ชวนทบทวนท่าทีของ ศธ. ต่อทรงผมนักเรียน ที่อาจผลักให้นักเรียนต้องสู้กับโรงเรียนเพื่อสิทธิเหนือร่างกายด้วยตัวเอง
เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2565) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และได้ระบุด้วยว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกเลิกระเบียบทรงผมเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไข และตระหนักถึงร่างกายและจิตใจของนักเรียนที่โดนลงโทษจากเรื่องทรงผม
อ่านแล้วใจชื้นกับการตอบรับเสียงเรียกร้อง และความเข้าอกเข้าใจว่าการลงโทษด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่าง ‘ทรงผม’ มันเจ็บปวดและล้าหลังแค่ไหน ชั่วพริบตาหนึ่ง เหมือนนักเรียนไทย 7 ล้านกว่าคนกำลังจะได้เข้าสู่ยุคเบ่งบานของสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายไปพร้อมกัน หลังจากเรียกร้องอย่างต่อเนื่องยาวนานและเจ็บปวด.แต่เนื้อหาของการยกเลิกระเบียบฯ ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะแม้จะยกเลิกระเบียบแล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้ยกร่างแนวนโยบายเอาไว้ว่าให้ ‘สถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา’ และ ‘สถานศึกษาในกำกับของศธ. อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้’ ด้วย
สรุปคือ อำนาจในการออกกฏเรื่องทรงผม ได้ย้ายจากความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ในมือโรงเรียนแล้วใช่มั้ย? เท่ากับว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ถอนตัวออกจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนไทยไปโดยปริยาย โดยการโยนความรับผิดชอบไปที่ ‘ดุลยพินิจ’ ของแต่ละโรงเรียนใช่หรือเปล่า.ดูเหมือนจะใช่ – กลุ่มนักเรียนเลวแถลงโต้ตอบในไม่กี่ชั่วโมงหลังการยกเลิกระเบียบศธ. ประกาศ พาดหัวว่า ‘หายนะบนหัวเด็กไทย กระทรวงศึกษาปัดความรับผิดชอบ ปล่อยโรงเรียนออกกฏทรงผมเอง’ และชี้ให้เห็นว่าการยกเลิกระเบียบฯ ครั้งนี้เหมือนภาวะสูญญากาศทรงผม ไม่ใช่เสรีทรงผมอย่างที่นางสาวตรีนุชบอกไว้ว่าตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องให้แก้ไข โดยเฉพาะเมื่อการยกเลิกระเบียบฯ ทำให้ไม่มีข้อบังคับว่า “กฎทรงผมของโรงเรียนต้องไม่ขัดแย้งกับกฎทรงผมของกระทรวง” อีกต่อไป การปล่อยให้เรื่องทรงผมเป็นภาระระหว่างนักเรียนและโรงเรียน จึงเท่ากับเป็นการเปิดทางให้โรงเรียนบังคับตัดผมนักเรียนมากขึ้น
แม้ที่ผ่านมาจะมีระเบียบทรงผมนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่ระบุว่า “นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และมีข้อต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย” แต่จากข้อมูลของกลุ่มนักเรียนเลว ก็ยังพบว่าในบางโรงเรียนยังมีการบังคับนักเรียนตัดผม และมีการลงโทษที่นอกเหนือจากระเบียบฯ การยกเลิกระเบียบทรงผมฯ จึงเหมือนเป็นการเปิดทางให้โรงเรียนตั้งกฎทรงผมตามใจชอบ
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่า “จากใจครูคนนึงในสถานศึกษา สงสารเด็กนักเรียนมาก นั่งร้องไห้ทั้งวันแถมใส่เสื้อฮู้ดไว้ก็โดนเพื่อนแซวเพื่อนล้อ เพราะให้สิทธิ์ผู้บริหารในการวางกฎนี่ล่ะ รร.เราถึงขั้น ผมสั้นเกรียนด้านยาวไม่เกินสามเซ็น คือเผด็จการมาก?” และในทวิตเตอร์ของกลุ่มนักเรียนเลว (@BadStudent_) ก็มีนักเรียนมาเล่าเรื่องกฏทรงผมของโรงเรียนตัวเองที่มีมาตรฐานแตกต่างกันไป แต่โดยรวมยังคงละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนอยู่มาก เช่น การห้ามตัดหน้าม้า ห้ามติดโบว์สำเร็จรูป ห้ามผมยาวเกินสะบักตอนปล่อยผม ห้ามผมยาวเกินสองกำมือ เป็นต้น
ประสบการณ์ของนักเรียนไทยเองก็สอดคล้องกับผลสำรวจจากบริษัท ยูโกฟ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังเผชิญกับการบังคับตัดผมตามกฏของโรงเรียน และการตัดผมก็เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักเรียนอย่างมาก นอกจากนั้น ในผลสำรวจเดียวกันยังเปิดเผยด้วยว่า 40% ของครูยังไม่รู้ว่าเนื้อหาของระเบียบทรงผมฯ พ.ศ. 2563 ระบุไว้ว่าอย่างไร ซึ่งก็เห็นได้จากการการนำเสนอข่าวเรื่องทรงผมนักเรียนอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังประกาศใช้ระเบียบทรงผมฯ พ.ศ. 2563 อยู่
(ชมข่าวโซเชียลวิจารณ์หนัก! เด็ก ป.5 น้ำตานอง ถูกร.ร. บังคับตัดผม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้ที่ http://bit.ly/3DejU3O)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 นางสาวตรีนุชเองก็ตอบคำถามต่อสื่อกรณีลงโทษตัดผมนักเรียนว่า “ไม่พบว่ามีระเบียบข้อไหนที่ให้คุณครูสามารถลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม การลงโทษมีเพียง 4 สถานคือ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” และยังย้ำว่าหากพบว่าครูละเมิดกฏ ให้แจ้งมาที่ช่องทาง MOE Safety Center เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการต่อไป.ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียงครึ่งปีให้หลัง กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ ‘สถานศึกษา’ และ ‘บุคลากรสถานศึกษา’ ที่ใช้อำนาจล้นเกินละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนได้ทั้งหมด จนสามารถออกกฏเรื่องทรงผมที่อยู่บนฐานของการเคารพสิทธิของนักเรียนได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กล้าวางมือจากเรื่อง ‘ทรงผมนักเรียน’ จนนำไปสู่การยกเลิกระเบียบทรงผมฯ พ.ศ. 2563 ในที่สุด
แต่ถ้าสถานศึกษายังไม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานอย่างสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายแม้จะมีระเบียบทรงผมฯ พ.ศ. 2563 ควบคุม การให้โรงเรียนที่ก็มีอำนาจนิยมแทรกซึมไปแทบทุกส่วนเป็นผู้กุมชะตาทรงผมนักเรียนก็แทบไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้นักเรียนโดนละเมิดสิทธิอย่างชอบธรรม และบังคับให้ ‘นักเรียน’ ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองโดยไม่มีเครื่องมือใดช่วยเหลือ
#เสรีทรงผม คือสิทธิมนุษยชนที่ระบบการศึกษาไทยต้องเรียนรู้และเคารพอย่างจริงจังจริงใจ ทรงผมไม่ใช่เรื่องแยกขาดออกจากอัตลักษณ์ นอกเหนือจากกลุ่มนักเรียนตรงเพศ ทรงผมก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ การมีกฏบังคับทรงผม ‘ผู้หญิง’ และ ‘ผู้ชาย’ สะท้อนการขาดความเข้าใจมิติทางเพศที่หลากหลายอย่างรุนแรง การมีกฏที่ห้ามไม่ให้นักเรียนแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนและกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด

กระทรวงศึกษาธิการจึงสมควรต้องทบทวนจุดยืนต่อระเบียบทรงผมฯ เพราะหากมีความห่วงใยต่อร่างกายและจิตใจของนักเรียนจริง การกระทำเช่นนี้อาจตีความได้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกำลังไม่จริงใจในช่วงใกล้เลือกตั้ง
#HumanRights #MyBodyMyChoice #HairLiberation
อ้างอิง
MOE: http://bit.ly/3j6Sw0P, https://bit.ly/3XAOs89
BadStudent: https://bit.ly/3XxzsHY
Prachachat: https://bit.ly/3XCoO2O
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”