ลำไส้แห่งชาติ กระสือแห่ง Southeast Asia การจัดการร่างกายผู้หญิงในหลากวัฒนธรรม

- Advertisement -

ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปีศาจสาว ผู้ทอดทิ้งครึ่งล่างอันมีอวัยวะสืบพันธุ์และการให้กำเนิดไว้เบื้องหลัง ในขณะที่ปลดปล่อยให้ครึ่งบนของร่างกายออกล่องลอยไปยามราตรีเพื่อสร้างกิจกรรมแห่งความตาย  เธอคือกระสือของชาวไทย มานานังกัล (Manananggal) ของฟิลิปินส์  ปีนังกาลัน Penanggalan ของมาเลเซีย  และเอิบ (Ahp) ของกัมพูชา บทความนี้ชวนสำรวจปรากฏการณ์พี่น้องร่วมไส้-เลือด ที่เกี่ยวข้องกับอคติแห่งเพศและความหวาดกลัวต่ออำนาจผู้หญิงที่กระจัดกระจายอยู่ทั่ว Southeast Asia 

- Advertisement -

ความคล้ายคลึงของปีศาจเหล่านี้ที่มีร่วมกัน แม้ออกหากินคนละดินแดน คือ พวกเธอมักเป็นหญิงสาวสะสวย ไม่ก็หญิงแก่ชรา ใช้ชีวิตกลางวันปะปนกับผู้คน ก่อนจะถอดหัวพ่วงเครื่องในที่มีแสงเรืองๆ ของเธอไปหากินในยามค่ำคืน  ในทุกเรื่องเล่าของปีศาจเหล่านี้  ทารก ประจำเดือน และของโสโครก กลายเป็นอาหารประจำชาติกระสือ พวกเธอกลายเป็นศัตรูที่น่าหวาดกลัวสำหรับหญิงที่เป็น “แม่” ในทุกวัฒนธรรม

ที่ฟิลิปปินส์ มีปีศาจคล้ายกับกระสือเรียกว่า มานานังกัล (Manananggal) ซึ่งถอดลำตัวส่วนบน ออกหากินไปกับปีกขนาดใหญ่ในเวลากลางคืน นอกจากการดูดเลือด กินตับของมนุษย์ มานานังกัลชอบติดตามหญิงมีครรภ์เพื่อดูดกินลูกของพวกเธอ หรือทำให้แท้ง มานานังกัลสามารถทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้ การกำจัดมานานังกัลไม่ต่างจากกระสือในพื้นที่อื่นๆ มากนัก เพียงแค่หาท่อนล่างของร่างกายที่เธอซ่อนไว้ให้เจอ โรยเกลือ ขี้เถ้า น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว กระเทียม ขิง พริกไทย และเครื่องเทศอื่นๆ ลงไป ก็จะทำให้เธอกลับเข้าร่างไม่ได้ และตายจากแสงอาทิตย์ในที่สุด มีนักวิชาการหลายคนพยายามถอดรหัสที่มาของปีศาจตัวนี้ การศึกษาของ Nadeau (2011) เชื่อมโยงมานานังกัลกับ บาเบย์ลัน (babaylan) กลุ่มผู้หญิงร่างทรงของฟิลิปปินส์ ในฐานะการลดทอนอำนาจผู้หญิงที่เป็นภัยต่อการปกครองโดยเจ้าอาณานิคม ข้อเสนอของเธอคือ ผู้หญิงในฟิลิปปินส์ก่อนการมาถึงของสเปน มีเสรีภาพทางเพศและถือบทบาทสําคัญในหลายบทบาท ทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณ หมอผี หมอรักษาโรคและหมอผดุงครรภ์

บรรยากาศทางศาสนศาสตร์ที่หล่อหลอมมุมมองของมิชชันนารีชาวสเปนยุคแรกในฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการล่าแม่มด  ได้แปลความเชื่อของการนับถือผีที่พวกเขาพบในหมู่เกาะภายใต้กรอบของการปฏิบัติเกี่ยวกับปีศาจที่ชาวยุโรปคุ้นเคย  ผสานกับการมีอำนาจอันล้นเกินของผู้หญิงในมุมมองของเจ้าอาณานิคม สร้างมานานังกัลขึ้นมาเพื่ออ้างความชอบธรรมในการกำจัดบาเบย์ลัน และสั่งสอนผู้อยู่ใต้ปกครองให้ตระหนักถึงความร้ายกาจของผู้หญิงในเรือนร่างงดงาม เช่นเดียวกับงานของ Meñez (1996) ที่กล่าวถึงเรื่อง Manananggal ว่าเป็น  “กระบวนการตัดสิทธิสตรีชาวฟิลิปปินส์ที่มีอำนาจมากที่สุด”  ของสเปน   ในการค้นคว้าพงศาวดารของฟิลิปปินส์ “บาเบย์ลัน” มีบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์ศรัทธาของชนพื้นเมือง และเป็นผู้นำปลุกระดมการกบฏอยู่บ่อยครั้ง ดังมีบันทึกว่าเมื่อมิชชันนารีชาวสเปนพยายามเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่สูงทางตอนเหนือของเกาะลูซอน บาเบย์ลันรวมตัวกันออกมาขัดขวางด้วยการขว้างปาสิ่งของ และสาปแช่งไม่ให้พวกเขาเข้าไปในหมู่บ้านได้ ภายหลังการลงโทษบุคคลที่เป็นบาเบย์ลันบ่อยครั้ง พวกเธอก็สยบยอม ที่จะกลายเป็นมานานังกัลในเรื่องเล่าของสเปนไปโดยปริยาย ผู้คนในเกาะเริ่มพาคนป่วยเข้าโบสถ์เพื่อรักษาแทนการไปหาบาเบย์ลัน การโน้มน้าวชาวอาณานิคมนับถือคริสตศาสนา ขับเน้นความน่ารังเกียจของมานานังกัลในฐานะผู้ทำลายสถาบันครอบครัว จากการปฏิเสธความเป็นแม่และกัดกินทารกในครรภ์ 

อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งว่า การเชื่อมโยงมานานังกัลสู่การปฏิสัมพันธ์แบบอาณานิคม อาจทำให้เราพลาดบริบทอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ Bender (2021) พยายามอ่านมานานังกัลเหนือมุมอาณานิคมได้เสนอว่า ฟิลิปปินส์เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองสายพันธุ์ ได้แก่ Acerodon jubatus และ Pteropus vampyrus ซึ่งกางปีกได้กว้างเกือบหกฟุต 5 ความสัมพันธ์ระหว่างมานานังกัลกับค้างคาวเกิดขึ้นจากความถี่ของค้างคาวทั่วทั้งหมู่เกาะและเกิดขึ้นก่อนการมาถึงของสเปน ในขณะที่ Clark (2017) เสนอว่า มานานังกัลแท้จริงคืออสูรที่พัฒนามาจาก Rakshasa หรือ รากษก ในวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู ที่กระจายมาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 5  Clark ตั้งข้อสังเกตว่าในพื้นที่บางส่วนของฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เช่น มินดาเนา ไม่ปรากฏเรื่องเล่าของมานานังกัล

รากษกจากพราหมณ์ ฮินดู ยังอาจเป็นที่มาของ เอิบ/อาบของกัมพูชา และกระสือของไทย  “อาบ” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า (आप्यति (āpyati)  ที่หมายถึงเหตุให้ผู้หนึ่งทุกข์ทรมาน  (To cause anyone to suffer) เอิบ หรือ อาบ เป็นหญิงสาวที่เล่นคาถามนต์ดำจนของเข้าตัว หรือทำบาปหนักอย่างการทำแท้ง หรือ ฆ่าคนตาย เมื่อมีการตั้งครรภ์ ครอบครัวในกัมพูชาจะสร้างรั้วแหลมคมหรือปลูกพุ่มไม้หนามรอบบ้านเพื่อป้องกันเอิบเข้ามากินรกเด็ก  ส่วนในไทยนั้น กระสือ เป็นผีร้ายที่เข้าสิงผู้หญิง ชอบกินของโสโครก ปรากฏมาตั้งแต่กฎหมายเบ็ดเตล็ด (พระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ) ตราขึ้นสมัยอโยธยา พ.ศ. 1778 เรียก “กระสือกระหาง” (กระสือ-กระหัง) หากพิสูจน์แล้วว่าจริงให้ฆ่าทิ้งเสีย เป็นที่น่าสนใจว่า กระสือและเอิบ ล้วนเกิดกับหญิงสาวในชนบท แม้ในกฎหมายเบ็ดเตล็ดดังกล่าวก็ยังไม่อนุญาตให้เจ้าเมืองประหารกระสือโดยไม่แจ้งเมืองหลวงเสียก่อน จากรากษส ที่เป็นอสูรร้ายไม่ระบุเพศ ได้กลายเป็นบทลงโทษของผู้หญิงในชนบทที่ฝ่าฝืนข้อห้ามของสังคม ที่อาจไม่ใช่เวทมนตร์คาถา แต่เป็นการไม่สามารถเป็นแม่ ความแก่ชราอย่างเดียวดาย หรือการออกหากินในเวลากลางคืน 

เช่นเดียวกับ ปีนังกาลัน Penanggalan กระสือของมาเลเซีย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจุดกำเนิดของพวกเธอหลากหลาย บ้างเล่าว่าเป็นหญิงสาวที่ใช้มนต์ดำ ทำข้อแลกเปลี่ยนกับปีศาจเพื่อให้เธองดงามนิรันด์ โดยเธอจะต้องงดการกินเนื้อสัตว์เป็นเวลา 40 วัน บ้างว่าเป็นหญิงสาวที่คลอดไม่สำเร็จและกลายร่างเป็นปีนังกาลัน บางตำนานเล่าว่าปีนังกาลันเคยเป็นหญิงสาวที่อิจฉาผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เธอฆ่าหญิงมีครรภ์หลายคน ชาวบ้านจึงแขวนคอเธอไว้บนต้นไม้สูง และอีกตำนานที่แปลกประหลาดคือ ปีนังกาลันเคยเป็นนักบวชหญิงผู้งดงาม วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังอาบน้ำ ได้มีชายคนหนึ่งเข้ามาในห้องน้ำ ทำให้เธอตกใจมากและยกศีรษะเพื่อดูเขาอย่างรวดเร็ว จนขาดกระเด็นออกจากร่าง ต้นกำเนิดเหล่านี้ยังคงผูกพันกับภาพของหญิงที่บ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอันศักดิ์สิทธิ์ หรือความลุ่มหลง อันล้นเกินของรูปร่างหน้าตา

การจัดระเบียบร่างกายของผู้หญิงผ่านตำนานกระสือในหลากวัฒนธรรมล้วนผ่านหลายมือชายเข้ามาจัดการให้ทั้งสิ้น เพศหญิงที่เคยมีบทบาทผู้นำสังคม หรือผู้นำจิตวิญญาณ ถูกกลืนให้จมไปกับการนับถือผีแห่งเอเชียอาคเนย์ ไม่ว่าพวกเธอจะเคยเป็นนาคผู้สร้างบ้านแปงเมืองมาก่อน การเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ พุทธ และคริสต์ อนุญาตให้เธอเป็นเพียงผู้ปกป้องศาสนา หรือยืนอยู่ตรงกันข้ามเท่านั้น  ท้ายสุดแล้วการละทิ้งเครื่องเพศและการให้กำเนิดไว้เบื้องหลัง อาจเป็นหนทางเดียวของการปลดแอกในจินตนาการที่ผู้หญิงจะทำได้

กระสือแห่งเอเชีย..ยังคงรอให้ผู้คนได้เข้าไปสาวไส้ตีความพวกเธออยู่เสมอ

Content by Pachcharaporn Supaphol

Graphic by 7pxxch

อ้างอิง

Nadeau,Kathleen. (2011). Aswang and Other Kinds of Witches: A Comparative Analysis. in Philippine Quarterly of Culture and Society.  (39), pp. 250-266

Meñez, Herminia. (1996). Explorations in Philippine Folklore. Quezon City: Ateneo de Manila University Press

Bender,Joshua . (2021). The Father, the Son, and the Aswang: Uncolonial Ontologies in Philippine Literature. University of Washington

From Babaylan to Aswang?

Life After Pol Pot: The First Movie- My Mother Is Arb

https://medium.com/@madisonplantier1990/delving-into-the-origins-of-the-putrid-penanggalan-be773475bbe7

#Manananggal #penanggalan#Ahp #ตำนานกระสือ #SEAFolklore

&Oriental คอลัมน์ที่จะเดินออกจากองค์ความรู้เรื่องเพศแบบหมุนรอบโลกตะวันตก สืบค้นเพื่อพบรากเหง้าของความหลากหลายที่ฝังลึกอยู่ในกายเรา เริ่มที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) พื้นที่ที่เราเกิด เติบโต และอาศัย แต่เรารู้จักมันน้อยกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก


ทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน


#Oriental #GenderinSEA#noneurocentric #SEA
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน”กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”

- Advertisement -
Ms.Chapman
Ms.Chapman
a senior baby girl