ไข 5 ความเข้าใจผิดต่อคนข้ามเพศ เนื่องใน ‘Transgender Awareness Week’

- Advertisement -

- Advertisement -

Transgender Awareness Week
13-19 พฤศจิกายน – สัปดาห์แห่งการตระหนักถึงคนข้ามเพศ

สัปดาห์แห่งการตระหนักถึงคนข้ามเพศ เป็นสัปดาห์ที่กลุ่มคนข้ามเพศ (ทรานส์เจนเดอร์ หรือ ทรานส์) และผู้ที่ยืนหยัดเคียงข้างคนข้ามเพศจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงตัวตนของพวกเขาเกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องอัตลักษณ์ การแบ่งปันเรื่องราวหรือประสบการณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่ทรานส์ทั่วโลกต้องเจอ

เนื่องในโอกาสนี้ สเปคตรัมจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจ 5 ความเข้าใจผิด ๆ ที่สังคมมักมีต่อคนข้ามเพศ เพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนข้ามเพศซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางต่ออคติทางเพศมากที่สุดในกลุ่ม LGBTQIA+ และตระหนักว่าพวกเขาก็สมควรได้รับการยอมรับจากสังคมที่มีความเข้าอกเข้าใจ และสามารถใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิในศักดิ์ศรีของคนข้ามเพศได้เหมือนกับทุก ๆ คน

#คนข้ามเพศมีความผิดปกติทางจิต

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ องค์กรจิตแพทย์ในอเมริกา (APA) รวมไปถึงองค์กรนานาชาติทั่วโลกต่างได้ออกมายืนยันแล้วว่าการเป็นคนข้ามเพศไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิต หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่แตกต่างกันไปของมนุษย์ และการเป็นคนข้ามเพศก็ไม่ได้เป็นตัวการในการนำไปสู่ความป่วยทางจิตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องจริงที่ว่าอัตราการป่วยซึมเศร้า โรควิตกกังวล และการฆ่าตัวตายในกลุ่มคนข้ามเพศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากอคติ การตีตราจากคนในสังคม รวมไปถึงการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวอีกด้วย อคติเหล่านี้ยังทำให้เกิด ‘การบำบัดแก้เพศวิถี’ (conversion therapy) ที่เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศได้ด้วยการพูดคุย สะกดจิต ใช้คลื่นไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งใช้ความรุนแรง และ ข่มขืนอีกด้วย

โดยงานวิจัยจากสถาบัน William Institute พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนข้ามเพศสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 20 เท่า ซึ่งตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจนี้เป็นผลโดยตรงจากการปฏิเสธจากครอบครัว การโดนประณามจากศาสนา และการโดนเลือกปฏิบัติจากสังคม โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาและการเข้ารับบริการทางสุขภาพ

#การผ่าตัดยืนยันเพศเป็นแค่ความอยากไม่ใช่ความจำเป็น

มักมีความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่าการผ่าตัดยืนยันเพศเป็นเรื่องที่ทำเพื่อ ‘ความสวยงาม’ แต่เพียงเท่านั้น จึงทำให้การผ่าตัดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศแต่อย่างใด แต่ความจริงแล้วคนข้ามเพศจำนวนมากต้องทนทุกข์กับภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Gender Dysphoria) โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันเผยว่า 73% ของผู้หญิงข้ามเพศ และ 78% ของผู้ชายข้ามเพศประสบกับภาวะ Gender Dysphoria ตั้งแต่อายุ 7 ปี

ภาวะดังกล่าว เป็นความทุกข์ที่คนข้ามเพศต้องเจอเมื่อพบว่าเพศสภาพที่ตัวเองเป็นไม่ตรงกับร่างกายที่ตัวเองมี เช่นผู้หญิงข้ามเพศ (หรือกล่าวว่า ‘กะเทย’ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน) ต้องการเป็นผู้หญิงแต่มีร่างกายเป็นชาย จึงเกิดภาวะความทุกข์เมื่อต้องติดอยู่ในร่างกายที่ตัวเองไม่ต้องการมี จนอาจนำไปสู่ภาวะป่วยทางจิต ซึมเศร้า หรือนำไปสู่การเลือกจบชีวิตลงเมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตและอคติจากคนรอบข้าง

ทางออกหนึ่งที่สำคัญคือการเข้ารับผ่าตัดยืนยันเพศ (Gender Affirmation Surgery) แต่การจะเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งทำให้คนข้ามเพศจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงทำให้เกิดการเรียกร้องสวัสดิการคนข้ามเพศที่รัฐจะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถได้รับการดูแลจากการแพทย์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในราคาที่จับต้องได้ เช่นในไทยที่กำลังมีการผลักดันสิทธิการผ่าตัดยืนยันเพศให้อยู่ในสวัสดิการบัตรทอง

#คนข้ามเพศทุกคนอยากผ่าตัดแบบเต็มตัว

เมื่อเราได้ยินคำว่า ‘คนข้ามเพศ’ เรามักจะคิดว่าการจะเป็นคนข้ามเพศได้ต้องผ่านการผ่าตัดยืนยันเพศอย่างเต็มตัวแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นคนที่อยากจะผ่าตัด แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนจะอยากเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด และการผ่าตัดนี้เองก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าคน ๆ นั้นเป็นคนข้ามเพศ ‘โดยสมบูรณ์’

จริงอยู่ที่การผ่าตัดยืนยันเพศมักจะถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงร่างกายที่ ‘สมบูรณ์’ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ แต่คำนิยามของการเป็นคนข้ามเพศที่ ‘สมบูรณ์’ มีความปัจเจกอย่างมาก เช่นหากผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่งพอใจที่จะมีผมยาว แต่งตัวเป็นหญิง แต่ไม่อยากผ่าตัดนมและอวัยวะเพศ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด และสมควรที่จะได้รับการยอมรับในสังคมในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง

#คนข้ามเพศชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น

อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) และ รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) เป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง อาจจะมีคนบางกลุ่มที่มีทั้งอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศสอดคล้องกัน เช่น กลุ่มอัตลักษณ์ชายหญิงตรงเพศกำหนด (Cisgender) มักจะมีรสนิยมในการชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) หรือ กลุ่มเกย์/เลสเบี้ยน มักจะมีรสนิยมทางเพศในการชอบเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตามอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศไม่ได้ถูกกำหนดมาให้สอดคล้องกันอย่างตายตัวแบบที่สังคมเข้าใจ เช่น กลุ่มหญิงข้ามเพศ (Trans women) แม้จะมีอัตลักษณ์และมีการแสดงออกเป็นผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะมีรสนิยมทางเพศกับผู้ชายเสมอไป พวกเธออาจจะชอบ เกย์ หรือ ผู้หญิงด้วยกันเองก็ได้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มชายข้ามเพศที่สามารถชอบผู้ชาย เกย์ ผู้หญิง หรือเพศอื่น ๆ ก็ได้ หรืออาจจะเป็นคนข้ามเพศที่ไม่ฝักใจด้านเพศกับใครทั้งสิ้น (asexual) ก็ได้

#การข้ามเพศเป็นเพียงกระแสแฟชั่น

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเสนอภาพของทรานส์เจนเดอร์อย่างแพร่หลายมากขึ้นในสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับให้คนข้ามเพศประกวดนางงาม หรือรายการแข่งขัน ‘Drag Race’ ที่มักสร้างภาพจำบางอย่างของคนข้ามเพศให้กับสังคม แต่ก็ใช่ว่าการนำเสนอภาพของพวกเขาในสื่อต่าง ๆ จะถูกต้องเสียทั้งหมด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่าการเป็นคนข้ามเพศ หรือการลุกขึ้นมาแต่งตัวตรงข้ามกับเพศกำหนดของตัวเองเป็น ‘แฟชั่น’ หรือ ‘การเรียกแสง’ ให้ตัวเองเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว มีบุคคลในประวัติศาสตร์มากมายที่เป็นคนข้ามเพศ เช่น ‘ลิลลี่ อิลเซ่ เอลเวเนส’ (Lili Ilse Elvenes) จิตกรหญิงข้ามเพศชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 19 ที่ได้รับการผ่าตัดยืนยันเพศเป็นคนแรก ๆ ของโลก และมีการตีแผ่เรื่องราวชีวิตของเธอผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘The Danish Girl’ ในปี 2015 แสดงถึงประวัติศาสตร์ตัวตนคนข้ามเพศที่มีมาตั้งแต่สมัยหลายร้อยปีก่อน ไม่ใช่เป็นเพียง ‘เทรนด์’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด

#ความเข้าใจที่ถูกต้องจะนำไปสู่การยอมรับทรานส์อย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าจากการสำรวจทั่วโลกจะพบว่า มีเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้นที่เป็นประชากรคนข้ามเพศ แต่งานวิจัยในปี 2022 ของ ‘William Institute’ ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาและวางแนวทางนโยบายกฎหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในอเมริกา กลับพบว่าตัวเลขของผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทรานส์เจนเดอร์ มีเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ทำให้เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่สังคมควรจะมีความรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้เพื่อการยอมรับตัวตนที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิด ๆ และอคติต่อกลุ่มคนข้ามเพศทั่วโลกอยู่มากมาย และการต่อสู้เพื่อการยอมรับจากคนในสังคมของกลุ่ม LGBTQIA+ ยังคงมีหนทางอีกยาวไกล ดังนั้นในสัปดาห์แห่งการตระหนักถึงคนข้ามเพศนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่คอยเตือนใจให้เราทุกคนไม่หยุดเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายของมนุษย์บนโลกใบนี้ เพื่อให้ความสำคัญของคนทุก ๆ เพศให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

#TransgenderAwarenessWeek #TransLivesMatter #GenderEquality #LGBTQIA

Content by Wattanapong Kongkijkarn
Graphic by

อ้างอิง:
American Nurse: https://bit.ly/3X0nBSN
Cedars Sinai: https://ceda.rs/3UBXPCM
GLAAD: https://bit.ly/3UArWL2
NHS: https://bit.ly/2BcPHBi
Planned Parenthood: https://bit.ly/3Gag0eF
Pursuit: https://bit.ly/3TxtLqQ
The New York Times: https://nyti.ms/3g0Kvca
The Week: https://bit.ly/3AcnJVN
USCF: https://bit.ly/3O11isg
VOX: https://bit.ly/2DNQhJp
World Population Review: https://bit.ly/3hE7udw
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน