนที่มา Bangkok Pride เขาจะอินบ็อกเข้ามาด้วยซ้ำว่าขอเวลาแน่ ๆ ชัด ๆ หน่อย วันแน่ ๆ ชัด ๆ ว่าคุณจะจัดกันตอนไหนกันแน่ ฉันจะได้ตัดเสื้อผ้าได้ถูก

พื้นที่ของงานไพรด์มันไม่ได้มีทั้งปี แม้เราจะพยายามจะจัดงานเพื่อ LGBTQ+ ให้มันหลาย ๆ วันมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่ามันยังอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ยังไม่เป็นที่ทางของคนเพศหลากหลายมากขนาดนั้น มันยังเป็น Binary เรายังไม่ถูกมองเห็นตัวตน หรือว่ามีที่ทางขนาดนั้น งานไพรด์ก็เลยกลายเป็นวันที่ฉันจะลุกขึ้นมาได้ ทุกคนก็เลยใส่กันเต็ม

อันนี้ก็เลยเป็นส่วนที่ทำให้เกิดทูตนฤมิตใช่หรือเปล่า

ใช่ แต่อีกอย่างคือมันเป็นการที่เราพยายามจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาเพื่อน ๆ ด้วยเนาะ เพื่อน ๆ ที่อยากจะพัฒนาตัวเองก็สอบถามไปว่ามีใครอยากจะมาทำตรงนี้เพื่อที่จะได้อัปสกิลบางอย่าง การทำเอ็นเตอร์เทน หรือว่าการทำงานศิลปะ จะได้มีหน้าตัวเองในรูปแบบใหม่อะไรอย่างงี้ ในบทบาทหนึ่งที่จะต้องพีอาร์ รณรงค์เรื่องของเพศหลากหลาย หรือว่าการรณรงค์งานไพรด์ไปด้วย โป้งทําชุดคนเดียวเลยค่ะ ตั้งแต่ต้นจนจบเลย เอาจริง ๆ นะ มันท้าทายมาก ระยะเวลาที่ทําทั้งหมดจริง ๆ ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ มันจะมีช่วงปั่น ๆ แรก ๆ ที่ต้องทำคือ ชุดพี่ทาทา ชุดสีฟ้า อันนี้เป็นชุดแรกเลย คือเราต้องทําแบบว่า ทําเพื่อบอกกับเพื่อนๆ ในกลุ่มด้วยว่าเราทําได้นะ ให้เราทําอันนี้เถอะ เหมือนเป็นชิ้นพิสูจน์ตัวเองว่าทําไม่ถึงสองอาทิตย์ก็ได้ แล้วก็ชุดที่เหลือก็มาปั่น ไม่ถึงสองอาทิตย์เหมือนกัน เพื่อที่จะให้ทันถ่ายกับสเปกตรัมในสตูดิโอ (หัวเราะ)

อะไรคือกระบวนการสรรหาพี่มุ้ย พี่ทาทา พี่ต้น มีมี่ ยัด และชาร์ล็อตมาเป็นทูต คุณโป้งทำยังไงบ้างกับโปรเจกต์นี้

เรามี 6 คน แต่ว่าก็จะมีพิเศษขึ้นมาอีก แล้วแต่ก็โอกาส จริง ๆ แล้วคอมมูนิตี้ LGBTQ+ จะกว้างกว่านี้นะคะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมา ก็เลยคว้าคนใกล้ตัวมาก่อน (ยิ้ม) แต่ว่าแต่ละคนก็จะมีประเด็นติดมากับตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Non-binary เยาวชน คนข้ามเพศที่อยู่ในกระบวนการใช้ฮอร์โมน คือยัด มีมี่ และชาร์ล็อต แล้วก็มีพี่ต้นที่ทุกคนจะรู้จักก็คือเป็นหน้าตาอยู่แล้ว พี่ต้นมีคาแรกเตอร์ที่เด่นชัดมาก แล้วก็มีความมั่นใจมาก ซึ่งพี่ต้นก็จะรณรงค์เรื่องของสิทธิมนุษยชนเยอะแยะมากมาย รวมถึงเรื่อง Sew Worker และผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ด้วย พี่ทาทาก็เป็นทรานส์วูเมนที่ทำงานกับคนไร้บ้าน และเป็นคนไร้บ้านด้วย เขาก็จะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเหมือนกัน แล้วก็พี่มุ้ยก็ เป็นผู้หญิงก็จริงนะ แต่ว่าก็จะมีเป็นผู้หญิงที่เป็น Pansexual ที่ขับเคลื่อนนโยบายเรื่องของยุติการคุกคามทางเพศในขนส่งสาธารณะมาก่อน แต่ละคนก็จะมีเรื่องราวที่เอามาถ่ายทอดได้ เพื่อสื่อสารเรื่องที่เรารณรงค์กันด้วย

และสเปเชียลเกสต์ ?

เรามีเบบี้เฟิร์นและน้ำเมยด้วย เบบี้เฟิร์นก็จะเป็นคนที่ก็คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้วตั้งแต่เฟมินิสต์ปลดแอก ส่วนน้ำเมย เป็นคนที่มาซัพพอร์ตพวกเราตั้งแต่สมรสเท่าเทียมมันยังไม่ใหญ่ขนาดนี้ เราก็ต้องยอมรับ (ยิ้ม) สองปีสามปีที่แล้วมันไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ มันไม่ได้มีคนร่วมลงชื่อฉบับภาคประชาสังคมมากขนาดนี้ น้ำเมยก็เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์คนหนึ่งที่มาซัพพอร์ตพวกเรา มาช่วยงานแคมเปญต่าง ๆ และน้ำเมยได้มีโอกาสไปประกวดมิสแกรนด์ด้วย เลยมีโอกาสได้ทำชุดให้น้ำเมยด้วย น้ำเมยก็ได้มาช่วยพีอาร์ในเรื่องของสมมติเท่าเทียม แล้วก็ช่วยประชาสัมพันธ์ในเรื่องของงาน Pride ทั้งหมดคือ 7 ชุดที่อยู่ในคอลเลคชันเดียวกัน

จากที่คุณโป้งเล่า เราบอกได้ไหมว่าการเลือกทูตนฤมิตจากคนในคอมมูและกลุ่มนักเคลื่อนไหว มันคือโอบการอุ้มคนในคอมมูที่ทำงานอย่างหนักเพื่อประเด็นนี้ให้ขึ้นมาเป็นคนแถวหน้า เพราะบางทีเราก็โดนฉกฉวย

พยายามอยากจะทำแบบนั้นมากกว่า แต่ว่าทำได้ไม่ได้ก็ว่ากันอีกที เราพยายามจะดึงหลาย ๆ คนที่ทำงานอยู่ข้างหลัง เช่นพี่มุ้ย ที่เย็บธงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แล้วก็ทำลายสถิติของตัวเองอีกรอบหนึ่งในไพรด์ครั้งนี้ แต่อาจจะไม่ได้ปรากฏหน้าสักเท่าไร และหลาย ๆ ครั้งก็จะเป็นคนที่ส่งข้าวส่งน้ำให้พวกเรา ตอนที่พวกเราทำ ม็อบหรือขบวน LGBT อะไรต่าง ๆ ก็ได้มีโอกาสขึ้นมาโชว์ตัว แล้วก็พยายามทำให้มีภาพที่หลากหลายด้วย เพราะว่าสเตอริโอไทป์เขามองมามันก็มีภาพเดียว โอเค ต้องเป็นกะเทย ต้องเป็นผู้หญิงข้ามเพศสวย ๆ ต้องดูเป็นเพศกำเนิดชาย แล้วก็ดูแบบเฟมินีนหน่อย เราก็พยายามทำให้มันดูหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เห็นภาพว่าแบบนี้ก็แต่งตัวได้นะ เป็นแบบนี้ก็แสดงออกได้นะ

ซึ่งมันภาพจริงๆ ของคนในคอมมู ก็เป็นคนจริงๆ ซึ่งการมารวมตัวกันเป็นทูตนฤมิตก็นำไปสู่โปรเจกต์เช่น Cornetto มันคือแทบจะเป็นพรีเซ็นเตอร์เลยนะ

ไม่ได้อยู่ในแพลนเลย ไม่เคยคิดมาก่อนเลย โป้งคิดง่าย ๆ แบบคนไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ว่าอยากทำแฟชั่นเพื่อสื่อสารประเด็นความหลากหลายทางเพศ ชวนคนมางานไพรด์ เดินโชว์ตัวในขบวนแบบสับ ๆ ถ้าขายของก็ขายส้นสูงกะเทย เสื้อกล้ามทอม ใกล้ตัวอะไรก็ว่าไป แต่เพื่อน ๆ เราคือมีวิสัยทัศน์มากบอกว่ามันเป็นมิติใหม่เลยนะในการสนับสนุนคอมมูนิตี้ ทำคอนเทสต์ได้เลยนะ อะไรต่างต่างนานา ที่บางทีเราก็นึกไม่ถึง โป้งก็ อืม ๆ ฟังไว้เป็นไอเดียหมดแหละ บางทีเราไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ)

ได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ ก็เกินนึก เช่น อยู่ ๆ ก็ต้องมาถ่ายทำคลิปโฆษณาโดยใช้เพื่อน ๆ ทูตนฤมิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลยแล้วก็โยนตัวเองเข้าไปทำการบ้านต่าง ๆ ในสิ่งที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน ปรับตัวไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามเรื่องตามราวก็ถือว่าได้ประสบการณ์ใหม่

และไม่ใช่แค่ทูตนฤมิตที่แต่งตัวเต็มมางาน แต่งานไพรด์เป็นยิ่งกว่าแฟชั่นวีคเพราะทุกคนขนเสื้อผ้ามาเต็มสุดๆ

เราก็รู้สึกชื่นใจมาก มันเป็นวันที่ร้อน ฝนไม่ตก  แล้วหลายคนก็บอกว่าฝนตกดีกว่า จากเสื้อผ้าวันนั้นเราจะเห็นว่าแฟชั่นไม่จําเป็นต้องอยู่กับทูตนฤมิตก็ได้ ทุกคนก็แต่งได้ ท้ายที่สุด ทุกคนก็จะสามารถ Create ตัวตนของตัวเองเข้ามาในขบวนได้ แล้วก็ทำให้มันเป็นพื้นที่ ๆ เรารู้สึกว่าเราปลอดภัยที่เราจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ อันนี้สําคัญมาก พื้นที่ปลอดภัยที่เราจะไม่ถูก ตัดสิน ไม่ถูกล้อเลียน ไม่ถูกบูลลี่ การที่ทุกคนกล้าแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง การที่ทุกคนกล้าแต่งตัว ไม่ว่าจะเป็นชุดไหน มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราพยายามที่จะทําให้เกิดขึ้นมาก ๆ

แต่บางคนก็เข้าใจว่าคนเพศหลากหลายต้องแต่งตัว Gender ของเราต้องสอดคล้องไปกับ Expression จําเป็นไหม?

ไม่จําเป็นเลย มีเพื่อนหลายที่เป็น LGBT หรือ non-binary เขาก็ไม่ได้มี Stereotype เรื่องการแสดงออก เรื่องแฟชั่นแบบที่สังคมจะเห็นบ่อย ๆ น่ะ ไม่ได้สีสันฉูดฉาดอะไรมากมาย แม้แต่ในขบวน Gender X เอง เพื่อน ๆ non-binary มาชิลมากเลย หลายคน เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ก็รู้สึกดีด้วยนะที่เห็น โป้งชอบมากเวลาที่เห็นคนหลุดโลกนู่นนั่นนี่มากมาย ในทางเดียวกันก็รู้สึกชอบมากที่ คนรู้สึกว่าฉันก็ไม่ต้องแต่งอะไรมากมายมา แต่ก็รู้สึกว่านี่คือความภูมิใจของฉัน ขบวน non-binary หลายคนชิลมาก หลายคนก็พราวมาก ในขณะที่ฉันชิล ฉันธรรมดา ฉันก็แค่อยากจะได้ gender x ฉันก็แค่อยากจะได้โครงสร้างสังคมที่มัน ตอบสนองความเป็นกลางอะไรต่าง ๆ แต่ก็ยังพราวได้

ข้อเรียกร้องของปีนี้ก็ยังคมชัดเหมือนเดิม แต่สำหรับคนทำงาน การจัดงาน Bangkok Pride ในปีนี้มันแตกต่างกับปีที่แล้วมากไหมคะ ทั้งย้ายสถานที่ และสเกลที่ใหญ่ขึ้นเป็น 10 เท่า

โอ้โฮ แตกต่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการมีพาร์ทเนอร์ที่เยอะกว่าเดิมมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น กทม. เอง สถานทูต NGOs เพื่อนคอมมูนิตี้กลุ่มต่าง ๆ คนบันเทิง ภาคส่วนเอกชน แบรนด์ต่าง ๆ พาร์ตเนอร์ก็เยอะตามสเกลงานที่เบิ้ม ๆ ขึ้น โดยเฉพาะกับแบรนด์ต่าง ๆ นี่เป็นรูปแบบใหม่ของการจัดการที่เราเพิ่งได้เรียนรู้ซึ่งก็หนักมากสำหรับพวกเราที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์กัน ดูเหมือนจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ในไทยด้วยที่จะได้เรียนรู้ด้วยหากจะเดินไปด้วยกัน โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่มักจะได้ประโยชน์จากการพีอาร์ตัวเอง มันไม่ใช่แค่มาบอกว่าแค่ฉันไปงานพวกเธอเอาคนเอามาสคอตเอาแบรนด์ไปชูธงต่าง ๆ กับ LGBTIQN+ พวกเธอก็น่าจะได้ประโยชน์แล้ว การจัดงานมันใช้ทรัพยากรเพื่อการจัดการเยอะมาก เราได้ออกแบบรูปแบบของการสนับสนุนของพาร์ทเนอร์แบบต่าง ๆ ไว้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากเข้ามาเพื่อชูในเชิงพานิชย์ สามารถเข้าร่วมกันได้ตามเงื่อนไข เพราะถ้าหากว่าไม่มีตรงนี้แต่มาในนามส่วนตัว ภูมิใจกับตัวเอง ใคร ๆ ก็เข้ามาได้ไง ต่อให้ไม่ใช่งาน Bangkok Pride ก็จะต้องเรียนรู้ด้วยนะว่าการไปกับประเด็น LGBTIQN+ มันไม่ใช่เพียงแค่มาชูธงรุ้ง โบก ๆ ฉันซัพพอร์ตเธอนะ ซื้อสินค้าของฉันสิ แต่มันหมายถึงว่าต้องสนับสนุนเรียนรู้ว่าประเด็นสังคมที่พวกเราเรียกร้องคืออะไร ในการจัดการภายในองค์กรของคุณสามารถทำให้ไปกับเรื่องนี้ได้ยังไงบ้างหนึ่งสองสามสี่

แล้วทางออกในการร่วมงานกับแบรนด์จะเป็นยังไง คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะปลอดจากการพยายามอยากมีส่วนร่วมแบบผิด ๆ ของแบรนด์

ก็ต้องยอมรับว่ายังไงเรื่องธุรกิจมันก็คืออยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว แบรนด์ต่าง ๆ ก็อยู่รอบตัวเรา แม้แต่ LGBTIQN+ ก็เป็นบุคลากรในแบรนด์ต่าง ๆ การจัดงานที่ใหญ่ขนาดนี้ รวมถึงหากจะใหญ่กว่านี้อีก ต้องมีส่วนร่วมเยอะมาก ใช้ทรัพยากรเยอะมาก ความท้าทายของมันคือเราจะบริหารจัดการยังไงให้มีทรัพยากรมาจัดการได้แล้วก็ไปด้วยกันกับประเด็นที่เรียกร้องให้มากที่สุด ตรวจสอบกันในฐานของการร่วมมือกันได้ เรายังพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ พูดเรื่องการรับรองเพศอัตลักษณ์ได้ พูดเรื่องสิทธิ Sex Worker ได้ รวมถึงความเป็นธรรมทางเพศต่าง ๆ

อะไรคือสิ่งที่อยากสื่อสารในนามผู้จัดบางกอกไพรด์

ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบางอย่างที่เราตั้งรับกันไม่ทัน หรือว่าจัดการไม่ทั่วถึง มันก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่เราต้องนำมาตระหนักรู้เพื่อพัฒนาการทำงานต่อไป ฟีดแบกต่าง ๆ ก็รับฟัง แต่ถ้ามาบอกว่าเราจะลงนรก พระเจ้าจะลงโทษ นี่เป็นงานของคนบาปหนักแผ่นดิน อันนั้นก็อีกเรื่องนึง

ส่วนเรื่องดี ๆ ก็รู้สึกชื่นใจมากกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้คนที่รู้สึกได้รับพลัง ได้ภูมิใจในตัวเอง ได้แบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อนพี่น้องของพวกเราที่ยืนขึ้นส่งเสียงของตัวเอง กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่ง่าย ๆ บางคนแค่จะลุกขึ้นมางานไพรด์ก็เป็นเรื่องยากสำหรับเขา มันตื้นตันใจมาก ๆ ที่เห็นทุกคนยืนอยู่ตรงนั้น และเราก็จะไม่ทอดทิ้งคนที่ไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้นด้วย ซึ่งก็มีอีกหลายคนไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขชีวิตแบบใดในสิ่งที่คนในคอมมูนิตี้ของพวกเราต้องเผชิญ

และเราก็จะต้องทำงานต่อเพื่อขยายพื้นที่ออกไปให้พื้นที่กับคนใหม่ ๆ ในคอมมูนิตี้ เพื่อยืนยันว่าทุกคนลุกขึ้นมาส่งเสียงได้ เป็นส่วนหนึ่งในการขยับขยายการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นธรรมทางเพศนี้ด้วยกันได้ เพื่อสร้างสังคมที่โอบรับผู้คนให้มากที่สุด

และปีหน้าเราจะเจอกันอีก Bangkok Pride 2024 ประกาศแล้วว่าเป็นวันที่

1 มิถุนายนค่ะ

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me