- Advertisement -
รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเดินหน้าทบทวนกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชายอีกครั้ง ทว่ายังไร้ความคืบหน้าในเรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะแนวคิดที่ว่าการแต่งงานควรเกิดขึ้นระหว่างหญิงและชายเท่านั้นยังคงมีอยู่
วันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการอภิปรายในที่ประชุมชนเกี่ยวกับกฎหมายในยุคอาณานิคม ซึ่งครอบคลุมไปถึงกฎหมายที่ระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและชายเป็นอาชญากรรม ซึ่ง เค ชานมูกัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การผ่อนปรนกฎหมายใด ๆ ก็ตามในทีนี้ จะไม่กระทบต่อคำจำกัดความของการแต่งงานในปัจจุบัน (ที่มีให้แค่ชายและหญิง) อย่างแน่นอน
นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า ประเทศของเขาจะไม่ดำเนินคดีกับใครก็ตาม ภายใต้กฎหมายจากยุคอาณานิคมนี้
“บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์แบบเกย์ (“gay sex”) จะไม่ถูกดำเนินคดี แม้ว่าจะมีกฎหมายเก่าที่ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและชายเป็นความผิดก็ตาม” ชานมูกัม ว่า
กฎหมายที่ว่าคือ มาตรา 377A แห่งประมวลกฎหมายอาญาสิงคโปร์ ที่ระบุว่า กิจกรรมทางเพศระหว่างชายรักชายเป็นอาชญากรรม และมีโทษจำคุกสูงสุดสองปี ซึ่งถูกปรับใช้มาตั้งแต่ปี 1938 ตอนที่สิงคโปร์ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมประเทศอังกฤษ
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นก็ได้ยกคำร้อง 3 ข้อในมาตรา 377A ไป และแม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ได้บังคับใช้โทษนี้อย่างแข็งขันมานานกว่าทศวรรษ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้เสียที
หากย้อนไปเมื่อปี 2014 ก็จะพบว่า มีความพยายามในการแก้ไขมาตรา 377A มาแล้ว ทว่ากลับถูกปัดตกไป เมื่อศาลฎีกาของสิงคโปร์ตัดสินว่า การถือว่าเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชายเป็นอาชญากรรมนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
และเมื่อมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 377A ในครั้งนี้ ก็มีชาวสิงคโปร์มากมายตั้งคำถามว่า ‘นี่จะเป็นการปูทางไปสู่สมรสเท่าเทียมหรือไม่?’ เพราะในปัจจุบันการสมรสระหว่างเพศเดียวกันนั้นยังไม่ถูกรองรับทางกฎหมายในสิงคโปร์
ชานมูกัม จึงออกมาเปิดเผยกับสื่อ ว่า กรณีการอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ควรมีการหารือและตัดสินใจภายในรัฐสภาไม่ใช่ในศาล
ด้าน คริสตจักรคาทอลิกของสิงคโปร์ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม ว่า พวกเขาเคารพในศักดิ์ศรีของชุมชน LGBT+ แต่ขอสงวนสิทธิ์ให้การแต่งงานที่นำไปสู่การ ‘ให้กำเนิด’ เกิดขึ้นได้เท่านั้น แม้สิงค์โปร์จะเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมทางศาสนา ที่มีชาวสิงคโปร์ระบุว่าเป็นคริสเตียนเพียง 19% ในขณะที่ผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีจำนวนถึง 31% จากประชากรทั้งหมดก็ตาม
มารอดูกันต่อไปว่าทิศทางสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์จะเป็นอย่างไรต่อไป หากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในแถบเอเชียตะวันออกเชียงใต้หลายแห่งก็กำลังเดินหน้าพัฒนาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
#สิงคโปร์ #สิทธิLGBT+
#DecriminalizingSameSex
#สมรสเท่าเทียม #LGBT+
Content by Natthapon T.
Graphic by Napas
อ้างอิง
Pink News: https://bit.ly/3BA8sQ3
Bloomberg: https://bloom.bg/3OUAPva
CNA: https://bit.ly/3OVvMdS
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://spectrumth.com/
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -