“ในอนาคต เมื่อโต้งเรียนจบ เขาจะต้องหางานทำ มีเงินเก็บ แล้วก็หาผู้หญิงดีๆ แต่งงานมีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ดูแลกันไปจนแก่จนเฒ่า นี้มันคือชีวิตนะมิว” (The Love of Siam, 1.23.49)
ผู้คนส่วนใหญ่ในอดีตหรือแม้กระทั่งในปัจจุบันเอง มักมองความสัมพันธ์แบบชายหญิงเป็นความปกติของสังคม ทั้งการส่งต่อแนวคิดเหล่านี้ในบทสนทนาในครอบครัว ตามสื่อหลักต่างๆ ที่ตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงจะต้องแต่งงานกับผู้ชาย มีลูก ถึงจะเรียกว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ หากมนุษย์คนใดที่มีพฤติกรรมต่างจากบรรทัดฐานของสังคมดังกล่าว มักถูกมองว่าเป็นพวกเบี่ยงเบน ไม่ปกติ แต่เพราะเหตุใดสังคมจึงเชื่อว่า ความสัมพันธ์แบบชายหญิงเป็นทางเลือกเดียวที่ปกติ แนวคิดนี้ส่งผลกับคนที่ถูกมองว่าไม่ปกติอย่างไร
SPECTROSCOPE: Compulsory Heterosexuality เมื่อสังคมเลือกให้ว่าจะต้องเป็นแค่ ชาย-หญิง
แนวคิดเรื่อง Compulsory Heterosexuality (Comphet) การเป็นคนรักต่างเพศภาคบังคับ หรือการชอบคนต่างเพศโดยบังคับ เป็นแนวคิดที่มีมานานตั้งแต่มนุษย์อยู่กันเป็นสังคม และกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อ เอเดรียน ริช (Adrienne Rich) นักเขียนและเฟมินิสต์ชาวเมริกา กล่าวถึงคำนี้ในงานเขียนของเธอในปี 1980 “Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence” ซึ่งพูดถึงแนวคิดดังกล่าวกับการมีตัวตนของกลุ่มเลสเบี้ยน
แนวคิดของเธอ ณ ขณะนั้นอาจมีบางส่วนแตกต่างจากปัจจุบัน ตามยุคสมัย และปัจจัยทางสังคมต่างๆ แต่ผลงานของเธอก็เป็นส่วนหนึ่งที่กรุยทางให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึง และเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในช่วงเวลาต่อมา
#Comphetจากมุมมองของริช – โดยทั่วไปสังคมส่วนใหญ่ในอดีตจะมีแนวคิดที่เชื่อว่า ผู้หญิงจะต้องชอบผู้ชายและผู้ชายก็จะต้องชอบผู้หญิงเท่านั้น การชอบลักษณะนี้ถือเป็นความปกติของสังคม การปรารถนาในเพศเดียวกันที่ไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานนี้จึงถูกมองว่าแปลก
แม้ว่าในบางครั้งผู้หญิงอาจไม่ได้มีความสุขจากการแต่งงานกับเพศชาย ทั้งถูกกดขี่ ทำร้ายร่างกาย แต่ก็ยังต้องรักษาภาพลักษณ์ทางสังคมนี้ไว้ ด้วยไม่ต้องการถูกมองว่าผิดปกติ ซ้ำร้ายเฟมินิสต์ในอดีตบางกลุ่มในยุค 80 ที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศกลับผูกติดกับแนวคิดว่ามีแค่เพศ ชาย-หญิง เท่านั้นจนละเลยคนอีกกลุ่มที่มีความหลากหลาย อย่างกลุ่มเลสเบี้ยนไป
สื่อในอดีตยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น ทั้งการผลิตภาพซ้ำ ผ่านภาพยนต์ ละคร นวนิยาย ที่จะเป็นเรื่องราวของตัวละครสเตรทที่จับมือถือแขน แสดงความรักกันได้อย่างเปิดเผย ต่างจากคนไม่ปกติอีกกลุ่มหนึ่ง
ในงานเขียนของริชอธิบายว่าแนวคิด Comphet นี้มีพื้นฐานมาจากสังคมปิตาธิปไตยและอำนาจของเพศชาย โดยทั่วไปเพศชายมักเป็นฝ่ายที่มีอำนาจกว่าเพศหญิงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุของผู้ชาย ไม่มีบทบาทสำคัญอะไรในการทำงานหาเงิน ต้องสงวนความปรารถนาไว้ภายใน และจะมีคุณค่าเมื่อมีทายาทสืบทอดวงศ์ตระกูล การจะมีความสนใจลึกซึ้งในเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้หญิงมีพันธนาการที่เพียงผู้ชายจะปลดปล่อยให้ได้
แนวคิดนี้ยังส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ระหว่างเพศชายกับเพศหญิง เช่น ผู้ชายในอดีตมักมีบทบาทในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว มีอิสระทางการเงิน แตกต่างจากผู้หญิงที่จะไม่ได้สิทธิ์นั้น จนทำให้บ่อยครั้งพวกเธอจำต้องพึ่งพาเพศชาย กระทั่งปัจจุบันเองก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางรายได้อันเกิดจากเพศสภาพ หรือปัญหาความก้าวหน้าในสายอาชีพรูปแบบนี้อยู่
ริชยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิด Comphet นี้เป็นการลดทอนตัวตนของเพศอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มLGBTQ+ไปโดยปริยาย เพราะในสังคมสมัยนั้นมองว่าเป็นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือจาก “ความปกติ” กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เป็นที่พูดถึงในสื่อต่าง ๆ ในอดีต พวกเขาจะเฉิดฉายได้ภายในกลุ่มเฉพาะ และสังคมยังเชื่อว่าเมื่อเขาเจอผู้ชาย หรือผู้หญิงที่ถูกใจ ทุกอย่างก็จะกลับไปเป็น “ปกติ”
#Lesbian and Comphet – ริชมีความเห็นว่าการเป็นเลสเบี้ยนนั้นเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน จนเป็นแนวคิด ‘Lesbian Continuum’ ที่อธิบายว่าผู้หญิงสามารถมีความรู้สึกผูกพันดีๆ กับเพศเดียวกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีความปรารถนาทางกายเสมอไป นอกจากนี้การเป็นเลสเบี้ยนยังเป็นการท้าทายอำนาจปิตาธิปไตยอย่างหนึ่ง ที่ผู้หญิงสามารถทำลายพันธนาการทางสังคมและเลือกที่จะแสดง หรือกระทำตามตัวตนของตนเองได้อย่างแท้จริง ได้มีโอกาสค้นหาความชื่นชอบทางเพศของตนเองนอกเหนือจากที่สังคมกำหนดไว้
แต่กระนั้นกลุ่มเลสเบี้ยนก็กลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับกระทบมากที่สุดจากแนวคิดนี้ เพราะพวกเขาจะต้องประสบความยากลำบากจากทั้งแนวคิดชายเป็นใหญ่ ความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) ที่ทำให้การค้นพบตัวเองจริงๆ ต้องอาศัยความพยายามอยู่พอควร
#Comphet หายไปแล้วจริงหรือ? – หลายคนอาจเคยได้ยินบทสนทนาในครอบครัวที่แฝงความคาดหวังอันมาจากกับแนวคิด Comphet ไว้ลึก ๆ โดยที่ผู้พูดนั้นอาจจะไม่ได้รู้ตัวเลย ยกตัวอย่างเช่น “เมื่อไหร่ จะมีหลานให้อุ้ม”, “อายุ ขนาดนี้แล้วควรแต่งงานนะ”, “เมื่อไร จะพาหนุ่มมาเจอพ่อแม่บ้าง” เป็นต้น
ในบางครั้งแนวคิดเหล่านี้ไปลดทอนตัวตนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ต่อสาธารณะ ด้วยกลัวครอบครัวหรือสังคมผิดหวังและรู้สึกเป็นกลุ่มคนไม่ปกติแตกต่างจากบทบาทที่สังคมส่วนใหญ่เป็น ความหลากหลายทางเพศจึงดูเหมือนจะมีตัวเลือกเพียง “ชาย-หญิง” ตามลักษณะทางชีวภาพเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่เป็นเชื้อเพลิงให้แนวคิดนี้คงอยู่คู่กับสังคมคือการถ่ายทอดแนวคิด Comphet นี้ผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของเด็ก หรือจนกระทั่งสื่อของผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ในอดีต การ์ตูนของค่ายดังอย่างดิสนีย์ที่โด่งดังเป็นขวัญใจเด็ก ๆ ทั่วโลกนั้น แทบทุกเรื่องจบลงที่เจ้าหญิง และเจ้าชายคลองรักกันอย่างมีความสุขเสมอ เรามักจะได้เห็นตัวละครของการ์ตูนดิสนีย์ที่เป็น เจ้าหญิงเจ้าชาย ที่ครองรักกันในตอนสุดท้ายอย่างมีความสุขเสมอๆ
แม้จะพอเห็นเค้าลางแห่งการเปลี่ยนแปลงมาในการนำเสนอดิสนีย์หรือ สื่อหลักอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่อาจต้องใช้เวลาในการทำลายกำแพงแนวคิดเดิม ๆ ที่สร้างไว้นานหลายศตวรรษ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความเข้าใจในประเด็นความหลากหลายมากขึ้น
กระทั่งซีรีส์ดังอย่าง Sex and The City ภาคล่าสุด Just Like That ที่มีการนำเสนอการค้นพบตัวตนของเพื่อนของนางเอก อย่าง มิแรนดา (Miranda) ที่จบชีวิตแต่งงานหลายสิบปีและค้นพบว่าจริงๆ แล้วเขามีความสุขช่วงหนึ่งกับ เฌ ดิแอซ (Che Diaz) ที่เป็น Non-binary มากกว่า อาจเห็นได้ว่าปัญหาของมิแรนดานี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิด Comphet ที่บังคับให้เธอต้องแต่งงานมีลูก มีครอบครัวที่สมบูรณ์ จนกระทั่งลืมไปว่าตนเองก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายกระนั้นซีรีส์เองก็ยังไม่ได้ขยี้ประเด็นนี้สักเท่าไหร่ แต่คงต้องรอติดตามว่าในซีซันหน้าจะมีมาหรือไม่
หากคนในสังคมไม่เปิดรับความแตกต่าง และความหลากหลายมากกว่าเดิม แนวคิดนี้จะอยู่เป็นเรื่องปกติในสังคม และการรับรองทั้งทางสังคมและกฎหมายแก่ LGBTQ+ ก็จะเป็นเพียงวิมานในอากาศตลอดไป นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่การเรียนการสอนเรื่องความหลายหลายทางเพศควรได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก ๆ และควรให้โอกาสเด็กๆ ได้ลองค้นพบตัวตน และมีทางเลือกที่เหมาะสมได้เร็วขึ้น เพราะมันจะดีกว่าไหมที่คนเราจะมีความสุข และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจ?
#Comphet #เพศสภาพภาคบังคับ #สังคมรับได้แค่ชาย-หญิง #AdrienneRich
Content by: Thanathorn Noisong
Graphic by: Chutimol khuntong
อ้างอิง
Varsity: https://bit.ly/3TzhDpQ
Cosmopolitan: https://bit.ly/3DCGd3X
Oxfordbliography: https://bit.ly/3W9ITgC
The Johns Hopkins University Press: https://bit.ly/3TOhXks
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน