วิเคราะห์ “คืนบาปพรหมพิราม, 2546” กับการธำรงอำนาจของเพศชายผ่านภาพยนต์

- Advertisement -

- Advertisement -

TW: การการล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน และฆาตกรรม

ย้อนไปเมื่อ 45 ปี ได้เกิดคดีคืนบาปพรหมพิราม อาชญากรรมความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกระทำของผู้ชายกว่า 30 คน

หลังจากรื้อฟื้นคดีและเปิดโปงความจริงสู่สายตาสังคม เหตุการณ์นี้ก็ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อตั้งคำถามกับระบบคุณธรรมของประเทศไทย และให้สังคมร่วมกันแก้ปัญหาการข่มขืน แต่ทว่าในทางกลับกันหนังกลับได้แอบแฝงผลิตซ้ำภาพมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนไว้ในนั้น ซึ่งเราจะพาไปถอดรหัสการกดทับทางเพศที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมผ่านเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะถูกคลี่ออกมาให้ได้เห็นกัน

SPECTROSCOPE: คืนบาปพรหมพิราม, 2546 – การผลิตซ้ำการข่มขืนในฐานะบทลงโทษของสังคมต่อผู้หญิงที่ไม่อยู่ในกรอบที่ผู้ชายสร้างขึ้น

ภาพยนตร์ “คืนบาปพรหมพิราม” (2546) หนังแนวสืบสวน​ดัดแปลงจากนวนิยายเชิงอาชญวิทยาของ นที สีทันดร ที่นำเค้าโครงเรื่องจริงของคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจริงที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นเรื่องราวอาชญากรรมต่อผู้หญิงต่างถิ่น ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ให้เหลือเพียงวัตถุทางเพศตอบสนองความใคร่ของผู้ชายกว่า 30 คน จนนำไปสู่การมรณกรรมอำพรางบนทางรถไฟของนางสำเนียน

เห็นได้ว่าหนังตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึง ความอยุติธรรมของระบบวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ จนผู้ชายเหล่านั้นได้ทำการละเมิดศีลธรรม วัฒนธรรม กฎหมาย ถึงขั้นก่ออาชญากรรมทางเพศอย่างรุนแรง แต่ชาลินี สนพลาย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับได้ชี้ให้เห็นว่าหนังได้มีการผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืน จากการที่นางสำเนียนถูกเลือกมาเป็นเหยื่อของการข่มขืนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นลงโทษผู้หญิงที่ละเมิดความเชื่อต่อ “ผู้หญิงที่ดี” จากระบบชายเป็นใหญ่ที่สร้างไว้ โดยชาลินีให้เหตุผลถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

การข่มขืนถูกผลิตซ้ำเพื่อลงโทษ “ผู้หญิงไม่ดี” – นางสำเนียนถูกนำเสนอให้เป็นผู้หญิงใจง่าย จากเหตุการณ์จำต้องพลัดถิ่นที่ถูกไล่ลงจากรถไฟ มาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมีทางเลือกไม่มากนัก จึงตกลงมาพักบ้านของตาแหยมเพียงสองต่อสอง หรือ การที่เธอนุ่งจะโจมอกอาบน้ำให้ผู้ชายเห็น ดังนั้นเมื่อการข่มขืนเกิดขึ้นเธอจึงถูกมองว่าควรมีส่วนในการรับผิดชอบ

การข่มขืนผู้หญิงที่ปราศจากการคุ้มครองของผู้ชายอื่น – ช่วงเวลาที่นางสำเนียงมีชีวิตอยู่ในพรหมพิรามไม่สามารถระบุได้ว่า เธอเป็นลูกสาวหรือเมียของชายใด นางสำเนียนจึงมีสภาพเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีใครอ้างเป็นเจ้าของ เลยไม่ได้รับการคุ้มครองจากผู้ชายที่เป็นพ่อหรือสามี จนทำให้เธอเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากชายอื่น

ความอยุติธรรมกับหญิงต่างถิ่น – เธอจึงกลายเป็น “คนอื่น” ของพรหมพิราม ทำให้เธอถูกตัดขาดจากความคุ้มครองจากชุมชน ซึ่งได้รับความเมตตาหรือสงสารน้อยกว่าคนในพื้นที่เอง ที่ถูกมองว่าเป็น “พวกเรา” การข่มขืนเธอจะทำให้ผู้กระทำมีโอกาสที่จะหลุดรอดจากความผิดได้มากกว่าการข่มขืนผู้หญิงอื่นในพื้นที่ หรือ ถ้าเธอเสียชีวิตลง ก็จะไม่มีใครมาเรียกร้องความเป็นธรรมตามกฎหมายแทนเธอ

จะเห็นได้จากการวิเคราะห์ของชาลินี ว่ารหัสที่ซ่อนอยู่ในหนัง คือ มายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนจึงเป็นเครื่องมือที่ผู้ชายใช้แสดงอำนาจที่เหนือกว่าผู้หญิงได้อย่างทรงพลัง ซึ่งเป็นการควบคุมให้เธออยู่ในกรอบกติกาที่สังคมปิตาธิปไตยกำหนดอย่างเข้มงวด โดยเธอจำเป็นต้องอยู่ในความคุ้มครองของครอบครัว ชุมชน ศาสนา และกฎหมายตลอดเวลา รวมถึงสถาปนาอำนาจให้ผู้ชายสามารถสร้างความเป็นเจ้าของและอ้างสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงได้ ไม่ว่าเพศสัมพันธ์นั้นจะเกิดจากการยิมยอมพร้อมใจหรือไม่ก็ตาม

การเสียชีวิตของนางสำเนียนจึงเป็นโศกนาฏกรรมที่ถ่ายทอดความเลือดเย็นของมนุษย์ที่กระทำต่อกัน เป็นเกณฑ์คุณสมบัติความเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายที่สังคมเห็นพ้องต้องตรงกันว่าเธอถูกกระทำอย่างไม่ถูกต้อง และได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ละครหลังจากนั้นกลับเต็มไปด้วยการโทษเหยื่อที่ทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องที่พอจะรับได้? เห็นได้จากเนื้อเรื่องที่มีการข่มขืนจากความหึงหวง ความแค้น การลงโทษ หรือแม้กระทั้งการข่มขืนในนามของความรักที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก

โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เก็บรวบรวมข้อมูลเนื้อหาละครและที่ออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ (ช่วง 20.30 น.) ตั้งแต่ปี 2550-2564 พบเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงผลิตซ้ำมายาคติที่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืน อีกทั้งเนื้อหาของละครมักมีการโทษผู้เสียหาย ทัศนคติแบบนี้ทำให้ผู้ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี

ปัจจุบันจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้ผู้ผลิตสื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมดังขึ้น เช่น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ที่ส่งเสียงไปถึงผู้ผลิตสื่อให้หยุดผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนเพียงเพื่อจะเอาไว้สร้างฮีโร่ หรือ สร้างความน่าสงสารให้กับตัวละครผู้หญิงเท่านั้น ถึงเวลาที่สื่อจะเป็นกระบอกเสียงที่จะเคียงข้างผู้เสียหายโดยไม่ตัดสินและช่วยนำเสนอการออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ได้ความยุติธรรม ซึ่งจะเป็นการร่วมกันหยุดสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชายในการข่มขืน หยุดรักษาอำนาจความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านสื่อ

#MacabreCaseofPromPiRam #RapeScene #RapeCulture #RapeMyth #ข่มขืนผ่านจอพอกันที

Content by Phusit Phumeekham
Graphic by Napas
Edited by SPECTRUM Editorial Team

อ้างอิง
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. (2539). ข่มขืน: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย. รัฐศาสตร์สาร, 19(3), 161-1383.
ชาลินี สนพลาย. (2554). คืนบาปพรหมพิราม: ภาพสะท้อนมายาคติเรื่องการข่มขืนในสังคมไทย. วารสารเพศวิถีศึกษา ปีที่ 1 (201-2014).
สุชีลา ตันชัยนันท์. (2535). ข่มขืน: ความรุนแรงทางเพศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผลึก.
ThaiPBSNews: https://bit.ly/3IDgMzW
TheMatter: https://bit.ly/3RB2FPR
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน