- Advertisement -
“ออกประกาศเลย จะเปิดคาบาเร่ต์โชว์ เราเทรนด์เองสอนเองหมดเลย
มาตั้งแต่ไม่มีอะไร มาถางหญ้า ก่ออิฐ ถือปูน กะเทยทำเองหมด”
“ถางหญ้า ก่ออิฐ ถือปูน กะเทยทำเองหมด”
“สวัสดีค่า มาดูคาบาเร่ต์โชว์มั้ยคะ” – บนรองเท้าส้นสูงที่ย่างกรายไปทั่วหาดทรายรี ผู้หญิงในชุดนางโชว์ขนนกกรุยกรายยืนเรียงแถวยิ้มหวานแจกโบรชัวร์เรียกลูกค้าตลอดทั้งหัวค่ำ นี่เป็นความประทับใจแรกของเราต่อเดอะควีนคาบาเร่ต์บนเกาะเต่า ที่ทำให้เราสนใจอยากพูดคุยกับแม่โอ๊ต ถึงจุดเริ่มต้นของคาบาเร่ต์แห่งนี้
“เที่ยวไปตามเกาะต่าง ๆ ก่อนอันดับแรก เพราะว่าเราชอบเกาะ เราชอบอยู่ตามเกาะ หาเปิดบาร์เล็ก ๆ ชายหาดกันมั้ย ขายเครื่องดื่มกลางวันอะไรอย่างนี้ ก็ไล่ดูมา ตอนนั้นที่แพงมาก 16-20 ล้าน พอดีเพื่อนที่เคยอยู่อิตาลีด้วยกันเขามาเปิดโรงแรมอยู่ที่แม่หาด เกาะเต่า เขาก็เลยชวนมาดู พอไปดูปุ้บแฟนเก่าเราเห็นมันก็บอก อู้หู นี่มันเหมาะกับเปิดคาบาเร่ต์โชว์เลย”
นี่คือเรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อนที่จะมาเป็นควีนคาบาเร่ต์ในปัจจุบัน แรกเริ่มธุรกิจนี้เริ่มต้นด้วยแม่โอ๊ตและสามีเก่าของเธอ – “เราก็เลยบอกว่าคาบาเร่ต์เหรอ ฉันไม่เอาแล้วนะ ฉันเหนื่อย เพราะว่าการคุมคนมันเหนื่อย เป็นเรื่องอะไรที่ปวดหัวมาก มันก็บอกว่าเสื้อผ้าที่เราเดินแฟชั่นอยู่นั้นอะ ไม่เสียดายเหรอขนมาเลยทำคาบาเร่ต์โชว์ที่นี่สิ เราก็ เอาก็เอาวะ วางเงินเลย”
“กลับโคราชทีนี้ออกประกาศเลย จะเปิดคาบาเร่ต์โชว์ เด็กก็มาซ้อมกัน ตอนนั้นมีเด็กประมาณ 7-8 คน ฝึกที่หน้าบ้านเราที่โคราช เราเทรนด์เองสอนเองหมดเลย แล้วเราก็เอาเขาลงมาที่นี่ มาตั้งแต่ไม่มีอะไร มาถางหญ้า ก่ออิฐ ถือปูน กะเทยทำเองหมด”
สร้างคำมั่นสัญญากับคนบนเกาะเต่า
“พอผ่านไปสักระยะ คนเริ่มมี เราก็เริ่มปรับหลายอย่าง ทำนู่นทำนี่จนมันเริ่มมีคนมาสมัครงาน พวกระดับครูเขาก็มาสมัครกัน ก็เริ่มฟอร์มเด็กใหม่ อัดให้เก่งขึ้น ก็ออกไปแจกโบรชัวร์ ชาวบ้านเขาก็ด่า พูดประมาณว่า ‘พวกนี้มาอยู่ ไม่งามไม่ดี’ เด็กออกไปก็ด่า แท็กซี่ตีมั่ง ตีเลยค่ะ คือแซวกัดจิกด่าบูลลี่ทุกอย่างจนเด็กเราทนไม่ไหว พอเด็กมันสวนก็ตีกันข้างหน้าเลย บางทีโดนเก้าอี้เหล็กอะ ตีหัวแตกเข้ามาในร้านเลย บางทีฝรั่งมายืนหน้าเวทีตะโกนด่า ด่าเลย”
“เมื่อก่อนเด็กไม่ได้อยู่ที่นี่ เขาเช่าห้องแถวอยู่ด้วยกัน ทีนี้พอเดินกลับ พอเห็นมันเป็นกะเทยเนี่ย มีคนตั้งลำมอเตอร์ไซด์ต่อหน้า และบิดเสยอย่างนี้เลยค่ะ พี่ที่ให้เช่าที่เลยต้องพาไปคุยว่า อย่าทำอะไรเขา เขามาทำมาหากิน” – นี่คือตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนางโชว์บนเกาะเต่าแห่งนี้เมื่อนานมาแล้ว จนแม่โอ๊ตเล่าให้เราฟังว่าความรุนแรงที่นี้มันได้เปลี่ยนให้เธอเป็นคนโหดและดุมากขึ้น เพื่อให้อยู่และดูแลนางโชว์ในสังกัดของเธอให้ได้ พร้อมทั้งจัดให้นางโชว์ส่วนใหญ่พักอยู่รวมกันในคาบาเร่ต์ เหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีบิ๊กมาม่าคอยดูแล
“พอเปิดมาได้ประมาณ 3 เดือน เดือนพฤศจิกาจะมีงานลอยกระทงของเกาะเต่า ผู้ใหญ่ทุกคนจะไปรวมที่นั่น แล้วเขาต้องการคำมั่นสัญญาจากเรา ว่าเอาอยู่มั้ย ถ้าเอาไม่อยู่ เชิญออกไปทั้งหมด ออกไปจากเกาะ เราก็เอาคาบาเร่ต์โชว์ไปแสดง 1 ชุด แล้วให้พูดออกไมค์ต่อหน้าผู้ใหญ่ทั้งหมด เราก็ให้คำมั่นสัญญาเลยว่า”
“จากนี้เป็นต้นไป จะขอดูแลเด็กในสังกัดให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อย ตามวิถีชีวิตของคนธรรมดาที่เขาใช้กัน ถ้าวันไหนคาบาเร่ต์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา จะช่วยเหลือทำนุบำรุงเกาะเต่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“จนคาบาเร่ต์เริ่มเปรี้ยงปร้างขึ้นมาเรื่อย ๆ ด้วยจำนวนคนดู ลูกค้าเริ่มติด เริ่มแน่น คาบาเร่ต์ก็รวย ประมาณ 6-7 เดือนหลังจากเปิด เริ่มบูมมากเรื่อย ๆ ผ่านไปปีนึง เราก็คิดว่าเราให้คำมั่นสัญญากับเขาไว้ แต่เราจะทำยังไงเราถึงจะช่วยเหลือเกาะเต่าได้ เราก็เลยคิดขึ้นมาว่าเราต้องจัดประกวด ประกวดให้เป็นงานประเพณีของเรา ก็คืองานครบรอบคาบาเร่ต์ ชื่องาน ‘Miss TQC’ เพื่อนำรายได้จากการประกวดทั้งหมด มอบให้การกุศล ก็คือกู้ภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงเรียน ครั้งแรกเน้นไปที่โรงเรียนเลย สร้างแทงค์น้ำโรงเรียน สร้างโสตศึกษา สร้างคอมพิวเตอร์ สร้างห้องดนตรี เราก็เริ่มจากโรงเรียนก่อน”
จากปีแรกๆที่คนในเกาะแข่งกันเองจัดได้กำไรเพียง 4,000 บาท แม่โอ๊ตเล่าว่าหลัง ๆ มาผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาประกวด Miss TQC ที่เกาะเต่าแห่งนี้มากขึ้น รายได้ก็เริ่มมากขึ้น บริจาคให้ชุมชนได้มากขึ้น จากหลักพันเป็นหลักหมื่น หลักหมื่นเป็นหลักแสน “ปีใหม่” “มัดไหม” “หนูนา” “ใบหม่อน” ชื่อเหล่านี้เริ่มดังขึ้นมาจากทางนางโชว์ที่ซ้อมกันอยู่ระหว่างที่เราสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นชื่อที่เป็นที่โด่งดังในวงการประกวดทิฟฟานี่ทั้งนั้น ที่ต่างก็เคยมาประชันกันบนเวที Miss TQC กันมาแล้ว
“พัทยาเคยติดป้ายว่า ทุเรียน หมา กะเทย ห้ามเข้า อย่างนี้เลยค่ะ ลงหนังสือพิมพ์ด้วยลองไปหาดู” – จากที่เกาะเต่ามีหลาย ๆ แห่งกีดกันกะเทยเข้า แม่โอ้ตพูดกับเราด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “เกาะเต่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กะเทยสามารถเข้าได้ทุกร้าน อย่างเสรี”
จากควีนคาบาเร่ต์…สู่โรงทานแห่งเกาะเต่าในช่วงโควิด
ในช่วงที่คาบาเร่ต์เริ่มเติบโต เป็นหน้าเป็นตาและเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนเกาะเต่า นักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเยือนบนเกาะเต่าแห่งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวนี้เองก็เป็นอีกที่ที่โดนคลื่นจากโควิดซัดจนเกือบพังทลายลงไป และคาบาเร่ต์เองก็โดนซัดเซาะจนเกือบกร่อนอยู่ไม่ต่างกับกิจการอื่น ๆ บนเกาะ
“พอโดนโควิดปุ้บ คนเริ่มออกจากเกาะ ช่วงโดนโควิดใหม่ ๆ เราก็เหลือหลายแสนอยู่ เราก็เห็นสภาพคนเริ่มตกงาน คนพม่าไม่มีงานทำ ออกจากเกาะไม่ได้ต้องค้างอยู่ที่นี่ เงินก็ไม่มี ไม่มีข้าวกินเลย แม่เปิดโรงทานเลย จากคาบาเร่ต์กลายเป็นโรงทานเลย ชาวบ้านแถวนี้มาช่วยกันหุงข้าว วันนึงไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ วันละ 300 – 700 คนต่อแถวมากินข้าว ชาวบ้านก็ช่วยข้าวสารมา เราก็ใช้เงินตัวเองด้วย เราก็คิดว่ามันไม่ยาวนานหรอก เงินพวกนี้เดี๋ยวก็หาได้ อย่างเก่งก็ไม่เกิน 3 เดือนล่ะวะ แม่ก็ทุ่มหมดตัวช่วยคนหมดเลย ทำโรงทานเลย สรุป หมดตัวค่ะ ไม่เหลืออะไรเลยทีนี้”
“ช่วงโควิดแม่ได้ข้าวสารไม่ถึงกระสอบจากรัฐบาล แต่แม่บริจาคที 500 กระสอบ รายการปัญญาปันสุขของคุณปัญญา นิรันดร์กุลติดต่อแม่ให้ไปออกรายการ เขาถามแม่ว่าแม่อยากได้อะไร แม่บอกขอข้าวสาร 500 กระสอบ เพื่อเอาไปบริจาค เธอคิดดูว่าแม่ตั้งข้างหน้าไม่ได้ลงเฟซลงอะไรเลยนะ ไม่ถึงชั่วโมงเรียบ ความที่เขาไม่มีกินกันอะ เค้าก็มารับ ๆๆ ไป”
“แล้วเจ้าหน้าที่รัฐโทรมา จะเก็บภาษี เราก็บอกเก็บตรงไหน สั่งให้ฉันปิดเป็นปี ๆ จะมาเก็บภาษีฉันจะเอาตรงไหนมาจ่าย โชว์ฉันก็ไม่ได้โชว์ เปิดฉันก็ไม่ได้เปิด จะเก็บตรงไหน มาสิ ลงมาดูสิว่าพวกฉันอยู่กันยังไง อด ๆ อยาก ๆ กันอะ”
จากที่ลานแสดงกลายเป็นโรงทาน ร้านขายข้าวแกงจานละ 30 บาท สู่การเปลี่ยนแปลงทั้งบาร์เครื่องดื่มให้กลายเป็นร้านจิ้มจุ่มหมูกะทะพร้อมคาบาเร่ต์โชว์ที่ยังแสดงกันอยู่อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง จนคนบนเกาะเริ่มย้ายออก นักท่องเที่ยวไม่มี รายได้เริ่มขาดแคลน สภาวะเหล่านี้จึงทำให้แม่โอ๊ตและเหล่านางโชว์ตัดสินใจย้ายออกจากเกาะไป จนพอโควิดเริ่มซา แม่โอ๊ตจึงได้นั่งเรือกลับมาที่ควีนคาบาเร่ต์อีกครั้ง
“กลับมาถึงวันแรกนะ ถึงท่าเรือปุ้บน้ำตาไหลพรากเลย นั่งรถมาร้องไห้มาตลอดทาง พอมาถึงปากทางเท่านั้นแหล่ะหนูเอ้ย แทบทรุดเลยอะเห็นแค่ปากทางนะ ซอยนี่ร้างมีแต่เศษใบไม้แห้งเศษขยะทั้งซอย เดินมาถึงหน้าบ้านเห็นสภาพคาบาเร่ต์ ทรุดเลย เรารับไม่ได้ไงเห็นภาพที่มันเคยรุ่งเรืองมา ตอนนั้นมันทรุดโทรมหมดเลย”
“ภายใน 3 วัน แม่สามารถเปิดคาบาเร่ต์ได้อีกครั้งนึง มีไม่กี่คนเอง 6-7 คน แม่ก็ขึ้นโพสต์ ชาวบ้านมาหมดเลย คืนนั้นแม่ได้ทิป 3-4 พันมั้ง โชว์ไปร้องไห้ไป โชว์จนโชว์ไม่ได้อะ มันเต็มตื้น 3 ปีอะ ที่แม่ไม่มีเงินเลย แล้วชาวบ้านเขามาช่วยเรา”- แม่โอ๊ตเล่ากับเราทั้งน้ำตาถึงโชว์แรกหลังจากที่คาบาเร่ต์ปิดไปเกือบ 3 ปี ในเวลาเพียงแค่ 3 วันหลังจากที่กลับมาสู่เกาะเต่าอีกครั้ง ในช่วงนี้จึงถือว่าเป็นช่วงที่คาบาเร่ต์เกาะเต่าแห่งนี้เริ่มกลับมาฟื้นฟู พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
คาบาเร่ต์โชว์กับความเข้าใจของรัฐ
“คาบาเร่ต์เนี่ยมันจะเข้าใจอยู่เฉพาะกลุ่ม LGBT+ ของเรามากกว่า สเตรทเข้ามาดูได้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้จะถึงกึ๋นขนาดที่แบบว่าจะอิน ลูกค้าคนไทยเราน้อยมาก แต่เริ่มมีมาเรื่อย ๆ จากแต่ก่อนเป็นฝรั่งล้วน เดี๋ยวนี้เริ่มกลับมามีคนไทยเข้ามาดู”
“รัฐบาลก็ยังมองว่าคาบาเร่ต์เป็นเรื่องเต้นกินรำกิน เขาไม่มองว่าเนี่ยมันจุดขายเรียกนักท่องเที่ยว คิดดูว่าโรงโชว์ใหญ่ ๆ บนโลกใบนี้มีกี่ที่ ไทยนี่ก็ติดอันดับนะ ทำไมไม่ส่งเสริม ฝรั่งเศสมี Lido de Paris หรือ Moulin rouge ดัง ๆ ระดับโลก เค้ายังใหญ่ไม่เท่าทิฟฟานี่อัลคาซ่าร์เลย ทำไมไม่ผลักดัน จุดขายของเราจริง ๆ คือกะเทย เค้ามาไทยเพื่อดูโชว์กะเทย แล้วทำไมไม่ผลักดัน ทั้ง ๆ ที่มึงได้เงินแน่น ๆ เลย”
“สมัยก่อนโควิด ฉันช่วยได้แค่คนเดียวก็คือตัวฉัน แถมไปลำบากแม่อีกเพราะกลับโคราช พอกลับมาเปิดได้ฉันช่วยคนได้ถึง 30 คน ขับเคลื่อนชีวิตพวกเขาไปต่อได้อีก 29 คน แล้วพอสถานบันเทิงมันเปิดได้เต็มที่กันหมด คนจะมีงานทำอีกเท่าไหร่” – แม่โอ๊ตก็บอกกับเราว่าอาชีพคาบาเร่ต์ในตอนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วงปี 2020 – 2021 เช่นกัน ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ควีนคาบาเร่ต์ปรับราคาเครื่องดื่มต่าง ๆ ลง เพื่อเตรียมการกลับมาเฟื่องฟูอีกครึ่งหนึ่ง
“อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้คนทำงานกลางคืนหากินคล่อง ๆ อะ อย่ากำหนดเวลาปัญญาอ่อน คือปิดเที่ยงคืนตีหนึ่ง หมาที่ไหนมันจะเที่ยว ถูกไหมอะ ยืดเวลาให้เขาสักนิด ถึงจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งก็ช่าง ให้เขาได้ฟื้นตัวบ้าง คุณรู้บ้างไหม เขาเสียหายกันไปเท่าไหร่ เป็นร้อยเป็นพันล้าน”
“ให้เปิดถึงตีสี่มันก็ดีกับคนกลางคืน ดีที่ว่าเขามีเวลาทำงานได้เยอะขึ้น จะบอกให้ว่าคนเที่ยวอะ ยังไงมันก็เที่ยว คนไม่เที่ยว มันไม่ไปนั่งหาวถึงตีสี่หรอก ถูกไหม คนเที่ยวก็ปล่อยมันไปสิ มันไม่มีเงินมันไม่เที่ยวหรอก ไปแต่ละที่เนี่ยใช่เงินเท่าไหร่ที่เที่ยวเนี่ย แพงจะตายห่า แพงกว่าค่าข้าวอีก นู่นไปนั่งดักจับอีพวกขี้เมาขับรถก็พอ ถ้าจะเอาตามกฎหมาย ไปดักมันหน้าผับเลยก็ได้ มันขับก็จับมันเลย ให้เศรษฐกิจมันได้ฟื้นสักนิด แล้วค่อยว่ากันใหม่”
ในปัจจุบัน ควีนคาบาเร่ต์เป็นเหมือนทั้งบ้านและที่ทำมาหากินของพวกเธอ อีกทั้งยังเป็นหมุดหนึ่งเดียวที่ทำให้เราเห็นว่าแม้แต่บนเกาะเล็ก ๆ อย่างเกาะเต่าก็ยังมีดอกไม้แห่งความหลากหลายทางเพศเบ่งบาน ในตอนนี้คาบาเร่ต์เกาะเต่าได้กลับมาเปิดบริการเต็มตัวทุกวันแล้ว ตั้งแต่ 21.30 – เที่ยงคืน กับโชว์จุก ๆ สุดสะใจไม่ซ้ำตลอดทั้งสัปดาห์ สำหรับใครที่อยากมาสัมผัสประสบการณ์ของควีนคาบาเร่ต์ แม่โอ๊ตบอกเราว่าประตูของบ้านหลังนี้ยินดีต้อนรับทุก ๆ คน
“เสห่น์ของคาบาเร่ต์สำหรับแม่มันเป็นอารมณ์คล้าย ๆ บรอดเวย์ (Broadway) มันเป็นการแสดงสด มันเป็นการอธิบายเนื้อเพลง เนื้อเพลงที่คนอินอยู่แล้วให้เป็นภาพออกมา อันนี้คือเสน่ห์ของคนที่แสดงคาบาเร่ต์จริง ๆ คือต้องเอาให้อยู่ ต้องให้ออกว่าเพลงมันหมายถึงอะไร มันเป็นความรู้สึกอะไร เป็นหนังเรื่องอะไรและอารมณ์ตอนนั้นมันเป็นยังไง เมื่อคนเขาดูหนังแล้วมันดูคาบาเร่ต์ซ้ำ เขาจำภาพตรงนั้นได้ ถ้ามึงสะกดเขาได้อีก ทำให้คนดูเชื่อได้ว่ามึงแสดงเป็นเขาอยู่ มึงชนะเลย นี่แหล่ะคือเสน่ห์ของคาบาเร่ต์”
- Advertisement -