“ครั้นพระกุมารหลับสนิท พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา
โลมเล้าลูบไล้ไปมา สำคัญว่าบุษบานารี
พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย พิศทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี
พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี รัศมีสีเนื้อละกลกัน
ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา ละม้ายเหมือนบุษบาทุกสิ่งสรรพ์
พระกอดจูบลูบไล้เกี้ยวพัน จนบรรทมหลับสนิทไป ”
(อิเหนา, หน้า 403)
แม้ว่าสังคมไทยมองความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาย-หญิง” เป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่อดีต แต่ความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างเพศเดียวกันก็มักปรากฏให้เห็นผ่านมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างอยู่ตลอดเช่นกัน วรรณกรรมและวรรณคดีไทยหลายเรื่องเป็นหนึ่งในกระจกชิ้นสำคัญที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์แบบพิเศษในสังคมยุคนั้นให้เราเห็นในถึงปัจจุบัน
เนื้อหาจากอิเหนาที่ยกมาด้านบนเป็นเครื่องยืนยันว่า ความหลงใหลในเพศเดียวกันนั้นเกิดขึ้นได้ หรืออาจเป็นการบอกกลายๆ ว่าความลื่นไหลทางเพศนั้นมีอยู่จริง
โดยฉากด้านบนเป็นตอนที่ “อิเหนา” หนุ่มนักรักชวน “สิยะตรา” น้องชายร่างบางของนางบุษบามานอนเป็นเพื่อนขณะผิดใจกับนางบุษบา ด้วยความที่สิยะตรามีรูปร่างคล้ายคลึงกับพี่สาว จึงชวนให้อิเหนาเพ้อราวกับได้ร่างของนางบุษบามานอนต่าง ทำเอาผู้อ่านต้องลุ้นต่อว่าจะเกิดเหตุการณ์วาบหวิวกว่านี้หรือไม่
เป็นที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยในอดีตมีมุมมองเรื่องความหลายหลายทางเพศผ่านแว่นวรรณกรรมอย่างไร เพราะมีหลายเรื่องด้วยกันที่การนำเสนอเรื่องราวความลื่นไหลทางเพศของตัวละคร การกลับเพศไปมา การมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพศเดียวกัน อย่างการเล่นเพื่อน เล่นสวาท
วรรณกรรมไทยโบราณกับการนำเสนอความหลายหลายทางเพศ
#ชายหญิงคือเพศมาตรฐานของสังคมไทย?
ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงรัตนโกสินทร์ สังคมไทยมีแนวคิดเรื่องเพศที่ไม่ต่างกับหลาย ๆ ประเทศในอดีต โดยเพศสภาพที่เป็นที่ยอมรับมีเพียงสองเพศ คือ “ชาย-หญิง” เรื่องการรักเพศเดียวกันถือเป็นข้อห้าม ถึงขนาดมีบทลงโทษตราไว้สำหรับคนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับนี้
แม้ว่าจะเป็นข้อห้าม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี งานวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในยุคอดีตปรากฏแนวคิดการรักเพศเดียวกันของ ทั้ง ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง ให้เห็นอยู่ในหลายๆ ผลงานด้วยกัน แม้กวีหรือผู้ประพันธ์เองก็อาจไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับความหลากหลายนี้เท่าใดนัก แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ว่าเรื่องเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน
#การเล่นเพื่อน หากจะกล่าวถึงกวีดังในสมัยนั้นก็คงไม่พ้นพระสุนทรโวหารหรือสุนทรภู่ ที่มีการกล่าวถึงพฤติกรรมลึกซึ้งระหว่างผู้หญิงหรือเรียกว่า “การเล่นเพื่อน” ผ่านผลงานของตนเองอยู่บ้าง โดยทัศนคติของสุนทรภู่ต่อกิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดี กวีคนดังมองว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อธรรมชาติเป็นการหลงผิดไปชั่วขณะ “เหมือนไปหลงกินข้าวเหนียวลาว จนลืมรสชาติข้าวเจ้าที่คุ้นเคย” (ปรับแต่งจากนิราศพระประธม)
หรือในเรื่อง “สิงหไกรภพ” สุนทรภู่มีการบรรยายถึงการเล่นเพื่อนของเหล่านางกำนัลของสิงหไกรภพ ว่าพวกนางคิดว่าตนเองไม่ได้มีความงามเหนือกว่านางศรีสุดาจันผู้เป็นมเหสีของสิงหไกรภพ จึงเลือกที่จะเล่นเพื่อนกับหญิงในวังแทนเพราะคิดว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากสิงหไกรภพแล้ว จนบกพร่องในหน้าที่นางกำนัลที่ดีในอุดมคติไป
#การเล่นสวาทฝ่านการแปลงเพศ (สลับเพศชั่วคราว) นอกจากจะมีการเล่าถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างหญิง-หญิงแล้วยังมีวรรณกรรมอีกมากที่เล่าถึง การเล่นสวาทระหว่างผู้ชายเช่นกัน สุนทรภู่เอง ยังเคยใช้ความพยายามแฟนตาซีถึงเรื่องนี้ในผลงานของเขาเรื่อง “ลักษณวงศ์” ซึ่งเป็นเรื่องของ ลักษณวงศ์ กับ พราหมณ์เกสร (ร่างผู้ชายของนางทิพเกสร)
แม้ว่าจะไม่ได้มีการชี้ชัดว่าตัวละครหลักจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็พอมีตัวบ่งชี้การกระทำว่าอาจมีความลื่นไหลทางเพศอยู่ด้วยถ้อยคำ เช่น “จึงตรัสว่าเจ้าพราหมณ์นี่งามนัก เราก็รักเหมือนหนึ่งมิตรพิสมัย ถ้าแม้นเป็นสตรีจะดีใจ เราจะให้เป็นจอมกระหม่อมนางฯ”
ลักษณวงศ์ (พระเอก) เป็นเรื่องของชายหนุ่มลูกของกษัตริย์แต่มีชีวิตในวัยเด็กที่ลำบาก พ่อแต่งงานใหม่กับยักษ์และสั่งฆ่าลูกกับเมียของตน ทั้งสองแม่ลูกต้องหนีไปในป่าแต่แม่โดนยักษ์จับไปเป็นเมีย ทำให้ลักษณวงศ์ต้องไปอยู่กับฤาษีในป่าซึ่งเป็นที่ที่ได้พบกับนางทิพเกสร ทั้งสองรักใคร่ปรองดองกันดีและมีวาสนาจะได้เป็นเนื้อคู่กันในอนาคต เมื่อทั้งคู่โตขึ้น ลักษณวงศ์ออกไปช่วยแม่หนีจากยักษ์ ทำให้ต้องแยกจากนางทิพเกสรช่วงหนึ่ง เมื่อทุกอย่างลงตัวทั้งสองก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ และได้เป็นคนรักกัน แต่ไม่นานนางทิพเกสรก็โดนลักพาตัวไปและหลงอยู่ในป่า เทวดาสงสารจึงมอบแหวนหนึ่งวงให้เพื่อป้องกันตน เมื่อใส่แหวนนางจะกลายเป็นผู้ชาย (ซึ่งเชื่อว่าจะปลอดภัยกว่าตอนเป็นผู้หญิง) เมื่อถอดแหวนจะกลายเป็นผู้หญิง
ในระหว่างนั้นลักษณวงศ์จับพลัดจับผลูได้ไปแต่งงานกับธิดากษัตริย์เมืองหนึ่ง และครองเมืองดังกล่าว เมื่อนางทิพเกสรที่หลงป่าอยู่รู้เข้าจึงได้หาวิธีการเข้าไปในวังเพื่อพบเจอพระเอกอีกครั้ง โดยใช้ร่างของผู้ชาย นางทิพเกสรตอนอยู่ในร่างผู้ชายจะใช้ชื่อว่า พราหมณ์เกสร ซึ่งมีลักษณะอรชร ชดช้อยเหมือนนางทิพเกสรแทบทุกอย่างเพียงแต่อยู่ในร่างผู้ชาย ลักษณวงศ์ถูกใจพราหมณ์เกสรมากถึงขนาดให้รับใช้ใกล้ชิด ให้ช่วยอาบน้ำ ตัวติดกันตลอด ด้วยเพราะมีหน้าตาคลับคล้ายกับนางทิพเกสรผู้เป็นที่รักที่พลัดพรากของเขา จึงทำให้คนรักปัจจุบันของลักษณวงศ์เคืองอยู่ไม่น้อย และวางใส่แผนร้ายพราหมณ์เกสร จนต้องโทษประหารในที่สุด
#ไม่ได้ยอมรับแต่ก็ใช่ว่าไม่มี แม้เรื่องรักเพศเดียวกันจะไม่ได้เป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปในอดีตยอมรับเสียทีเดียว แต่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 -3 นอกจากวรรณกรรมแล้วยังมีบรรดาภาพเขียนตามอุโบสถสำคัญ ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ ที่สอดแทรกเนื้อหาการเล่นเพื่อนระหว่างผู้หญิง การเล่นสวาทระหว่างผู้ชาย ทั้งแบบโจ่งแจ้งให้เห็นได้ชัดถึงการกระทำเหล่านี้ หรือการกระทำชี้ชวน อย่างการส่งสายตาท่าทางให้กัน
การพูดถึงเรื่องเพศในสมัยอดีตจนถึงต้นรัตนโกสินทร์นั้นถือเป็นเรื่องทั่วไป ผู้หญิงในอดีตมักเปลือยท่อนบน เปิดอกให้นมลูกอย่างโจ่งแจ้งตามที่สาธารณะได้อย่างไม่ขวยเขิน ข้าราชการชายยังถอดเสื้อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวได้ ฉะนั้นการมีฉากล่อแหลมบ้างในจิตรกรรมฝาผนังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกเสียทีเดียว และการที่มีการเล่าถึงการเล่นเพื่อนหรือเล่นสวาสนั้น เป็นหลักฐานว่ากิจกรรมเหล่านี้มีมาแต่โบราณ
#รักร่วมเพศใต้อิทธิพลอารยะประเทศ การพูดถึงเรื่องเพศในที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องไร้อารยะ เมื่อสยามมีการติดต่อกับชาวตะวันตกมากขึ้นในยุค ร. 4-5 ในช่วงที่ประเทศเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตก แนวคิดวิกตอเรียนการมีผัวเดียวเมียเดียว การปรารถนาในเรื่องเพศเป็นเรื่องบาป และอิทธิพลของคริสต์ศาสนาที่ห้ามการรักร่วมเพศอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมทั้งการแต่งการ แนวคิดแนวปฏิบัติต่างๆ ข้าราชการเริ่มมีการใส่เสื้อเมื่อเข้าเฝ้า เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตค่านิยมในสังคมให้ดูศิวิไลซ์ขึ้น
#เพศลื่นไหลด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ในยุค ร.6 ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของวรรณกรรม ก็มีงานวรรณกรรมหลายชิ้นที่เล่าถึงความลื่นไหลทางเพศได้อย่างแฟนตาซี เช่น เรื่อง “อิลราชคำฉันธ์” ที่เล่าเรื่องการสลับเพศและเงื่อนไขบางอย่างได้น่าสนใจ
เป็นเรื่องราวของท้าวอิลราช ที่ออกไปล่าสัตว์ในป่าแล้วบังเอิญเข้าไปขัดจังหวะพระอิศวรและพระแม่อุมา จนทำให้พระอิศวรกริ้วมากและสาปให้ท้าวอิลราชกลายเป็นผู้หญิง แต่พระแม่อุมาสงสารเลยให้สลับเป็นหญิงและชายอย่างละเดือนแทน
ตอนเป็นหญิงก็มีนามว่า “นางอิลา” ผู้มีรูปงามจนเป็นที่ถูกใจ “พระพุธ” ทั้งๆ ที่พระพุธรู้ว่าตัวตนของนางอิลาเป็นผู้ชายแต่ก็หลงรักหมดหัวใจ เมื่อหนึ่งเดือนผ่านไปนางอิลาก็กลับร่างไปเป็นผู้ชายและลืมเรื่องทุกอย่าง แต่พระพุธก็ยังคงรั้งไว้ให้อยู่ด้วยกัน และเดือนถัดไปอิลราชก็กลับไปเป็นผู้หญิง วนแบบนี้อยู่หลายรอบ จนเมื่อเมื่อนางอิลาเกิดท้องและคลอดลูกออกมา พระพุทธสงสารคนรักจึงเสียสละขอให้ฤาษีช่วยลบคำสาป จนนางอิลากลับไปเป็นผู้ชายในร่างท้าวอิลราชดังเดิมและกลับเมืองไป
แม้ว่าในยุคนั้นสังคมยังถูกครอบงำด้วยแนวคิดว่าเรื่องการรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิด แต่ก็ยังมีการสร้างเงื่อนไขบางอย่าง (ในที่นี้คือคำสาป) มาช่วยกระตุ้นจินตนาการเรื่องเพศให้มีความลื่นไหลมากขึ้น ยิ่งมีข้อจำกัด ยิ่งเกิดขบถความคิด มนุษย์มักมีความปรารถนาที่จะได้จินตนาการถึงเรื่องที่แปลกใหม่ ไร้พรมแดน
#วรรณกรรมไทยในยุคปัจจุบันกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ เมื่อสังคมเปลี่ยนไปความหลากหลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราจึงได้มีโอกาสลิ้มชิมกับวรรณกรรมแบบใหม่ๆ พล็อตที่หลากหลาย ทั้ง วาย ยูริ โอเมกาเวิรส์ mpreg แฟนตาซีล้ำโลก ฯลฯ จินตนาการของกวีและนักเขียนที่หลากหลาย ช่วยให้เรามีทางเลือกในการอ่าน ได้เห็นการนำเสนอชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายแบบออกไป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและการนำเสนอที่ไกลความจริงและเฉพาะกลุ่มไปบ้าง เวลาและการความตระหนักรู้ของคนในสังคมคงเป็นพลวัตที่จะสร้างค่านิยมหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
ในขณะที่เราหลายคนอยู่ในโลกแห่งความฝัน สวยงาม ไร้พรมแดนนั้น เราได้สนใจคนกลุ่มที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด หรือพวกเขาจะยังคงเป็นเพียงหนึ่งในวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการสนองความแฟนตาซีอยู่แบบนั้น เราจะหนีความจริงอันโหดร้าย แล้วอยู่ในโลกของความฝันได้ตลอดไปจริงๆ ได้หรือไม่
Content by Thanathorn Noisong
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
อ้างอิง
Silpa-mag.com:
Silapakorn University:
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ:
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”