หลังโต้ตอบกรณีกลั่นแกล้งรุ่นน้องสมัยมัธยม ที่ทำให้เห็นว่าการบูลลี่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว และการขอโทษอาจไม่ช่วยอะไร
Update: มัทรีและกิ๊กได้ขอโทษแล้วผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว และแอคเคาท์หลักของ NEW COUNTRY ก็ได้ออกประกาศระงับการใช้โซเชียลมีเดียของมัทรีและกิ๊ก โดยระบุว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และขออภัยกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น
วันที่ 2 มกราคม มีทวิตเตอร์แอคเคาท์หนึ่งระบุว่า ‘มีศิลปินทีพัพไทยคนนึงเคยบุลลี่ฉันนะ ตอนนี้เพลงดังมากคนเล่นเต็มติ้กต่อก ถ้าที่ไทยจริงจังกะการบูลลี่ในวัยมัธยมของไอดอลก็อยากรู้เหมือนกันว่าชีจะได้เดบิ้วต์ มีเพลงฮิตเหมือนทุกวันนี้มั้ย’ ชุมชนทวิตเตอร์ตื่นตัวกับกรณีนี้มาก และมีการตามหาว่าเป็นศิลปินคนไหน จนกระทั่งเจ้าของเรื่องโพสต์ความคืบหน้าในวันที่ 4 มกราคมว่า ได้รับการติดต่อมาขอโทษจากเจ้าตัวแล้ว และจะไม่ติดใจอะไรอีก
ในวันเดียวกันนั้น ‘มัทรี NEW COUNTRY’ ก็ได้แสดงตัวว่าเป็นคู่กรณี และไลฟ์เพื่อชี้แจงว่า ‘ถูกกล่าวหา’ ว่าบูลลี่ โดยในไลฟ์นั้นระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่คนทั้งวงโยธวาทิตสาปคนคนหนึ่งอยู่ ส่วนตัวมัทรีไม่เคยบูลลี่ใคร และได้ขอโทษคู่กรณีเป็นการส่วนตัวแล้ว ซึ่งในระหว่างไลฟ์ ก็มีคอมเมนต์ในทำนองว่า ‘เป็นคนทำ ก็ต้องรับผลกรรมไป’ ซึ่งมัทรีโต้ตอบในทันทีว่า “สิ่งที่เราทำมันไม่ได้เรียกว่าการบูลลี่นะคะ” “เขาบอกหรือยังว่าบูลลี่ว่าอะไร” และอยากให้ทวิตเตอร์ “ฟังหูไว้หู” ในขณะเดียวกัน ก็มีการสำทับจาก ‘กิ๊ก NEW COUNTRY’ ที่ร่วมไลฟ์ด้วย ว่า “อวตารกับคนมีแสง”
หลังจากนั้นเจ้าของเรื่องก็ได้แปะบทสนทนาส่วนตัวระหว่างตนเองกับมัทรี โดยเนื้อหาในแชทนั้นมีการขอโทษอย่างจริงใจ และขอว่าหากสบายใจแล้วรบกวนให้ลบ จากนั้นก็กลับมาถามใหม่ว่า “เรื่องมัน 3-4 ปีละเนอะ ทำไมไม่ออกมาพูดตั้งนาน” และมีการโต้ตอบกับคอมเมนต์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ว่าอย่าฟังความข้างเดียว ซึ่งทำให้เจ้าของเรื่องไม่แน่ใจว่าคำขอโทษนั้นจริงใจจริง ๆ หรือไม่ จากเหตุการณ์ดังกล่าว มัทรีและกิ๊กถูกตั้งคำถามอย่างหนักกับการไลฟ์ชี้แจงที่เหมือนจะทำให้เรื่องหนักขึ้นกว่าเดิม จนนำมาสู่การแถลงขอโทษในแอคเคาท์ส่วนตัวของมัทรี และแอคเคาท์หลักของ NEW COUNTRY ในที่สุด
#สิ่งที่เราทำมันไม่ได้เรียกว่าการบูลลี่นะคะ
แล้วการบูลลี่ (Bully) หรือการกลั่นแกล้ง คืออะไร?
Amnesty ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือการแสดงท่าทางที่รุนแรงด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม หากสิ่งนั้นส่งผลกระทบให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจจนทำให้พวกเขารู้สึกด้อยคุณค่า มันคือ “การบูลลี่” ทั้งนั้น ซึ่งได้แยกการกลั่นแกล้งออกเป็น 4 ระดับคือ ด้านร่างกาย ด้านสังคมหรือด้านอารมณ์ ด้านวาจา และโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
จากเนื้อหาที่มัทรีเป็นฝ่ายพูดเอง มัทรีระบุว่าเหตุการณ์นั้นคือรุ่นพี่ในวงโยธวาทิตที่รุมด่ารุ่นน้องสมาชิกในวงโยธวาทิต เพราะมาสายและปีนเกลียว และเจ้าของเรื่องได้โต้ตอบว่า ตนที่มาสายวันซ้อมก็โดนครูต่อว่าและหักคะแนนอยู่แล้ว และการที่รุ่นพี่มารุมต่อว่ามันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความผิดในฐานะสมาชิกวงโยธวาทิตที่เกิดขึ้น ซึ่งการกลั่นแกล้งในครั้งนั้นเป็นการทำกันเป็นกลุ่ม ตั้งกรุ๊ปแชท และต่อว่ารุ่นน้องว่า ‘หน้าเหมือนกบ หน้าคางคก อีควาย อีตอแหล’
ส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว เราจะเห็นว่านี่คือการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่มีทั้งความสัมพันธ์ของ ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ และคำสำคัญคือการ ‘ปีนเกลียว’ แม้จะมีครูอยู่ในกระบวนการของวงโยธวาทิต แต่ความสัมพันธ์ในพื้นที่ออนไลน์อย่างกรุปแชทก็ไม่ได้มีครูมาเกี่ยวข้องด้วย และที่นั่นเองที่มีการลงโทษทางสังคมเกิดขึ้น จากความเป็น ‘รุ่นพี่’ ที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจจะสั่งสอน และจากการมี ‘พวกมาก’ ที่ทำให้มีคนสนับสนุนว่าทำอะไรก็ไม่ผิด
จากนิยามของ Amnesty เมื่อเกิดการรวมกลุ่มเพื่อกลั่นแกล้งเช่นนี้ จะมีผลให้เกิดจากการกลั่นแกล้ง 3 ระดับ คือ ด้านสังคมหรือด้านอารมณ์ ด้านวาจา และออนไลน์
มันคือการทำให้ผู้ถูกกระทำเจ็บปวด จากคำพูดร้าย ๆ และจากการโดดเดี่ยวผู้ถูกกระทำออกจากสังคม ‘วงโยธวาทิต’ ที่เป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์วัยมัธยมของทั้งสองฝ่าย
เพื่อตอบมัทรี ว่าสิ่งนี้คือการบูลลี่หรือไม่ – สิ่งนี้คือการบูลลี่อย่างแท้จริง
#เจ้าของทวิตไม่แสดงหลักฐานบูลลี่ #เรื่องตั้ง3-4ปีแล้วทำไมเพิ่งออกมาพูด #อวตารกับคนมีแสง
ทำไมคนมีแสงเขาชอบขอหลักฐาน แถมยังชอบถามว่าทำไมเพิ่งออกมาพูด
เพราะจุดเริ่มต้นของการบูลลี่ คือ ‘อำนาจที่ไม่เท่าเทียม’ การตั้งคำถามเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้รอด (Survivor) จากความรุนแรงมันคือการ Gaslighting เพราะรู้แน่แก่ใจแล้วว่าสิ่งที่เคยทำลงไปมันยอมรับไม่ได้ มันเป็นเรื่องผิดที่สังคมต้องลงโทษแน่ ๆ หากยอมรับออกไป และเป็นเรื่องเลวร้ายที่ตัวเองก็คงไม่อยากโดนหรอก – แถมใช่ว่าจะเพิ่งมารู้ว่าการกระทำนั้นแย่ เพราะรู้ตั้งแต่แรก การกลั่นแกล้งจึงมักเกิดในที่ลับ ๆ ที่ไม่มีใครนอกจากพวกพ้องของตัวเองรู้ โดยคนที่เจิดจ้าและมีแสงจนพูดอะไรใคร ๆ ก็เชื่อ – ซึ่งมันทำให้ผู้ถูกกระทำต้องยอมจำนนต่อความรุนแรงนั้นไปโดยปริยาย เพราะสังคมแม่งชอบถามหาหลักฐาน โอกาสในการที่สังคมจะยอมฟังเหยื่อมันช่างริบหรี่เหมือนลุ้นล็อตเตอรี่ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นสังคมก็พร้อมจะเชื่อ ‘คนมีแสง’ ซะจนอวตารไม่กล้าจะพูด ต้องรอเวลา 3-4 ปี แล้วคิดดูสิว่า 3-4 ปีแห่งการจดจำว่าเคยถูกกลั่นแกล้ง มันยากลำบากแค่ไหน ? – ในช่วงเวลาที่ผู้กระทำปล่อยใจฝันกับชีวิตที่สวยงาม มุ่งหน้าสู่โลกใบใหม่อย่างแจ่มจ้า แต่คนถูกกระทำกลับถูกทิ้งไว้กับคำพูดพล่อย ๆ ทบทวนว่าตัวเองทำผิดใช่มั้ย ฟื้นฟูจิตใจและผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาด้วยตัวเองและคนรอบตัว นอกจากผู้กระทำไม่เคยมารับผิดชอบด้วยการขอโทษอย่างจริงใจ ก็ยังจะมาถามแบบนี้อีก
นี่คือการกลั่นแกล้งซ้ำสองที่เกิดขึ้นจากมัทรีและกิ๊ก NEW COUNTRY คือการใช้แสงของตัวเองเพื่อปิดปากของผู้ถูกกระทำอย่างถึงที่สุด ทำเหมือนไม่ยี่หระ เรื่องเล็กน้อยจากคนที่อยากมาเกาะแสง มั่นใจเข้าไว้ เราไม่ได้ทำอะไรผิด การไลฟ์นั้นคือการบอกว่ามัทรีพร้อมจะยืนหยัดว่าตัวเองไม่ได้ทำ ถึงทำก็มีส่วนแค่เล็กน้อย และกิ๊กก็พร้อมจะเคียงข้างสนับสนุน นี่คือสภาพแวดล้อมอย่างดีที่สุดของการบ่มเพาะผู้กระทำความรุนแรง (Abuser) มีคนที่พร้อมจะทำ มีช่องทางให้ทำ และมีคนสนับสนุน โดยไม่แน่ใจว่ารู้ตื้นลึกหนาบางทั้งหมดดีหรือไม่ แต่เชื่อ ‘แสง’ ไว้ก่อน
มันตอบทุกอย่างในตัวเองอยู่แล้วว่าทำไมความรุนแรงถึงไม่เคยมีหลักฐาน มันจะหลงเหลืออะไรได้นอกจากความเจ็บปวดในใจของผู้ถูกกระทำ เพราะคนที่ทำให้มันเกิดนั้นกุมอำนาจเหนือและพร้อมจะทำให้แผลของคนที่ถูกกระทำเป็นแค่เรื่องเล็กๆ อยู่แล้ว และในหลาย ๆ ครั้ง สังคมก็พร้อมจะเชื่อผู้กระทำอย่างหมดใจ – เช่น ที่มัทรีบอกว่าอย่าทำให้การกระทำของเธอไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย เพราะคนอื่นก็พยายามมามากกว่าจะได้เป็น NEW COUNTRY
ไม่ผิดที่ผู้ถูกกระทำจะสงสัยอยู่แล้วว่าตกลงที่มาขอโทษ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับงานการใช่มั้ย
#แต่ส่วนตัวหนูหนูไม่เคยบูลลี่ใครจริงๆค่ะ
ความรุนแรงเอยจงรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคนรอบข้างที่ไม่ทำอะไร
ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ ใร้ที่มา ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่เกิดจากนิสัยขี้แกล้ง แต่ความรุนแรงมันรุนแรงได้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมใจให้มันเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด คนมากกว่าหนึ่งก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย แบบที่มัทรีทำ
การปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่ยั้งคิด ห้ามปราม ประณาม หรือปกป้องผู้ถูกกระทำ คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ที่ผู้คนในสังคมยอมรับได้ว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว จากอคติ ประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้มา การเหมารวมของสังคม และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่หล่อหลอมให้คนหนึ่งคนเชื่อว่าคนที่ปีนเกลียวรุ่นพี่ก็สมควรจะถูกลงโทษ คนไม่มีพวกก็ต้องยอมจำนน และแม้จะไม่ได้เป็นปากของตัวเองที่พูดคำร้าย ๆ ออกไป แต่การเคียงข้างผู้กระทำหรือแม้แต่อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ก็คือความรุนแรงไม่ต่างกัน – เช่นเดียวกับที่กิ๊กเลือกจะยืนเคียงข้างมัทรี
สุดท้ายนี้ นี่ไม่ใช่การจงใจลงโทษทางสังคม และ/หรือ ชี้เป้าเพื่อให้สังคมรุมด่าทอต่อว่าหรือตัดโอกาสในชีวิตของใคร แต่เป็นการย้ำให้เห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรง สิ่งที่เราต้องการอย่างมากคือความกล้า กล้าที่จะยืนหยัดว่าความรุนแรงไม่ถูกต้อง แต่คนที่เคยทำผิด และสำนึกผิดอย่างจริงใจ ก็สมควรได้รับโอกาสเช่นกัน
#CyberBullying #SchoolBullying #NEWCOUNTRY
อ้างอิง
Forbes: https://bit.ly/3jTUwcK
Amnesty: https://bit.ly/3WRvREh
Galtung: https://bit.ly/3Z9Vu4Z
Twitter: https://bit.ly/3VK5ZJj
Twitter: https://bit.ly/3ZcFP4K
Twitter: https://bit.ly/3w0SXg9