คุยกับกรกนก คำตา จากพรรคสามัญชน พรรคที่ 90% ของกรรมการพรรคเป็นผู้หญิง

- Advertisement -

‘ถ้าอยากเลือกพรรคที่ยกเลิก 112 ตอนนี้มีพรรคเดียวคือพรรคสามัญชน’ คือประโยคที่คนในสื่อสังคมออนไลน์สื่อสารเมื่อพูดถึงพรรคสามัญชน ราวกับว่าสิ่งนี้คือคุณค่าเดียวของพรรคที่เกิดมาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว และเป็นจุดหมายปลายทางเดียวของพรรคการเมืองขนาดเล็กนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่

วันนี้เราคุยกับ ปั๊บ กรกนก คำตา นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ปัจจุบันก็เป็นนักการเมืองด้วย และปั๊บคือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จาก ‘พรรคสามัญชน’ พรรคขนาดเล็กที่มีกำลังน้อยและสามารถส่งสมาชิกพรรคสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้เพียง 6 คน และสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้ 1 คนเท่านั้น

- Advertisement -

ทรัพยากรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานการเมือง แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่ออุดมการณ์ ปั๊บค่อย ๆ เล่าภาพการทำงานของพรรคสามัญชนที่เป็นเนื้อหนังเดียวกับการทำกิจกรรมทางการเมือง ปอกเปลือกพรรคที่ดูอุดมการณ์จ๋าจนเห็นแก่นของการคิดนโยบายว่ามันเริ่มจากเจ้าของปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้สูงส่งแตะต้องไม่ได้ และนี่คือสิ่งที่ทุกพรรคควรจะทำด้วยซ้ำ คือมีเจ้าของปัญหาเป็นผู้ร่วมคิดหาทางออก ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้างแล้วประทานเบ็ดตกปลาที่อาจใช้งานไม่ได้จริงลงมาให้

แม้สภาพการเมืองภายในพรรคจะเป็นลักษณะอำนาจร่วม ทุกคนทำงานในระนาบเดียวกัน และมีสัดส่วนผู้หญิงเป็นกรรมการพรรคถึง 90% แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าอุดมการณ์ที่เข้มแข็งจะพาปั๊บเข้าสู่สภาได้ ในเมื่อการเมืองสนามใหญ่ยังขับเคี่ยวด้วยเศรษฐกิจภาพใหญ่ จนการทำงานเชิงความคิดอาจยังไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ได้คะแนนเสียงในครั้งนี้

Spectrum ชวน ‘ปั๊บ กรกนก คำตา’ คุยเรื่องนโยบายความหลากหลายทางเพศที่เข้มแข็งของพรรคขนาดเล็กที่ดูจะเป็นภาพฝันมากกว่าจะเกิดขึ้นจริงในเร็ววัน บทบาทนักเคลื่อนไหวที่ยาวนานเท่าอายุรัฐบาลเก่า และสภาที่ยังไม่อนุญาตให้อารมณ์อ่อนไหวได้มีบทบาทในนั้น

กรกนก คำตา เป็นใคร

ปั๊บ กรกนก คำตา เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเฟมินิสต์ที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และตอนนี้เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคสามัญชนค่ะ

กรกนก คำตา เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และหลายคนอาจคุ้นเคยชื่อจากการเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้ต้องขังหญิงด้วย เล่าเรื่องนั้นให้ฟังได้ไหม

เราเริ่มจากการทำกิจกรรมระหว่างในช่วงปี ค.ศ. 2015 หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมหลังรัฐประหาร 1 ปี ก็เลยโดนจับกุม ตอนนั้นจริง ๆ แล้วเราก็ยังไม่ได้ชัดเจนในอุดมการณ์หรือเข้าใจเรื่องการเมืองมากเท่าไร แต่เรารู้แค่ว่าการทำรัฐประหารมันขัดต่อประชาธิปไตย แต่ว่าโดนจับไปด้วยจากการที่เขาจะจับแกนนำ ปั๊บก็เลยติดคุก

แต่ในคุกหญิงมันมีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเยอะ หนึ่งในนั้นก็คือการตรวจภายใน ปั๊บก็โดนตรวจภายในไปด้วย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ไม่ต้องตรวจก็ได้ ให้เราไปรอแค่ในห้องอะไรก็ได้ เพราะเราขอยื่นประกันทันที แค่รอผลประกันแล้วปล่อยตัว แต่เขาพยายามหลอกเราว่าเราอาจจะไม่ได้ประกันตัว ให้เราเข้ากระบวนการทั้งหมด จนไปขึ้นห้องนอน ประมาณสองทุ่มเขาค่อยมาบอกว่าเราออกได้ เหมือนโดนแกล้ง เพราะเราได้ประกันตั้งแต่บ่ายสาม แต่เขาไม่บอกให้หยุดกระบวนการ เขาให้เราผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วรับผ้าห่ม หมอน เตรียมนอนอยู่ในคุกแล้วอะ จากนั้นเราก็เลยรณรงค์เรื่องสิทธิผู้ต้องขังหญิงและยกเลิกการตรวจภายใน 

เป็นนักกิจกรรม เป็นเจ้าของปัญหา แล้ววันนี้ก็อาสาเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเป็นนักการเมือง กรกรนก คำตา มองบทบาทของตัวเองที่เป็นนักการเมืองยังไง แล้วทำไมถึงเลือก ‘พรรคเล็ก’ ที่อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่จะส่งเราเข้าสู่สภาได้ในสมัยนี้

เรามาลุยงานเพิ่มในอีกหน้างานหนึ่ง ปกติเราเคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เราก็เข้าร่วมกับขบวนการในการทำพรรคการเมือง แล้วเมื่อพรรคการเมืองเลือกว่าจะให้ใครเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราก็เป็นหนึ่งในนั้น เรารู้สึกว่ายังเป็นการกระทำที่อยู่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม คือการที่เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรอบนี้

มันไม่ใช่การเลือกพรรคไหนเพื่อจะเข้าไปในสภา แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขบวนการก็คิดว่าเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐสภา ก็คือการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และเราก็ยังรณรงค์ทางการเมืองอยู่ เราประสานงานนักเคลื่อนไหวต่างประเทศให้เชื่อมต่อกับนักเคลื่อนไหวในประเทศไทย เราเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ Milk Tea Alliance ที่หลัง ๆ จะรณรงค์เรื่องการรัฐประหารพม่าเป็นต้นมา มันเป็นการเชื่อมกันระหว่างคนที่เคลื่อนไหวในหลาย ๆ ประเทศ และเราก็ทำเรื่องทำแท้ง เป็นนักรณรงค์ในกลุ่มทำทาง ทำเรื่องการตั้งครรภ์การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

เรามองว่านักการเมืองเป็นการสวมหมวกเพิ่มอีกใบ เหมือนเรามาลุยงานเพิ่มในอีกหน้างานหนึ่ง เรายังเป็นนักกิจกรรมอยู่และไม่รู้สึกว่าตอนนี้กับก่อนหน้านี้มันต่างกัน คือปกติเรารณรงค์อยู่ในขบวนเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อขบวนการนี้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เราก็เข้าร่วมด้วยตามขั้นตอน มันไม่ใช่เลือกพรรคไหนเพื่อจะเข้าไปในสภา แต่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐสภา เรารู้สึกว่าการเป็นแคนดิเดตในรอบนี้ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมค่ะ

ฟังแล้วรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงมากมายระหว่างพรรคสามัญชนและกรกนก คำตา อยากให้ช่วยขายพรรคให้ฟังหน่อยว่ามีจุดยืนอย่างไร และแตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไรบ้าง 

ใช่ คุณค่าของเรากับพรรคต้องไม่ขัดกัน ไม่งั้นเราจะไม่สามารถเป็นตัวแทนพรรคได้ หรือพรรคไม่สามารถเป็นตัวแทนเราได้ในการทำงานทางการเมือง ดังนั้น การที่พรรคจะนำเสนออะไรแต่ละอย่างหรือตัวเราจะนำเสนออะไรแต่ละอย่างมันจะไม่ขัดกัน 

คนจดจำพรรคสามัญชนในเรื่องยกเลิก 112 แต่ว่าความจริงแล้วพรรคมีนโยบายมากกว่านั้น และสำหรับคนในขบวนการ พรรคเป็นความหวังว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่โครงสร้างในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ว่าเราอยากจะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมทั้งหมด ทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงทุกคน และความเป็นธรรมตั้งแต่เรื่องทางเพศ ทางสิ่งแวดล้อม เทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ คนอาจจะไปมองว่าจุดต่างมันคือการยกเลิก 112 แต่จริงๆ เรามีความต่างเยอะกว่านั้น เราต่างตั้งแต่แนวนโยบาย เช่น นโยบายประมง เราจะทำอย่างไรที่จะสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ไม่ใช่สนับสนุนประมงพาณิชย์ หรือเรื่องนโยบายที่ดิน เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่ต้องโดนยึดที่ดินจากรัฐ ด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่าหรือนโยบายอะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนต้องติดคุกอะไรอย่างนี้ เรามีนโยบายเหล่านั้น และเราก็มีนโยบายคนรุ่นใหม่ที่ก้าวหน้ามาก ๆ จริง ๆ อยากนำเสนอ หลายประเด็น ไม่ใช่แค่ยกเลิก 112 แต่พอเราเป็นพรรคเล็ก มีทรัพยากรน้อย ทุกอย่างมันก็จะทำด้วยความเป็นอาสาสมัคร ใครไหวช่วงไหนก็จะเข้ามาช่วยกันเติมเต็ม ซึ่งมันอาจจะไม่เพอร์เฟกต์ แต่ก็ทำให้พรรคเข้าถึงง่ายเพราะใครอยากเข้ามาช่วยก็เข้ามาได้ แล้วอีกอย่างคือมันไม่มี Hierarchy แบบ Top-down ทุกคนสามารถเข้าประชุมได้ นอกจากนักกิจกรรมก็มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประเด็นต่าง ๆ เข้ามาร่วมแทรกนโยบายของตัวเองได้ตลอด

และวิธีคิดนโยบายของพรรคสามัญชนต่างจากพรรคอื่นคือเราใช้นโยบายของขบวนการเคลื่อนไหวมาเป็นนโยบายพรรคการเมืองโดยตรงเลย เช่น ขบวนการแรงงานมีข้อเรียกร้อง เราก็จะยกข้อเรียกร้องนั้นเป็นนโยบายพรรคเลย หรือนโยบายเรื่องความเป็นธรรมทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์เราก็นำมาจากการที่เราและรองหัวหน้าพรรคคือพี่ตุ๊กตา (นิศารัตน์ จงวิศาล) ซึ่งทำงานในด้านนี้เอง นโยบายของเราจึงเป็นนโยบายสายตรงที่มาจากขบวนการเคลื่อนไหวในทุกด้าน

การที่พรรคออกแบบนโยบายจากข้อเรียกร้องและประสบการณ์จากคนทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่เป็นเฟมินิสต์ด้วยมีความสำคัญและส่งผลต่อการทำงานในฐานะนักการเมืองไหม

มันสำคัญมาก เพราะคนที่ได้ออกมาพูดเป็นคนที่เคลื่อนไหวเรื่องนั้น เป็นเจ้าของประเด็น เป็นคนที่ได้รับกระทบจากเรื่องนั้น ได้ทำงานอยู่กับเรื่องนั้น มีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มองเห็นจุดที่จะเป็นตัวพลิกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างไรถ้าเราจะเป็นแบบไหน แล้วแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ในระยะยาวก็จะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนจริง ๆ 

การเป็นเฟมินิสต์ทำให้มองมิติเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นธรรมและการกระจายอำนาจในมิติต่าง ๆ เห็นภาพโครงสร้างของปัญหาสังคม ว่าระบบอำนาจมันไปกระจุกอยู่ที่ไหนแล้วเราจะทำอย่างไรให้อำนาจกระจายมาสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมิติทางร่างกาย คุณภาพชีวิตทางสังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อม 

เราคิดว่ามันสำคัญมากที่ประเทศไทยจะมีเฟมินิสต์อยู่ในการสนามการเมือง ที่เราสามารถออกนโยบายได้ สามารถแสดงความเห็นต่อ พ.ร.บ. แล้วก็กฎหมายต่าง ๆ ในการบริหารประเทศได้ แล้วมันก็สำคัญมากที่คนออกมาพูดเป็นเจ้าของประเด็นที่ได้รับกระทบจากเรื่องนั้นหรือได้ทำงานจนมีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มองเห็นจุดที่จะเป็นตัวพลิกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างไร 

ถ้ามีทรัพยากรน้อย และไม่สามารถส่งส.ส.เข้าสภาได้เพียงพอที่จะผลักดันประเด็นด้วยพรรคการเมืองเดียว พรรคสามัญชนจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราเชื่อและเป็นนโยบาย เป็นวาระสำคัญที่ถูกผลักดันในสภา

เราคิดว่าการที่เราได้เข้าไปอยู่ในสภา มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์นะว่ามีพรรคนี้ที่พูดอย่างครอบคลุมหรืออย่างก้าวหน้าเหล่านี้ และมันได้ผลักดันให้ทุกพรรคขยับมาตรฐานขึ้นมาด้วย เช่น เราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในปีนี้ พรรคต่าง ๆ ก็พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ละพรรคก็มีนโยบายเรื่องบำนาญมาในสมัยนี้ การมีพรรคที่มีนโยบายก้าวหน้าเข้ามามีบทบาทในเส้นทางการเมืองมันเป็นการช่วยยกระดับให้ทุกพรรคต้องตั้งตัวใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรให้นโยบายของตัวเองขยับบ้าง เราว่านี่คือประโยชน์อันหนึ่งของการมีพรรคซ้ายแบบเรา (หัวเราะ)

เราไม่ค่อยได้ยินพรรคการเมืองแสดงจุดยืนทางการเมืองเท่าไร แต่พรรคสามัญชนไม่ใช่ อธิบายให้เราฟังหน่อยว่า ความเป็น ‘พรรคซ้าย’ แบบสามัญชน จะต้องทำอะไรบ้าง

จริง ๆ เราเรียกเลยนะว่าพรรคของพวกเราเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย คือในประเทศไทยมันมีความแปลกนิดนึง คือเราไม่ค่อยที่จะบอกว่าพรรคนี้มีอุดมการณ์อะไร ฉันคืออนุรักษ์นิยมค่ะ  และทางเศรษฐกิจฉันคือเสรีนิยม ไม่ค่อยบอก แต่จะบอกเป็นนโยบาย แล้วค่อยมาเดากันเองว่าอุดมการณ์เบื้องหลังมันประมาณไหน แต่ว่าพรรคสามัญชนบอกเลยว่า เราเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ดังนั้น เราไม่สนับสนุนทุนนิยมผูกขาด แล้วเราก็ต้องการกระจายทรัพยากรทั้งหมดตั้งแต่ที่ดิน น้ำ ป่า ดิน ภูเขา ภาษี กระจายให้ทุกคนได้เท่ากัน อันนี้ก็คือความเป็นสังคมนิยมในพรรคเรา ส่วนความเป็นประชาธิปไตยก็คือ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่สนับสนุนรัฐประหารทุกรูปแบบ ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องการยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่กีดกันไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นกับการบริหารของรัฐ อย่างมาตรา 112  มาตรา 116 พ.ร.บ.คอม เป็นต้น คำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยมันครอบว่าเราจะต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อ ให้ได้มาซึ่งสังคมที่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็กระจายทรัพยากรแบบสังคมนิยม

เท่าที่ฟังมาเข้าใจว่าการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงสนามต้องใช้ทรัพยากรเยอะ ทั้งเงิน เวลา และแรงกายแรงใจ นั่นเป็นเหตุผลที่ครั้งนี้สามัญชนส่งผู้ลงสมัครเพียง 6 คนหรือเปล่า

ใช่ค่ะ เพราะว่าเรามีทรัพยากรแค่นี้ (หัวเราะ) คือจะต้องใช้เงิน 10,000 บาทต่อผู้สมัครหนึ่งคน แล้วพรรคมีเงินจำกัดมาก ก็เลยส่งแค่ 6 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ จากภาคต่าง ๆ เหนือ อีสาน ใต้ กลาง 

ซึ่งมีการระบุด้วยว่าผู้สมัครแต่ละคนทำงานด้านไหน อย่างในกรณีของกรกนก คำตา เป็นเรื่องสิทธิแรงงานและความเสมอภาคทางเพศ และได้เป็นบัญชีรายชื่ออันดับแรก เราสามารถพูดได้เลยไหมว่าพรรคให้ความสำคัญความเท่าเทียมทางเพศมาก

พรรคเราให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นธรรมทางเพศมาก ๆ หัวหน้าพรรคเราก็เป็นเฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ แล้วพรรคก็ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรามีผู้หญิงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่ใช่ว่าเพราะปั๊บทำเรื่องนี้เลยได้อันดับหนึ่ง แต่เป็นการคุยกันว่าเราอยากให้ประเด็นไหนได้เข้าไปในสภามากที่สุดด้วย 

สามัญชนสนับสนุน พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เนื่องจากเราต้องการบอกว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิตตั้งแต่การเลือกเพศ และรัฐต้องรับรองเพศของเรา และระหว่างการดำรงชีวิตรัฐก็ต้องมีการรักษาพยาบาลและสิทธิด้านอื่นที่ครอบคลุม เช่น สมรสเท่าเทียม และสิทธิรักษาสุขภาพต้องครอบคลุมถึงกระบวนการยืนยันเพศ รวมถึงการรับฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ ในส่วนของแรงงานก็ให้ความสำคัญกับสิทธิลาคลอด ลาผ่าตัดยืนยันเพศ

เรามีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงแล้วก็อนามัยเจริญพันธุ์ เช่น ถ้าอยากคุมกำเนิดต้องสามารถเลือกการคุมกำเนิดได้ แล้วก็สามารถเข้าถึงมันได้โดยที่ไม่ได้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนดว่า ต้องคุมกำเนิดด้วยการนับหน้า 7 หลัง 7 เพราะว่าไม่มีเงินซื้อถุงยาง หรือไม่มีเงินซื้อยาคุม คนจะต้องเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ทุกรูปแบบ และรวมถึงการเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้พรรคสามัญชนมีแนวคิดเรื่องระบบโควต้าว่าความเป็นธรรมจะเกิดเมื่อมีการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่ากัน เพราะตอนนี้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ทรัพยากรน้อยกว่า มีพื้นที่น้อยกว่า ดังนั้นเราจึงต้องมีระบบโควตาเพื่อสนับสนุนว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องมีพื้นที่ โดยเฉพาะการทำงาน และต้องมั่นใจว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานจะสามารถคุ้มครองไปถึงการกีดกันทางเพศด้วย การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงหรือต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศจะต้องไม่เกิดขึ้น รวมถึงความปลอดภัยในระบบการร้องเรียนของการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการดำเนินคดี ต้องมีความละเอียดอ่อนกว่านี้

โดยรวมแล้วนโยบายคือต้องการให้คนมีอิสรภาพในร่างกายของตัวเอง รู้สึกว่าได้รับการคุ้มครองแล้วก็รู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ในสังคม แล้วก็มั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราก็จะมีการรักษาแล้วก็มีทางออกเสมอ

เป็นนโยบายที่เน้นความเป็นธรรมทางเพศชัดเจนมาก แต่ทั้งนี้การเมืองก็เป็นสนามที่ปิตาธิปไตยเข้มข้นสุด ๆ คิดว่ามันจะทำให้เราในฐานะนักการเมืองที่เป็นเฟมินิสต์และทำงานยากหรือเปล่า

มันยากแน่นอน เพราะว่าในบรรยากาศที่มีความเป็นชายหนักมากจะทำให้แนวคิดหรือมุมมองจากคนที่ไม่ใช่เพศชายแทรกตัวเข้าไปได้ยาก แล้วการให้คุณค่าในพื้นที่นั้นก็จะยังเน้นลักษณะที่ มีความเป็นชาย อย่างเช่น ต้องพูดเน้นเหตุผล ห้ามพูดถึงอารมณ์ความรู้สึก เช่น บรรยากาศรัฐสภาที่เราไม่สามารถพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึกได้ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ปฏิเสธไม่ได้

ทำให้สภาและการเมืองเป็นสนามที่ไม่ยุติธรรมกับคนรูปแบบอื่น ๆ เลย คือทุกคนต้องฝึกพูดจาฉะฉาน หาข้อมูล อ่านหนังสือ ซึ่งมันกีดกันรูปแบบการสื่อสารแบบอื่น เช่น การสื่อสารอย่างนุ่มนวล หรือเราอาจจะอยากร้องไห้ เราอยากจะสื่อสารถึงอารมณ์ความทุกข์ ในการเป็นประชาชนของประเทศไทย หรือเราอยากจะพูดโยงในมิติอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่อภิปรายด้วยเหตุผล มันก็จะไม่มีพื้นที่เหล่านี้ซึ่งมันยากที่คนแบบอื่นจะมาปะทะกับคนที่โดนฝึกมาให้อยู่ในบรรยากาศที่มีความเป็นชายมาก 

จากที่ฟังมาดูเหมือนว่ากรกนก คำตาที่แม้จะผ่านสนามต่อสู้ทางอุดมการณ์มาเยอะมาก ก็ยังมีความกังวลในการเข้าสู่พื้นที่การเมืองเต็มตัว 

ปั๊บกังวลว่าสิ่งที่เฟมินิสต์และคนแบบเราให้ค่ากับประเด็นที่สังคมแบบชายเป็นใหญ่ให้คุณค่ามันไม่เหมือนกัน ดังนั้นหมายความว่าสิ่งที่เราทำมันอาจจะมีคุณค่าน้อย เมื่อไปเทียบกับสิ่งที่คนอื่นในภาคการเมืองทำ 

เรามองว่าการเมืองการเลือกตั้งมันจะต้องปลอดภัยกว่านี้ ให้คนที่มีความหลากหลายในแบบต่าง ๆ รู้สึกปลอดภัยที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของคนในประเทศ คือสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แล้วก็ยังเป็นตัวแทนของคนในประเทศได้ และต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะออกมาพูดในแนวความคิดต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือว่ามีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่รัฐสภาชอบ 

เช่น การที่เราไม่แต่งกายแบบนั้น ไม่พูดหรือว่าอภิปรายแบบนั้น หรือเราไม่มั่นใจ มีความกลัว มีการแสดงออกถึงอารมณ์มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้สำหรับบรรยากาศรัฐสภา ซึ่งเราอยากให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่คนทุกคนสามารถเข้าไปเป็นตัวแทนได้จริงน่ะ

แล้วความกังวลพวกนี้มันสั่นคลอนอุดมการณ์เราบ้างไหม

ไม่เลย เพราะว่าเราเชื่อมั่นแล้วก็เรียนรู้มาตลอดการเป็นนักกิจกรรม ค่อย ๆ เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างทางสังคม ระบบอำนาจ แล้วก็การกดขี่รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมันหล่อหลอมให้เรามั่นคงในอุดมการณ์นี้มาก แล้วเราเชื่อมากว่าเฟมินิสต์เป็นเป็นแนวคิดที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทำให้สังคมมีความเป็นธรรมแล้วก็เปลี่ยนสังคมเป็นพื้นที่ของทุกคนได้

ปั๊บอยากเป็นนักการเมืองแบบที่ประชาชนรู้สึกว่าคนนี้กำลังเป็นตัวแทนเขาที่กำลังเล่าถึงปัญหาที่กำลังเจออยู่และรู้สึกว่าเราจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องสิทธิของเขา นี่คือสิ่งที่เราอยากให้นักการเมืองเป็น และเราก็อยากเป็นนักการเมืองแบบนั้น

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me