- Advertisement -
“เราชอบมีเพื่อนเป็นกะเทยนะ ตลกดี”
“พวกตุ๊ดเกย์ ส่วนใหญ่มีความสามารถมากทั้งนั้นแหละ”
“ความรักของ LGBT+ ไม่ยืนยาวหรอก”
เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 1- 28 (หรือ 29 ในบางปี) คือ LGBT+ History Month หรือ เดือนประวัติศาสตร์ LGBT+ โดยถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1994 เพื่อเฉลิมฉลอง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่ม LGBT+ รวมทั้งเพื่อเรียกร้องและนำเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเพศหลากหลายในปัจจุบันให้ครบถ้วนและครอบคลุมมากขึ้น
ถ้าย้อนมาดูในประเทศไทย เราเคยมีงานไพรด์เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 31 ตุลาคม 1999 (ใช้ชื่อว่า Bangkok Gay Festival 1999) ที่จัดขึ้นเฉลิมฉลองการครบรอบเหตุการณ์จราจลสโตนวอลล์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ระดับโลกของกลุ่มเพศหลากหลาย โดยในครั้งนั้นก็มีคนเข้ามาร่วมขบวนกันอย่างแน่นขนัด
อีกทั้งในงานนั้น ยังมีการรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มเกย์ ลบล้างมายาคติทางเพศเก่าๆ และสนับสนุนการท่องเที่ยวในย่านสถานบันเทิงอย่างสีลม นับได้ว่าเป็นงานไพรด์ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับความสนใจจากสำนักข่าวหลายแหล่งทั่วโลกอย่าง ABC, BBC หรือ Reuters ฯลฯ
แต่จนแล้วจนรอด แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว อคติเกี่ยวกับ LGBT+ นั้นก็ยังหลงเหลือและฝังลึกอยู่ในสังคม เนื่องในเดือนที่มีวะระสำคัญนี้ เราจึงรวบรวม 10 ความเชื่อและการเหมารวม LGBT+ แบบเก่า ๆ ที่ไม่หายไปสักที มาหักล้าง เพื่อสร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่ไร้ซึ่งการตีตราเพศหลากหลายหรือการยัดพวกเราให้อยู่ในกรอบเพศแคบๆ ที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมา
- Advertisement -
ภาพของเกย์ที่ตลก เลสเบี้ยนที่เกรี้ยวกราด หรือผู้หญิงข้ามเพศที่ต้องล่วงละเมิดทางเพศผู้ชายทุกคน เป็นสิ่งที่ถูกฉายบนสื่อกระแสหลักมาโดยตลอด จนทำให้เกิดเป็นภาพจำของชุมชนนี้ รวมทั้งในอีกนัยหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่กดทับกลุ่มคนเพศหลากหลายด้วยว่า ต้องทำหรือแสดงออกแบบนี้ถ้าอยากได้รับการยอมรับจากสังคม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพจำเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมชินและรับได้ ถ้าผลักกลุ่มคนที่แตกต่าง มีความ “เป็นอื่น” ไปไว้ในกรอบที่ได้สร้างเอาไว้ นั่นคือความตลก ในกรณีเดียวกับที่เรามักจะพบการเมคฟันคำไทยที่ไม่ชัดของคนพม่า เพราะดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะทำให้ความแตกต่างนั้นกลายเป็นเรื่องตลก แทนที่จะทำความเข้าใจกับมัน
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเราก็เพียงต้องเข้าใจว่า LGBT+ ก็คือคนทั่วไป ที่ไม่ได้มีลักษณะนิสัยเพียงแค่แบบเดียว พวกเขาไม่จำเป็นต้องตลก หรือมีคาแรกเตอร์เหมือนที่สังคมคาดหวังไว้เสมอไป สื่อและผู้เสพสื่อต่าง ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ และลบล้างภาพจำเหล่านี้เช่นกัน
ในสมัยก่อน หรือแม้กระทั่งในตอนนี้ ยังมีหลายความเชื่อว่าการเป็นเพศหลากหลายนั้นสามารถทำการรักษาให้หายได้ ซึ่งการรักษาที่ว่านั้นถูกเรียกชื่อของ “การบำบัดเพศวิถี” (Conversion Therapy) ที่มีทั้งการสะกดจิต ใช้สารเคมี จนไปถึงการช็อตไฟฟ้า หรือส่งให้เข้าพบนักบำบัดจิต เพราะเชื่อว่าจะทำให้ LGBT+ กลับมาเป็นสเตรทได้ ที่ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากความเชื่อทางศาสนา โดยรักษาวิธีนี้ก็ได้ถูกแบนแล้วในหลาย ๆ ประเทศ แต่ก็ยังมีข่าวของคนที่ทรมานจากการบำบัดเพศวิถีออกมาให้เราเห็นอยู่บ่อย ๆ
วงการแพทย์ก็เป็นอีกภาคส่วนที่มีอิทธิพลสูงต่อแนวความคิดนี้ อย่างเมื่อก่อนที่มีการใช้คำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศที่ผิดปกติ” (Gender Identity Disorder) ที่ใช้เรียกผู้ที่มีสำนึกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดของตัวเอง แต่ในสากลโลกคำนี้ได้ถูกยกเลิกใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2013 และเปลี่ยนเป็นคำว่า “ความทุกข์ใจในเพศสภาพ” (Gender Dysphoria) แทน เนื่องจากปัญหาของการใช้คำว่า ‘disorder’ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ว่าการมีสำนึกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นเป็น ‘โรค’ แต่ในบางประเทศอย่างประเทศไทย ก็ยังมีการใช้คำนี้หลงเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม ถ้าไปเสิร์ชดู ก็จะพบว่ามีงานวิจัยระดับโลกและเปเปอร์ต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด ที่ออกมายืนยัน ได้ว่าการเป็นเพศหลากหลายไม่ใช่โรคหรือเกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดแต่อย่างใด มันไม่ใช่ “ทางเลือก” หรือสิ่งที่แก้ไขได้ และผู้ปกครองหรือคนรอบตัวก็ควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุนในตัวตนที่พวกเขาเป็นมากกว่า และการแก้ไขความเข้าใจในเรื่องนี้นั้นก็ควรต้องเคลื่อนไหวพร้อมกันทั้งองคาพยพทั้งปัจเจกบุคคล การศึกษา วงการแพทย์ ฯลฯ ที่ต้องร่วมสร้างความเข้าใจให้แก่สังคม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพความสัมพันธ์ของ LGBT+ นั้นมักจะถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้น ไม่ยั่งยืน วาทกรรมนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่สภาพสังคมยังไม่เปิดกว้างเรื่องเพศมากพอ การเป็นเพศหลากหลายยังไม่ถูกยอมรับ ความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้ยังไม่ถูกทำให้มองเห็นมากนัก
ในความเป็นจริง มีแบบสำรวจจาก ‘Inside-OUT’ ที่แสดงให้เห็นว่าเกย์ หรือ เลสเบี้ยน นั้นอยู่ในความสัมพันธ์แบบจริงจังไม่ต่างกันกับคู่รักต่างเพศ และหลายต่อหลายคู่ก็คบกันนานกว่าสิบปี โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์บอกอีกด้วยว่าพวกเขา “มีความพึงพอใจในชีวิตคู่คล้ายคลึง หรือมากกว่าคู่รักเพศเดียวกัน” เพียงแต่ว่าในประเทศที่ยังไม่มีสมรสเท่าเทียม ที่คู่สมรสเพศหลากหลายไม่มีสิทธิเหมือนคู่รักตรงเพศ และถูกกีดกันอยู่นั้น อาจส่งผลต่อคู่รักในแง่สุขภาพจิตและความทุกข์ใจได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้เราก็เริ่มได้เห็นภาพของความรักเพศหลากหลายที่มากขึ้นหลายคู่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อกระแสหลัก คนรักเพศเดียวกันในหลาย ๆ ประเทศสามารถแต่งงานตามกฎหมายได้แล้ว ก็เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ได้สร้างความหวังให้กับชุมชนเพศหลากหลาย ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ทุกคนสมควรได้รับความรักที่ดีและยั่งยืน
ภาพจำของ LGBT+ ในกระแสหลักนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีแค่เพียงไม่กี่เพศที่ถูกนำเสนอออกมา ไม่ว่าจะเป็น เกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยน (ซึ่งก็มีน้อยอยู่ดี) โดยความจริงนั้นเพศมีหลากหลายมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ไบเซ็กชวล นอนไบนารี อโรแมนติก ฯลฯ ที่แทบจะยังไม่ถูกพูดถึง
นอกจากเรื่องของสื่อแล้ว เรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาในมุมอื่นที่ทับซ้อนกัน ตรงที่ว่า เมื่อมีการพูดถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไปของคนเหล่านี้ ก็ยังมีมักจะมีความบางกลุ่มที่มองว่า ‘ยุ่งยากจัง’ ‘เยอะ’ ‘ใครจะไปจำได้’ หรือแม้กระทั่งแสดงความเห็นตลกขบขัน ในสิ่งที่ตัวเองแค่ “ไม่คุ้นชิน” ทำให้การพูดถึงหรือให้พื้นที่บุคคลเหล่านี้นั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก
สุดท้ายในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจความแตกต่างอย่างแตกฉานมันทั้งหมด ทุกอัตลักษณ์ก็ได้ แต่เพียงแค่เปิดใจที่จะศึกษา เคารพสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะปัจเจกบุคคล และยอมรับว่าตัวตนของพวกเขานั้นมีอยู่จริงก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าการเอาเรือมาขวางคลองมากแล้ว
“รักร่วมเพศ” เป็นอีกหนึ่งคำที่หลาย ๆ คนนำมาใช้นิยามกลุ่มคนเพศหลากหลาย แต่ลึก ๆ แล้ว คำนี้ก็ได้แฝงอคติและการตีตรากลุ่ม LGBT+ เอาไว้กับเซ็กซ์ ที่สะท้อนว่าบุคคลกลุ่มนี้ให้ความสนใจกับการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าความสัมพันธ์ในแง่มุมอื่น นอกจากนี้ยังเห็นได้จากการเหยียดเพศที่ล้อเลียนการมีเซ็กซ์ของคนรักเพศเดียวกันอย่าง “สายเหลือง” “นิ้วเย็น ๆ ” ฯลฯ
รวมทั้งในอัตลักษณ์ของ LGBT+ ก็มีกลุ่มคนที่ไม่ฝักไฝ่ทางเพศ หรือกลุ่ม “Asexual” ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือไม่มีความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์อยู่ด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าพวกเขาไม่ต้องการที่จะมีเซ็กซ์ในความสัมพันธ์ เพศชายหญิงหลายคนไม่ได้สนใจในเซ็กซ์ฉันใด เพศหลากหลายอีกมากมายก็ไม่ได้สนใจในเซ็กซ์ฉันนั้น
การมีเซ็กซ์จัดไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่ แต่วาทกรรมเหล่านี้ที่ผูกติดกับเพศหลากหลายนั้น มันนำไปสู่ปลูกฝังให้หลาย ๆ คนมองกลุ่ม LGBT+ ว่าน่ากลัว จะหาโอกาสที่จะมีเซ็กซ์ได้ตลอด หรือเป็นผู้ล่วงละเมิด (Sexual Predators) ที่ต้องระวัง ทั้งที่ทุกเพศมีโอกาสเป็นผู้ล่วงละเมิดได้ทั้งนั้น และทุกเพศก็สามารถมีความต้องการทางเพศที่สูงได้ สิ่งสำคัญก็คือต้องปลูกฝังให้ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการล่วงละเมิดต่าง ๆ นั้นไม่สมควรจะเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น
ความเชื่อที่ว่า LGBT+ (โดยเฉพาะเกย์และผู้หญิงข้ามเพศ) เป็นกลุ่มคนที่แพร่เชื้อ HIV นั้น มีมาตั้งแต่ในสมัยยุค 80s เป็นช่วงแรกที่โรคเอดส์เริ่มระบาดในกลุ่มเกย์และผู้หญิงข้ามเพศ ในสมัยนั้นที่ยังมีความรู้ไม่มากพอบวกกับอิทธิพลของศาสนา ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคนี้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก โดยวาทกรรมที่ผูกติดคนเพศหลากหลายกับเชื้อเอดส์ก็ยังมีมาให้เราเห็นจนถึงปัจจุบัน
อย่างในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กีดกันไม่ให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันบริจาคเลือด เพราะมองว่าเลือดของพวกเขาอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อ HIV ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทุกเพศสามารถมีเชื้อ HIV กันได้หมด ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันก็พัฒนามียา PREP ที่ป้องกันเชื้อ HIV ได้แล้ว การที่หลาย ๆ โรงพยาบาลยังปฏิเสธเลือดของ LGBT+ ก็เหมือนเป็นการกีดกันและตีตรามีแค่กลุ่ม LGBT+ เท่านั้นที่จะมีเชื้อ HIV
หลาย ๆ คนก็ให้ข้อเสนอว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ๆ ก็ควรจะมีเงื่อนไขในการบริจาคเลือดที่เท่าเทียมกัน งานวิจัย ‘ADVANCE’ ที่วิจัยเกี่ยวกับการบริจาคเลือด ได้เสนอว่า แทนที่จะให้เกย์หรือผู้ชายไบเซ็กชวลห้ามมีเซ็กซ์เป็นเดือน ๆ ก่อนบริจาคเลือด ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ทางศูนย์รับบริจาคเลือดควรให้ทุกคนทุกเพศทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนบริจาค และพิจารณาเป็นรายบุคคลไป เพื่อทุกคนจะได้มีโอกาสบริจาคเลือดอย่างเท่าเทียม
ในงานวิจัยของ European Molecular Biology Laboratory group ได้มีการค้นพบว่า ไม่ได้มีความแตกต่างหรือ ‘ผิดเพี้ยน’ ในเชิง DNA ของผู้มีความหลากหลายทางเพศกับบุคคลตรงเพศแต่อย่างใด รวมทั้งและพฤติกรรมรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “ส่วนที่เป็นธรรมชาติของความหลากหลายของเราในฐานะสปีชีส์ที่แตกต่าง” และไม่ได้เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดู ไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้ แต่เป็นสิ่งที่เป็นปัจเจก
ไม่ใช่แค่ในมนุษย์ แต่ความสัมพันธ์เพศเดียวกันนั้นเกิดขึ้นได้ในสัตว์หลายสายพันธุ์ โดยมีให้เห็นเป็นปกติ ‘ตามธรรมชาติ’ อยู่แล้ว ทั้งในอดีตในหลาย ๆ อารยธรรม และวัฒนธรรม ความรักของเพศเดียวกันนั้นก็เคยเป็นเรื่อง “ปกติ” มาก่อน โดยนักวิจัยเรื่องเพศบางส่วนก็มองว่า การที่คนรักเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” นั้น ส่วนหนึ่งเริ่มมาจากอิทธิผลแนวคิดระบบสองเพศของชาติตะวันตกในช่วงการล่าอาณานิคมที่มีเพื่อควบคุมประชาชน และธำรงอำนาจของระบบชาตินิยมปิตาธิปไตยไว้
มุมมองการแบ่งเพศออกเป็น สองเพศ โดยพิจารณาจากอวัยวะเพศนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเอกฉันท์เช่นกัน เมื่อในโลกนี้ยังมีคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์ (เพศทับซ้อนหรือกำกวม) อยู่ แถมเปอร์เซ็นการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้นั้น สูงกว่าจำนวนการเกิดของคู่ฝาแฝดด้วยซ้ำ อีกทั้งการสืบพันธ์ เพื่อสืบเชื้อสาย ของเพศตรงข้ามนั้น ไม่ใช่เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวในฐานะของสิ่งมีชีวิต อย่างที่ศาลตุลาการไทยเคยยกอ้างเพื่อปฏิเสธสมรสเท่าเทียม เพราะความสามารถในการมีหรือไม่มีลูกนั้นก็แค่อีกหนึ่งในความแตกต่างที่ไม่ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลลงเลย
ไม่ปฏิเสธว่าผู้มีเพศหลากหลายจำนวนมาก ที่เก่ง ประสบความสำเร็จและมีความสามารถสูงตามขนบที่สังคมมองอยู่จริง เพียงแต่ในกรณีนี้ เราต้องการชี้ให้เห็นว่า การยอมรับเพศหลากหลายในประเทศไทย นั้นมักจะเป็นไป ‘อย่างมีเงื่อนไข’ ไม่ว่าจะคำพูดที่ว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี” หรือการเหมารวมบอกว่า “LGBT+ คนพวกนี้มีความสามารถสูง”
การผูกเรื่องเล่านี้ไว้กับ “เพศ” ของบุคคลนั้น ไม่ต่างกับการสร้างเงื่อนไข ในการกดดันพวกเขาให้ต้อง ‘พยายาม’ มากกว่าคนที่เป็นสเตรทเพื่อได้รับการยอมรับ เราสามารถชื่นชมยินดีกับบุคคลในฐานะปัจเจกบุคคลได้ โดยไม่ต้องนำเสนอถึงเพศของเขา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราคงไม่เคยได้ยินใครบอกกับลูกชายหรือลูกสาวที่เป็นสเตรทว่า “ลูกจะเป็นสเตรทก็ได้ขอแค่เป็นคนดี” หรือบอกว่า “ผู้ชายผู้หญิง คนพวกนี้มักมีความสามารถสูงเสมอเลย” หรอกใช่มั้ย?
สุดท้ายแล้ว LGBT+ ก็คือคน ที่สามารถทำผิดพลาดได้ ไม่ต้องเก่งหรือเลิศเลอประเสริฐไปกว่า ใคร ซ้ำร้าย การผูกเพศไว้กับความสามารถหรือความเป็น “คนดี” นี่แหละที่จะส่งผลซ้ำซ้อนให้ กลุ่มเพศหลากหลายได้รับการเหยียบย่ำซ้ำเติมมากกว่าคนที่เป็นชาย หญิงตามขนบสังคม เมื่อทำบางอย่างผิดพลาดจาก “ความดี” “ความเก่ง” ที่สังคมมองไปแม้เพียงนิดเดียว
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดในเชิงนี้มาบ้าง และสำหรับคนที่เห็นด้วย คุณอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามว่ากำลังมองเรื่องนี้เพียงแค่ผิวเผินอยู่รึเปล่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว การหากินกับอัตลักษณ์ของเพศหลากหลาย อย่างซีรีส์วายที่มีอยู่เกลื่อนตลาด หรือการที่นายกฯ ออกมาเชิดชูกลุ่มศิลปินเพศหลากหลายสร้างชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาตินั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเท่าเทียมทางเพศในประเทศนี้เลย
จริงอยู่ที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการออกกฎหมายกีดกัน หรือลงโทษคนเพศหลากหลายอย่างโจ่งครึ่ม และมีพื้นที่ให้เพศหลากหลายในสื่อกระแสหลักอยู่บ้าง (แต่ก็เป็นการให้พื้นที่ในกรอบที่จำกัด) แต่ในเชิงนโยบายต่าง ๆ เรายังมีการรองรับสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของ LGBT+ อยู่น้อยมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น กม. สมรสเท่าเทียม ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก อย่างไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอ หรือการพยายามยกพรบ.คู่ชีวิตมาเพื่อประนีประนอม ซึ่งกีดกันให้ LGBT+ กลายเป็นคน “อีกกลุ่มหนึ่ง”
ยังไม่นับรวมคดีการเลือกปฏิบัติ การทำร้าย LGBT+ ที่หลาย ๆ ครั้งก็เกิดขึ้นจากในหน่วยของครอบครัว หรือแม้กระทั่งจากหน่วยงานภาครัฐเองด้วยซ้ำ จึงเห็นได้ชัดว่าวลีดังกล่าวนั้นสะท้อนความปากว่าตาขยิบของสังคมไทย และมีไว้เพียงเพื่อปิดปากกลุ่มเพศหลากหลายให้ยอมรับสถานะความเป็นรองในสังคม ให้มองว่า ‘ดีเท่าไรแล้วที่เราไม่แย่เท่าบางประเทศ’
“เรียกร้องมากจัง”
“ต้องแค่ไหนถึงจะพอใจ?”
“ตอนแรกก็เห็นด้วยนะ แต่ตอนนี้คิดว่าเยอะเกินอะ”
ในขบวนการการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ มักจะมีหลายคนที่มองว่าการเรียกร้องของ LGBT+ นั้นเป็นการเรียกร้องที่มากไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การพูดถึงเรื่องเพศนั้นเป็นไปอย่าแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีคนที่ต่อต้านออกมาให้เห็นมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะจากการมองไม่เห็นปัญหาที่เพศหลากหลายต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์พิเศษทางชนชั้นและทางเพศ (เป็นสเตรท) หรือ จากความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ ที่ฝังรากลึกในสังคม
อยากไรก็ตาม LGBT+ นั้นไม่ได้ต้องการสิทธิที่เหนือไปกว่าคนที่เป็นสเตรท เพียงแค่ต้องการสิทธิที่เท่าเทียม และที่ต้องออกมาเรียกร้องอย่างไม่หยุดยั้งนั่นก็เพราะว่ายังถูกกีดกันทั้งทางอ้อมและทางตรงในสังคมอยู่อย่างเห็นได้ชัด และยังไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยในสังคม เพราะฉนั้น ถ้าถามว่าแค่ไหนถึงจะ “พอใจ” และหยุดเรียกร้อง ก็คงต้องถามกลับว่า “แล้วสิทธิที่ LGBT+ ได้รับ นั้นเท่าเทียมกับเพศชาย-หญิงเตรท แล้วหรือยัง?”
#HappyLGBTHistoryMonth
#LGBTRights #HumanRights
Content by Pani, Alexis to Your Mimi
Graphic by Napas
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
อ้างอิง
Apa: https://bit.ly/3uONNnZ
Kff: https://bit.ly/34RWjHP
Redcrossblood: https://rcblood.org/3rOspNA
Wlrn: https://bit.ly/33ptqCw
Advancestudy: https://bit.ly/3rP7t98
Aninjusticemag: https://bit.ly/3uPSlud
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -