Anthropocentrism – เมื่อมนุษย์นั้นเหยียดสัตว์ Politics January 11, 2021 Share Facebook Twitter Google+ Pinterest WhatsApp “ไอ้เหี้ย” “อีควาย” “ไอ้สัตว์” “อีแรด” และ “อีชะนี” ทำไมมันถึงกลายมาเป็นคำหยาบที่ฟังแล้วรู้สึกระคายหู? ทำไมการถูกเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ถึงมีความหมายแง่ลบและแสดงถึงความ “ต่ำช้า” ให้คนฟังได้เจ็บแสบ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นเพียงสัตว์โลกธรรมดาๆ และมนุษย์เองก็เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งไม่ต่างกัน การใช้ชื่อเรียกสัตว์เป็นคำด่าทอเช่นนี้ แท้จริงแล้วก็มาจากการที่มนุษย์มองว่าตนเองนั้น ‘เหนือกว่า’ จึงพยายามแยกตัวออกมาจากสัตว์อื่น แนวคิดการยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางเช่นนี้เองยกคนให้ ประเสริฐที่สุดและดีที่สุด ก่อนเอาชื่อเรียกของสัตว์นั้นไว้ไปไว้ด่ากันและกันอีกทีหนึ่ง SPECTROSCOPE: Anthropocentrism – เมื่อมนุษย์นั้นเหยียดสัตว์ Anthropocentrism คืออะไร? – คำว่า Anthropocentrism มาจากรากศัพท์ภาษากรีก ‘anthrōpos’ ที่หมายถึง ‘มนุษย์’ รวมกับ ‘kentron’ ที่แปลว่า ‘จุดศูนย์กลาง’ หมายถึง แนวคิดที่ยึดว่ามนุษย์คือศูนย์กลางของจักรวาล และเชื่อว่ามนุษย์มีความสำคัญเหนือธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยมองว่าสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์ พืชพรรณ หรือทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะไม่มีคุณค่าในตัวมันเองเลย หากว่าสิ่งนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จะสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไรก็ได้ แนวคิดเช่นนี้มีรากฐานมาจากบทปฐมกาลในคัมภีร์ไบเบิล ที่กล่าวว่า มนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นตามรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า มีหน้าที่ปกครองโลกใบนี้ และมีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แนวคิดว่าธรรมชาติจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในทฤษฎีของยิวและคริสต์ศาสนาเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ใน “Politics” งานเขียนสำคัญชิ้นหนึ่งของอริสโตเติล และทฤษฎีปรัชญาจริยศาสตร์ของอิมมานูเอล คานท์ อีกด้วย เมื่อ ‘สัตว์ไม่ประเสริฐ’ กลายเป็นคำด่าทอ – การเห็นว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เป็น ‘สัตว์ประเสริฐ’ ที่ “สูงส่งและมีคุณค่า” มากกว่าสัตว์อื่นเช่นนี้เอง ที่นำไปสู่การยกเอา ‘สัตว์ไม่ประเสริฐ’ มาเป็นคำด่าทอ คำดูถูก เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น “อีเหี้ย” “ไอ้สัตว์” “อีควาย” “ใจหมา” เป็นต้น ‘มนุษย์เป็นใหญ่’ และ ‘ชายเป็นใหญ่’ – วาล พลัมวูด (Val Plumwood) นักปรัชญาสาย Ecofeminism ได้วิพากษ์แนวคิดการมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางนี้ว่าอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกับ ‘ชายเป็นใหญ่’ เพราะการจัดลำดับชั้นให้ ‘ธรรมชาติ’ ด้อยกว่า ‘มนุษย์’ ก็เทียบเคียงได้กับการมองว่ากลุ่มที่ถูกลดทอนอำนาจอย่างผู้หญิงและคนผิวสี “ด้อยกว่า” ชายผิวขาว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพลวัตทางอำนาจเหนือกว่า อย่างการเรียกผู้หญิงว่า “ชะนี” ก็มีนัยการกดขี่ทางเพศและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง โดยเปรียบเทียบว่าวันๆ ผู้หญิงจะร้องหาผัวอย่างเดียว เหมือนกับชะนีที่ร้อง “ผัว ผัว” นั่นเอง เช่นเดียวกับการกล่าวว่าผู้หญิงที่ทำตัวไม่เหมาะสมตามขนบ หรือขัดกับกรอบวัฒนธรรมอันดีที่สังคมกำหนดไว้ ว่าคือการทำตัว “แรด” โดยมีที่มาจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของแรด ซึ่งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ แรดตัวเมียจะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวผู้ และหากแรดตัวผู้ไม่ยอมผสมพันธุ์ด้วย ก็จะโดนตัวเมียไล่ขวิดจนตายได้ โดนด่าแบบนี้เจ็บไม่เจ็บ ? – มึงมันอีชะนี.. มึงมันแรด.. ซึ่งเป็นมุมมองจากอคติที่ฝังรากหยั่งลึกในสังคมปิตาธิปไตย ที่มักเอาคุณค่าของผู้หญิงไปผูกไว้กับความบริสุทธิ์ ในขณะที่ผู้ชายมักได้รับคำสรรเสริญเยินยอเมื่อมีหลายเมีย หญิงที่ดีกลับต้องรักนวลสงวนตัว ไม่ฝักใฝ่ในเรื่องเพศ มันจึงไม่แปลกที่หลายๆ คนไม่ชอบให้ถูกเรียกว่าอีชะนีและแรดเพราะไม่ชอบในนัยยะนี้ แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆ คนก็ แล้วไง? ฉันจะแรดแล้วไง? Slut Shaming เหรอ? สัตว์มันไม่ดีตรงไหนเลย ด่าเหรอ ไม่เห็นเจ็บเลย การกดทับสัตว์ถูกนำมาใช้กดทับมนุษย์ด้วยกันเอง – การยกเอาพฤติกรรมตามธรรมชาติเหล่านี้ของสัตว์มาใช้เป็นคำด่าทอนั้น ก็เป็นผลมาจากกรอบคิดการมองโลกแบบ anthropocentric ที่ยึดเอามุมมองของมนุษย์ไปตัดสินคุณค่าของทุกสิ่ง มองว่าพฤติกรรมของสัตว์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นหยาบช้า ไร้อารยะ ไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยการใช้สัตว์เป็นคำด่าทอนี้อาจมีผลที่รุนแรงมาก เช่นถูกนำมาเป็นวาทกรรมที่ส่งเสริมการสามารถ ‘Dehumanize’ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ เช่น กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่รวันดาที่ใช้คำว่า ‘แมลงสาบ’ กับชาวทุตซี หรือตลอดจนบ้านเรากับวาทกรรม ‘ควายแดง’ เป็นต้น #Anthropocentrism #Sexism #SexistSlurs #Spectroscope #WeScopeForYou Content by Yanisa Sunanchaiyakarn อ่านข่าวเรื่องเพศอื่นๆ: www.spectrumth.com/ อ้างอิง Britannica: https://bit.ly/3pVw2gU Department of Cultural Promotion: https://bit.ly/2L7wg5V บทความ Anthropocentrism and Androcentrism – An Ecofeminist Connection โดย Daniel Pérez Marina: https://bit.ly/35dKsRy ภาพ: https://bit.ly/3scE6Ma #Spectrum #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน ญาณิศา สุนันท์ชัยการนิสิตปี 3 เอกอังกฤษ อักษรฯ จุฬา ที่มีความฝันว่าสักวันสังคมนี้จะเป็นอิสระจากกรอบคิดปิตาธิปไตยและโอบรับความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง สนใจ feminist literature และการศึกษา graphic novels นภัสชล บุญธรรมIllustrator & Graphic Designer RELATED Politics จากท้องไม่พร้อมสู่แท้งไม่ปลอดภัย ผู้หญิงไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง? พิพัฒน์ ปะจันทบุตร - January 13, 2021 “พลาดท้องก็ด่า ทำแท้งก็ด่า ฝังยาคุมก็ด่า สรุปแล้วผู้หญิงมีทางเลือกอะไรบ้าง?” ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจได้เห็นความเคลื่อนไห... Read more Politics Zumrat Dawut – หญิงลี้ภัยชาวอุยกูร์ผู้ถูกกักกันในเมือง ซินเจียงประเทศจีนกว... สาริศา โภคาวัฒนา - January 12, 2021 “หลังจากที่ฉันหนีออกมาจากจีน ฉันตั้งใจที่จะเป็นกระบอกเสียงของพวกเรา” นี่คือเสียงของหญิงชาวอุยกูร์ที่รอดมาได้ “ค่ายปรับทั... Read more Politics เด็กดอยใจดี และ มีแคร์รอต? ภาพจำผิดๆ ของคนเมืองต่อ ‘Hill Tribes’ ปณต ศรีนวล - January 12, 2021 จากกรณีของ ‘พิมรี่พาย’ นั้นสามารถกระตุ้นให้คนจำนวนมากหันมาสนใจปัญหาเกี่ยวกับ ‘Hill Tribes’ หรือที่คนไทยหลายๆ คนมักเรียกว... Read more