- Advertisement -
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง The Shining (1997), American Horror Story: 1984, You’re Next (2011) และ Halloween (2018)]
กลางดึกคืนหนึ่งกลางป่าร้างผู้คน หญิงสาวคนหนึ่งเต็มไปด้วยเลือดที่เปรอะเปื้อนทั่วลำตัวและใบหน้าของเธอ กำลังกรีดร้องอย่างสุดเสียงในขณะที่วิ่งหนีฆาตกรต่อเนื่องโรคจิตที่กำลังถือขวานหวังจะจามเธอออกเป็นชิ้น ๆ ด้วยความโชคร้ายเธอสะดุดกิ่งไม้ที่นอนแน่นิ่งอยู่ และล้มลง ทว่าแทนที่เธอจะรีบลุกขึ้นและวิ่งหนีต่อ เธอกลับหันไปหาฆาตรกรและกรีดร้องอย่างสุดเสียงราวกับว่านั่นจะทำให้เธอรอดชีวิตจากเงื้อมมือของมันได้ และแน่นอนขวานนั้นก็จามเข้าที่หัวของเธอ
นี่คือสิ่งที่เราคุ้นชินจากการดูหนังประเภทไล่เชือด (Slasher Film) ซึ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยของหนังสยองขวัญ (Horror Film) ตัวละครผู้หญิงมักจะเป็นตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นเป้าหมายของฆาตกรมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเธอมักถูกกำหนดให้ทำอะไรที่ดูไร้เหตุผลจนทำให้เราขัดใจ เช่น กรีดร้องเสียงดัง วิ่งหนีฆาตกรขึ้นชั้นบนแทนที่จะวิ่งออกนอกบ้าน หรือล้มแล้วอ่อนแอจนไม่สามารถวิ่งต่อได้
และสิ่งหนึ่งที่เราคุ้นชินที่สุดคือการที่ต้องมี ‘The Final Girl’ (หญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย) และการมี ‘The Promiscuous Girl’ (หญิงสาวสำส่อน) จนเหมือนเป็นสูตรสำเร็จของหนังไล่เชือดที่จะทำให้ตัวหนังทำเงิน ประสบความสำเร็จ และเป็นที่ชื่นชอบของแฟนหนัง ทว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การถ่ายทอดภาพของผู้หญิงในหนังไล่เชือดนี้ อาจกำลังสะท้อนให้เห็นถึงอคติทางเพศที่สังคมมีต่อเพศหญิง และอาจเป็นการปลูกฝังความคิดเกลียดชังเพศหญิง (Misogyny) ให้กับผู้ชมอยู่อย่างไม่รู้ตัว วันนี้จึงอยากชวนดูว่าปัญหาอคติต่อเพศหญิงในหนังไล่เชือดนั้นซ่อนอยู่ตรงไหนกันบ้าง
SPECTROSCOPE: ‘หนังไล่เชือด’ กับการเสนอภาพผู้หญิงผ่าน ‘อคติ’ และ ‘ความเกลียดชัง’
#DamselinDistress หรือ ‘หญิงสาวผู้ตกยาก’ – ในหนังสยองขวัญและหนังไล่เชือดส่วนใหญ่ตั้งแต่ในช่วงปี 1970 ตัวละครที่สามารถสัมผัสได้ถึงลางร้ายที่กำลังจะเกิดได้คือผู้หญิง โดยพวกเธอมักจะเห็นผี ปีศาจ หรือฆาตกรก่อนทุก ๆ คน และบ่อยครั้งที่ไม่มีใครในเรื่องเชื่อในสิ่งที่เธอเห็นและมองว่าเธอ ‘โอเวอร์’ และ ‘คิดมาก’ เกินไป และเมื่อพวกเธอตกอยู่ภายใต้การไล่ล่าจากฆาตกร พวกเธอจะทำได้แค่ วิ่งหนี กรีดร้องอย่างไร้สติ และพวกเธอจะรอดชีวิตได้จากการช่วยเหลือของตัวละครเพศชาย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตัวละคร ‘Wendy Torrance’ (เวนดี้ ทอร์แรนซ์) ในเรื่อง ‘The Shinning’ ที่เธอจะกรี๊ดออกมาอยู่ตลอดเวลาหลังจากที่สามีของเธอเสียสติคลุ้มคลั่ง และตัวละครของเธอก็ไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่มิติอื่น ๆ เลย จนทำให้ ‘Stephen King’ (สตีเฟ่น คิง) ที่เป็นผู้เขียนเรื่องดังกล่าวในเวอร์ชั่นหนังสือออกมาเล่าว่า เวนดี้ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์เป็น ‘ตัวละครที่เต็มไปด้วยอคติและความเกลียดชังต่อเพศหญิงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวงการภาพยนตร์’
การสร้างตัวละครหญิงให้เป็น Damsel in Distress ในหนังไล่เชือดหลาย ๆ เรื่องนั้นจึงแสดงให้เห็นถึงชุดความคิดของสังคมที่มีอคติต่อผู้หญิง ด้วยการทำให้ผู้หญิงเป็นเพศที่แสดงถึง ความอ่อนไหว ขี้กลัว ขวัญอ่อน และอ่อนแอ จนไม่สามารถตั้งสติในสถานการณ์ที่บีบคั้นได้ และ การช่วยเหลือจากตัวละครเพศชายเท่านั้นที่เธอจะสามารถเอาตัวรอดได้ในที่สุด และบทบาทของเธอก็เป็นได้แค่ตัวละคนแบน ๆ ที่แสดงแต่มิติของความอ่อนแอทางอารมณ์เพื่อความบันเทิงของผู้ชมเพียงเท่านั้น
#TheFinalGirl หรือ ‘หญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย’ – ตามขนบของหนังไล่เชือดส่วนใหญ่ คนที่รอดชีวิตคนสุดท้ายจากฆาตกรจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘The Final Girl’ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ The Final Girl ในหลาย ๆ เรื่องนั้นจะมีคุณสมบัติร่วมกันคือ ต้อง ‘เวอร์จิ้น’ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับตัวละครชาย ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มีนิสัยดี อ่อนน้อม ถ่อมต้น และเป็นหนอนหนังสือ หรือที่เรียกกันว่า ‘เนิร์ด’ อาทิ ‘Laurie Strode’ (ลอรี่ สโตรด) จากเรื่อง ‘Halloween’ (1978) หรือเหล่า Final Girls จากซีรีส์ ‘Friday the 13th series’, ‘Wrong Turn’, ‘See No Evil’, และ ‘House of Wax’ เป็นต้น
ตัวละครเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติในอุดมคติของสังคมที่มีต่อคำว่า ‘ผู้หญิงที่ดี’ ในโลกของปิตาธิปไตย หากเธอเป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ ไม่แสดงออกถึงความต้องการทางเพศ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุรา สารเสพติดตามความคาดหวังของบรรทัดฐานสังคม เธอจะได้เป็น The Final Girl ที่สมควรจะได้มีชีวิตรอดจากเงื้อมมือของฆาตกร แต่อย่างไรก็ตาม การรอดชีวิตของเธอนั้นมักเป็นไปได้เพราะโชคช่วย หรือการช่วยเหลือจากผู้ชายจากการกำหนดให้อยู่ในกรอบ Damsel in Distress ไม่ได้เป็นเพราะความสามารถของตัวเอง
#ThePromiscuousGirl หรือ ‘หญิงสาวสำส่อน’ – เป็นตัวละครหญิงที่เป็นขั้วตรงข้ามของ The Final Girl ในทุก ๆ มิติ ตัวละครนี้จะเป็นผู้หญิงที่เปิดเผยเรื่องเพศ มีเซ็กซ์กับตัวละครชายในเรื่อง ดื่มเหล้า เสพสารเสพติด และถูกออกแบบมาให้ดูไม่ฉลาด และแน่นอนว่าตัวละครหญิงที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่รอดพ้นจากฆาตกรโรคจิต โดยส่วนใหญ่ฉากการฆาตกรรมตัวละคร ‘หญิงสำส่อน’ จะต้องเกิดขึ้นระหว่างที่เธอกำลังมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังจากนั้นเพียงครู่เดียว
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่ไม่ปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่ว่าจะในเรื่องเพศ หรือการแสดงออกที่ดู ‘ไม่บริสุทธิ์’ สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงที่สมควรจะได้รับการไว้ชีวิตคือผู้หญิงที่ทำตัวตรงตามการเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’ ในโลกปิตาธิปไตย และผู้หญิงที่สมควรจะโดนฆ่าคือผู้หญิงที่แหกออกมาจากกรอบบรรทัดฐานของสังคม
เมื่อการถ่ายทอดภาพของ ‘The Final Girl’ และ ‘The Promiscuous Girl’ ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นเหมือนธรรมเนียมของหนังไล่เชือด ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก็เหมือนกับเป็นการพยายามปลูกฝังให้สังคมตัดสินผู้หญิงโดยใช้มาตรฐานของความ ‘บริสุทธิ์’ และเป็นเหมือนการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังกับผู้หญิงที่มีความ ‘กล้า’ ที่จะแสดงออกเรื่องเพศ สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างที่เราจะได้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมักจะถูกสังคมโทษว่าแต่งตัว ‘เผยเนื้อหนัง’ หรือไม่รู้จักปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบหญิงที่ดี เช่นในเรื่อง ‘Friday the 13th’ (2009) และ ‘A Nightmare on Elm Street’ (1984) หรือในเรื่อง ‘Halloween’ (1978) ที่ ฆาตกรไมเคิล ฆ่าน้องสาวของตัวเองหลังพบว่าเธอมีเซ็กส์
#BlackGuysDieFirst หรือ ‘ผิวดำต้องตายก่อน’ – นอกจากเรื่องเพศแล้ว เชื้อชาติในหนังไล่เชือดก็ยังเป็นอีกหนึ่งด้านที่สะท้อนให้เห็นถึงอคติของสังคม เนื่องจากตัวละครผิวดำมักถูกใส่มาเพื่อเป็นตัวประกอบที่จะถูกฆ่าตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของหนังเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม และแน่นอนว่าในบรรดา The Final Girls ทั้งหลายนั้นมักจะเป็นผู้หญิงผิวขาวแทบทั้งหมด ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากอัตลักษณ์อันทับซ้อน (Intersectionality) กล่าวคือ ถ้าตัวละครหญิงที่มีคุณสมบัติตรงกรอบของ The Final Girls ทั้งหมด แต่เป็นคนผิวดำ พวกเธอก็จะต้องตายอยู่ดี
การพยายามทำลายภาพลักษณ์ต่อเพศหญิงเก่า ๆ ในหนังไล่เชือดในยุคปัจจุบัน – อย่างไรก็ตาม ในหลายปีให้หลังมานี้ ในวงการหนัง Slasher ก็มีความพยายามในการลบล้างการถ่ายทอดผู้หญิงที่เต็มไปด้วยอคติ โดยในการศึกษาหนังไล่เชือดด้วยการเปรียบเทียบหนังฉบับดั้งเดิมกับฉบับรีเมค 16 เรื่องระหว่างปี 1974 ถึง 2008 ปรากฎว่าในฉบับรีเมค ตัวละครหญิงถูกวางให้มีการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) มากขึ้น ทำให้มีการกระทำที่สมเหตุสมผล และบทพูดที่แสดงถึงความฉลาดเฉลียว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) และพร้อมที่จะสู้กับฆาตกรเพื่อเอาชีวิตรอด
อีกทั้งยังมีการสร้างภาพแทนของ The Final Girl ขึ้นใหม่เพื่อท้าทายขนบหนังไล่เชือดแบบเดิม ๆ เช่นในเรื่อง ‘American Horror Story: 1984’ ที่มีหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายถึง 2 คน โดยที่คนหนึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำ และอีกคนเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้ ‘เวอร์จิ้น’ ตามขนบเก่า ๆ อีกทั้งยังมีอีกหลายเรื่องที่ถ่ายทอดภาพของผู้หญิงในทางที่ดีขึ้นเช่นในเรื่อง ‘You’re Next’ (2011) ที่ The Final Girl สามารถเอาชีวิตรอดจากเหล่าฆาตรกรได้ด้วยความสามารถ และความเฉลียวฉลาดของตัวเธอเอง หรือใน ‘Halloween’ (2018) ที่ตัวละครหญิงทั้งสามคนร่วมมือกันเพื่อฆ่าฆาตรกรไมเคิลได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขนบธรรมเนียมของตัวละครหญิงในหนังไล่เชือดก็ยังมีให้เห็นอยู่ในยุคปัจจุบัน การวางตัวละครหญิงให้เป็นไปตามกรอบของ The Final Girl หรือ หญิงสำส่อนก็ยังคงมีการผลิตซ้ำขึ้นใหม่เรื่อย ๆ จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้มีเพื่อบอกทุกคนให้เลิกดูหนังไล่เชือดที่แฝงอคติต่อเพศหญิง แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงสารที่ซ่อนอยู่ภายใต้การออกแบบตัวละคร หรือบทของหนัง และตัวคุณเองจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในหนังไล่เชือดนั้นมีการพัฒนามาดีพอแล้วหรือยัง และถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะทบทวนและแก้ไขบทบาทของผู้หญิงในหนังไล่เชือดให้ดีมากขึ้น
#MisogynyInSlasherFilms
#DamselinDistress #TheFinalGirl
#ThePromiscuousGirl #BlackGuysDieFirst
#SPECTROSCOPE #WeScopeForYou
Content by Wattanapong Kongkijkarn
Graphic by p!nku_Sake
อ่านข่าวเรื่องเพศอื่นๆ : https://bit.ly/38MAJn4
อ้างอิง
BBC: https://bbc.in/3zt6gW2
Daily Titan: https://bit.ly/3kUH9ay
Independent: https://bit.ly/3rsaJWe
Novella: https://bit.ly/3iz3GXQ
Piper Baron: https://bit.ly/3x3SsQ9
Reveille: https://bit.ly/3By4YLl
The Take: https://bit.ly/3ruYfND
TV Tropes: https://bit.ly/3ngpsU5
Brewer, C. (2009). The stereotypic portrayal of women in slasher films: Then versus now. Retrieved November 11, 2020, from https://digitalcommons.lsu.edu/gradschool_theses/56
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -