‘เรย์ มุราคามิ’ (Rei Murakami) ลูกสาววัย 27 ปีของนักลงทุนชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น ‘โยชิอาคิ มูราคามิ’ (Yoshiaki Murakami) ประกาศสร้าง ‘โรงเรียนการเมือง’ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงความรู้ทางการเมืองมากขึ้น หวังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนนักการเมืองผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้หญิงในรัฐสภาต่ำที่สุดของโลก
เรย์ได้ประกาศริเริ่มแผนการเปิดโรงเรียนสอนรายละเอียดต่าง ๆ ในด้านการเมืองให้กับผู้หญิงในช่วงอายุวัยรุ่นไปจนถึงช่วงวัย 30 ปี โดยจะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติผู้หญิงชื่อดังหลายคน รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่าง ‘โทโมมิ อินาดะ’ (Tomomi Inada) และ ‘เซย์โกะ โนดะ’ (Seiko Noda) ผู้มีประสบการ์ณในรัฐสภามากว่า 30 ปีเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้ในหลักสูตรนี้
จะมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโรงเรียนการเมืองประมาณ 10 ถึง 20 คน จากคณะกรรมการหลากหลายคน รวมไปถึง ‘เคธี่ มัตสึอิ’ (Kathy Matsui) ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดัน ‘เศรษฐกิจพลังผู้หญิง’ (Womenomics) ของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกด้วย
ผู้ได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 1 ล้านเยน (ประมาณ 250,000 บาท) สำหรับการสั่งสมประสบการณ์ที่จะช่วยให้พวกเธอมีพื้นฐานความรู้เพื่อต่อยอดในเส้นทางการเมืองในอนาคต รวมไปถึงการศึกษาต่อต่างประเทศหรือริเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง
ความต้องการที่จะเห็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เรย์ตัดสินใจพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมา “เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐสภามีความหลากหลาย นโยบายที่ออกมาก็จะมีความหลากหลายตามไปด้วย นักการเมืองหญิงมักจะโฟกัสไปที่นโยบายการเลี้ยงดูบุตร การศึกษา หรือการเลี้ยงดูคนชรา สิ่งเหล่านั้นล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน”
สถิติจากสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) ระบุว่าในต้นปี 2022 มีผู้หญิงเพียง 9.7% เท่านั้นที่ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ 26.1% ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้หญิงในรัฐสภาน้อยเป็นอันดับที่ 165 จาก 188 ประเทศทั่วโลก และถึงแม้ว่าจะมีนโยบาย ‘เศรษฐกิจพลังผู้หญิง’ ของอดีตประธาณาธิบดี ‘ชินโซ อาเบะ’ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีพื้นที่มากขึ้นในตำแหน่งผู้บริหารและแวดวงการเมืองอย่างมีนัยะสำคัญ
นอกจากนี้ ตัวเลขจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปี 2021 ยังชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีความแข็งแรงของเศรษกิจเป็นอันดับต้น ๆ อย่างญี่ปุ่นกลับมีปัญหาด้านความเสมอภาคทางเพศที่หยั่งรากลึกและยากจะแก้ไข โดยรั้งท้ายอยู่อันดับที่ 120 จาก 156 ประเทศทั่วโลกในสถิติ ‘Global Gender Gap Index (GGI)’ ซึ่งเป็นตัวเลขบ่งชี้ช่องว่างระหว่างหญิงและชายในด้านการมีบทบาททางการเมือง การมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็พยายามเพิ่มจำนวนของผู้หญิงในตลาดแรงงานญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกสำหรับตำแหน่งแห่งหนของผู้หญิงในสังคมมากขึ้น เช่นตำแหน่ง ‘สตรีชงชา’ (Ochakumi) ในบริษัทที่เคยเป็นที่นิยมในวัฒนธรรมการทำงานญีปุ่นก็หายไปเกือบหมดแล้ว รวมไปถึงมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในที่ทำงานและการเลือกปฏิบัติกับพนักงานหญิงอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น นอกจากบทบาทในที่ทำงานแล้ว ผู้หญิงญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นเพศที่ต้องสนับสนุนผู้ชายอยู่ดี เช่นการที่พวกเธอต้องเป็นคนรินน้ำและแอลกอฮอล์ให้เพื่อนร่วมงานชายเวลาสังสรรค์หลังเวลาทำงาน และแม้ว่าจะมีกฎหมายป้องกันการคุกคามทางเพศออกมา แต่ก็ยังมีผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศอยู่เป็นจำนานมาก โดยมีการรายงานจาก Statista Research Department ว่าในปี 2021 มีเคสผู้หญิงญี่ปุ่นที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับการโดนคุกคามกว่า 7,000 ครั้ง
นั่นแสดงให้เห็นว่า การขาดส่วมร่วมของผู้หญิงในแวดวงการเมืองและการออกกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงญี่ปุ่นยังต้องพบเจอกับความไม่เสมอภาค การเลือกปฏิบัติ และความอันตรายจากสังคมปิตาธิปไตย ซึ่งมีการตรึงอำนาจในการออกกฎหมายให้อยู่ในกำมือของผู้ชายเป็นหลัก
ความพยายามของเรย์ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่ดีที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าไปเป็นอยู่ในฟันเฟืองการออกกฎหมาย และอาจทำให้ในอนาคตมีกฎหมายและนโยบายทีมีความครอบคลุมและเข้าใจชีวิตของผู้หญิงได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงญี่ปุ่นให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้น หรือกล่าวได้ว่าทำให้ญี่ปุ่นมุ่งหน้าไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น
#GenderEquality
#Japan #WomenInPolitics
#PoliticsSchool
Content by Wattanapong Kongkijkarn
อ้างอิง:
Bloomberg: https://bloom.bg/3OlBUNZ
East Asia Forum: https://bit.ly/3V3IFpT
Statista: https://bit.ly/3EiplOX
ภาพ: The Murakami Family Foundation
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน