ถ้าไม่เกรี้ยวกราดก็ไม่สมควรโดนโกรธเกลียด? ทำไมนักแสดงจาก Enola Holmes ต้องไม่บอกว่า การเกลียดคนข้ามเพศของเจ.เค. โรว์ลิ่ง เป็นแค่ความคิดเห็น

- Advertisement -

“เราจะคว่ำบาตรคนทั้งคนไม่ได้ ฉันเกลียด Cancel Culture มันแทบจะกลายเป็นการล่าแม่มดแล้ว แล้วมันเป็นการทำอย่างขาดความเข้าใจด้วย”

- Advertisement -

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2565 บทสัมภาษณ์ของเฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ นักแสดงจาก Enola Holmes และผู้รับบทเบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ในภาพยนตร์แฮร์รี พอตเตอร์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทมส์ลอนดอน ในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ บอนแฮมพูดสองเรื่องชัด ๆ ว่าเรื่องจอห์นนี่ เดปป์ที่เป็นคดีความมาหลายปีได้รับการ ‘พิสูจน์แล้ว’ และเรื่องที่เจ.เค. โรว์ลิ่งกำลังเจออยู่ตอนนี้ ‘น่ากลัว’ (1)

เนื้อหาของสิ่งที่บอนแฮมให้สัมภาษณ์กับไทมส์ มีดังนี้

“การตัดสินผู้คนในทุกวันนี้มันสุดโต่งเกินไป และฉันคิดว่าทุกคนกำลังตามล่า เจ.เค. โรว์ลิ่ง ”

“ทุก ๆ คนมีประสบการณ์ของตัวเอง และประสบการณ์นั้นเองก็กลายมาเป็นมุมมองต่อโลกของเขา เราต้องเคารพประสบการณ์ของแต่ละคน และเข้าใจความเจ็บปวดของเขาให้ได้ แต่มันไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วย เข้าอกเข้าใจไปหมดทุกอย่าง แต่เจ.เค. ไม่ได้พูดอย่างเกรี้ยวกราดรุนแรง เธอแค่พูดออกมาจากประสบการณ์ของตัวเองเท่านั้น” (2)

(อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/3XXwbCl)

เราทุกคนควรจะเคารพความคิดเห็น ประสบการณ์ และการแสดงออกของผู้คนที่มีต่อประเด็นต่าง ๆ นอกจากเจตนาที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเห็นอกเห็นใจจอห์นนี่ เดปป์ และมองว่า ‘เจ.เค. โรว์ลิ่ง’ เป็นผู้ประสบภัยคว่ำบาตรอย่างไม่เป็นธรรม บอนแฮมได้พูดถึง 2 ประเด็นที่สำคัญคือ ‘มันเป็นแค่การแสดงความคิดเห็น’ กับ ‘เกลียดเหลือเกินไอ้วัฒนธรรมคว่ำบาตร’ (Cancel Culture) ซึ่งฟังเผินๆ ก็เหมือนจะไม่เลวร้าย และเข้าอกเข้าใจประสบการณ์ของผู้ถูกกระทำอย่างเจ.เค. โรว์ลิ่ง ที่มีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเจ็บปวดจากแผลในวัยเด็ก ซึ่งความเข้าอกเข้าใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดี และทุกคนที่เจ็บปวดจากการถูกปิตาธิปไตยกดทับ ก็ควรจะรับได้ความเข้าอกเข้าใจแบบนี้เช่นกัน

บอนแฮมบอกว่าเจ.เค. โรว์ลิ่งแค่แสดงความคิดเห็น มันไม่ผิด ซึ่งเป็นความจริง ‘การแสดงความคิดเห็น’ ต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องไม่ผิด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกได้ แต่จริงหรือที่การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ของเจ.เค. โรว์ลิ่งเป็นการแสดงความคิดเห็น อาจจะเรียกได้ว่าพฤติกรรมของเจ.เค. โรว์ลิ่ง นับแต่ปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นมา ส่งเสริมการสร้างความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศมากกว่า

– แล้ววัฒนธรรมคว่ำบาตรที่บอนแฮมถึงกับออกปากว่า ‘เกลียด’ คืออะไร

‘วัฒนธรรมคว่ำบาตร’ หรือ Cancel Culture หรือ Boycott เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจอย่างละเอียด คอนเซปต์ของการ ‘Cancel’ เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1991 แต่ก็เพิ่งแพร่กระจายในวงกว้าง และทรงอิทธิพลสุด ๆ ในวัฒนธรรมประชานิยมในช่วง 6-7 ปีมานี้เอง Canlcel Culture เติบโตมากับความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญอย่าง #BlackLivesMatter และ #MeToo เราจะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้น วัฒนธรรมคว่ำบาตรเข้ามาทำหน้าที่เรียกร้องและคืนสิทธิให้กลับผู้ถูกกระทำ คุณูปการอย่างน้อยที่สุดของการคว่ำบาตรคือการทำให้เห็นพลังของผู้คน ทำให้โลกทั้งใบได้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น (จนทำให้คนคนนี้โดนแบน) มันไม่ถูกต้อง มันเป็นค่านิยมที่ล้าสมัย และเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หรือไม่งั้นก็จะโดนการลงโทษทางสังคมเช่นนี้ 

แต่เพราะวัฒนธรรมคว่ำบาตรไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับข้อมูลและผู้คน ฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกาเองจึงแสดงความกังวลต่อวัฒนธรรมคว่ำบาตรอยู่ตลอด โดนัลด์ ทรัมป์เองก็เคยพูดว่าวัฒนธรรมคว่ำบาตรมันปิดปากพลเมือง ไม่เอื้อให้เกิดการกระตุ้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สุดท้ายคือประชาชนไม่กล้าพูดอย่างเสรี

แต่เลอวาร์ เบอร์ตัน นักแสดงชาวอเมริกันไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าชื่อของ Cancel Culture มันผิด ชื่อที่ถูกต้องควรจะเป็น Consequence Culture มากกว่า (ซึ่งในที่นี้จะขอแปลว่าวัฒนธรรมกรรมตามทัน) และเป็นโอกาสอันดีที่ผู้คนซึ่งไม่เคยรู้ จะได้ตระหนักรู้ว่าความอยุติธรรมเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้ที่เป็นแค่ ‘คนอื่น’ เสมอในบ้านของตัวเอง

วัฒนธรรมคว่ำบาตรเองก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องและเป็นสัจนิรันดร์ แม้กระทั่งพลังของผู้คนจำนวนมากก็ยังผิดพลาดและถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ อาจกล่าวได้ว่าบอนแฮมเองก็ตระหนักถึงความรุนแรงของวัฒนธรรมคว่ำบาตรดี จากกรณีของจอห์นนี่ เดปป์ คนสนิทของเธอที่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจนถึงวันนี้

แต่ที่บอนแฮมลืมตระหนัก คือการแสดงความคิดเห็นของเธอกำลังละเลยบริบทที่สำคัญ และบอนแฮมก็ลืมไปว่ายังมีอีกคนที่ต้องได้รับความเข้าอกเข้าใจ คือ ‘คนข้ามเพศ’ ที่เจ.เค. โรว์ลิ่งไปลบเลือนอัตลักษณ์ของเขา

ต่อให้คำพูดของเจ.เค. โรว์ลิ่งมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่แท้จริง พูดโดยไม่มีประสงค์ร้าย แต่สิ่งที่มีอยู่จริงแน่ ๆ คือ ‘อคติต่อคนข้ามเพศ’ และการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของทุกคน เพียงเพราะอคติที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มันร้ายแรงเกินกว่าจะพูดออกมาโดยไม่รับผิดชอบ และในฐานะนักเขียนที่ทรงอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประชานิยม เจ.เค. ต้องแสดงความรู้สึกเสียใจ ขอโทษ หรืออย่างน้อยก็พยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นหน่อยกับสิ่งที่พูดออกมา หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คิดให้รอบคอบก่อนจะแสดงความคิดเห็นบนพริวิลเลจของความเป็น Cisgender

สิ่งที่เจ.เค. โรว์ลิ่งโดนไม่ใช่การลงโทษตามกฏหมาย นั่นหมายความว่าแม้แต่กฏหมายเองก็ไม่ใช่ที่พึ่งของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วในฐานะคนที่โดนสงสัยในตัวตน โดนลบเลือนอัตลักษณ์ และพบเจอกับการเลือกปฏิบัติเสมอมา อะไรล่ะจะเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ การรวมตัวกันแสดงพลังและ ‘คว่ำบาตร’ สิ่งที่กดทับกันตลอดมา จึงเป็นทางออกที่สันติและทรงพลังที่สุด ให้ผู้คนได้ทบทวนอีกสักนิดก่อนจะเผลอแสดงความคิดเห็นสุดเสรีออกมา ว่าถ้ามัน ‘ขาดความเข้าใจ’ และ ‘ไร้ความผิดชอบ’ ก็ต้องโดนสั่งสอนเสียบ้าง

การคว่ำบาตรเจ.เค.โรว์ลิ่ง จึงเป็นการแสดงความผิดหวังจากผู้คน ความโกรธเกรี้ยวที่ไม่ควรถูกทำให้เงียบ คือความเจ็บปวดจากตัวตนของคนข้ามเพศจริง ๆ ที่เกิดมาก็โดนปฏิเสธซะงั้น ทั้งที่ไม่เคยไปทำอะไรให้เจ.เค. โรว์ลิ่งต้องเจ็บปวด

อีกครั้งที่ต้องย้ำว่า วัฒนธรรมคว่ำบาตรเองก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปเสียทั้งหมด แต่การตอบรับจากผู้คนต่อเจ.เค. โรว์ลิ่งในครั้งนี้ ไม่ต้องการให้บอนแฮมมาปกป้อง ถ้าบอนแฮมอยากจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การบอกให้เจ.เค. โรว์ลิ่งทบทวนจุดยืนต่อคนข้ามเพศอาจจะดีกว่า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ #คนข้ามเพศ

ไม่ใช่ทุกคนในแฮร์รี่พอตเตอร์ที่เกลียดคนข้ามเพศเหมือนเจ.เค.โรว์ลิ่ง

https://bit.ly/3Uv5GRL

ดร. ณัชร สยามวาลา – “ชีวิตใหม่” ที่การผ่าตัดยืนยันเพศมอบให้ และการเคารพตัวตนของคนข้ามเพศ

https://bit.ly/3EXCv4c

พรบ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศของไทยต้องครอบคลุม ‘Gender X’

https://bit.ly/3Bceplk

  1. เรื่องการแสดงออกว่าเกลียดกลัวคนข้ามเพศของเจ.เค. โรว์ลิ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 นับตั้งแต่ทวีตแรกของเธอที่ให้กำลังใจนักวิจัยคนหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะทวีตว่า ‘ผู้ชายเปลี่ยนเป็นผู้หญิงไม่ได้หรอก’ หลังจากนั้นเจ.เค. โรว์ลิ่งก็มีเหตุการณ์ที่เลือกใช้คำว่า ‘ผู้มีประจำเดือน’ แทนคำว่าผู้หญิง เพื่อย้ำว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนได้เท่านั้นคือผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ตามมาที่สอดคล้องกันว่าเจ.เค. โรว์ลิ่งไม่ยอมรับว่าผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง อย่างไรก็ตาม เจ.เค. โรว์ลิ่งไม่เคยออกมาบอกว่าสิ่งที่ผู้คนคิดกันคือความเข้าใจผิด และยังบอกด้วยว่า ก็แค่บอกว่าตัวเองยึดมั่นในเพศกำเนิดมากกว่าเพศสภาพเท่านั้นเอง แม้สาธารณชนจะต่อต้านเจ.เค. โรว์ลิ่งในทุกทาง
  2. ประสบการณ์ของเจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่บอนแฮมหมายถึง คือการถูกใช้ความรุนแรง (Domestic Violence) และล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ชาย ทำให้เจ.เค.โรว์ลิ่ง ‘ไม่ไว้วางใจ’ ผู้มีองคชาตหรือมีเพศกำหนดเป็นชายในทุกกรณี

#Transphobia

#JKRowling

#HarryPotter

อ้างอิง

CNN: https://bit.ly/3HeGiNo

Pink News: https://bit.ly/3VPVeWc

Vox: https://bit.ly/3gWTFHm

The101: https://bit.ly/3h3ExYA

- Advertisement -
Ms. Satisfaction
Ms. Satisfaction
Since it opened my eyes. I can't stop me, can't stop me, can't stop me